Skip to main content
sharethis
สืบเนื่องมาจากกรณีที่กรมการขนส่งทางบกประกาศว่า แรงงานข้ามชาติชาวพม่า ลาวและกัมพูชา รวมทั้งชาวเขาที่มีบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง สามารถจดทะเบียนเป็นเจ้าของรถได้ และอยู่ระหว่างการดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงเพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถทำใบขับขี่ได้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายความมั่นคงที่เคยปฏิเสธสิทธิของคนกลุ่มนี้ที่มีมานานกว่า 15 ปี และส่งผลดีต่อแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนกว่าหนึ่งล้านคนรวมทั้งชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
นายโคทม อารียา ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา แสดงความยินดีต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ว่า “นโยบายใหม่เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะการปฏิเสธไม่ให้คนที่อาศัยอยู่ในสังคมของเราได้ใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมนั้น ไม่ได้มีผลใดๆ ในแง่ของความมั่นคงของประเทศ มีแต่จะเพิ่มภาวะความกดดัน เปิดโอกาสให้แก่การทุจริต รวมทั้งเป็นการทำลายชื่อเสียงและความมั่นคงของประเทศด้วย”
นับตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา กรมการขนส่งทางบก ด้วยความเห็นชอบของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไม่เปิดโอกาสให้ชนกลุ่มน้อยและแรงงานข้ามชาติสามารถจดทะเบียนเป็นเจ้าของรถและทำใบขับขี่ แม้ว่าบุคคลเหล่านี้จะมีความจำเป็นต้องใช้รถในชีวิตประจำวันก็ตาม
เมื่อปลายปี 2551 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้เริ่มทำการรณรงค์คัดค้านนโยบายนี้ เมื่อตำรวจภูธรภาค 5 ได้บุกเข้าตรวจค้นแคมพ์ที่พักของแรงงานไทยใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ตอนเช้าตรู่ โดยมุ่งจะจับกุมแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมาย ผลจากการเข้าตรวจค้นดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดรถจักรยานยนต์ไว้เป็นจำนวนมาก โดยแจ้งข้อหาว่ารถดังกล่าวอาจเป็นรถที่ถูกขโมยมา เพียงเพราะแรงงานเหล่านี้ไม่มีสิทธิในการเป็นเจ้าของและขับขี่รถจักรยานยนต์    
การติดต่อขอรับรถจักรยานยนต์ที่ถูกยึดคืนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เป็นไปอย่างยากลำบาก ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและเผชิญกับขั้นตอนที่ไม่เป็นทางการในการยืนยันว่ารถจักรยานยนต์ของพวกเขาไม่ได้ถูกขโมยมาแต่อย่างใด รวมทั้งต้องเจรจากับตำรวจในเรื่องค่าปรับ สถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติในเรื่องนี้ตกอยู่ในความไม่แน่นอน เนื่องจากกรมการขนส่งทางบกปฏิเสธไม่ให้พวกเขาจดทะเบียนเป็นเจ้าของรถและทำใบขับขี่ได้  
หลังจากการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) การบุกเข้าตรวจค้นได้ยุติลง อย่างไรก็ตาม การยึดรถจักรยานยนต์ของแรงงานข้ามชาติตามท้องถนนในจังหวัดเชียงใหม่กลับมีจำนวนสูงขึ้น โดยก่อนหน้าที่ตำรวจจะลดค่าปรับลงครึ่งหนึ่งนั้น ได้ทำการจับและปรับแรงงานข้ามชาติที่ขับรถจักรยานยนต์บางรายสูงถึง 2,000 บาทในแต่ละครั้ง บ่อยครั้งที่การจ่ายค่าปรับก็เป็นไปอย่างไม่เป็นทางการ ในขณะที่ค่าปรับในข้อหาเดียวกันสำหรับคนไทยอยู่ที่ 200 บาทเท่านั้น
แรงงานข้ามชาติยังคงเผชิญหน้ากับความยากลำบากในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน เช่น การส่งลูกๆ ไปโรงเรียนและการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้น มสพ. จึงได้เข้าพบและเจรจากับตำรวจเพื่อขอให้ยุตินโยบายการยึดรถและปรับ ในระหว่างที่รอให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาที่จะอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถจดทะเบียนรถและทำใบขับขี่ได้ มสพ.ได้สนับสนุนให้แรงงานชาวไทยใหญ่ดำเนินการจดทะเบียนเป็นเจ้าของรถและยื่นคำขอทำใบขับขี่ แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ ต่อมาจึงได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ในเรื่องดังกล่าว ท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2552 กรมการขนส่งทางบกได้ออกหนังสือเวียนที่อนุญาตให้แรงงานสามารถจดทะเบียนรถและทำใบขับขี่ได้ และได้เผยแพร่เนื้อหาของหนังสือเวียนดังกล่าวในหนังสือแจ้งข่าวของกรมการขนส่งทางบกเมื่อวานนี้
นายโคทม กล่าวสรุปว่า “หนังสือเวียนฉบับนี้ถือเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่ง ในด้านสิทธิของชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย มสพ. หวังว่าเรื่องนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งหลักประกันว่าแรงงานข้ามชาติและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่อาศัยและทำงานในประเทศไทยจะได้รับสิทธิทางสังคมและสิทธิมนุษยชนอันพึงมี ไม่ว่าจะมีสัญชาติใดและสถานการณ์ในการเข้าเมืองจะเป็นเช่นใด ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและมาตรฐานสากลแห่งสิทธิมนุษยชน”

*มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม สนับสนุนมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและสันติภาพ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net