Skip to main content
sharethis

(23ต.ค.) จากรณีที่ตัวแทนภาคประชาสังคมจาก 5 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา พม่า ลาว สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับตัวแทนภาคประชาสังคมอาเซียน ตามกำหนดการเวลา 11.50 น. นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ที่เข้าร่วมประชุมสามารถฟังได้แต่ห้ามแสดงความคิดเห็น ยกเว้นนายสุริชัย หวันแก้ว นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งป็นประธานคณะกรรมการจัดงานฯ อ่านแถลงการณ์เท่านั้น ทำให้เวทีการพบปะระหว่างผู้นำอาเซียนกับภาคประชาสังคมต้องล้มไป หลังจากที่ผู้แทนภาคประชาสังคมตัดสินใจคว่ำบาตรการประชุมดังกล่าวโดยไม่เข้าร่วมพบปะกับผู้นำ เนื่องจากเห็นว่าผู้นำอาเซียนไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาคประชาชนอย่างแท้จริง

สุภาวดี เพชรรัตน์ หนึ่งในคณะกรรมการจัดงานเวทีมหกรรรมประชาชนอาเซียนครั้งที่ 2 และการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนครั้งที่ 5 ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ไม่มีตัวแทนจากภาคประชาสังคมไทยเข้าร่วมในการพบปะกับผู้นำอาเซียน เนื่องจาก นางสาวสวาท ประมูลศิลป์ ประธานสมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางอาชีพของคนตาบอดประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ได้คัดเลือกเป็นตัวแทนภาคประชาสังคมไทยไม่ได้เข้าร่วมตามมติร่วมของตัวแทนภาคประชาสังคมอาเซียน ส่วนผู้ที่เข้าพบปะกับผู้นำอาเซียนนั้นมาจากประเทศพม่า บลูไน และสิงค์โปร์ โดยเป็นบุคคลที่รัฐบาลคัดเลือกมาเอง ไม่ได้มาจากกระบวนการคัดเลือกจากภาคประชาชน

เธอกล่าวด้วยว่า ในส่วนของตัวแทนภาคประชาสังคมจากเวียดนามที่ร่วมประชุมต่อเนื่องจากสถานภาพที่ต้องเป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งต่อไป แต่อย่างไรก็ตามตัวแทนของเวียดนามก็ได้พูดเรียกร้องให้รัฐบาลอาเซียนเคารพการตัดสินใจของภาคประชาสังคม ให้มีโอกาสได้พูดแสดงความคิดเห็น และคิดว่าเวียดนามควรจัดพื้นที่ในส่วนนี้ด้วย

ทั้งนี้ ผู้แทนภาคประชาสังคมในการพบกับผู้นำอาเซียน จากเวทีการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนในระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น ประกอบด้วย นางมณีจันทร์ พิลาพรรณ จากลาว, นายสินาปัน แซมิโดราย จากสิงคโปร์, แม่ชีเครสเซนเชีย แอล ลูเซโร จากฟิลิปปินส์, นายเนย์ วันดา จากกัมพูชา, นางสาวยูยุน วายูนิงรัม จากอินโดนีเซีย, นายมุน ฮุย ตาห์ จากมาเลเซีย, นางสาวตรัน ติ ตู ตุย จากเวียดนาม, ดาโต๊ะ ปาดูกา เฮจจ์ ไซนาล บิน เฮจจ์ โมมิน จากบรูไน, ดารุสซาลามนางสาวขิ่น โอมาร์ จากสหภาพพม่า และนางสาวสวาท ประมูลศิลป์ จากไทย

นอกจากนี้ จากกำหนดการเดิมที่จะให้มีการพบปะระหว่างภาคประชาชนกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ต่อจากการพบผู้นำประเทศอาเซียนก็ได้ถูกยกเลิกไปด้วย เพราะการตั้งเงื่อนไขไม่ให้ชาวโรฮิงญา ชาวขะแมกรอม และพม่า เข้าพบ

สุภาวดีกล่าวแสดงความเห็นว่า จากการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนภาคประชาสังคมอาเซียนในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แม้จะมีผู้แทนจากประเทศพม่าและกัมพูชาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วม แต่ก็ถือเป็นการประณีประนอมอย่างที่สุด และนั่นได้สร้างความคาดหวั่งและความกระตือรือร้นให้แก่ภาคประชาสังคมในการเข้ามามีส่วนร่วมในการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนที่มีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ นายอภิสิทธิ์ ได้รับปากจะเปิดพื้นที่ให้กับภาพประชาชนให้มากที่สุด แต่กลับไม่สามารถทำได้ และทำให้คนยิ่งช็อคมากขึ้นเมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้ในประเทศไทย

ในส่วนนี้ทำให้เกิดคำถามเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอาเซียนว่าจะเป็นไปได้มากแค่ไหน เมื่อช่องทางในปีต่อๆ ไปดูแคบลงเรื่อยๆ และสำหรับการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนครั้งต่อไปทีเวียดนามจะเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมมากแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ ซึ่งก็คาดหวังว่าเวียดนามน่าจะพิสูจน์ว่าสามารถทำได้ดีกว่าประเทศไทย

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนต่อไป สุภาวดีกล่าวว่า ภาคประชาสังคมอาเซียนยังคงจะเดินหน้าการมีส่วนร่วมในอาเซียน ติดตามการทำงานของอาเซียนต่อไป และจะพยายามเสนอให้ประชาชนในอาเซียนได้รับรู้ข้อมูลของเวทีมหกรรมประชาชนอาเซียนและการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน รวมไปถึงข้อเสนอต่างๆ นอกจากนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังเป็นช่องทางที่จะเผยแพร่ถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลอาเซียนในเรื่องจากที่ส่วนร่วมของประชาชน

