Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมถือว่าคนเสื้อแดงเป็นคนที่รักประชาธิปไตยแท้ และรักความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งแปลว่าเราเข้าข้างผลประโยชน์คนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน เราต่อต้านการผูกขาดอำนาจและอภิสิทธิ์พิเศษของชนชั้นสูง และเรากำลังหาทางต่อสู้กับอำมาตย์ด้วยวิธีต่างๆ ดังนั้นในกรณีสหภาพแรงงานรถไฟ ประเด็นสำคัญที่เราจะต้องพิจารณาคือ

1. ถ้าเราจะล้มอำนาจอำมาตย์ เราจะแค่ชุมนุม แค่ยื่นฏีกา แค่รอให้เราชนะการเลือกตั้งเพื่อให้เขาล้มรัฐบาลอีกรอบ? หรือเราจะขยายมวลชนและสมรภูมิการต่อสู้ไปสู่ส่วนสำคัญอื่นๆของสังคม เช่นขบวนการแรงงาน เพราะขบวนการแรงงานมีพลังซ่อนเร้นที่มาจากการนัดหยุดงาน มันเป็นอำนาจที่จะมาสู้กับอำมาตย์ได้ ถ้าเราเข้าไปช่วงชิงการนำจากเสื้อเหลือง คนเสื้อแดงละเลยขบวนการแรงงานมาตลอดทั้งๆ ที่คนงานส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยเลือกพรรคไทยรักไทย ตอนนี้ถึงเวลาที่จะต้องทบทวนแนวปฏิบัติของคนเสื้อแดงว่าจะขยายการต่อสู้ หรือจะถอยหลัง จะหาแหล่งพลังใหม่ๆ หรือจะสร้างความเพ้อฝันว่าจะสร้างกองกำลังติดอาวุธหรือหาพรรคพวกในหมู่อำมาตย์

2. พันธมิตรฯ อย่างสมศักดิ์ โกศัยสุข และสาวิทย์ แก้วหวาน ไม่เคยนำการต่อสู้ของพนักงานรถไฟเพื่อประโยชน์ของพนักงานและประชาชนเลย ค่าจ้างสวัสดิการยังตกต่ำ มีลูกจ้างชั่วคราวจำนวนมาก สภาพระบบรถไฟก็แย่เพราะขาดการลงทุนมานาน พวกพันธมิตรฯ ก็แค่ใช้สหภาพเป็นเครื่องมือ ที่สำคัญคือ เราควรเหมารวมคนขับรถไฟ เจ้าหน้าที่บนขบวนรถ เจ้าหน้าที่สถานีต่างๆ คนซ่อมทางฯลฯ เข้ากับแกนนำเหลืองหรือ? หรือเราจะค่อยๆ ช่วงชิงมวลชนคนจนเหล่านี้จากการนำโดยพันธมิตรฯ?

ในความเป็นจริงแกนนำเสื้อเหลืองไม่สามารถนำสหภาพรถไฟเพื่อประโยชน์สมาชิกและประชาชนได้ เพราะเสื้อเหลืองคัดค้านประชาธิปไตย คัดค้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ให้สวัสดิการกับคนส่วนใหญ่ คัดค้านการลงทุนของรัฐเพื่อสร้างสาธารณูปโภค อย่าลืมว่าฝ่ายทหารอำมาตย์คัดค้านสิทธิในการนัดหยุดงานของพนักงานรัฐวิสาหกิจมานาน ตัวอย่างที่ดีคือสมัย ร.ส.ช. นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์มีประวัติการผลักดันให้ขายรัฐวิสาหกิจมาตลอด ดังนั้นถ้าเราเสนอให้แก้ปัญหาสำหรับพนักงานและประชาชนอย่างจริงจัง และคัดค้านการแปรรูป เน้นการลงทุนของรัฐเพิ่มขึ้น เราแข่งแนวกับคนอย่างสาวิทย์ได้ในระยะยาว

