Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทนำ

            วิวาทะระหว่างผู้นำประเทศไทยและประเทศกัมพูชาในเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกลายเป็นประเด็นสำคัญอีกครั้งที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นอกจากเรื่องพื้นที่รอบๆ ปราสาทพระวิหารและพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตร ประเด็นที่กำลังถกเถียงกันอยู่นี้ก็คือเรื่อง ความหมายของความผิดทางการเมือง (Political offences) โดยมีมุมมองที่ต่างกัน โดยทางการของไทยเห็นว่า ความผิดกรณีที่ดินรัชดานั้นเป็นความผิดอาญาธรรมดา (Common crimes) แต่นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชา (และอาจรวมถึงคนไทยกลุ่มหนึ่ง) ที่เห็นว่าคดีนี้เป็นคดีการเมือง วัตถุประสงค์ของข้อเขียนนี้ต้องการอธิบายข้อยกเว้นของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะความผิดทางการเมืองว่ามีประเด็นใดบ้าง
 
1. ลักษณะทั่วไปของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (Extradition)
            การส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นช่องทางหนึ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศใช้ในการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดหรือผู้ถูกกล่าวหาที่หนีไปประเทศอื่น โดยปกติแล้ว อำนาจอธิปไตยของรัฐย่อมจำกัดเฉพาะภายในดินแดนหรืออาณาเขตของตนเท่านั้น ตามกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐหนึ่งจะใช้อำนาจอธิปไตยเหนือกว่าอีกรัฐหนึ่งโดยที่รัฐนั้นไม่ยินยอมไม่ได้ ดังนั้น เมื่อผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยได้หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ รัฐเจ้าของสัญชาติของผู้ถูกกล่าวหา (หรือจำเลยแล้วแต่กรณี) จะส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐไปจับกุมในต่างประเทศไม่ได้เพราะเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของรัฐอื่น ดังนั้น รัฐเจ้าของสัญชาติจึงต้องร้องขอให้มีการช่วยเหลือที่จะติดตามจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยมาให้
 
โดยปกติแล้ว ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะกระทำในรูปของสนธิสัญญาทวิภาคีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (ในบางกรณีรัฐอาจทำความตกลงพหุภาคีเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็ได้) ซึ่งเป็นฐานของความร่วมมือระหว่างรัฐที่ร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (Requesting state) กับรัฐที่ถูกร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน (Requested state) อย่างไรก็ดี หากไม่มีสนธิสัญญาระหว่างกัน รัฐก็สามารถใช้ “หลักต่างตอบแทน” (Reciprocity) ได้ (ซึ่งผิดกับกรณี “การโอนตัวนักโทษ” ที่ต้องมีสนธิสัญญาระหว่างรัฐที่ร้องขอกับรัฐที่ได้รับการ้องขอเสมอ)
 
            อย่างไรก็ดี แม้จะมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็ตามก็มิได้หมายความว่า เมื่อมีการร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว รัฐที่ได้รับการร้องขอจะต้องส่งให้ตามคำร้องเสมอ โดยปกติแล้ว ตามสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือกฎหมายภายในเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะระบุเงื่อนไขหรือเกณฑ์ที่ใช้พิจารณารวมถึงข้อยกเว้นบางประการด้วย เกณฑ์หรือเงื่อนไขของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่สำคัญคือ

ประการแรก ความผิดที่จะส่งให้แก่กันได้นั้นต้องเป็นความผิดของทั้งสองประเทศคือทั้งของประเทศที่ร้องของและประเทศที่ได้รับการร้องขอ ไม่ว่าจะเรียกฐานความผิดในชื่อใดก็ตาม เกณฑ์นี้นักกฎหมายเรียกว่า Double-criminality หรือ Double-jeopardy
ประการที่สอง โทษขั้นต่ำของฐานความผิด (เช่น ต้องไม่ต่ำกว่า 1 ปี)
ประการที่สาม ความผิดที่จะถูกดำเนินคดีได้เมื่อมีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามคำขอนั้น รัฐที่ร้องขอจะพิจารณาคดีและลงโทษได้เฉพาะความผิดที่ร้องขอเท่านั้น จะไปดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไม่ได้ เกณฑ์ข้อนี้มีไว้เพื่อป้องกันมิให้มีการดำเนินคดีในความผิดที่ไม่อาจส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กันได้ แต่รัฐได้อาศัยช่องทางของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในความผิดฐานหนึ่งเพื่อไปดำเนินคดีหรือลงโทษในอีกความผิดฐานหนึ่ง เกณฑ์นี้เรียกว่า “Speciality”
 
2. ข้อยกเว้นของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
            กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนมีพัฒนาการมาตามลำดับ มิได้หยุดอยู่นิ่ง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ ความคิดที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและความคิดเรื่องความเป็นประชาธิปไตยได้เข้ามามีบทบาทในเรื่องของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนด้วย ดังจะได้อธิบายต่อไป ดังนั้น ข้อยกเว้นของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจึงมิได้จำกัดเฉพาะเรื่องความผิดทางการเมืองอย่างที่เข้าใจกัน
 
2.1 ความผิดทางการเมือง (Political Offences)
            เป็นที่ยอมรับกันในหมู่ประเทศตะวันตกหลังการปฎิวัติฝรั่งเศสว่า การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันเป็นสิ่งปกติในสังคมระบอบประชาธิปไตยและเป็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญยิ่ง ดังนั้น หากบุคคลได้กระทำความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองแล้ว ความผิดทางการเมืองย่อมไม่อยู่ในข่ายที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดน
 
โดยปกติแล้วปัญหาขอบเขตของความหมายความผิดทางการเมืองนั้นเป็นปัญหาที่มีความยุ่งยากอยู่มิใช่น้อยเนื่องจากเกณฑ์ที่ใช้พิจารณานั้นมีอยู่หลายเกณฑ์ และในหลายกรณีศาลก็มิได้อาศัยเกณฑ์หนึ่งเกณฑ์ใดเป็นปัจจัยชี้ขาด แต่ศาลอาจพิจารณาเกณฑ์อื่นๆ ควบคู่กันไป อีกทั้งทางปฎิบัติของแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น สนธิสัญญาทวิภาคีส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็ดี กฎหมายภายในของรัฐเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็ดี (ยกเว้นกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของประเทศเยอรมนีลงวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1929 มาตรา 3 (2)) ส่วนใหญ่จะไม่มีการให้คำนิยามว่า ความผิดทางการเมืองคืออะไร การพิจารณาว่าความผิดใดเป็น “ความผิดอาญาธรรมดา” (Common crime) หรือ “ความผิดทางการเมือง” (Political crime) นั้น เป็นดุลพินิจหรือเป็นปัญหาการตีความขององค์กรตุลาการของรัฐที่ได้รับการร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ไม่เกี่ยวกับรัฐที่ร้องขอแต่อย่างใด
 
อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า ความผิดทางการเมืองนั้น แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ความผิดทางการเมืองโดยแท้ (purely political offences) กับความผิดที่มีลักษณะเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับการเมือง (relative political offences)
 
1) ความผิดทางการเมืองโดยแท้ (purely political offence)
การกระทำบางอย่างอาจมองว่าเป็นความผิดทางการเมืองอย่างแจ้งชัด เช่น ความผิดฐานกบฏ (Treason) การยุยงปลุกปั่นทางการเมือง (Sedition) การทำจารกรรม (Espionage) การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองหรือต่อสู้เรียกร้องเอกราช การวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง การกระทำเหล่านี้โดยตัวมันเองเห็นได้ชัดว่าเป็นความผิดทางการเมืองโดยแท้ (purely political offences)
 
2) ความผิดที่มีลักษณะเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับการเมือง (relative political offences)
ความผิดทางการเมืองในปัจจุบันมิได้จำกัดแค่ “ความผิดทางการเมือง” (political offences) แต่เพียงอย่างเดียวแต่อาจรวมถึง “ความผิดที่เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับความผิดทางการเมือง” (an offence connected with a political offence) ด้วยอย่างเช่น ในระหว่างที่มีการปลุกระดมหรือประท้วงทางการเมือง ผู้ชุมนุมประท้วงอาจมีการกระทำความผิดอาญา เช่น ทำร้ายร่างการ หรือฆ่าคนตายหรือวางเพลิงเผาทรัพย์ การกระทำเหล่านี้เห็นได้ชัดว่าเป็นความผิดอาญาแต่หากผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยพิสูจน์ต่อศาลได้ว่ากากระทำความผิดอาญาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งหรือแยกออกจากการประท้วงหรือการชุมนุมทางการเมืองไม่ออกหรือทำไปโดยมีเป้าหมายทางการเมืองมิใช่เรื่องส่วนตัวแล้ว ก็อาจถือได้ว่าเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับการเมืองได้ ดังจะเห็นได้จากคดี In re Castioni ที่ผู้ถูกกล่าวหานามว่า Castioni ได้ฆ่าเจ้าหน้าที่ของรัฐชาวสวิสตายในระหว่างที่มีการจลาจลทางการเมือง รัฐบาลสวิสได้ร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนแต่ศาลอังกฤษปฎิเสธโดยเห็นว่า การฆ่าคนตายนั้นมีส่วนสัมพันธ์หรือเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดขึ้นของจารจลทางการเมือง หรือในคดี Finucane v. McMahon ศาลอังกฤษปฎิเสธที่จะให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเนื่องจากเกรงว่าหากส่งนาย Finucane ซึ่งเป็นนักโทษแหกคุกกลับไปยังคุกที่ Maze ประเทศไอร์แลนด์แล้ว เกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิตร่างกายเนื่องจากพัศดีได้เคยทำร้ายทรมานนักโทษมาแล้ว

