Skip to main content
sharethis

วานนี้ (30 ต.ค.52) คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนาเรื่อง “การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการการเปิดเสรีการลงทุนภายใต้ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน ในเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำไม้จากป่าปลูก และการปรับปรุงพันธุ์พืช” ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ อาคารรัฐสภา 2 โดยเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนประชาชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ตลอดจนภาครัฐ และเอกชน ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อนำข้อมูลที่ได้สรุปจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สืบเนื่องจากการกำหนดนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการเปิดเสรีการลงทุนภายใต้ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement: ACIA) ตามที่คณะกรรมการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนส.) ได้มีมติจากการประชุมเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบให้คณะเจรจาของไทยยกเลิกข้อสงวนของประเทศไทยใน 3 รายการ คือ การลงทุนในเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำไม้จากป่าปลูก และการปรับปรุงพันธุ์พืช อีกทั้งกำลังมีการจัดทำเป็นรายการข้อสงวน เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในเร็ววันนี้ ก่อนความตกลงฉบับนี้จะมีผลบังคับ

“บีโอไอ” แจงเปิดเสรีการลงทุน ไม่ทำจะกลายเป็นข้อโต้แย้งระหว่างประเทศ
นางอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงเรื่องความตกลงด้านการลงทุนดังกล่าวซึ่งมีการการลงนามไปเมื่อวันที่ 27 ก.พ.52 ที่หัวหิน ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 ว่า เป็นไปตามความตกลงเขตการลงทุนอาเซียน (AIA) ที่ประเทศไทยเคยตกลงกับชาติสมาชิกอาเซียน ตั้งแต่ปี 2541 และความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนของอาเซียน (ASEAN IGA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2530 ซึ่งหากไทยไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีดังกล่าว “ทุกประเทศก็จะมีสิทธิ์ แต่ก็จะกลายเป็นข้อโต้แย้งระหว่างประเทศ” ซึ่งถ้าประเทศอาเซียนไม่พร้อมก็จะไม่สามารถลงสัตยาบันได้ โดยตอนนี้มีประเทศที่พร้อมแล้ว 6 ประเทศ เหลือไทยและอีก 3 ประเทศ

หวั่นผลกระทบเปิดเสรี “การลงทุนปรับปรุงพันธุ์พืช” จวกบีโอไออย่าชักศึกเข้าบ้าน
นางลัดดาวัลย์ กรรณนุช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว ผู้แทนกรมการข้าว กล่าวว่ากรณีของการเปิดตลาดค้าข้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า ที่จะลดภาษีนำเข้าข่าวเหลือ 0 เปอร์เซ็น ก็ถือเป็นปัญหาที่หนักหนาแล้ว เมื่อต้องมาเจอกับเรื่องการเปิดเสรีการลงทุนจึงเป็นที่น่ากังวล ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นแหล่งพันธุกรรมข้าวที่ใหญ่ และมีความหลากหลาย ยกตัวอย่าง ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี มีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองกว่า 17,000 พันธุ์ นอกจากนี้ที่ผ่านมายังมีความพยายามในการศึกษาปรับปรุงพันธุ์ข้าวจนสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ อาทิ โรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ปัญหาดินเค็ม หรือตัวอย่างข้าวพันธุ์ กข ที่ปลูกได้ตลอดปี และมีการวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ หรือ อีรี่ โดยมีการแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวหลายร้อยพันธุ์ ซึ่งก็มีหลายประเทศที่อยากเข้าร่วมด้วย แต่ไทยก็ไม่ได้เปิดเผยทั้งหมด

ในส่วนของผลกระทบ ผู้แทนกรมการข้าวแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับที่การเปิดเสรีการลงทุนอาจขัดแย้งกับกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช โดยกล่าวว่าขนาดแค่อาฟต้าที่จะเปิดเสรีต้นปีหน้า ไทยยังไม่ให้มีเมล็ดพันธุ์ โดยให้นำเข้าเฉพาะปลายข้าว แต่ก็ยังมีปัญหาโรคและแมลงที่เคยแก้ได้แล้วแต่ยังมีปัญหาประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งโรคและแมลงพันธุ์ใหม่ และเรื่องจีเอ็มโอ อีกทั้งยังเผยว่าในส่วนของอียูต้องการนำเข้าข้าวไทยเพราะไม่มีจีเอ็มโอ และมีกลูเต้นสูง (สารอาหารจำพวกโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีในธัญพืช) โดยขณะนี้ก็มีการจ้างนอมินีเข้ามาปลูกข้าวในไทยส่งกลับไปให้ประเทศของเขา

