Skip to main content
sharethis

 

“ผมดีใจที่คุณมาสัมภาษณ์เรื่องหนังสือ ก็ดีเหมือนกัน ที่คนจะมาคิดถึงเราในแง่หนังสือ ที่ผ่านมามักคิดถึงเราในแง่นักวิชาการมากกว่า ไม่คิดถึงเราในแง่หนังสือ บางทีเราก็อยากเป็นนักทำหนังสือด้วย” ... นี่เป็นประโยคพูดคุยกับทีมงาน ขณะที่แวะเยี่ยมเยือนคารวะบ้านของ ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคุณจรรยา นาถสุภา ผู้เป็นภรรยา

 
โดยทีมงานพิจารณาว่าบทสนทนาอย่างเป็นกันเอง เกี่ยวกับเรื่องสำนักพิมพ์สร้างสรรค์ ในฐานะของการพิมพ์หนังสือวิชาการ และการผลิตผลงานออกมาสู่ตลาดของไทย ในสมัยรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งกล่าวถึงปี 2552 - 2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่านของประเทศ และกำหนดให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของไทย เป็นเรื่องน่าอ่านเต็มไปด้วยสาระอย่างยิ่ง
 
 
000
 
วิกฤติเศรษฐกิจ และการทำหนังสือวิชาการของสำนักพิมพ์สร้างสรรค์ อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุถา มองเห็นเรื่องเกี่ยวกับ ผู้ซื้อหนังสือ เป็นอย่างไร?
 
ฉัตรทิพย์: ผมตั้งราคาแพงไปหน่อย แต่ความจริง ก็คือ หนังสือวิชาการขายไม่ค่อยได้ ขายคนจำนวนจำกัด เพราะฉะนั้น ก็พิมพ์ได้น้อย ก็เลยต้องตั้งราคาแพง จะได้มีเงินหมุนเวียนเพื่อให้หนังสือพิมพ์ได้ และเมื่อคนเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง จะพิมพ์ ผมก็ขอให้เขาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งด้วย แล้วสำนักพิมพ์ให้หนังสือเขา เขาก็เอาไปขายถูกหน่อย ก็พอจะช่วยไปได้ ก็ขายพอใช้ได้ พอคุ้มทุนเมื่อขายไปนานๆ
 
 
หากเปรียบเทียบตลาดของหนังสือวิชาการจากอดีตกับปัจจุบัน
 
ฉัตรทิพย์: ตลาดหนังสือวิชาการในปัจจุบันดีกว่าหน่อย คือผมพิมพ์หนังสือตั้งแต่ทศวรรษ 2510 ตอนนั้นก็ลำบากกว่านี้มาก ผมสนใจเรื่องทำสำนักพิมพ์ และเราก็ตั้งสำนักพิมพ์ของเราเอง ร่วมกับลูกศิษย์ บริษัท สำนักพิมพ์สร้างสรรค์จำกัด ขึ้นมา เราพิมพ์หนังสือออกมาแล้ว 47 ปกในเวลา 25 ปี ปีนี้เป็นปีที่ 26  ตลาดมันดีขึ้น แต่ก็ไม่ดีขึ้นมาก
 
คุณจรรยา (ภรรยาของอาจารย์ฉัตรทิพย์) เป็นผู้อำนวยการบริษัท ส่วนผมเป็นประธานบริษัท ลูกศิษย์มีหุ้นส่วนหนึ่ง ผมและครอบครัวถือหุ้นส่วนใหญ่ ตอนที่เริ่มเขียนหนังสือ พิมพ์หนังสือ 1,000 เล่ม เดี๋ยวนี้ก็ยังหลัก 1,000-2,000 นะ มากสุดเดี๋ยวนี้ 3,000 ซึ่งก็มีไม่กี่เล่มที่พิมพ์ 3,000 เพราะฉะนั้น ก็ไม่ดีขึ้นเท่าไหร่   40 ปีมานี้ แค่จาก 1,000 2,000 มา 3,000  น้อยมากอยู่อย่างนี้ แต่ว่าพอขายได้ แต่ก่อน 1,000 ขาย 10 ปีก็ยังขายไม่หมด แต่เดี๋ยวนี้ คนอ่านหนังสือมากขึ้น
 