ส่วนแถลงการณ์ซึ่งเป็นข้อเสนอจากเวทีมหกรรมอาเซียนภาคประชาชนครั้งที่ 2 และการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนครั้งที่ 5 ที่มีการเตรียมการเพื่อนำเสนอต่อผู้นำอาเซียนนั้น ไม่ได้มีการนำเสนอ แต่จะมีกระบวนการเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนในอาเซียนได้รับรู้ ซี่งในส่วนของรูปแบบจะมีการพูดคุยกันภายในสิ้นเดือนนี้เพื่อร่วมกันผลักดันประเด็นต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้จริง

อย่างไรก็ตาม วันเดียวกันนี้ภาคประชาสังคมได้จัดแถลงข่าว เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น.โดยตัวแทนภาคประชาสังคมชาติอาเซียน ได้เดินทางไปที่โรงแรม เชอราตัน จ.เพชรบุรี เพื่อแถลงข่าวต่อกรณีดังกล่าว และได้มีการแจกแถลงการณ์ข้อเสนอของประชาชน จากการประชุมดังกล่าวต่อสื่อมวลชนด้วย

แม่ชีเครสเซนเชีย แอล ลูเซโร ผู้แทนของภาคประชาชนจากประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวกับสื่อมวลชนในการแถลงข่าวว่า ทางกลุ่มรู้สึกว่า การปฏิเสธไม่ให้ผู้แทนที่ได้รับเลือกมาตามขั้นตอนประชาธิปไตยระหว่างการประชุมของภาคประชาชน เป็นการปฏิเสธภาคประชาสังคมและกระบวนการประชาธิปไตย การกระทำของรัฐบาลเป็นการละเลยต่อจิตวิญญาณและเนื้อหาสาระของปฏิญญาอาเซียน พฤติกรรมของรัฐบาลกัมพูชา พม่า ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ในการปฏิเสธผู้แทนภาคประชาชนในครั้งนี้ เท่ากับเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน ที่พึ่งเปิดตัวขึ้นในวันนี้
 
เธอกล่าวแสดงความรู้สึกผิดหวังอย่างมากต่อความไม่รับผิดชอบ และไร้เหตุผลของรัฐบาล ทั้งที่ระหว่างนี้เป็นห้วงเวลาของวิกฤติการณ์ ซึ่งภาคประชาชนต้องการเสนอทางออก แต่ด้วยวิธีการของรัฐบาลถือเป็นการปิดโอกาสในการร่วมเสนอทางออกของภาคประชาชน อีกทั้งยังได้เรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนหยุดทำลายจิตวิญญาณของประชาคมอาเซียน เพราะการกระทำเช่นนั้นไม่เพียงแต่ทำลายการพัฒนาของภูมิภาค แต่ยังทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศต่างๆ และภูมิภาคอาเซียน

แถลงการณ์ฉบับภาษาไทย
 

 

 
พัฒนาวาระอาเซียนภาคประชาชน: การเจรจาที่ดำเนินต่อไป
แถลงการณ์เวทีมหกรรมอาเซียนภาคประชาชนครั้งที่ 2 /การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนครั้งที 5
(2nd ASEAN Peoples’ Forum (APF II) / 5th ASEAN Civil Society Conference (ACSC V)
ชะอำ เพชรบุรี ประเทศไทย 18-20 ตุลาคม 2553
 
 
1. พวกเรา ตัวแทนกว่า 500 คนในที่ประชุมเวทีอาเซียนภาคประชาชนครั้งที่สอง/การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนครั้งที่ห้า องค์กรภาคประชาสังคม และ ขบวนการคนงานจากชนบทสู่เมือง แรงงานข้ามชาติ ชาวไร่ชาวนา ผู้หญิง เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ คนจนเมือง ชนพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ ชาวประมง คนไร้สัญชาติ กลุ่มด้อยโอกาส ซึ่งได้มาประชุมร่วมกันที่ชะอำ ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2552 เพื่อพูดคุยถึงข้อกังวลหลักของประชาชนในอาเซียน และเพื่อพัฒนาข้อเสนอหลักที่จะเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15
 
2. เราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง และขอแสดงความสมานฉันท์ต่อพี่น้องประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ และผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่งเกิดขึ้น ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และในแปซิฟิค เราเรียกร้องให้อาเซียนสร้างหลักประกันที่สอดคล้องกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมทั้งเศรษฐกิจ สิทธิทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งสิทธิเหล่านี้ เป็นสิทธิของประชาชน ผ่านสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องมนุษยธรรม เราเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการขจัดการเลือกปฎิบัติทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการเลือกปฎิบัติต่อผู้หญิง และชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ ให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และพัฒนากระบวนการติดตามจากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติเหล่านี้
 
3. เราเน้นย้ำหลักการพื้นฐานของ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ธรรมาภิบาล การทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจังและมีความหมาย และการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้เพื่อสร้างให้เกิดความยุติธรรมทางสังคม และเพื่อนำมาซึ่งสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองให้กับภูมิภาคอาเซียน
 
4. เราผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ไม่มีตัวแทนจากภาครัฐเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการก้าวถอยหลังต่อคำมั่นสัญญาของอาเซียน ที่จะส่งเสริมอาเซียนที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตรงข้ามกับหลักการในกฎบัตรอาเซียน ซึ่งมุ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เราขอเรียกร้องอาเซียนให้ตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของภาคประชาสังคม และการกำหนดโครงสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและการเข้าร่วมในกลไกและหลักการสำคัญของอาเซียนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
 
5. สถานการณ์และปัญหาที่ประชาชนในภูมิภาคต้องเผชิญเกี่ยวข้องกับหลายด้าน อาเซียนจะต้องนำวิธีการที่เป็นองค์รวมมากขึ้นมาใช้ทั้งด้านการพัฒนาและการปฏิบัติต่อประชาชน และการกำหนดให้นโยบายและการปฏิบัติของตนให้สอดคล้องกับหลักการสำคัญเหล่านี้ทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากความซับซ้อนหลายระดับของการเลือกปฏิบัติ และปัญหาด้านเพศสภาพที่แฝงฝังอยู่ในระบบอำนาจ ทั้งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ ชนชั้น/วรรณะ การมีภูมิลำเนาในชนบท ชาติพันธุ์ สถานภาพการเข้าเมือง อัตลักษณ์ทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศสภาพ สัญชาติ ศาสนาและปัจจัยอื่น ๆ นอกจากนั้น จะต้องมีการเคารพและปฏิบัติตามหลักการที่ส่งเสริมการแสวงหาฉันทามติของประชาชนซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นอิสระ มีการชี้แจงข้อมูลก่อนที่จะตัดสินใจใด ๆ สำหรับประชาชนทุกหมู่เหล่า โดยเฉพาะชนพื้นเมือง
 
 
เสาเศรษฐกิจ
 
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC) มุ่งส่งเสริมให้เกิดภูมิภาคที่มีเสถียรภาพ รุ่งเรือง และมีความสามารถในการแข่งขันสูง พร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียม การลดความยากจนและช่องว่างด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้โดยผ่านการเปิดเสรีอย่างสมบูรณ์และการเปิดเศรษฐกิจภูมิภาคภายในปี 2558 อย่างไรก็ตาม กรอบเศรษฐกิจการตลาดในเชิงแข่งขันซึ่งให้ประโยชน์เป็นสำคัญต่อบรรษัทข้ามชาติและเกิดจากความริเริ่มของรัฐบาลในอาเซียน ได้ส่งผลคุกคามต่อทรัพยากรและชีวิตความเป็นอยู่ของคนจำนวนมาก ทำให้เกิดความยากจนมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งในหมู่ชาวไร่ชาวนารายย่อย ชาวประมง และคนงานในประเทศกำลังพัฒนา ยิ่งทำให้เกิดความอสมมาตรในภูมิภาคที่เลวร้ายลง ทำให้เกิดความยากจนและความไม่เท่าเทียมมากขึ้น การผนวกรวมด้านเศรษฐกิจที่อาเซียนส่งเสริม ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคนงานในประเทศและคนงานพลัดถิ่นและครอบครัวของพวกเขา รวมทั้งประชาชนที่ไร้สัญชาติและไม่อยู่ในข้อมูลทะเบียนราษฎร์ และผู้มีเชื้อเอชไอวี/เอดส์ โดยเฉพาะส่งผลให้สภาพการทำงาน อาชีพ และมาตรฐานการครองชีพเสื่อมทรามลง
 
6. เราจะทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพเพื่อประกันว่า คนงานในอาเซียนทุกคนได้รับสิทธิของคนงานขั้นพื้นฐาน ทั้งสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานแรงงานหลักขององค์การแรงงานโลก (ILO) เราขอเรียกร้องรัฐบาลให้ส่งเสริมการเจรจาระหว่างสหภาพแรงงาน ภาคประชาสังคมและนายจ้างทั้งในระดับชาติและอาเซียน
 
7. เราขอเรียกร้องอาเซียนให้สนับสนุนและร่วมมือกับประชาชนในอาเซียน เพื่อจัดให้มีการประเมินอย่างเป็นอิสระในเชิงยุทธศาสตร์ ก่อนจะมีการเจรจาความตกลงด้านการค้าและการลงทุน โครงการและกระบวนการด้านอุตสาหกรรมใด ๆ ทั้งนี้ให้มีการประเมินผลกระทบทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้านสังคม (SIA) และด้านมนุษย์ (HIA) และการประเมินผลกระทบด้านเพศสภาพ ความตกลงการค้าใด ๆ จะต้องไม่มีผลกระทบที่บั่นทอนการเข้าถึงยาและการรักษา
 
8. อาเซียนต้องปฎิบัติให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาล รวมถึงเทคโนโยลีด้านยาและยารักษาโรค ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ดังนั้นการทำข้อตกลงการค้าใดๆ จะค้องไม่กระทบด้านลบต่อการเข้าถึงในเรื่องต่างๆเหล่านี้
 
9. เราขอกระตุ้นเตือนให้อาเซียนให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประชาคมชุมชนของอาเซียน สนับสนุนเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชนระดับรากหญ้า รวมถึงสนับสนุนการประกอบอาชีพแบบดั้งเดิม เราปฏิเสธการเปิดเสรีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างเข้มข้น ทั้งในส่วนที่เป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งและบนบก ซึ่งส่งผลให้บรรษัทข้ามชาติมีอำนาจควบคุมเหนือกิจการประมง การป่าไม้ ที่ดินด้านเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ควรมีการลงทุนในการเสริมสร้างศักยภาพของประชาชนเพื่อให้มีส่วนร่วมในการค้าและการลงทุน แทนที่จะมุ่งสนับสนุนแต่บรรษัทข้ามชาติ นโยบายด้านเศรษฐกิจจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับบางด้านเช่น ความมั่นคงทางอาหาร และจะต้องปฏิเสธการเปิดเสรีด้านการลงทุนในภาคเกษตร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งและบนบก และการป่าไม้
10. เราขอเรียกร้องให้อาเซียนให้ความใส่ใจและมุ่งแก้ปัญหาชาวประมงรายย่อย ทั้งนี้ ความตกลง Coral Triangle Initiative (CTI) ซึ่งมีวัตถุประสงค์มุ่งอนุรักษ์แหล่งประมงในภูมิภาค แต่กลับไม่มีการปรึกษาหารือกับชาวประมงรายย่อย ชาวประมงหลายล้านคนโดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ จะต้องสามารถแสดงความคิดเห็นและได้รับการสนับสนุนจากอาเซียน นอกจากนั้น เราเน้นย้ำข้อเรียกร้องให้อาเซียนจัดตั้งสภาเกษตรกร ชาวประมง ผู้ประกอบการด้านสังคม และผู้ผลิตรายย่อย และกำหนดนโยบายด้านเกษตรที่คุ้มครองสิทธิของชาวไร่ชาวนารายย่อย คุ้มครองอธิปไตยด้านอาหารและปกป้องสิทธิในที่ดิน
 
