ไทยโพสต์ สัมภาษณ์ สมคิด-วรเจตน์-อมร-แก้วสรร เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ

ไทยโพสต์ฉบับพิเศษขึ้นปีที่ 14 สัมภาษณ์ 4 นักวิชาการ ว่าด้วยปมใหญ่สังคมไทย ‘แก้รัฐธรรมนูญ’ บทบันทึกประวัติศาสตร์ถึงรากฐานวิธีคิด การวิเคราะห์ปัญหา และเป้าหมายปลายทางของสังคมที่ควรเป็นในแบบของแต่ละคน- สมคิด เลิศไพฑูรย์, วรเจตน์ ภาคีรัตน์, อมร จันทรสมบูรณ์ และแก้วสรร อติโพธิ

  

1.
‘รัฐธรรมนูญเป็นจำเลย’
สมคิด เลิศไพฑูรย์
 
"การปกครองประชาธิปไตยคือของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน
“ของ”ไม่ต้องพูดนะ ผมจะพูด “โดย” กับ “เพื่อ”
รัฐธรรมนูญ 2540 เน้นว่าโดยประชาชน
แต่ถามว่าคนในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อประชาชนไหม มีปัญหาเยอะมาก
รัฐธรรมนูญ 2550 โดยประชาชนน้อย แต่เพื่อประชาชนเยอะ"
 
"เรากำลังเอาคนที่มีส่วนได้เสียมาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง แน่นอนอาจจะมีคำอธิบายทางวิชาการ
แต่ว่าคำอธิบายทางวิชาการก็เป็นคำอธิบายที่นักการเมืองอธิบายกันเอง
เช่น การเลือกตั้งเขต 1 คนกับเขตละ 3 คน ทางวิชาการอาจบอกว่าเขตละคนดีกว่า
เพราะทำให้การออกเสียงเลือกตั้งของคนมีความเสมอภาค 1 เสียงเท่ากันหมด
แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า คราวนี้พรรคที่อยากกลับไปสู่ระบบเขตละคน
ไม่ได้คิดว่าข้อดีของระบบเลือกตั้งคืออย่างนี้หรอก แต่คิดว่าถ้าเขตละคน พรรคฉันได้ดีกว่าไหม
 คือถ้าคิดไปตามหลักการนี่ผมไม่ว่าเลย แต่มันไม่ได้คิดไปตามหลักการ"
 
"ผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีเขาจะตัดสินไปในทิศทางใด
ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะไปรับผิดชอบได้อย่างไรเล่า
ผู้พิพากษาไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขามาของเขาเอง เราไปบังคับเขาไม่ได้
ถ้ามองว่าบางช่วงเขาเข้าข้างพรรคนี้ บางช่วงเขาเข้าข้างพรรคนั้น
เราก็ไม่อยากให้เขาเข้าข้างหรอก แต่ว่าถ้าเขาเข้าข้างพรรคการเมืองไหน
จะโทษรัฐธรรมนูญได้ที่ไหนเล่า"
 
 

2.
‘มันเลยไปแล้ว’
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
 
"มันเลยไปแล้ว เราสร้างปมขึ้นมา ขมวดกันจนยุ่งเหยิงขนาดนี้ ผมเห็นว่าเลยมาแล้ว
ผมก็นั่งดูแล้วครับตอนนี้ ผมไม่คิดว่าจะเปลี่ยนอะไรกันได้
หลังจากที่เห็นการวินิจฉัยขององค์กรต่างๆ มาในช่วง 2 ปี...
เราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์
ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะหักเลี้ยวออกไปทางไหนอย่างไร"
 
“ข้อจำกัดของการอภิปรายรัฐธรรมนูญของเรา ก็คือข้อจำกัดในเรื่องหมวดพระมหากษัตริย์
เราจะเห็นว่าตอนที่มีการเปลี่ยนบทบัญญัติเรื่องนี้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2534 เรื่องของการสืบราชสันตติวงศ์
ที่แต่เดิมเป็นเรื่องความเห็นชอบของรัฐสภา ให้กลายมาเป็นรัฐสภารับทราบ
โดยที่มีการตั้งรัชทายาทเอาไว้ ประเด็นเรื่องอำนาจในการเสนอชื่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ประเด็นเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์
เรื่องเหล่านี้ที่ถูกเพิ่มเข้ามาในตอนหลัง รวมทั้งประเด็นเรื่ององคมนตรี
ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหารของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ปี 2490
ซึ่งคราวนั้นคณะอภิรัฐมนตรีได้ถือกำเนิดขึ้นในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2490
คณะอภิรัฐมนตรีนี่เองที่ได้กลายเป็นคณะองคมนตรีในรัฐธรรมนูญปี 2492"
 
 
3.
เราต้องการ Statesman
อมร จันทรสมบูรณ์
 
"ทางออกของประเทศไทย ต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้มีการผูกขาดโดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ
คนที่จะล้มได้คือหนึ่งแก้ด้วยพลังประชาชน หรือสองโดยรัฐประหาร
แต่รัฐประหารครั้งนี้ต้องไม่ใช่การทำรัฐประหารเหมือนครั้งก่อน
คืออย่าเข้ามาใช้อำนาจรัฐเพื่อตนเอง แต่ต้องตั้งใจที่จะแก้ด้วยการสร้างระบบที่ถูกต้อง"
 
 
 
4.
‘รธน.กฎหมายภาษี’
แก้วสรร อติโพธิ
 
"รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นการร่างรัฐธรรมนูญในเชิงกลยุทธ์ 
ดูการอภิปราย ดูตรรกะต่างๆ มันเป็นเรื่องเอารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายภาษีอากร 
เวลาคุณร่างกฎหมายภาษีคุณเห็นช่องว่างแล้วคุณจะร่างไล่ดักอุดรูช่องนั้นช่องนี้ 
ประมวลรัษฎากร  300 มาตรา ละเอียดยิบจนปัจจุบันก็ยังละเอียดไม่พอ 
ถ้ากฎหมายภาษีไม่ว่าเพราะเขียนกฎหมายเพื่อที่จะปราบคนหนีภาษี 
เอาคนเหี้ยมาตั้งแล้วเราก็เขียนดักมัน 
แต่รัฐธรรมนูญคิดอย่างนี้ไม่ได้"
 
"ผมว่ามันไม่ปกติแล้วล่ะ มันต้องฟัดกันจนให้รู้เรื่อง ...
ขณะที่เราพูดถึงรัฐธรรมนูญอย่างนั้นอย่างนี้
ที่จริงสถานการณ์ประเทศอาจจะหนักหนากว่าที่เราเข้าใจก็ได้ 
มันอาจจะไม่มีโอกาสมาร่างรัฐธรรมนูญหรืออะไรไม่รู้ด้วยซ้ำไป 
เกมมันอาจจะเศร้าขนาดนั้นนะ 
ส่วนตัวผมลึกๆ ผมกลัวเราจะเหมือนฟิลิปปินส์ มันจะ down"
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท