ชาวบ้าน 3 จังหวัดสะท้อนปัญหาหน่วยงานรัฐสุดต้วมเตี้ยมแก้ปัญหาเหมืองทองอัคราฯ

เมื่อวันที่ 26 ต.ค.52 คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง “กรณีปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่” นัดประชุมครั้งที่สอง ณ อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ว่าด้วยเรื่องความคืบหน้าในการดำเนินงานแก้ไขปัญหากรณีเหมืองแร่ ทองคำชาอัครา จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์พิษณุโลก และโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี โดยมีผู้เข้าวร่วมทั้งกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ตัวแทนของหน่วยงายราชการ เช่น กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ และตัวแทนจาก 4 จังหวัด คือ พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก อุดรธานี และตัวแทนจากบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด รวมแล้วกว่า 40 คน
 

ชาวบ้านผื่นเต็มตัว สธ.ลุยตรวจแล้วเงียบ อ้างผลแล็บยังไม่ออก
การประชุมเริ่มขึ้นโดยการรายงานผลการปฎิบัติงานของทั้ง 3 จังหวัดในเขตเหมืองทองอัคราฯ ได้แก่ พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเสียงสะท้อนการทำงานแก้ไขจากกลุ่มชาวบ้าน

ชาวบ้านในจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ในเรื่องสุขภาพความเจ็บป่วย สาธารณสุขรับชาวบ้านไปตรวจแล้ว 2 ครั้ง แต่ผลการตรวจยังไม่คืบหน้าอ้างว่าอยู่ระหว่างทำแล็บแม้ว่าเวลาผ่านมาเกือบ 2 เดือนแล้วก็ตาม อีกทั้งชาวบ้านยังมีผื่นคันเพิ่มขึ้นเนื่องจากน้ำใช้ซึ่งทางอบต.เขาเจ็ดลูกส่งให้นั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้านทำให้ต้องใช้น้ำประปาหมู่บ้านแก้ขัด อีกทั้งน้ำกินตามที่ได้ตกลงกับหน่วยงานราชการและบริษัทอัคราฯ ว่าจะมีการส่งน้ำให้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง แต่ก็เงียบหาย

ในส่วนของน้ำใช้ในการเกษตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็แก้ไขไม่ตรงจุดเท่าที่ควร เพราะปัญหาอยู่ที่ชาวบ้านกลัวว่าน้ำในอ่างเก็บน้ำเขาหม้อจะแห้งขอดในหน้าแล้งนี้ และคันดินของเหมืองซึ่งกั้นทางน้ำไหลจากเขาและเนินลงสู่นาข้าวของชาวบ้าน อีกปัญหาที่น่าสนใจคือเรื่องแผนการฟื้นฟูเหมืองทองอัครา ทางจังหวัดพิจิตรได้เตือนให้บริษัทฯ ดำเนินการให้เป็นตามแผนฯแต่ไม่มีอะไรคืบหน้า อีกทั้ง “กองทุน” ที่ได้รับจากบริษัทอัครานั้น ขอให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบซึ่งกำหนดไว้ คือต้องมีชาวบ้านและหน่วยงานราชการเข้าเป็นคณะกรรมการ แต่ชาวบ้านไม่แน่ใจว่าจะดำเนินการควบคุมโครงการได้แค่ไหน อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านต้องการมาตรการที่เห็นเด่นชัดกว่านี้ดังเช่นใน EIA ระบุว่า “หากได้รับเรื่องร้องเรียนจากราษฎร กรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร) เห็นว่าเป็นจริงที่ไม่ปฎิบัติตามแผน ผู้ถือประทานบัตร ต้องยินยอมยุติการทำเหมืองชั่วคราว

ถมที่ล้ำทางหลวง-บ่อดักตะกอนล้นลงคลอง
เรื่องของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1344 และทางสาธารณะประโยชน์นั้น ชาวบ้านได้คัดค้านอย่างถูกต้องเป็นไปตามระเบียบการบริหารราชการฯ แต่ทางสาธารณะดังกล่าวก็ยังถูกปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ทางอำเภอทับคล้อซึ่งมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ ไม่มีความสามารถที่จะสั่งเปิดทางสาธารณะนี้ได้ นอกจากนี้ยังมีการถมคันดินเข้ามาในแนวทางหลวงแผ่นดิน ชาวบ้านจึงอยากวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ

ชาวพิจิตรยังกล่าวอีกว่า มีประเด็นเร่งด่วนที่ชาวบ้านเสนอคือ “บ่อดักตะกอนขุ่นข้น จากกองมูลหิน” นั้นได้เอ่อล้น ทะลัก ลงสู่คลองล่องหอยแล้ว และมีหลักฐานคือวิดีโอภาพ แต่หน่วยงานรัฐกลับยังเห็นว่าไม่ชัดเจน และไม่มีการตรวจสอบจัดการอย่างจริงจัง

ชาวบ้านจากจังหวัดเพชบูรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่เลวร้ายเนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานใดๆ ผู้ป่วยได้รับการตรวจเฉพาะผู้ที่มีรายชื่อจากที่ส่วนกลางส่งลงไปแต่ผู้ป่วยรายอื่นกลับไม่ได้รับสิทธิ อีกทั้งมติจากการประชุมใหญ่กำหนดให้ตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมาตรวจสอบ แต่ก็หายเงียบเข้ากลีบเมฆนานกว่า 2 เดือนแล้ว

ส่วนทางสาธาณะประโยชน์ซึ่งเชื่อมต่อกับเขตพิจิตร ทางบริษัทอัคราได้ปิดกั้นเช่นกัน โดยอ้างว่าเป็นมติของจังหวัด ซึ่งเห็นว่าอยู่ในเขตเหมืองกลัวว่าชาวบ้านจะได้รับอันตราย ชาวบ้านอยากให้ตรวจสอบว่าเป็นไปตามระเบียบราชการหรือไม่

ชาวบ้านจากจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า เพิ่งจะได้เริ่มจัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดแต่ยังไม่มีการประชุมจนเป็นที่น่าแปลกใจ เพราะพิษณุโลกเป็นจังหวัดที่เสนอมตินี้ให้ที่ประชุมเองแต่ปัญหาต่างๆ ที่เสนอไปยังไม่ได้รับการแก้ไขแม้แต่น้อย

เรื่องสุขภาพชาวบ้านได้เสนอให้มีการตรวจสุขภาพทั้งหมู่บ้านเพื่อจะได้มีข้อมูลเปรียบเทียบยืนยันว่าความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น เกิดจากสาเหตุใดกันแน่
 

หวั่นรัฐเวรคืนที่ สปก.ชาวบ้านให้เหมืองทอง
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านให้ข้อมูลอีกว่า พิษณุโลกเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจของการทำเหมืองในระยะต่อไป เพราะขณะนี้ได้มีการขุดเจาะสำรวจเพื่อหาศักยภาพของทองที่จะคุ้มทุนว่าอยู่ตรงจุดใดบ้างของอำเภอเนินมะปราง แต่มีเหตุน่าเป็นห่วงว่า ที่ดินเกือบทั้งอำเภอเนินมะปรางเป็นที่ดิน สปก. ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ ชาวบ้านจึงกลัวว่าอาจจะมีการเวนคืนที่ดินจากรัฐแล้วส่งต่อให้บริษัทอัคราฯทำเหมืองทอง

ด้านศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เห็นว่าเหมืองทองคำเป็นเรื่องใหม่ เหมืองอัคราฯ ถือเป็นกรณีแรกของประเทศไทยผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นมากมาย โดยอาจารย์แสดงความเป็นห่วงกับพื้นที่ใกล้เคียงว่า

“เขาหม้อเป็นพื้นที่เขา เป็นหมู่บ้านบนเนิน เป็นต้นน้ำของคลองล่องหอยซึ่งไหลลงสู่ฝั่งพิษณุโลกบ้านใหม่คลองตาลัดและบ้านทุ่งยาวซึ่งเป็นที่ลุ่มความเป็นอยู่จึงต่างกัน เขาหม้อทำนาได้ไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี แต่ฝั่งพิษณุโลกซึ่งห่างออกไป 2-3 กิโลเมตรนั้นใช้น้ำจากคลองล่องหอยทำนาได้ทั้งปี คงจะได้รับความเดือนร้อนอย่างมากแน่นอน ชาวบ้านจึงเริ่มรู้สึกหวงแหนในถิ่นที่อยู่ เพราะเห็นตัวอย่างจากเขาหม้อว่าได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง”

ชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช เสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อศึกษาในทุกด้านของการทำเหมืองแร่โปแตชว่าจะมีผลอย่างไรบ้าง และนำผลการศึกษามาประเมินว่าสมควรจะให้มีเหมืองเกิดขึ้นหรือไม่ โดยเสนอให้มีสภาพัฒน์ ตัวแทนคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และนักวิชาการร่วมทีมด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท