Skip to main content
sharethis

 

 หมายเหตุ: เหมืองแร่ทองคำ เป็นของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ได้สัมปทาน 5 แปลง พื้นที่ประมาณ 2,100 ไร่ ในปี 2543 (รวมพื้นที่ตั้งโรงงาน 200 ไร่ และพื้นที่ทิ้งกากแร่ 400 ไร่) ในเขตจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ต่อมาวันที่ 21 กรกฎาคม 2551ได้ประทานบัตรเพิ่มอีก 9 แปลง พื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ และในเดือนพฤษภาคม 2552 ได้อนุญาตให้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าวอีก 44 แปลง พื้นที่ประมาณ 400,000 กว่าไร่ ชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่า การดำเนินการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชนและ พื้นที่การเกษตรโดยรอบโครงการ ไม่ว่า ปัญการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และน้ำทำการเกษตรเพราะการทำเหมืองต้องใช้น้ำมาก และมีการทำลายป่าต้นน้ำ ถูกเปลี่นทางน้ำ น้ำบาดาลปนเปื้อนสารพิษ ตามาด้วยปัญหาด้านสุขภาพความเจ็บป่วยที่เกิดจากการใช้น้ำในหมู่บ้านเกิด อาการคันเป็นตุ่ม มีหนอง แผลผุพอง ส่วนด้านสังคมเกิดความขัดแย้งกันเองภายในหมู่บ้าน

00000

 

โสธิดา นุราช
สำนักข่าวประชาธรรมจังหวัดพิจิตร

วันนี้ (22ตุลาคม 2552 ) ณ ศาลากลางจังหวัดพิจิตร เวลาประมาณ 10.20 น. มี พ.ท.ฌาน สิทธิ์เหรียญชัย รอง ผอ.กอ.รมน.จ.พิจิตร เป็นประธานแทนรองผู้ว่าฯ ยุธนา วิริยะกิตติ ซึ่งติดราชการ วาระการประชุมในครั้งนี้เป็นการติดตามผลการแก้ไขปัญหาจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ซึ่งสรุปประเด็นได้กว่า 10 ประเด็น

เริ่มเรื่องแรกด้วยปัญหาสุขภาพ ซึ่งสาธารณสุขได้มารับชาวบ้านเขาหม้อมาตรวจที่โรงพยาบาลพิจิตรเป็นครั้งที่ 2 ในวันนี้เอง ขณะที่ทางสาธารณสุขจังหวัดพิจิตรได้มาแจ้งข้อมูลในที่ประชุม ว่าผลการตรวจเลือดที่เจาะไปแล้วเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2552 นั้น ขณะนี้เวลาผ่านมากว่า 6 สัปดาห์แล้ว ก็ยังคงให้รอผลไปก่อนแล้วจะส่งให้ทางสาธารณสุขอำเภอนำไปแจกจ่ายให้ทีหลัง ทางด้านชาวบ้านตั้งขอสังเกตว่าทำไมใช้เวลาในการตรวจนานขนาดนี้ เวลาเดือนกว่านี้ยังไม่เพียงพอต่อการตรวจแล็บอีกเหรอ???

ประเด็นที่เด่นอีกเรื่องก็คือปัญหาเรื่องน้ำกิน-ใช้ของชาวบ้าน ซึ่งทาง อบต.เขาเจ็ดลูกได้ส่งถังน้ำขนาด 2,500 ลิตร ให้ชาวบ้านแล้ว จำนวน 5 ถัง แต่ยังมีเหตุขัดข้องเล็กน้อยเนื่องจาก 1 ใน 5 จุดนั้นรถไม่สามารถนำน้ำเข้าไปส่งได้เนื่องจากทางเข้าแคบ ส่วนน้ำใช้ทางบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ได้ “ยอมรับ” ที่จะนำน้ำบาดาลจากบ่อที่เขาหม้อไปตรวจ แล้วถ้าพบว่ามีสารพิษเกินมาตรฐานจริง จะทำการแก้ไขเพื่อให้น้ำที่บ้านเขาหม้อนำมาใช้ได้เหมือนอย่างเดิม