3. คนเสื้อแดงนิ่งเฉยและหวังว่าประวัติผลงานของ ไทยรักไทย จะช่วยครองใจประชาชนต่อไปไม่ได้ พรรคเพื่อไทย ยังไม่มีนโยบายและข้อเสนอใหม่ๆ เลย เราย่ำอยู่กับที่ในการด่าเปรม ด่าอำมาตย์ซึ่งไม่พอ คนเสื้อแดงต้องมีนโยบายที่เกี่ยวกับปัญหาปากท้องของประชาชน เหมือนกับที่ ไทยรักไทย เคยมี เราต้องสนใจประเด็นความปลอดภัย ประเด็นโลกร้อน ประเด็นสิทธิแรงงาน ประเด็นเศรษฐกิจ ไม่ใช่ปล่อยให้ฝ่ายเสื้อเหลืองหรือเอ็นจีโอเหลือง สร้างภาพว่าเขาแคร์เรื่องแบบนี้เพื่อครองใจคน ศัตรูของเราคืออำมาตย์ทุกรูปแบบ ไม่ใช่ประชาชนบางส่วนที่ถูกอำมาตย์ครอบงำชั่วคราว

4. การนัดหยุดงานคือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในระบบประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยมากกว่าการลงคะแนนเสียง มันรวมถึงการกำหนดชีวิตตนเอง อำมาตย์คัดค้านเสรีภาพนี้มาตลอด ตั้งแต่สมัยสฤษดิ์จนถึงปัจจุบัน เพราะมันเป็นวิธีที่ประชาชนคนทำงานสร้างอำนาจต่อรองกับนายจ้างและรัฐบาลเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ สิทธิในการนัดหยุดงานแยกออกจากประชาธิปไตยไม่ได้ การนัดหยุดงานอาจบอกล่วงหน้าหรือไม่บอกก็ได้แล้วแต่สถานการณ์ ในกรณีด่วน เช่นการลงโทษคนขับเพราะรัฐบาลไม่ยอมรับผิดชอบกับความปลอดภัย ต้องหยุดงานทันที อันนี้เป็นมาตรฐานสากล

นอกจากนี้คนงานภาครัฐทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นคนรถไฟ ครู พยาบาล หมอ บุรุษไปรษณีย์ คนขับรถเมล์ คนดับเพลิง เจ้าหน้าที่สนามบิน ฯลฯ เวลานัดหยุดงานย่อมมีผลต่อประชาชนเป็นธรรมดา แต่ถ้าเขาชนะประชาชนจะได้ประโยชน์ไปด้วย เพราะจะพัฒนาคุณภาพการบริการ และคนงานเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของประชาชน ดังนั้นคนที่อ้างแต่ว่า “ประชาชนเดือดร้อน” เป็นคนที่ใช้คำพูดของนายทุนกับอำมาตย์ อย่าลืมว่าเวลาคนเสื้อแดงปิดถนนอย่างมีความชอบธรรม ก็มีคนมาว่าเราว่าเราทำให้ประชาชนเดือดร้อน ทำไมพวกเราเชื่อสื่อกระแสหลักที่ด่าสหภาพรถไฟในขณะที่เรารู้ว่ามันโกหกในทุกเรื่อง? ทำไมต้องไปเข้าข้างนายกอภิสิทธิ์ เวลาเขาด่าสหภาพ?

5. การพูดว่าการนัดหยุดงานครั้งนี้มาจากแผนทางการเมืองของพันธมิตรฯ เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นความจริงว่าในรถไฟมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย สภาพการจ้าง และการขาดการลงทุน มันเป็นการยืมความคิดและคำพูดของอำมาตย์มาใช้อีก เพราะอำมาตย์พูดเสมอว่าคนเสื้อแดงไม่ได้สนใจหรือเข้าใจประชาธิปไตยจริง แต่เป็นแค่เครื่องมือของทักษิณที่ถูกจูงมาในระบบอุปถัมภ์ เราต้องถามตัวเองว่าความคิดแบบนี้มันกลายเป็นข้อแก้ตัวของคนเสื้อแดงที่จะมีอคติต่อไปต่อสหภาพรถไฟ และไม่จริงใจในการขยายมวลชนหรือไม่

