Skip to main content
sharethis
ราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นในชั่วโมงนี้ และมีแนวโน้มจะขยับสูงขึ้นไปอีกในอนาคต คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในประเทศไทยเองนั้นกลุ่มทุนสายอุตสาหกรรมเหมืองทองต่างคึกคักเพราะมีแรงจูงใจในการขยายการดำเนินการกันไม่น้อย สังเกตได้จากการขออาชญาบัตรในการสำรวจแหล่งทองคำ และการขอประทานบัตรการทำเหมืองทองคำที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะหากไม่นับรวมแหล่งทองคำโกโบริ หรือแหล่งทองคำญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามคำร่ำลือที่ว่ากันว่าซุกซ่อนอยู่ในถ้ำที่ไหนซักแห่งซึ่งยังไม่มีใครเคยค้นพบแล้ว ประเทศไทยยังมีแหล่งสายแร่ทองคำที่สามารถประกอบการเหมืองแร่ได้อยู่หลายแหล่ง
 
"ทองคำ" ในประเทศไทย
 
ข้อมูลจากแผนที่ทรัพยากรแร่ แสดงพื้นที่แร่ทองคำที่สำคัญในประเทศไทย ของสำนักทรัพยากรแร่ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่า ในไทยมีแหล่งทองคำในปริมาณมากอยู่อย่างน้อย 10 แหล่ง เท่าที่พบตอนนี้อยู่ทางภาคเหนือมากที่สุด 8 แหล่ง และภาคอีสาน ภาคใต้ มีภาคละ 1 แหล่ง โดยในเขตภาคเหนือแหล่งแร่ทองคำที่สำคัญมีอยู่ที่ จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย ลำปาง แพร่ เชียงราย โดยเฉพาะที่ จ.พิจิตร และ จ.ลำปาง มีจังหวัดละ 2 แหล่ง ขณะที่ภาคอีสานมีอยู่ที่ จ.เลย และภาคใต้ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์
 
จากทั้ง 10 แหล่งนี้ แหล่งที่ถูกสำรวจและพัฒนาจนถึงขั้นเป็นอุตสาหกรรมเหมืองผลิตทองคำแล้วมี 2 จุด คือ "แหล่งแร่ทองคำชาตรี" ในเขต ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร มีบริษัทอัครา ไมนิ่ง ได้รับประทานบัตร และอีกแหล่งคือ "แหล่งภูทับฟ้า" ในเขต ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย มีบริษัททุ่งคำ ได้รับประทานบัตร
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับแหล่งแร่ทองคำชาตรีนั้นนับเป็นแหล่งแร่แห่งแรกในประเทศไทย ที่ดำเนินการโดยเอกชนคือบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่ คือคิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ถือหุ้นใหญ่โดยนักธุรกิจชาวออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันยังคงดำเนินการอยู่ในพื้นที่แหล่งแร่ทองคำชาตรี
 
บริษทอัคราไมนิ่ง จำกัด ได้รับประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำในแหล่งแร่ทองคำชาตรีในเฟสแรกจำนวน 4 แปลง เนื้อที่รวม 1,166 ไร่ ในพื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ซึ่งเป็นเขตรอยต่อกับ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ประทานบัตรดังกล่าวมีอายุ 20 ปี เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 2543 และได้เริ่มผลิตทองคำก้อนแรกปลายปี 2544 จากที่ประเมินว่าพื้นที่ดังกล่าวมีเนื้อหินปนแร่ทองคำ 5 ล้านตัน โดยมีความสมบูรณ์ทองคำเฉลี่ย 3.2 กรัมต่อเนื้อหิน 1 ตัน และเป็นทองคำบริสุทธิ์ทั้งหมด 32.8 ตัน !
 
นี่เป็นตัวเลขการคาดการณ์เฉพาะพื้นที่เหมืองทองชาตรีของบริษัทอัคราไมนิ่งเท่านั้น
 
และหากรวมการผลิตโดยรวมทั้งประเทศ ข้อมูลจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม รวบรวมไว้เป็นรายปีระหว่างเดือน พ.ย. 2544 ที่เริ่มมีการทำเหมืองทองอย่างจริงจัง จนถึงปี 2546 พบว่าในปี 2544 ผลิตทองคำได้ประมาณ 0.31 ตัน มูลค่า 124.69 ล้านบาท ปี 2545 ผลิตได้ 4.95 ตัน มูลค่า 2,123.12 ล้านบาท และปี 2546 ผลิตได้ 4.43 ล้านตัน มูลค่า 2,117 ล้านบาท รวมแล้ว 9.69 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,364.81 ล้านบาท
 