สำนักพิมพ์วิชาการมีน้อย ที่อยู่มาอย่างยาวนานยิ่งน้อยใหญ่ ที่มีก็มติชน ใหญ่โตกว่าเราเยอะ แนววิชาการสังคมศาสตร์กว้างๆ สำนักพิมพ์จุฬาฯทำได้ดี แต่ไม่ใช่เอกชน เป็นของราชการ สำนักพิมพ์ของธรรมศาสตร์ มูลนิธิโครงการตำราฯ สำนักพิมพ์เอกชนทางวิชาการมีน้อยกว่าของรัฐ มีเฉพาะสาขา เช่น เมืองโบราณ แนวโบราณคดี และฟ้าเดียวกันออกมาทางการเมือง
 
หนังสือในแนวของเราที่ทำเป็นหนังสือเล่ม คนที่เริ่มคือคุณประสิทธิ์ รุ่งเรืองรัตนกุล เขาพิมพ์หนังสือพวกวิทยานิพนธ์ ที่ผมคุมวิทยานิพนธ์ตอนนั้น เขาก็เอาไปพิมพ์ แล้วทีนี้ พิมพ์ไปสักพักหนึ่ง ผมก็เลยรู้สึกสนุกอยากจะทำต่อ ก็เลยบอกเขาว่า เรามาทำเป็นเรื่องเป็นราวดีกว่า  คุณประสิทธิ์ เขาก็มาช่วยตั้งสำนักพิมพ์ ชื่อสร้างสรรค์ก็ของเขานั่นแหละ เขาก็โอนมาเป็นบริษัทของผม ชื่อบริษัท สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ จำกัด และจดทะเบียนปี พ.ศ. 2526 เราร่วมหุ้นกัน ทำกันมาเรื่อยๆ ชวนลูกศิษย์เข้าหุ้น ว่ากันมา จนทุกวันนี้ ผมมีความสุขนะ ทำอันนี้ได้ ตรวจบรู๊ฟด้วย ทำบัญชีด้วย ติดต่อโรงพิมพ์ด้วย ตอนนี้เราอยู่ได้แล้ว
 
จรรยา นาถสุภา: เราจ้างคนเป็นครั้งคราว เพื่อลดค่าใช้จ่าย เพราะเราเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ ถ้าเราจ้างคนที่ประจำตลอดเวลา ทุนก็หายไปเรื่อยๆ เพราะเราเริ่มตั้งทุนก็ไม่เยอะ ที่มาของสำนักพิมพ์สร้างสรรค์ ก็คือเป็นชื่อเดิม สร้างสรรค์ ที่คุณ ประสิทธิ์ ตั้งขึ้นมา สร้างสรรค์สิ่งที่ดีต่อสังคม ก็คือ พิมพ์งานของอาจารย์ ลูกศิษย์ และเพื่อน ซึ่งสมัยก่อนเวลาเราจะเอาหนังสือไปให้ใครพิมพ์มันยาก แต่ก่อนเขาไม่พิมพ์หนังสือวิชาการ แล้วก็นานมาก คล้ายๆเขาไม่แน่ใจเรา แล้วอาจารย์ก็คิดว่า เรามารวมกันทำเองดีไหม เพราะเราจะได้เผยแพร่งานที่ดีๆ ของกลุ่ม ของอาจารย์เอง และของลูกศิษย์ บรรดาเพื่อน ซึ่งหมายความว่า เวลาเราลงมือทำก็ทำเลย จุดหมายไม่ได้เอากำไร จุดหมายเพื่อเผยแพร่งานของอาจารย์ ลูกศิษย์ และเพื่อนออกสู่สังคม เพื่อพิมพ์หนังสือให้หมุนเงินกลับมาทำเล่มใหม่ต่อไปได้
 
ฉัตรทิพย์ และจรรยา: แล้วตอนนี้ เราก็เอาว่า งานดี เราคัดเลือก ต้องตรวจบรู๊ฟให้ดี และเราก็ต้องคิดเรื่องการออกแบบรูปเล่มให้น่าอ่าน มันก็ต้องใช้เวลา
 