ปัญหาเรื่องน้ำกิน-ใช้นี้ถือว่าคืบหน้าเป็นอย่างมาก เพราะเนื่องจากทั้งฝ่ายบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด และชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบได้หันหน้าเข้าหากัน ร่วมหาวิธีแก้ไขด้วยกัน

น้ำการเกษตร ทาง อบต.เขาเจ็ดลูก และอำเภอทับคล้อ ได้เสนอแผนการขุดลองคลองสายต่างๆ ไว้ทั้งตำบลแล้ว แต่ชาวบ้านได้แย้งว่าแม้ว่าน้ำดีน้ำมาก แต่ถ้ามาถึงอ่างเก็บเขาหม้ออาจจะแห้งขอดได้ในหน้าแล้ง โดยอ้างว่าเป็นเพราะบ่อเหมืองซึ่งลึกกว่าอ่างเก็บน้ำ เรื่องนี้ซึ่งทางนายอำเภอเห็นว่าถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นผลมาจากเหมืองทองคำจริง คงจะต้องหาผ้าใบมาปูก้นบ่อต่อไป

การตรวจวัดมลพิษ ทางกรมมลพิษได้เสนอ “โครงการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการตรวจสอบมลพิษฯ” ตามที่ได้เสนอไว้เมื่อประชุมคราวที่แล้ว โดยมีแผนไว้คร่าวๆ คือ จัดให้มีป้ายประกาศว่าผลเป็นอย่างไรจะอันตรายหรือไม่ โดยมีกำหนดการติดตั้งป้ายเดือนหน้า จัดอบรมตามโครงการฯ ให้แก่ชาวบ้านในเดือนมกราคม และจะเริ่มโครงการในเดือนกุมภาพันธ์ศกหน้า

ข้อเรียกร้องให้เปิดทางสาธารณะประโยชน์นั้น ถึงจะผ่านการสอบปากคำของสมาชิก อบต.เขาเจ็ดลูก บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทางนายอำเภออ้างว่าเรื่องจึงอยู่ที่การสอบสอบและจะส่งให้จังหวัด ซึ่งมติของ อบต.เขาเจ็ดลูก ยังไม่ได้อนุญาตให้ทางบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ใช้ทางสาธารณะ แต่ข้อเท็จจริงตามกฎหมายแล้วนั้นเมื่อยังไม่ได้อนุญาตทางบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด จะปิดกั้นทางทั้ง 5 เส้นไม่ได้ ชาวบ้านจึงขอให้หน่วยราชการลงไปตรวจสอบในพื้นที่จริง

ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้น ทางกลุ่มชาวบ้านเห็นว่า จะไม่นำมาเข้าประชุมอีกในครั้งต่อไป เนื่องจากเห็นว่าแก้ไขปัญหาไม่ได้จริงๆ คือ เรื่องการเจาะซื้อที่ดินของชาวบ้านเป็นรายๆ และการฟื้นฟูวัด-โรงเรียน ส่วนในเรื่องการยกเลิกประทานบัตรนั้น อุตสาหกรรมจังหวัดไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะทำได้ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของส่วนกลาง กระทรวงอุตสาหกรรม

และสุดท้ายตัวแทนจากกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิจิตร ได้กล่าวปิดท้ายไว้อีกว่า

“การฟื้นฟูเหมืองนั้นในโครงการแรกที่ทำเสร็จไปแล้วนั้น ต้องเป็นไปตามมาตราการในรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ขอให้ทางเหมืองปฏิบัติอย่างเคร่งครัดด้วย”

ผลสรุปในคราวนี้ถือว่าคืบหน้าไปกว่าครั้งก่อนมาก มีการจัดการแก้ไขปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้น แต่ในบางเรื่อง เช่นผลตรวจสุขภาพยังล่าช้า ไม่ส่งผลให้ชาวบ้านทราบ เหตุนี้จึงมีเสียงบ่นของชาวบ้านออกมาอยู่เนื่องๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net