ตัวเลขจำนวนดังกล่าวหากเปรียบเทียบกับแหล่งผลิตในต่างประเทศอาจดูน้อยนิด เพราะอย่างแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตทองคำใหญ่สุดของโลก ในปี 2004 ผลิตได้ 373 ตัน รองมาคือ ออสเตรเลีย 282 ตัน สหรัฐอเมริกา 276 ตัน จีน 194 ตัน รัสเชีย 177 ตัน เปรู 173 ตัน อินโดนีเชีย 164 ตัน
 
ตัวเลขดังกล่าวสามารถบ่งชี้ได้ว่าประเทศไทยเองมีศักยภาพในการผลิตทองคำเองได้ อีกทั้งปัจจุบันเองกลุ่มอุตสาหกรรมด้านเหมืองทองคำยังเข้ามาลงทุนในเพียงไม่กี่ราย ดังนั้นผลิตผลที่ได้จากการประกอบการเหมืองทองจึงนับเป็นสิ่งล่อตาล่อใจบริษัทแห่งนี้เป็นอย่างมาก และนั่นจึงนำไปสู่การยื่นขอประทานบัตร รวมทั้งอาชญาบัตรเพิ่มขึ้นอีกหลายแปลง
 
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ผลกำไรที่ได้จากการลงทุนจะมากมายเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการทำเหมืองทองนั่นคือปัญหาต่างๆ ที่ตามมามากมาย ทั้งปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการระเบิดหิน การขนส่งหิน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศจากการขุดเหมือง ผลกระทบด้านสุขภาพชุมชนในพื้นที่ดำเนินการ ปัญหาสารเคมีในกิจการเหมืองทองโดยเฉพาะไซยาไนด์ปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ รวมทั้งความแตกแยกของคนในชุมชน เป็นต้น  
 
ปัญหาเหล่านี้ชาวบ้าน "เขาหม้อ" ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ซึ่งอยู่ในเขต "แหล่งแร่ทองคำชาตรี" ต่างรับรู้ถึงความวิบัติดังกล่าวได้เป็นอย่างดี !
 
เมื่อทองคำอยู่ที่ "เขาหม้อ"
 
"เขาหม้อ" เป็นชื่อของภูเขาลูกโดดลูกหนึ่งในแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ อยู่ในเขต อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ติดต่อกับ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และ อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก มีชุมชนเขาหม้อซึ่งอยู่ใกล้พื้นที่ดำเนินการขุดเหมืองทองมากที่สุด เดิมทีมีจำนวนหลังคาเรือนกว่า 100 หลัง
 
แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงที่บริษัทอัครา ไมนิ่ง ได้ประทานบัตรทำเหมืองทองที่นี่ในปี 2544 ได้ทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเพื่อซื้อที่ดินของชาวบ้านที่ครอบคลุมเนื้อที่โครงการกว่า 1,166 ไร่ ชาวบ้านจำนวนมากจึงทยอยขายที่ดินให้กับบริษัทดังกล่าว เพราะเชื่อมั่นในคำพูดของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอัครา ไมนิ่ง ที่อ้างว่าเหมืองทองจะทำให้ชาวเขาหม้อ และหมู่บ้านอื่นๆใน ต.เขาเจ็ดลูกมีงานทำ และบริษัทจะดูแลเรื่องอนามัยและสวัสดิการ เมื่อสิ้นสุดการทำเหมืองขุดแร่ขึ้นมาทั้งหมดแล้ว ก็จะเอาดินกลบปลูกต้นไม้ให้คืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ
 
ผลจากการเชื่อคำพูดของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอัครา ไมนิ่ง ทำให้ช่วงนั้นหมู่บ้านเขาหม้อมีเม็ดเงินสะพัดจากการขายที่ดินซึ่งมีเอกสารสิทธิ์กว่า 1,000 ล้านบาท ชาวบ้านแต่ละรายที่ขายที่ดินได้เงินตั้งแต่ 5 แสนบาท - 60 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับจำนวนที่ดินที่มี หลังขายที่ดินก็ได้ออกจากหมู่บ้านไปหาซื้อที่ดินผืนใหม่เพื่อตั้งถิ่นฐาน ทว่ามีชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยินยอมขายด้วยหลายปัจจัย ทั้งกรณีที่ดินเดิมที่มีอยู่มีจำนวนน้อยนิด ขายไปก็ได้เงินไม่กี่หมื่นบาท ไม่เพียงพอต่อการไปตั้งรกรากใหม่ รวมทั้งกรณีที่ไม่ยินยอมขายเพราะต้องการยืนหยัดในที่ดินผืนเดิม รักษาไว้ให้รุ่นลูกหลาน
 