ตัวอย่างของกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ยอมรับความผิดแบบนี้ได้แก่ กฎหมายของประเทศอังกฤษกับไอร์แลนด์ ฉะนั้น ปัจจุบัน นักกฎหมายบางท่านจึงใช้คำว่า ความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง (Political character) แทน
 
2.2 การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนหรือข้อห่วงใยด้านมนุษยธรรม
ปัจจุบัน กระแสความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน (Human rights) หรือข้อห่วงใยด้านมนุษยธรรม (Humanitarian concern) และความเป็นประชาธิปไตยนั้นเป็นกระแสที่มีมีอิทธิพลในหลายเรื่องไม่เว้นเม้กระทั่งเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในแง่นี้ การพิจารณาว่าจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่นั้น ปัจจุบันจึงมิได้จำกัดเฉาะเรื่องความผิดทางการเมืองโดยแท้เท่านั้น แต่ฝ่ายตุลาการหรือฝ่ายบริหารของรัฐที่ได้รับคำร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนยังได้คำนึงถึงแง่มุมของสิทธิมนุษยชนประกอบด้วย ดังจะเห็นได้จากอนุสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของยุโรปมาตรา 3 (2) ที่รับรองว่าจะไม่มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กันหากว่ามีเหตุสนับสนุนอย่างมากว่าสิทธิต่างๆ ของผู้กระทำผิดอาจถูกทำให้เสื่อมเสีย อันเนื่องมาจากความคิดเห็นทางการเมืองของผู้นั้น
 
การปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Fair Trail) หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า สิทธิมนุษยชนต่างๆ ของจำเลยหรือผู้ถูกกล่าวว่าอาจถูกละเมิด หากว่ามีการส่งตัวกลับ ศาลก็อาจปฎิเสธที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจะเลยจะต้องแสดงให้ศาลเห็นว่า สิทธิการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมหรือสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ของตนจะถูกละเมิดได้ ศาลเคยใช้เหตุผลนี้เพื่อปฎิเสธคำร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาแล้ว ดังเช่นกรณีของนาย Patrick Ryan โดยรัฐบาลอังกฤษได้ร้องขอให้มีการส่งตัวนาย Patrick Ryan แต่อธิบดีกรมอัยการของประเทศไอร์แลนด์ได้ปฎิเสธที่จะส่งตัวนาย Patrick Ryan ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนโดยเหตุผลที่ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสื่อมวลชนของประเทศอังกฤษต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของนาย Ryan แล้ว ทำให้เกรงว่าหากมีการส่งตัวนาย Ryan กลับ นาย Ryan จะมิได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีในชั้นศาล
 
อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า ความผิดทางการเมืองมิได้จำกัดเพียงแค่ “การกระทำ” (act) ของผู้กระทำแต่เพียงอย่างเดียวอย่างที่เข้าใจกัน แต่รวมถึงปัจจัยอย่างอื่นด้วย เช่น แรงจูงใจของรัฐบาลที่ร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนว่ามีแรงจูงใจทางการเมืองแอบแฝงหรือไม่ ที่เรียกว่า “Political Motive of the Requesting State” ข้อยกเว้นข้อนี้ได้ถูกรับรองไว้ในสนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศสาธารณะรัฐประชาชนบังคลาเทศว่าด้วยส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2541 ด้วย โดยมาตรา 3 (1) บัญญัติว่า จะไม่มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้เมื่อ
 
(ข) เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง
นอกจากเรื่องความผิดทางการเมืองแล้ว ศาลของหลายประเทศยังได้ให้ความสำคัญกับระบอบการปกครองของประเทศที่ร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนด้วยว่ามีระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน มีการรับรองหลักนิติรัฐหรือไม่ เกณฑ์นี้เรียกว่า “the Political Structure of the Requesting State” เกณฑ์นี้ศาลอังกฤษเคยใช้ในคดี Kolczynski โดยศาลอังกฤษปฎิเสธที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปให้ประเทศโปแลนด์ ซึ่งพิจารณาตามมาตรฐานของประเทศอังกฤษ (หรือประเทศตะวันตก) แล้ว โปแลนด์ในเวลานั้นยังไม่เป็นประชาธิปไตยตามมาตรฐานของประเทศตะวันตก
 
3.เหตุสำหรับการปฎิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนของสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา
            ประเทศไทยทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) โดยมีข้อยกเว้นในเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในข้อ 3 ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 6 ข้อย่อย โดยประเด็นสำคัญอยู่ที่ข้อ (1) และข้อ (2) โดยข้อ (1) นั้นเป็นเรื่องความผิดทางการเมือง ส่วนข้อ (2) นั้นบัญญัติว่า “ภาคีที่ได้รับการร้องขอมีเหตุผลหนักแน่นในอันที่จะสันนิษฐานว่าคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนของภาคีผู้ร้องมีความมุ่งประสงค์ในการที่จะดำเนินกระบวนการทางอาญาหรือดำเนินการลงโทษบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัว โดยมีสาเหตุจากเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ หรือความเห็นทางการเมืองของบุคคลนั้น หรือว่าสถานะของบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวเพื่อดำเนินคดีทางศาลจะถูกทำให้เสื่อมเสียโดยสาเหตุใดดังกล่าวข้างต้น” ประเด็นที่ควรพิจารณามีดังนี้
 
ประเด็นแรก หากพิจารณาตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนข้างต้น เหตุที่รัฐบาลกัมพูชาจะใช้เป็นข้ออ้างเพื่อไม่ส่งอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนนั้นมิได้มีแค่เรื่องความผิดทางการเมืองตามข้อ (1) เท่านั้น แต่ยังมีเหตุตามข้อ (2) ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย ซึ่งหากพิจารณาจากคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีฮุนเซนแล้ว เหตุที่รัฐบาลกัมพูชาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อปฎิเสธการส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือข้อ (1) ซึ่งหมายถึงความผิดทางการเมือง (โดยแท้)
 
ประเด็นที่สอง การพิจารณาว่าเป็นความผิดทางการเมืองหรือไม่เป็นอำนาจของใคร โดยปกติแล้ว ฝ่ายตุลาการของรัฐที่ได้รับการร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นองค์กรที่มีอำนาจในการตีความความหมายของความผิดทางการเมืองว่ามีความหมายแคบกว้างเพียงใด ดังจะเห็นได้จากสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศฟิลิปปินส์ พ.ศ. 2524 ข้อ 5 (2) ที่บัญญัติว่า “ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นว่าดคีใดเป็นความผิดทางการเมืองหรือไม่ ให้คำวินิจฉัยของภาคีฝ่ายที่ได้รับการร้องขอเป็นเด็ดขาด” แม้ข้อความแบบข้อ 5 (2) จะไม่ปรากฏในสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ไทยทำกับกัมพูชาก็ตาม แต่หากพิจารณาจากถ้อยคำในมาตรา 3 ที่ใช้คำว่า “ภาคีที่ได้รับการร้องขอพิจารณาเห็นว่า…” และ “ภาคีที่ได้รับการร้องขอมีเหตุผลหนักแน่นในอันที่จะสันนิษฐานว่า….” ก็เข้าใจได้ว่าเป็นดุลพินิจของประเทศที่ได้รับการร้องขอ (ซึ่งในที่นี้คือประเทศกัมพูชา) ที่จะตีความคำว่าความผิดทางการเมืองมีความหมายแคบกว้างเพียงใดรวมถึงข้อ 3 (2) ด้วย อย่างไรก็ดี ในข้อที่ 21 ของสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ระบุว่า หากมีข้อพิพาทใดเกี่ยวกับการใช้หรือการตีความสนธิสัญญานี้ ให้ทั้งสองประเทศมีการระงับข้อพิพาทโดยการปรึกษาหารือหรือโดยการเจรจา
 
 ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติอยู่เองที่ศาลของแต่ละประเทศให้ความหมายของความผิดทางการเมืองแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าศาลของประเทศนั้นใช้ทฤษฎีอะไร หรือใช้สิ่งใดเป็นเกณฑ์ เช่น ประเทศอังกฤษใช้ทฤษฎี Incident theory หรือศาลของประเทศฝรั่งเศสใช้ทฤษฎีภาวะวิสัย (Objective theory) โดยไม่คำนึงถึงแรงจูงใจทางการเมือง ในขณะที่ศาลของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ให้ความสำคัญกับแรงจูงใจทางการเมืองของผู้กระทำ
 
บทสรุป
            เหตุยกเว้นในเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นมิได้จำกัดมีแค่ความผิดทางการเมืองเท่านั้น แต่ปัจจุบัน การปฎิเสธคำร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนยังคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย นอกจากนี้ ความผิดทางการเมืองเองก็มิได้มีความหมายอย่างแคบที่หมายถึงเฉพาะการกระทำที่มุ่งต่อความมั่นคงของรัฐอย่างความผิดเรื่องกบฏเรื่องการยุยงปลุกปั่นทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงความผิดที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอีกด้วย
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net