11. เราขอเรียกร้องรัฐอาเซียนทุกรัฐ ซึ่งยังไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาสากลว่าด้วยสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Convention on Economic, Social and Cultural Rights) ให้รับรองและสัตยาบันต่ออนุสัญญาดังกล่าว และเรียกร้องให้คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียน (AICHR) ประกันให้มีการให้สัตยาบันทุกประเทศ และให้มีการนำข้อบัญญัติของอนุสัญญาไปผนวกไว้ในกฎหมายและนำไปปฏิบัติอย่างเต็มที่
 
12. เราขอเรียกร้องอาเซียนให้พัฒนานโยบายการค้าร่วมกันของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะ;
12.1 กำหนดเงื่อนไขและหลักการในการจัดทำความตกลงการค้าในอนาคต
12.2 กำหนดตัวแปรที่ใช้เพื่อกำหนดอัตราภาษีศุลกากรและให้มีการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีและ EPA ใหม่
12.3 ส่งเสริมให้รัฐสภามีบทบาทในการตรวจสอบความตกลงเหล่านี้
12.4 เปิดโอกาสให้มีการเจรจาและกระบวนการด้านนโยบายการค้าที่ประชาชนมีส่วนร่วม และ
12.5 กำหนดกรอบที่ใช้ควบคุมการลงทุน ซึ่งตระหนักถึงสิทธิของประเทศสมาชิกที่จะควบคุมการลงทุน ในลักษณะที่สอดคล้องกับความจำเป็นและลำดับความสำคัญด้านการพัฒนาของตนเอง
 
13. เราต่อต้านกิจกรรมเพื่อเก็งกำไรทั้งปวง โดยเฉพาะการเก็งกำไรสินค้าการเกษตร ที่ดิน และสินค้าพื้นฐานอื่น ๆ รัฐบาลควรพัฒนากลไกเพื่อป้องกันการเก็งกำไร และให้มีการคุ้มครองไม่ให้มีการเก็งกำไรต่อการกระจายทรัพยากร
 
 
เสาสังคมและวัฒนธรรม
 
เป้าหมายหลักของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) คือการมุ่งส่งเสริมให้เกิดประชาคมอาเซียนที่มี “ประชาชนเป็นศูนย์กลางและรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและความสามัคคีที่ยั่งยืนในบรรดาประชาชาติและประชาชนของอาเซียน โดยการแสวงหาอัตลักษณ์ร่วมกัน และการส่งเสริมให้เกิดสังคมที่มุ่งให้การดูแลและแบ่งปัน ไม่มีการแบ่งแยกกีดกัน และมีแต่ความสมัครสมาน และยังเป็นการส่งเสริมความเป็นอยู่ อาชีพ และสวัสดิการของประชาชนอีกด้วย” เป้าหมายของประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน คือการมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยผ่านความร่วมมือรูปแบบต่าง ๆ ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน แม้เราจะตระหนักถึงความพยายามในการสร้างสังคมที่ให้การดูแลและแบ่งปันกันของอาเซียน เรายังเรียกร้องอาเซียนให้ยอมรับใช้วาระเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้โดยเน้นหลักการความเท่าเทียม ความเท่าเทียมโดยสาระบัญญัติ การไม่แบ่งแยกกีดกัน ความเป็นเอกภาพและความยั่งยืน
 
14. อาเซียนจะต้องประกันว่าประชาชนจะดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและปลอดจากอุปสรรค โดยรับประกันการให้การบริการที่จำเป็นต่อประชาชนทุกคนอย่างพอเพียง เหมาะสม เข้าถึงได้ มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนยากจนและด้อยโอกาส บริการที่จำเป็นเหล่านั้นควรประกอบด้วยการเข้าถึงการมีงานทำ/อาชีพ อาหาร ที่อยู่อาศัย บริการสุขภาพที่ทั่วถึงและเท่าเทียม การศึกษา น้ำที่สะอาดและปลอดภัย ไฟฟ้า เบี้ยบำนาญ และการประกันสังคม และความปลอดภัยในชีวิต
 
15. เราเรียกร้องอาเซียนให้ตระหนักถึงและเคารพต่ออัตลักษณ์ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เป็นเอกเทศของชนพื้นเมือง ในระดับภูมิภาค เราจะต้องประกันให้เกิดความหลากหลายด้านวัฒนธรรม การมีชีวิตรอดร่วมกัน การพัฒนา การคุ้มครองให้ปลอดจากการถูกทำให้เป็นสินค้าและการค้า เราขอเรียกร้องอาเซียนให้แก้ปัญหาคนไร้สัญชาติและประกันให้คนไร้สัญชาติเหล่านั้นเข้าถึงสิทธิและประโยชน์ขั้นพื้นฐานในสังคมอาเซียน
 