ผลจากเม็ดเงินกว่า 1,000 บาทที่บริษัทอัคราไมนิ่ง หว่านลงมาเพื่อกว้านซื้อที่ดินบ้านเขาหม้อในช่วงนั้นเป็นผลให้ชุมชนที่เคยอยู่ร่วมกันกว่า 100 หลังคาเรือน ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 7 หลังคาเรือนเท่านั้น ซ้ำร้ายโรงเรียนบ้านเขาหม้อที่เคยเป็นสถานศึกษาของลูกหลานชาวเขาหม้อนั้น วันนี้ได้กลายเป็นโรงเรียนร้างไปแล้ว
 
 
 
ผลจากถูกห้อมล้อมด้วยพื้นที่เหมืองทองที่เปิดดำเนินกิจการเหมืองทองทุกวันเป็นผลให้ชุมชนแห่งนี้ และรวมไปถึงชุมชนใกล้เคียงต่างเผชิญกับผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งจากการระเบิดหิน การเปิดหน้าดิน การขนส่งหิน-ดินจากการระเบิด การปรับเปลี่ยนเส้นทางสัญจรของชาวบ้าน และที่สำคัญคือการใช้สารเคมีโดยเฉพาะไซยาไนด์ที่เป็นตัวสกัดในกระบวนการล้างแร่
 
ชุมชนเขาหม้อซึ่งอยู่ใกล้เหมืองทองมากที่สุดต่างประจักษ์ในปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี เพราะหลังเหมืองทองเปิดดำเนินการได้ 2 ปี ไซยาไนด์ รวมทั้งสารเคมีอื่นๆ ทั้งสารหนู แมงกานีสจากการทำเหมืองทองที่นี่ไม่มีการจัดการที่ดีจนกระทั่งได้ปนเปื้อนลงสู่ดินและน้ำ ซึ่งชาวบ้านสามารถสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงของน้ำที่ใช้ในบ้านเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำบาดาลได้ด้วยตาเปล่าคือน้ำมีกลิ่นเหม็น หากเก็บไว้นานจะเปลี่ยนเป็นสีดำ และหากใช้อาบไปนานๆ จะเป็นผื่นคัน และเป็นแผลพุพองตามร่างกายจนสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านไปทั่ว และนี่จึงนับเป็นเหตุผลหนึ่งในการลุกขึ้นมาทวงสิทธิ์ของชาวเขาหม้อ
 
นางสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ชาวบ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก กล่าวว่า คนที่นี่รู้กันดีว่ามันมีผลกระทบจริงๆ แรกเริ่มที่ชาวบ้านยินยอมให้เปิดเหมืองในปี 2544 เพราะเชื่อในสิ่งที่ผู้บริหารของบริษัทบอกว่าเหมืองจะทำให้เกิดการสร้างงานให้แก่ทุกคนในชุมชน จะดูแลเรื่องอนามัยและสวัสดิการต่างๆ เมื่อสิ้นสุดการทำเหมืองขุดแร่ขึ้นมาทั้งหมดแล้ว บริษัทก็จะเอาดินกลบปลูกต้นไม้ให้คืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ แต่พอเปิดเหมืองก็รู้ซึ้งว่าความจริงคืออะไร เช่น ชาวบ้านเขาหม้อ พบว่าบริษัทไม่ให้ตำแหน่งงานกับทุกคน และหมู่บ้านไม่เคยได้รับการดูแลช่วยเหลือจากทางบริษัท แต่กลับมีผลกระทบต่อประปาหมู่บ้าน ซึ่งเป็นน้ำบาดาลปนเปื้อนสารเคมี ใช้อุปโภคบริโภคไม่ได้ นอกจากนี้ยังต้องเจอปัญหาเรื่องฝุ่นละออง เสียงจากการระเบิดเหมือง จากนั้นมาชาวบ้านก็เริ่มต่อต้านการทำเหมือง เพราะสิ่งที่สัญญาไว้ไม่เป็นจริง เหลือแต่มลพิษที่ทิ้งไว้กับบ้านของเรา
 
"ปี 2550 ที่มีการประท้วงที่หน้าเหมืองเพราะปัญหาเรื่องน้ำ ชาวบ้านก็พยายามเจรจากับเหมืองให้แก้ปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ ช่วงหนึ่งเขาก็เอาน้ำดื่มลงมาแจกให้ชาวบ้านแต่ไม่ถึง 3 เดือน ทางบริษัทก็ยืนยันว่าตัวอย่างน้ำจากแหล่งธรรมชาติไม่พบการปนเปื้อน ทางบริษัทก็ยกเลิกการแจกน้ำตั้งแต่นั้น จนทุกวันนี้ชาวบ้านต้องรับภาระในการซื้อน้ำกินน้ำใช้เอง เพราะน้ำจากแหล่งธรรมชาติไม่สามารถใช้ได้แล้ว" นางสื่อกัญญา กล่าว
 