“น่าแปลกที่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ที่เป็นประเทศนำเข้าข้าว แต่ปกป้องข้าวเป็นสินค้าอ่อนไหว แตะต้องไม่ได้ แต่ไทยไม่ปกป้องเลย ขอร้องทางบีโอไออย่าชักศึกเข้าบ้าน เพราะตอนนี้มีแต่คนจ้องเอาพันธุกรรมของไทยไป” ผู้แทนกรมการข้าวกล่าว

ต่อกรณีจีเอ็มโอ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้ห้ามการปรับปรุงพันธุ์พืชจีเอ็มโอ เพียงแต่ต้องพิสูจน์ว่าปลอดภัย ดังนั้น หากบริษัทมาปรับปรุงแล้วขอจดทะเบียนภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช แล้วไทยไม่ให้ อาจกระทบกับการคุ้มครองการลงทุน เพราะในข้อตกลงครอบคลุมถึงทรัพย์สินทางปัญญาด้วย ทางบริษัทอาจโต้แย้งได้ว่าการลงทุนของเขาได้รับการละเมิด และถือเป็นการยึดทรัพย์อย่างหนึ่ง ซึ่งภายใต้ข้อตกลงไม่ได้นิยามการยึดทรัพย์ทางอ้อมนี้ อีกทั้งยังตั้งคำถามว่าหากให้ใช้กฎหมายภายในแล้วประเทศไทยมีคำนิยามในตรงนี้ว่าอย่างไร

ด้าน ดร.รังษิต ภู่ศิริภิญโญ ผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรว่าเป็นผู้แทนกระทรวงเข้าร่วมให้ความเห็นกับคณะเจรจาฝ่ายไทย ซึ่งจะรวบรวมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและจากในกระทรวง โดยได้แจ้งก่อนหน้านี้แล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการเปิดเสรีเพาะพันธุ์พืช ซึ่งเหตุผลเท่าที่รวบรวมจากความเห็น คือ หากเปิดให้ต่างชาติมาลงทุนได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้มีโอกาสมาครอบครองทรัพยากร และจะกระทบกับเกษตรกรในระยะยาว ซึ่งควรจะมีการวิเคราะห์ผลกระทบในเบื้องต้น

ผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ได้เคยถามไปยังคณะเจรจากับทางอาเซียนในการให้ยกสาขานี้ออกไป หรือไม่ก็ให้อยู่ในรายการอ่อนไหว และคงไว้เป็นระยะเวลา 10-20 ปี แต่ทางคณะเจรจาให้เหตุผลว่าได้ผูกพันไปแล้ว และอาจต้องโดนปรับ อย่างไรก็ตามในกรณีที่สงวนไว้ไม่ได้ ทางบีโอไอ เคยให้แนวทางรองรับการเปิดเสรีไว้ โดยการใช้กฎหมายท้องถิ่น หรือพิจารณาออกประกาศกรมต่างๆ ในการสงวน หรือในข้อตกลงเองมีการรองรับเปิดเสรี ในมาตรา 17 เรื่องข้อยกเว้นทั่วไป ที่ว่าถ้าประเทศสมาชิกเห็นว่าจะเกิดผลกระทบต่อชีวิต มนุษย์ สัตว์ และการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ สามารถทำได้ รวมทั้งในมาตรา 18 อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความมั่นใจว่ากฎหมายที่มีอยู่นั้นจะสกัดกั้นนักลงทุนต่างชาติได้