16. นโยบายเยาวชนของอาเซียนต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อบริการสุขภาพที่ทั่วถึงและเท่าเทียม การมีงานทำอย่างเหมาะสมและปลอดภัย การมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชน สิทธิมนุษยชนและการพัฒนาทักษะชีวิตของเด็ก อย่างเช่น การให้ความรู้ด้านสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ และความรู้ด้านเอชไอวี/เอดส์ โดยจะต้องสนับสนุนภูมิปัญญาในท้องถิ่นโดยผ่านการจัดทำเครือข่ายเยาวชนและการส่งเสริมโครงการจิตอาสาของเยาวชน และต้องประกันว่าปัญหาเอชไอวี/เอดส์ต้องเป็นส่วนหนึ่งของวาระด้านสุขภาพและการศึกษาของประเทศในอาเซียนทุกแห่ง
17. เราขอเรียกร้องคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนงานพลัดถิ่นแห่งอาเซียน ให้พิจารณาข้อมูลจากภาคประชาสังคมเกี่ยวกับการกำหนดกรอบเพื่อคุ้มครองคนงานพลัดถิ่นและครอบครัว โดยไม่คำนึงถึงสถานภาพของพวกเขา และประกันว่ากฎหมายของอาเซียนเพื่อคุ้มครองคนงานพลัดถิ่นจะมีผลบังคับใช้ตลอดทั่วภูมิภาค เราขอย้ำข้อเรียกร้องในการประชุมมหกรรมภาคประชาชนอาเซียนครั้งที่ 1/ภาคประชาสังคมอาเซียนครั้งที่ 5 นี้ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องรับรองปฏิญญาสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการคุ้มครองและการส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ (ASEAN Declaration on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers) และสมาชิกครอบครัวของแรงงานข้ามชาติ
 
18. คณะกรรมการเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของผู้หญิงและเด็กแห่งอาเซียน (ASEAN Commission of the Protection and Promotion of the Rights of Women and Children - ACWC) จะต้องเป็นองค์กรชำนาญการที่เป็นอิสระ ที่มุ่งส่งเสริมคุ้มครองและทำให้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้หญิงและเด็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นจริง จะต้องคุ้มครองหลักการว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติและความเท่าเทียมโดยสาระบัญญัติตามที่รับรองไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women - CEDAW) และให้คุ้มครองหลักการเพื่อประโยชน์สูงสุดและการมีส่วนร่วมของเด็กตามที่ปรากฏในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC)
 
19. เรายอมรับว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของผู้หญิงและเด็กแห่งอาเซียน (ACWC) และเน้นว่า ในกรอบอ้างอิง (TOR) ควรกำหนดให้มีความสมดุลระหว่างอำนาจหน้าที่ด้านการคุ้มครองกับการส่งเสริม โดยหน่วยงานนี้ควรมีอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองอย่างเข้มแข็ง โดยประกอบด้วยกลไกต่าง ๆ อย่างเช่น การเข้าเยี่ยมประเทศ การสอบสวนและการให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐภาคี และควรสามารถติดตามว่ามีการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะหรือไม่ สามารถรับข้อร้องเรียนจากบุคคล และกำหนดกลไกเพื่อรับและแก้ปัญหาตามข้อร้องเรียน เราขอกระตุ้นให้คณะทำงานเพื่อจัดทำคณะกรรมการดังกล่าวประกันว่า อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ จะครอบคลุมถึงการส่งเสริมการเยียวยาและประกันว่าจะไม่เกิดเหตุซ้ำ ให้มีการทบทวนการปฏิบัติอย่างเป็นอิสระในทุกระยะ และให้มีการติดตามกฎหมายและนโยบายระดับชาติ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถจำแนกได้ว่ามีกฎหมายและนโยบายใดบ้างที่ยังคงเลือกปฏิบัติอยู่
 
20. คณะกรรมการเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของผู้หญิงและเด็กแห่งอาเซียน (ACWC) จะต้องประกอบด้วยผู้ชำนาญการที่เป็นอิสระ ซึ่งมาจากขั้นตอนการสรรหาที่เป็นประชาธิปไตยและโปร่งใส โดยภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมและมีการปรึกษาหารือ เรากังวลว่า การไม่กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ด้านการคุ้มครองเป็นสัญญาณแสดงให้เด็กเห็นว่า อาเซียนไม่ปรารถนาและไม่สามารถประกันความปลอดภัยและความมั่นคงของเด็กได้ ในท่ามกลางภัยคุกคามที่ต้องเผชิญ ทั้งสงคราม การเอารัดเอาเปรียบ ความเสื่อมโทรมทางวัฒนธรรม การพลัดที่นาคาที่อยู่ และการไม่สามารถเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ
 
21. คณะกรรมการเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของผู้หญิงและเด็กแห่งอาเซียน (ACWC) จะต้องไม่ปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้หญิงและกลุ่มด้อยโอกาสอื่น ๆ โดยไม่สามารถอ้างว่าเป็นการทำในนามของวัฒนธรรม จารีตประเพณีหรือที่เรียกว่า “คุณค่าแบบอาเซียน” ได้เลย
 
 
เสาการเมืองและความมั่นคง
 
ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community - APSC) มุ่งส่งเสริมประชาชนและรัฐภาคีในอาเซียนให้มีชีวิตอย่างสงบสันติร่วมกัน รวมทั้งในระดับโลก โดยมุ่งสถาปนาสภาพแวดล้อมที่เป็นประชาธิปไตยและมีความสามัคคีต่อกัน เป็นการมุ่งส่งเสริมการพัฒนาด้านการเมือง โดยยึดมั่นต่อหลักประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และธรรมาภิบาล การมุ่งส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามที่กำหนดไว้ในกฎบัตรอาเซียน ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงแห่งอาเซียนจะเป็น “ช่องทางหนึ่งที่รัฐภาคีของอาเซียนสามารถส่งเสริมปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดและความร่วมมือมากขึ้น เพื่อกำหนดบรรทัดฐานร่วมกันและกลไกที่ใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุ ประสงค์ในด้านการเมืองและความมั่นคงของอาเซียน” แม้เราจะยินดีที่ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงแห่งอาเซียนระบุถึงการส่งเสริมให้เกิดอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่เรายังเห็นว่า กลไกนี้เน้นที่รัฐเป็นศูนย์กลางมากเกินไป อาเซียนและรัฐภาคีจะต้องทำงานอย่างจริงจังเพื่อส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมอย่างเป็นกิจจะลักษณะต่อประเด็นด้านการเมืองและความมั่นคง ภาคประชาสังคมควรมีส่วนร่วมโดยตรงและอย่างจริงจังต่อการทำงานของประชาคมการเมือง-ความมั่นคงแห่งอาเซียนทั้งในระดับชาติและภูมิภาค ทั้งนี้เพื่อรวบรวมความคิดเห็น การประเมิน และการช่วยเหลือเพื่อปฏิบัติตามแผนแม่บท
 