พระครูอธิการสมคิด ศิริปัญญา เจ้าอาวาสวัดเขาหม้อ หมู่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ กล่าวว่า ชาวบ้านที่นี่ต่างได้รับความเดือดร้อนจากการทำเหมืองอย่างหนัก และยังไม่รู้ว่าบริษัทจะแก้ปัญหาหรือรับผิดชอบอย่างไร เรื่องผลกระทบทั้งเรื่องน้ำกิน ที่ชาวบ้านต้องซื้อน้ำกินกันแล้ว เรื่องฝุ่นและเสียงดังที่เกิดจากการระเบิดภูเขาทั้งวันทั้งคืน รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบทั้งหมด ปัญหาเหล่านี้บริษัทรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ปัญหาแก่ชาวบ้านโดยเร็ว 
 
อย่างไรก็ตาม แม้ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมนัก แต่ในปี 2548 บริษัทอัคราไมนิ่งได้ยื่นขอประทานบัตรเพิ่มอีก 5 แปลง อยู่ในเขต จ.พิจิตร เนื้อที่ 1,309 ไร่ และ 4 แปลงในเขต จ.เพชรบูรณ์ รวมเนื้อที่ 1,156 ไร่เศษ ซึ่งนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (ขณะนั้น) ได้ลงนามอนุมัติไปเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2551 (ก่อนลาออกประมาณ 1 สัปดาห์)
 
สำหรับช่วงการยื่นขอปะทานบัตรเฟส 2 ชาวบ้านเขาหม้อบอกว่าบริษัทมีการติดประกาศในหมู่บ้าน หลังจากนั้นไม่ถึง 20 วัน ชาวบ้านก็รวมตัวคัดค้านตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ต่อมาทางบริษัทพยายามจะขอมติของ อบต.ซึ่ง อบต. ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีส่วนได้เสียก็มีมติเห็นชอบไปโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของประชาชน จากนั้นชาวบ้านซึ่งไม่ใช่แค่ชาวเขาหม้อเท่านั้น แต่รวมไปถึงชาวบ้าน อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวเหมืองได้พยายามรวมกลุ่มร้องเรียนโดยตลอด เช่น ทำหนังสือถึง อบจ. ผู้ว่าราชการ จ.พิจิตร กระทรวงอุตสาหกรรม นายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือ
 
มากไปกว่านั้น ปัจจุบันบริษัทอัคราไมนิ่งยังได้อาชญาบัตรในการสำรวจแร่อีก 58 แปลง เนื้อที่ประมาณ 580,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ จ.พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงยามอนุมัติไปเมื่อปี 2549 ซึ่งใบอาชญาบัตรดังกล่าวมีอายุ 5 ปี ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทแห่งนี้ต้องเร่งสำรวจแหล่งแร่ทองคำด้วยขุดเจาะชั้นดินเพื่อวิเคราะห์ปริมาณแร่ทองคำในแต่ละพื้นที่อย่างกว้างขวางท่ามกลางเสียงคัดค้านของชุมชนในหลายพื้นที่ แต่ถึงกระนั้นดูเหมือนว่าจะไม่มีสิ่งใดมาหยุดยั้งกระบวนการดำเนินการของบริษัทแห่งนี้ได้
 
ดังนั้น การลุกขึ้นสู้ของชาวเขาหม้อและหมู่บ้านใกล้เคียงแม้ที่ผ่านมายังไม่สามารถต้านทานกระบวนการดำเนินการได้ ขณะที่ผลกระทบต่างๆ นับวันยิ่งจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ กรณีดังกล่าวจึงสามารถสะท้อนความจริงใจของรัฐบาลในการเข้ามาสะสางปัญหาที่หมักหมมมานานได้เป็นอย่างดี ว่าท้ายที่สุดแล้วระหว่างผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนกับผลกำไรที่จะเกิดกับกลุ่มทุน รัฐบาลจะเลือกยืนอยู่ฝ่ายใคร.
 
ข้อมูลประกอบการเขียน
- เอกสาร : กรณีเหมืองแร่ทองคำ ผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ, สิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ 3 จังหวัด (พิจิตร, พิษณุโลก และ เพชรบูรณ์) โดยเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบ กรณีเหมืองแร่ทองคำ 3 จังหวัด พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- http://www.manager.co.th
- http://www.vwander.com/
- http://th.answers.yahoo.com

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net