ฉัตรทิพย์: บริษัทของเรา คือ บริษัทสำนักพิมพ์สร้างสรรค์ จำกัด และของคุณประสิทธิ์ ก็คือ บริษัท สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด แล้วเขาก็ทำต่อ ซึ่งเขาพิมพ์หลายอย่าง เรื่องความรู้ก็มี เรื่องพงศาวดารจีนก็มี นิยายจีนก็มี ทั้งหนังสือของหลวงวิจิตร พงศาวดาร นวนิยาย คุณประสิทธ์มีหุ้นในบริษัท สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ จำกัดด้วยส่วนหนึ่ง
 
นี่คุณประสิทธิ์เขาว่าจะทำเป็นซีรี่ส์ใหญ่ เรื่องชั่นบ้อเหมา ผมอ่านตอนเด็กๆ เป็นร้อยเล่มเล็กๆ ผมเขียนคำนำให้เขาสำหรับที่จะพิมพ์ครั้งใหม่นี้ ผมรออยู่ สมัยเด็กๆ ผมอ่านแล้วชอบมาก ให้ความบันเทิง และให้เข้าใจสังคมจีน ประสิทธิ์กับผมจะร่วมมือกันตลอด อย่างเวลาเราจะพิมพ์ เนื่องจากเขามีคณะบก.ของเขา ก็ขอให้เขาจัดหน้ารูปเล่มหนังสือ ทีมงานก็เกือบจะทีมงานกองเดียวกัน อย่างไรก็ตามบางเล่มของผมพิมพ์ที่อื่นก็มีเหมือนกัน  
 
 
หนังสือของอาจารย์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ลักษณะปกหนังสืองานวิชาการ โทนสีปก เหมือนกับสร้างสรรค์บุ๊คเลย
 
ฉัตรทิพย์: หลายครั้งกองบรรณาธิการเดียวกัน ใช่ๆ แต่ก็มีพิมพ์กับฟ้าเดียวกันบ้าง พิมพ์ดีบ้าง ด่านสุทธาบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็พิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์ เรากำลังจะพิมพ์ออกอีกเล่มหนึ่ง หนังสืออาจารย์ปรีดีที่ให้สัมภาษณ์ผมเมื่อ พ.ศ. 2525 ไม่เหมือนกับที่สัมภาษณ์ลงในเว็บเสียทีเดียว เพราะท่านอาจารย์ปรีดีแก้และเติมตรงไหนที่ไม่ชัด ข้อมูลในหนังสือมีมากกว่า
 
จรรยา: ก็ดีนะ สำหรับคนที่ยังอาจเข้าใจเรื่อง 2475 สับสน จะเข้าใจชัดจากตัวท่าน
 
ฉัตรทิพย์: อย่างเรื่องหนึ่ง ผมมาฟังตอนหลังก็รู้สึกว่าชัดเจน คือเรื่อง 2475 ส่วนมากว่าเป็นคนหัวนอก แต่ว่า ท่านอาจารย์ปรีดี จะอธิบายว่า มาจากประสบการณ์ที่ท่านเห็นความยากลำบากของชาวนา ในสังคมไทยเราเอง อันนี้บางทีเราข้ามไป ถ้าฟังจากเทปก็ดี จากหนังสือเล่มนี้ก็ดี จะเห็นชัดว่า นี้มาจากปัญหาในประเทศของเรา
 
จรรยา: หลายเรื่องที่ท่านพูด อย่างเรื่องโรงสีขูดรีดอย่างไร ซึ่งโรงสีขูดรีดอยู่แล้ว ถ้าแก้ไข แล้วให้รัฐเข้าไปดูแล เราต้องทำอย่างไร ตัดการขูดรีดนี้ให้ลดลง ให้มีทางต่อรอง คือให้มีทางเลือก เพื่อให้ต่อรองได้
 
ฉัตรทิพย์: ผมดีใจ ที่คุณมาสัมภาษณ์เรื่องหนังสือ ก็ดีเหมือนกัน ที่คนจะมาคิดถึงเราในแง่หนังสือ ที่ผ่านมามักคิดถึงเราในแง่นักวิชาการมากกว่า ไม่คิดถึงเราในแง่หนังสือ บางทีเราก็อยากเป็นนักทำหนังสือด้วย
 