“แต่จริงๆ แล้วก็ยังห่วงใยว่า กรณีที่สำนักงานฯ ต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารองรับแนวทางที่กล่าวมา เราไม่แน่ใจว่าจะสกัดกั้นนักลงทุนต่างชาติได้ เพราะที่ผ่านมา กฎหมายไทยมีช่องโหว่ รวมถึงการศึกษาผลกระทบและมาตรการเยียวยาที่ผ่านมาไม่มีไว้เลย ถ้าจะให้สำนักงานฯ จัดทำ ก็ต้องใช้ระยะเวลา ต้องเดินทางพูดคุยและทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เลยคิดว่าอยากขอให้ทางบีโอไอ ช่วยคุยกับทางประเทศอาเซียนให้ขอยกให้อยู่ในสาขาอ่อนไหว หรือข้อสงวนชั่วคราวไว้หลายๆ ปี หรือจนกว่าไทยจะมีความพร้อม” ดร.รังษิต กล่าวแสดงความเห็น

ส่วนนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ชี้ว่า การที่ตัวแทนบีโอไอ อ้างว่ากฎหมายไทยสามารถป้องกันการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติได้นั้น อาจจะไม่สามารถปกป้องได้จริง เพราะในกรอบข้อตกลง นักลงทุนอาเซียนจะได้สิทธิการคุ้มครองการลงทุนหลายประการเยี่ยงคนในชาติ การอ้างกฎหมายไทย เช่น กฎหมายสวนป่า กฎหมายป่าสงวน ฯลฯ เป็นการป้องกันปัญหาในแง่การเปิดเสรีเท่านั้น ไม่รวมเรื่องการคุ้มครองการลงทุน นอกจากนี้ การใช้กฎหมายอื่นๆ ที่จะปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อมใดๆ อาจถูกนักลงทุนนำไปเป็นประเด็นพิพาทฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับรัฐได้ โดยอ้างว่า เป็นการริบทรัพย์ทางอ้อม ซึ่งในความตกลงไม่ได้กำหนดนิยามเรื่องการริบทรัพย์ทางอ้อมไว้
 
“จากข้อกังวลที่เกือบทุกฝ่ายสะท้อนออกมาในวันนี้ ทางคณะกรรมาธิการจะทำหนังสือถึงคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ (กนศ.) ที่จะประชุมในวันศุกร์ที่ 6 พ.ย.นี้ ให้คงข้อสงวนเหล่านี้ไว้” นายไกรศักดิ์ กล่าว

ภาคประชาชนแจงเหตุร่วมค้านเปิดเสรีการลงทุน พร้อมให้ข้อเสนอ
ในส่วนของข้อเสนอ นายวีระพงศ์ เกรียงสินยศ มูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่า การเปิดเสรีการลงทุนจะทำให้เข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ พืชสมุนไพรต่างๆ และจะกระทบกับภูมิปัญญามหาศาล เราควรจะต้องสงวนทรัพย์ในดินสินในน้ำเอาไว้ อยากเชิญชวนให้บีโอไอมายืนภาคเดียวกัน โดยถ้าบีโอไอบอกว่าขอให้ทบทวนก็จะร่วมสนับสนุน หรือถ้าสู้ไม่ได้ก็ถอยมานิดนึง โดยขอให้บีโอไอกล้าเสนอว่าให้สงวนเท่าอินโดนีเซีย เพราะมีเรื่องสงวนเรื่องสมุนไพรด้วย

ตัวแทนจากกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) เสนอว่า ภายใต้วิกฤตสิ่งแวดล้อม อาหาร ทุนข้ามชาติขนาดใหญ่ลงมาเล่นเกมอาหาร เก็งกำไรอากาศ ข้อเสนอคือ 1.การแง้มรั้วบ้านให้น้อยที่สุด ทางกรรมาธิการน่าจะเสนอเลยว่าควรมีกรรมการพิจารณาและทบทวนเสนอการเจรจา 2.มาตรการคุ้มครองและส่งเสริมกระบวนการภูมิปัญญาและคุ้มครองฐานทรัพยากร ควรมีคณะกรรมการที่ชัดเจน อาจแยกเป็นอีกชุด และควรเป็นวาระของชาติ

นายสำรวย ผัดผล ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ จ.น่าน
กล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้รวบรวมพันธุ์ข้าวมากว่า 20 ปี และรวบรวมพันธุ์ผักและอย่างอื่นที่กินได้ในภาคเหนือตอนบน ในส่วนข้อเสนอนั้นเห็นด้วยกับการสงวนอาชีพให้เฉพาะคนไทย เพราะเป็นมรดกตกทอด

ส่วนนายสุวิทชัย แสงเทียน ผู้ประสานงานคลัสเตอร์กล้วยไม้
ชี้แจงปัญหาการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ ซึ่งไทยส่งออกอันดับหนึ่ง แต่มีปัญหาการแข่งขันทั้งกับสิงคโปร์ซึ่งมีคุณภาพดีกว่าและราคาสูงกว่า ส่วนของไทยแข่งกันเอง โดยที่คุณภาพด้อยลงเรื่อยๆ แม้ความหลากหลายของไทยในการปรับปรุงพันธุ์ดีกว่า ดังนั้นจึงต้องการการให้แต้มต่อจากบีโอไอ ในเรื่องส่วนส่งเสริม ขอโอกาสในการพัฒนา และอยากให้เว้นการเปิดเสรีการลงทุนด้านการเกษตรไว้

ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ตัวแทนจากกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กล่าวถึงผลกระทบการเปิดเสรีการลงทุนว่า 1.บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพของไทยได้ทุกชนิด โดยเฉพาะพันธุ์พืช เกษตร สมุนไพร และกล้วยไม้ 2.ต่างชาติเข้าถึงพันธุ์พืชพันธุ์ดีของเกษตรกรและพันธุ์พืชที่ได้มาจากการวิจัยของบริษัทข้ามชาติ เช่น บริษัทขนาดใหญ่ในตะวันออกกลางสามารถมาลงทุนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมถึงกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง และแม้จะบอกว่าจะสงวนเรื่องนาข้าวซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหว ซึ่งก็ทำในภายหลังเหมือนกัน โดยขณะนี้นักลงทุนรายใหญ่ของมาเลเซียสร้างไซโลเก็บข้าวร่วมกับ องค์การคลังสินค้า (อสค.) กว่า 2.5 ล้านตัน

3.เปิดโอกาสให้ใช้ทรัพยากรน้ำ ที่ดิน และสารเคมีในการเกษตรขนานใหญ่ เช่น กรณีส่งเสริมให้ขยายทำข้าวลูกผสม ต้องใช้พื้นที่และน้ำมากกว่า 3 เท่าของการทำเมล็ดพันธุ์ข้าวทั่วไป ซึ่งปัจจุบันบีโอไอก็เปิดให้บางบริษัทเข้ามาทำบางส่วน ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงการใช้สารเคมีอย่างมหาศาล 4.การเข้ามาทำลายอาชีพของผู้ประกอบการรายย่อยและเกษตรกรขนาดเล็ก เช่น กรณีข้าวโพด ก่อนหน้านี้มีบริษัทย่อย 200 บริษัท แต่ปัจจุบัน เมื่อให้บริษัทต่างชาติรายใหญ่ลงทุน บริษัทเหล่านี้ล้มหายไปหมด

เขายังเปิดเผยอีกว่า ขณะนี้มีความพยายามของข้าราชการบางส่วนที่เคลื่อนไหวให้เปิดเสรีโดยไม่คงข้อสงวนใน 3 สาขา คือ การลงทุนในเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำไม้จากป่าปลูก และการปรับปรุงพันธุ์พืช อย่างไรก็ตามภาคประชาชนกว่า 100 องค์กรจะเคลื่อนไหวต่อไปเพราะจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีหลักประกันว่า รัฐบาลจะดำเนินการเพื่อคงข้อสงวน

“อยากบอกนายกฯ ว่า อย่าไว้ใจคณะเจรจา เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์ว่า คณะเจรจามีความไม่ชอบมาพากล ซึ่งรัฐบาลจะต้องพิสูจน์ฝีมือและความจริงใจว่า ตกลงแล้วรัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบายหรือเป็นแค่ผู้ทำหน้าที่ตามที่ข้าราชการชง แบบไม่ลืมหูลืมตาเท่านั้น” นายวิฑูรย์ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net