22. เราชื่นชมต่อการจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียน (AICHR) และกระบวนการสรรหาคณะกรรมการอย่างเปิดเผยในอินโดนีเซียและไทย คณะกรรมการชุดนี้ควรมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและกำหนดกลไกที่เข้มแข็งเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเข้าเยี่ยมประเทศ การแก้ปัญหาเมื่อมีข้อร้องเรียนว่าเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน การทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศอาเซียนเป็นประจำ และกลไกร้องเรียนเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิขึ้น
 
23. คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียน จะต้องกระตุ้นประเทศสมาชิกอาเซียนให้ให้สัตยาบันและดำเนินการตามกลไกระหว่างประเทศทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน และให้แต่งตั้งผู้ชำนาญการที่เป็นชนพื้นเมืองเพื่อเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการฯ ทั้งในด้านข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนของชนพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อยด้านชาติพันธุ์และศาสนา โดยเฉพาะประชาชนชาวโรฮิงญา คณะกรรมการฯ จะต้องกำหนดกลไกปรึกษาหารือระหว่างรัฐภาคีกับชนพื้นเมือง เพื่อแก้ปัญหาและข้อกังวลของพวกเขา ในการปรึกษาหารือเหล่านี้ หน่วยงานสหประชาชาติและกลไกสิทธิมนุษยชนระดับชาติอื่นๆ อาจจะเข้าร่วมก็ได้
 
24. เราขอเรียกร้องให้อาเซียนแสดงบทบาทในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทั้งปวง ทั้งที่เกิดขึ้นที่มินดาเนา ภาคใต้ของไทย ปาปัวตะวันตก พม่าและทะเลจีนใต้ อาเซียนจะต้องติดตามข้อมูลและรับทราบสถานการณ์ภายหลังความขัดแย้งและปัญหาในการสร้างสันติภาพในอาเจะห์และติมอร์เลสเต
 
25. ถึงเวลาแล้วที่อาเซียนจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังต่อปัญหาความยุติธรรม การละเลยการลงโทษต่อผู้กระทำผิด และการสมานฉันท์ รวมทั้งต่อปัญหาการถดถอยด้านประชาธิปไตยของภูมิภาคนี้
 
26. คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียน (AICHR) ควรสอบสวนทันที ต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางหรือเป็นระบบที่กำลังดำเนินอยู่ (รวมทั้งการที่รัฐออกกฎหมายกำหนดให้การเคลื่อนไหวของชุมชนที่ชอบธรรมเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการข่มขืนอย่างเป็นระบบและการละเมิดและความรุนแรงทางเพศรูปแบบอื่น ๆ ที่กระทำต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง การใช้และ/หรือการจัดหาทหารเด็ก แรงงานบังคับ การฆ่าตัดตอน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่น ๆ ในประเทศที่ได้รับผลกระทบ ในกรณีที่ประเทศใดละเมิดกฎบัตรอย่างร้ายแรง ทั้งการละเมิดต่อหลักธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม จะต้องมีการส่งกรณีนั้นเพื่อการพูดคุยในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน เราขอเรียกร้องให้คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียน ดำเนินการและสนับสนุนกลไกและตัวแทนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาค อย่างเช่นผู้ตรวจสอบพิเศษ (Special Rapporteurs) ในกรณีประเทศพม่าและกัมพูชา รวมทั้งกลไกอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทรมาน ความรุนแรงต่อผู้หญิง ความเป็นอิสระของหน่วยงานตุลาการและผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน
 
27. อาเซียนจะต้องมุ่งส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยและการจัดตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นอิสระ เพื่อประกันว่า รัฐภาคีจะสามารถจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรี เป็นธรรม และบริสุทธิ์ อาเซียนจะต้องกำหนดมาตรการที่เข้มแข็งเพื่อประกันว่าก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2553 ในประเทศพม่า ให้มีการเจรจาด้านการเมืองอย่างจริงจังระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด และการทบทวนเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ซึ่งจัดทำขึ้นเพียงฝ่ายเดียว
 
28. นักโทษการเมืองทุกคนรวมทั้งผู้ที่ถูกตั้งข้อหาตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกฎหมายเผด็จการอื่นๆ ในอาเซียน จะต้องได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งนางอองซานซูจี และนักโทษการเมืองกว่า 2,100 คนในพม่า
 
29. อาเซียนควรแก้ปัญหาความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องและการปฏิเสธความรับผิดชอบของรัฐภาคีที่มีต่อผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นในประเทศ และผู้ที่น่าห่วงใยทั้งปวง และขอเรียกร้องให้รัฐภาคีแห่งอาเซียนให้สัตยาบันรับรองโดยทันทีต่ออนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และให้ปฏิบัติตามหลักการว่าด้วยการพลัดถิ่นในประเทศ (Guiding Principles on Internal Displacement) และหลักการไม่ส่งกลับในกรณีที่ผู้ที่ถูกส่งตัวกลับอาจได้รับอันตราย ซึ่งเป็นหลักการตามกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐในอาเซียนควรอนุญาตให้มีการจัดทำข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของคนไร้สัญชาติ รวมทั้งผู้ที่รัฐต้นกำเนิดปฏิเสธไม่ยอมรับสถานภาพอย่างเช่นกรณีของชาวโรฮิงญา
 
30. ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงแห่งอาเซียนจะต้องกำหนดอย่างชัดเจนถึงแนวทางที่ส่งเสริมความมั่นคง โดยเฉพาะการส่งเสริมด้านเพศสภาพ โดยให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในทุกระดับ โดยเฉพาะในฐานะผู้ปฏิบัติและผู้ตัดสินใจเพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง และการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้หญิงที่อยู่ในบ้าน ในชุมชน ทั้งในระดับชาติและภูมิภาค
 
31. อาเซียนจะต้องกำหนดกรอบกฎหมายซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาสงครามความขัดแย้ง มีการพัฒนาตัวชี้วัด และรับประกันว่าเมื่อเกิดเหตุสู้รบขึ้น จะมีการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของมนุษย์ อาเซียนควรคุ้มครองและกำหนดกลไกเพื่อประกันให้มีบรรทัดฐานที่ส่งเสริมสันติภาพ อันรวมไปถึงการควบคุมด้านอาวุธ การยกเลิกการใช้กำลัง การยกเลิกการใช้อาวุธนิวเคลียร์และอาวุธที่มีพลานุภาพสูงอื่น ๆ
 
32. อาเซียนควรจัดทำและส่งเสริมกลไกเฉพาะเพื่อสถาปนาให้เป็นภูมิภาคที่สงบสันติ ทั้งการปฏิบัติตามคำประกาศว่าด้วยการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Declaration of Conduct in the South China Sea) อาเซียนจะต้องพัฒนากลไกไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้ครอบคลุมถึงการป้องกันความขัดแย้งและกระบวนการภายหลังความขัดแย้ง
 
33. เราขอเรียกร้องอาเซียนให้ประกันความมั่นคงด้านวัฒนธรรมของประชาชนทุกหมู่เหล่า ทั้งการเคารพต่อภาษาและการพัฒนากลไกเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภัยคุกคามที่กำลังเกิดขึ้นและการคุ้มครองสิทธิการตัดสินชะตากรรมของตนเอง โดยเฉพาะสำหรับชนพื้นเมือง รัฐบาลในอาเซียนควรทบทวนกฎหมายและนโยบายของตน เพื่อให้มีการคุ้มครองอย่างเต็มที่ต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็น การรวมตัว การจัดตั้งเป็นสมาคม และเสรีภาพด้านศาสนา
 
34. อาเซียนจะต้องยุติวัฒนธรรมของการละเลยการดำเนินการต่อผู้กระทำผิด ทั้งนี้โดยการพัฒนาระบบตุลาการที่เข้มแข็ง เป็นธรรม และโปร่งใส และการกำหนดกลไกเพื่อคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน
 
 
เสาสิ่งแวดล้อม
 
เพื่อเป็นการตอบรับกับสถานการณ์ที่เร่งดวนและเพิ่มทวีขึ้นของวิกฤตสิ่งแวดล้อมและภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาเซียนต้องเร่งกระบวนการที่จะนำไปสู่การประกาศเสาที่สี่ ด้านสิ่งแวดล้อม ในโครงสร้างและกลไกธรรมาภิบาลของอาเซียน ซึ่งจะทำให้เกิดมีความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ เพศสภาพ สังคม และความเป็นธรรมในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจ
 
การขยายตัวทางเศรษฐกิจในอาเซียนในปัจจุบัน กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ เช่นเหมือง เขื่อน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และการปลูกพืชเศรษฐกิจ นำมาซึ่งการเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบด้านลบต่อประเพณีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนและชนเผ่าต่างๆ การทำให้ความรู้ ข้อปฏิบัติต่างๆ และทรัพยากรธรรมชาติ กลายเป็นสินค้าหรือทุน ผ่านการทำข้อตกลงทางการค้า การลงทุน การจดสิทธิบัตร โดยทำให้ชุมชน โดยเฉพาะชนพื้นเมืองต่างๆ ถูกกันออกห่างจากการใช้ทรัพยากรของเขาเอง สิทธิการเป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกันของชุมชนในที่ดิน อาณาบริเวณ และทรัพยากร ยังคงถูกละเมิดและถูกฝ่าฝืนในนามของการพัฒนา วิกฤตเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งเป็นผลมาจากแบบแผนการพัฒนาเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน เห็นได้จากสภาพอากาศซึ่งมีความรุนแรงติดต่อกันมากขึ้น ซึ่งล้วนแต่มีผลกระทบต่อภูมิภาคอาเซียน และประชาชน และเป็นสิ่งที่ต้องมีการตอบสนองโดยทันที
 
35. เราขอเรียกร้องให้อาเซียนตระหนักในประเด็นที่ว่า ชนพื้นเมืองเป็นผู้ที่มีบทบาทหลักในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ และอาเซียนต้องสร้างกลไกที่จะรับประกันว่ากระบวนการปกป้องสิ่งแวดล้อมและชุมชนจะเป็นการะบวนการที่สามารถตรวจสอบได้ และเรายังขอเรียกร้องให้อาเซียนเซ็นรับรอง และปฏิบัติการเพื่อความโปร่งใสในการทำอุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติ (The Extractive Industry Transparency Initiative - EITI) เพื่อรับประกันว่าจะมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ดี โดยยึดหลักความเท่าเทียมกันที่โปร่งใส
 
36. เสาสิ่งแวดล้อม ควรหยิบยกผลกระทบที่มาจากการเลือกปฏิบัติด้านเพศสภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้หญิง อันเป็นผลมาจากโครงการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการและการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ นอกจากนั้น ระบบปิตาธิปไตยยิ่งเสริมแรงให้กับห่วงโซ่การเลือกปฏิบัติ และการละเมิดสิทธิในรูปแบบต่างๆ กัน ทำให้ผู้หญิงเกิดความเสี่ยงมากขึ้นที่จะต้องเผชิญกับความรุนแรงทางเพศ นอกจากนั้น โครงการพัฒนาต่างๆ เช่นโครงการเหมืองแร่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิทธิด้านสุขภาพของผู้หญิง โดยเฉพาะสิทธิด้านอนามัยเจริญพันธุ์
 