จรรยา: อาจารย์คิดอันหนึ่ง บ้านเราหนังสือวิชาการมันน้อย ส่วนใหญ่บ้านเราก็เป็นสาระบันเทิง อาจารย์ก็อยากทำตรงนี้ เพื่อให้คนมีโอกาสเลือกสรรที่จะอ่าน ซึ่งถ้าเผื่อเราสามารถส่งเสริม ให้คนอ่านตรงนี้ได้มากๆ จะได้มีสำนักพิมพ์ทางวิชาการเกิดขึ้นมาอีก แล้วถ้าเกิดคนหันมาสนใจอ่านหนังสือมากขึ้น อย่างน้อยจะได้มีคอนเซ็ปท์ ในเรื่องการหาข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าฟังเขาเล่ามาแล้วกลับไปเล่าต่อ มันจะได้แก้ไขตรงนี้ แล้วเราจะได้มี Scientific Mind มากขึ้น และจะค้นคว้าข้อเท็จจริงจากเอกสาร
 
ฉัตรทิพย์: คือหนังสือมันน่าสนใจหลายอย่าง มันอ่านซ้ำไปซ้ำมาได้ เลือกอ่านได้ อ่านแล้วคิดได้ อ่านไปคิดไปว่า เป็นอย่างไร ใช้ Imaginationได้ คิดให้เป็นระบบต่อเนื่องได้ แต่ถ้าเผื่อเราดูทีวี มันเร็ว เราจะถูกพาไปเยอะ ไม่ทันมาคิด แล้วเราเลือกได้ยาก เพราะเราดูที่เขาเอามาให้ดูจนจบ แต่หนังสือเราชอบตอนนี้ แล้วคิดให้ดีๆ ไปอ่านอีกตอนหนึ่ง เลือกอ่าน เรามีโอกาสกำหนดแนวทาง เราเอามาผนวกไอเดียเราได้มากขึ้น ในขณะที่อย่างพวกทีวี เราจะถูกชักจูงไปเรื่อยๆ ได้ง่าย คิดไม่ทัน วูบๆไป แล้วเราต้องดูจนจบ
 
แต่หนังสือ เราเลือก เราคิด เราวิพากษ์วิจารณ์ในตัว แล้วคิดต่อ มีImaginationได้ แล้วช้าๆ ได้ ใช้สมาธิได้ มีประโยชน์หลายอย่าง ซึ่งก็ดีน่ะ โดยเฉพาะ เราเลือกคนเขียนที่เรารู้ว่าแบบที่จะให้อะไรเรา กลั่นกรองมาดี มีข้อมูลดี ก็ช่วยได้เยอะ แล้วก็นอกจากนั้นเป็นวิธีหาความรู้ที่ถูก ทำได้ด้วยตัวเอง ใช่ไหม เรานั่งอ่านอยู่บ้านของเรา เราไม่เสียตังค์เท่าไหร่ ไปยืมมายังได้ ซื้อก็ไม่แพง ไม่ต้องเดินทาง มันดูดีหลายอย่าง เป็นวิธีเข้าถึงผู้คนจำนวนมาก ผู้คนก็จะมีอิสระที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เอาไปเทียบกับเล่มอื่น ไม่เชื่อเล่มนี้ ก็ไปหาที่อื่นๆ แล้วมาเปรียบเทียบกันได้  ผมชอบ Media นี้นะ
 
แล้วการเขียนนี่น่ะ มันดำรงอยู่  ถ้าพูด โอเคก็ให้ผลอีกแบบหนึ่ง แต่เขียน ใครจะมาพลิกอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ เป็นเหมือนการจารึก ดำรงอยู่ตลอดเวลายาวนาน เป็นวิธีเผยแพร่ ที่เอาละอาจจะไม่แบบว่าปลุกระดมเหมือนพูด แต่ขณะเดียวกัน มันก็ยั่งยืน คุณจะกลับมาดู เวลาผ่านไปก็ดำรงอยู่ เป็นวิธีเผยแพร่ที่เป็นอยู่ได้ยาวนาน แล้วก็มีผลไปยาวไกล และกว้างขวาง คนที่ไหนๆ ไม่ได้เปิดอะไรฟัง แต่ว่าหนังสือก็ไปได้ถึง  ก็ต้องมีหนังสือด้วยไม่ใช่ฟังแต่วิทยุ หรือดูทีวีเท่านั้น ผมจึงชอบเขียนหนังสือ ทำหนังสือ ทำมาเรื่อยๆ
 
 
งานส่วนใหญ่ ที่จะพิมพ์หนังสือกับสำนักพิมพ์ มีหลักอะไรบ้าง
 
ฉัตรทิพย์: คือ คุณภาพทางวิชาการและเป็นบุคคลในเครือข่าย ได้รู้จักกันมา ได้เห็นผลงานกันมา ได้พูดคุยกันมา ได้เข้าใจแนวคิดพอสมควร อันนี้เป็นแนวคิดแบบญี่ปุ่น เขาแบบนี้นะ คือว่าต้องเป็นกลุ่มเดียวกัน เครือข่ายเดียวกัน แนวคิดไปในลักษณะใกล้เคียงกัน พวกเดียวกัน จะว่าอย่างนั้นก็ได้ และจะต้องดีด้วย คือ ดีอย่างเดียว แต่เป็นคนข้างนอก ก็อาจจะไม่มาเกี่ยวข้อง และเราก็อาจจะรับพิมพ์ไม่ไหว อาจจะต้องดูก่อน แต่ถ้าเกิดพวกอย่างเดียว แล้วไม่ดี กลุ่มเราก็จะอยู่ไม่รอด อีกไม่นานคนเขาก็ไม่เอา เพราะฉะนั้นเราต้องทั้งสองอย่าง
 
นี่เป็นระบบญี่ปุ่นเขา คุณภาพและความสัมพันธ์ยาวนาน ผมใช้หลักนี้ แล้วถ้าสาขาก็ที่ผมสนใจคือ  ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจวัฒนธรรม , เศรษฐกิจการเมืองวัฒนธรรม คือ มองเป็นองค์รวม มองสังคมเป็นองค์รวม และมองอย่างเป็นประวัติศาสตร์ เรียกว่า แนวประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม แนวอย่างนี้ อาจจะเรื่องต่างประเทศด้วยยิ่งดี คือมีมิติเปรียบเทียบไม่ใช่เฉพาะแต่ไทย หมายความว่าบางครั้งมีตัวอย่างต่างประเทศเพื่อจะมาเข้าใจสังคมไทยเราด้วย จะออกแนวอย่างนี้ และเรื่องส่วนมากที่พิมพ์เป็นงานของเพื่อน ลูกศิษย์ คนรู้จัก
 
 
ผลงานแนวเริ่มแรกของอาจารย์ เป็นเศรษฐศาสตร์การเมือง จนถึงหนังสือปัจจุบัน
 
ฉัตรทิพย์ และจรรยา: เศรษฐศาสตร์การเมือง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ แล้วมาโยงวัฒนธรรมมาทีหลัง
 
ฉัตรทิพย์: ชาวบ้าน ชาวไท คือ ผมออกไปทำเรื่องชนบท ชาวนา เสร็จแล้วก็พบว่า วัฒนธรรมของเขานั้น ใกล้เคียงกับชนชาติไทที่อยู่นอกประเทศไทย ถ้าดูในแง่ของพ่อค้า หรือทางด้านรัฐก็จะห่างหน่อย แต่ว่าถ้าดูในแง่ของชาวบ้าน ลาวกับอีสาน จะใกล้มาก หรือว่า ทางเชียงใหม่กับพวกเชียงตุง เชียงรุ่ง รัฐฉาน จะใกล้ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าต้องโยงไปด้วย ความจริงเราไปเอาเขตแดนประเทศมากเกินไป ในแง่ชาวบ้านแล้วโยงกลับไปได้ อย่างคุณอรรคพล เมื่อทำวิทยานิพนธ์ออกไปเรื่องแม่น้ำโขง ข้ามไปก็คล้ายคลึงกันมาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net