สำหรับผม ในฐานะที่เป็นนักสังคมนิยม ผมมองว่าขบวนการแรงงานมีความสำคัญมาก เราต้องขยายอิทธิพลของคนเสื้อแดงในขบวนการนี้ เราต้องเป็นสะพานเชื่อมสหภาพแรงงานต่างๆ กับเสื้อแดงที่ก้าวหน้า

เราต้องเข้าข้างคนชั้นล่าง ผู้ด้อยโอกาส และคนที่ถูกรังแกเสมอ เช่นแรงงานพม่า หรือคนมุสลิมในภาคใต้ ในกรณีกฎหมายหมิ่นฯ สมัชชาสังคมก้าวหน้ามีจุดยืนที่ดียิ่งในการชูประเด็นคุณดา โดยไม่ต้องถามว่าคุณดาพูดว่าอะไรหรือในอดีตทำอะไร เราพยายามปกป้องคุณดาเพื่อผลักดันประชาธิปไตยแท้ ในขณะที่เสื้อแดงอื่นๆ โดยเฉพาะแกนนำพรรคเพื่อไทย อาจต้องการลืมเขาเพื่อประนีประนอมกับอำมาตย์ในอนาคต

ในประเด็นสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ซึ่งเคยเป็นสหภาพที่เข้มแข็ง แต่ถูกนายจ้างและเสื้อเหลืองทำลาย บทเรียนสำคัญคือไม่มีการดึงเสื้อแดงเข้ามาร่วมต่อสู้ และไม่มีการขยายขอความช่วยเหลือเป็นรูปธรรมจากส่วนอื่นของขบวนการแรงงานไทย พร้อมกันนั้นไม่มีการพยายามขยายการต่อสู้ไปสู่นครสวรรค์และส่วนอื่นของบริษัท แทนที่จะทำสิ่งเหล่านี้กลับไปหวังว่าเพื่อนต่างประเทศจะช่วย และหวังสร้างแนวร่วมกับนักวิชาการเสื้อเหลือง ในประเด็นเหล่านี้องค์กรเลี้ยวซ้ายชัดเจนมานาน และพยายามฝากแง่คิดไว้กับแกนนำ แต่เราไม่สามารถทำอะไรแทนสหภาพได้

ในกรณีรถไฟ เราไม่ได้ออกแถลงการณ์เพื่อให้ดูดี และไม่ได้หวังเรียกร้องอะไรจากรัฐบาลอำมาตย์ แต่เราอยากกระตุ้นการถกเถียงในวงเสื้อแดง เพื่อให้หันมาเน้นการขยายมวลชน หรือช่วงชิงการนำในขบวนการแรงงาน ตราบใดที่สมาชิกสหภาพรถไฟปล่อยให้เสื้อเหลืองนำ เขาจะมีสภาพการจ้างงานที่แย่ตลอดไป ตราบใดที่เสื้อแดงละเลยขบวนการแรงงาน เราจะขาดพลังในการโค่นอำมาตย์ เราจึงต้องค่อยๆ ดึงสองฝ่าย สหภาพกับคนเสื้อแดง มาใกล้ชิดกัน

จุดยืนที่หลากหลายของนักสหภาพแรงงาน หรือคนเสื้อแดงเอง แค่สะท้อนความหลากหลายของความคิดทางการเมืองในสังคม การเมืองกำหนดทุกอย่าง รวมถึงวิธีในการต่อสู้และการวิเคราะห์สถานการณ์ นั้นคือสาเหตุที่เราต้องมีองค์กรทางการเมืองที่มีแนวคิดชัดเจน เพื่อขยายแนวที่เรามองว่ามีประโยชน์มากที่สุดต่อการต่อสู้ และเราต้องขยายความคิดนี้ในแนวร่วมและมวลชนส่วนอื่นๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net