37. เราขอเรียกร้องอาเซียนให้
37.1 ส่งเสริมและคุ้มครองการเข้าถึงทรัพยากรในลักษณะที่เคารพต่อสิทธิในที่ดินของชนพื้นเมือง ปฏิบัติตามหลักการการไม่เลือกปฏิบัติและความเท่าเทียมโดยสาระบัญญัติ และส่งเสริมอธิปไตยด้านอาหาร พลังงาน การป่าไม้ การประมง ที่ดิน และน้ำ และเกษตรกรรมยั่งยืน บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะต้องถูกกำหนดให้เคารพต่อสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติตามมาตรฐานและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับสากลและในประเทศ
37.2 ให้นำ “หลักป้องกันไว้ก่อน” ในบทบัญญัติที่ 21 ในหลักการ “เคารพ-คุ้มครอง-เยียวยา” ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมาใช้ และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมของโครงการพัฒนาต่างๆ
37.3 จัดทำการทบทวนที่สมบูรณ์ และให้มีการแก้ไขระเบียบเกี่ยวกับการลงทุนที่จำเป็น โดยเฉพาะการลงทุนข้ามชาติในหมู่ประเทศสมาชิก ทั้งนี้เพื่อประกันให้สอดคล้องกับพันธกิจของหลักการด้านสิ่งแวดล้อมใหม่
37.4 จัดตั้งศูนย์วิจัยด้านภัยพิบัติแห่งอาเซียนเพื่อรวบรวมการประเมินอันตรายตามลักษณะภูมิศาสตร์ของแต่ละรัฐภาคี และให้มีการนำองค์ความรู้ของชนพื้นเมืองและคนในท้องถิ่นไปใช้เพื่อปรับปรุงแนวทางแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเข้าเมือง ยุทธศาสตร์ที่ช่วยคุ้มครองด้านการไม่เลือกปฏิบัติ โดยมีการปรับปรุงข้อมูลและปรึกษาหารือกับประชาชน
37.5 ประกันให้มีการบรรเทาทุกข์และการคุ้มครองที่จำเป็นต่อผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งปวง รวมทั้งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
37.6 กำหนดให้มีแผนแม่บทและการปฏิบัติตามกลไกสำหรับเสาสิ่งแวดล้อม ควรมีการกำหนดที่เป็นอิสระเพื่อติดตามในภูมิภาค เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์และการแบ่งปันทรัพยากรทางธรรมชาติข้ามพรมแดน และแก้ปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดนในกรณีที่กฎหมายในประเทศไม่ให้การคุ้มครองมากเพียงพอ
37.7 เรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วจ่ายหนี้ด้านนิเวศน์และหนี้ที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องจ่ายในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
 
 
พันธกิจของเรา
 
38. พวกเราประชาชนอาเซียน จะยังคงขับเคลื่อนเพื่อการมีส่วนร่วมของชุมชนระดับรากหญ้าและชุมชนชายขอบ (เช่น ผู้หญิง เด็ก ชนพื้นเมือง และคนพลัดถิ่น) องค์กรภาคประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งจะทำงานร่วมกันเพื่อพทำให้เกิดเป็นเวทีเพื่อการพูดคุยและปฏิสังสรรค์ระหว่างประชาชนในอาเซียน
 
39. เราขอส่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเสียงเรียกร้องของประชาชนเมียนมาร์/พม่า และเรียกร้องรัฐบาลพม่าให้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ในชาติ และเพื่อประกันว่าการเลือกตั้งในปี 2553 จะมีขึ้นอย่างเสรีและเป็นธรรมอย่างแท้จริง เพื่อให้ประเทศมุ่งไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
 
40. เรามุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการรวมตัวอย่างมีเอกลักษณ์ เพื่อความสมานฉันท์ต่อกันและการสนทนาระหว่างกันในระหว่างประชาชน เพื่อรับประกันว่า เป้าหมายแห่งอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางจะได้รับการยอมรับ เราจะข้องเกี่ยวกับภาครัฐบาลของอาเซียนต่อไปในช่วงปี 2553 ในการจัดประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 16 ที่ประเทศเวียดนาม เพื่อติดตามข้อเรียกร้องที่ภาคประชาชนมีต่ออาเซียน เราขอเรียกร้องใหเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนประเทศต่อไป ให้สนับสนุนการเจรจาและการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของภาคประชาสังคมกับอาเซียนต่อไป
 
 
บันทึกความไม่เห็นชอบ
 
The Cambodia-ASEAN Centre for Human Rights Development, Cambodia-ASEAN Youth Association, Cambodia-ASEAN Civil Society and Positive Change of Cambodia ได้เสนอแถลงการณ์ความไม่เห็นชอบต่อแถลงการณ์ทั้งฉบับ ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2552
 
ดอว์ถั่น นิว (Daw Than New) ในฐานะตัวแทนของ 16 องค์กรจากเมียนมาร์ ได้เสนอแถลงการณ์ความไม่เห็นชอบในประโยคสุดท้ายของข้อ 27 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2552 ว่า “เราไม่สามารถยอมรับการใช้คำพูดเช่นนี้ได้ รวมทั้งที่บอกว่าเป็นการทบทวนรัฐธรรมนูญที่จัดทำเพียงฝ่ายเดียวเมื่อปี 2551” องค์กรเหล่านั้นได้แก่ Union Solidarity and Development Association, Myanmar Anti-Narcotics Association, Myanmar Textiles Entrepreneurs Association, U Win Mra (Director-General-Retired, Ministry of Foreign Affairs), Myanmar Women Affairs Federation, Myanmar Textiles Entrepreneurs Association, Thanlyin Institute of Technology (Senior Officer, Research Division on National Interest), Union of Myanmar Federation of Chamber of Commerce of Industry, Myanmar Women Affairs Fedearation, Dr. Daw Wah Wah Maung (Lecturer, Yangon Institute of Economics).
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net