รายงาน: แรงงานข้ามชาติ และเหลี่ยม โมกงาม ผีบ้าของการรถไฟไทย

ล่วงเข้าวันใหม่มาหลายชั่วโมงแล้ว แต่พวกเขาก็ยังขะมักเขม้นอยู่กับการสกรีนป้ายผ้าและผ้าพันคอเพื่อใช้เดินขบวนในวันพรุ่ง มองไปรอบๆตัว เหลี่ยม โมกงาม , สาวิทย์ แก้วหวาน, ภิญโญ เรือนเพ็ชร และพี่น้องจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยร่วม 20 คน นี้ยังไม่นับอำนาจ พละมี, นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ที่ต่างช่วยทำงานชิ้นนี้กันมาตั้งแต่เย็นย่ำแล้ว อีกหลายคนก็ช่วยจัดเตรียมเครื่องเสียงที่มีพลังพอที่จะส่งเสียงดังไปถึงคนที่อยู่ภายในทำเนียบรัฐบาล
ย้อนหลังไปเมื่อสองสามปีที่แล้ว ที่ประเทศไทยมีรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารได้อนุญาตให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ระยอง ระนอง และพังงา ออกประกาศจังหวัดเรื่อง กำหนดมาตรการจัดระเบียบคนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ว่า “ห้ามแรงงานต่างด้าวขับขี่รถจักรยานยนต์ ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ ห้ามออกจากที่ทำงานในเวลากลางคืนระหว่าง 20.00 – 06.00 น. และยังห้ามรวมกลุ่มกันเกินกว่า 5 คน รวมทั้งให้นายจ้างควบคุม กำกับดูแลแรงงานต่างด้าวตลอดระยะเวลาการจ้างงานอย่างเข้มงวด”
คำสั่งดังกล่าวนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ดีสำหรับชุมชนไทยในพื้นที่ แต่สำหรับแรงงานข้ามชาติในฐานะ “ลูกจ้าง/แรงงาน” ในกิจการจ้างงานต่างๆแล้ว สิ่งที่ติดตามมาอย่างมหันต์และคนในทำเนียบในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เคยรับรู้แม้แต่น้อย คือ ผลกระทบต่อพวกเขาและครอบครัว ดังเช่นเหตุการณ์ที่จังหวัดพังงา เมื่อแรงงานกลุ่มหนึ่งได้จัดงานวันเกิดให้กับเด็กๆในหมู่บ้าน ระหว่างนั้นมีแรงงานผู้ใหญ่และเด็กจำนวน 300-400 คน ได้เดินทางมาร่วมงาน เมื่อตำรวจทราบว่ามีการรวมตัวกันเกิน 5 คน จึงเข้าจับกุมแรงงานทั้งๆที่แรงงานจำนวนมากมีใบอนุญาตทำงานถูกกฎหมาย และอีกหลายคนเป็นเด็ก
หรือกรณีที่ตำรวจไปพบแรงงานที่ขี่มอเตอร์ไซด์ของนายจ้างไปซื้อของในร้านค้าที่อยู่คนละแห่งของสถานที่ทำงาน ตำรวจจะยึดรถมอเตอร์ไซด์ไปทันที ทั้งๆที่แรงงานคนดังกล่าวก็มีใบอนุญาตทำงานถูกกฎหมายและนายจ้างเป็นผู้สั่งให้แรงงานออกไปซื้อของให้ , แรงงานจำนวนมากที่มีการใช้โทรศัพท์มือถือในที่สาธารณะ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือคนในท้องถิ่นมาพบเข้า จะมีการแจ้งตำรวจให้มาริบโทรศัพท์ไป หรือบางครั้งก็จะยึดไปเอง หรือมีแรงงานจำนวนมากที่เจ็บป่วยในตอนกลางคืนไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ทันท่วงทีเพราะไม่สามารถออกจากที่พักได้
นี้เป็นเพียงเหตุการณ์เล็กน้อยในกว่าหลายสิบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จนนำมาสู่ความกังวลใจของแรงงานข้ามชาติและองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ที่ไม่สามารถหาทางแก้ไขปัญหาที่ทับทวีขึ้นทุกวันได้ และนำมาสู่การปรึกษาหารือกับพี่น้องจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันประท้วงคำสั่งดังกล่าวหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อสิงหาคม 2550
จะว่าไปแล้วการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่ภูเก็ต ระยอง ระนอง และพังงา ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลมาจากหยาดเหงื่อ กำไร และการขูดรีดด้วยค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ แต่รัฐบาลไทยก็กลับมองพวกเขาและเธอเป็นเพียง “แรงงานที่มองไม่เห็น” แต่สำหรับในมุมมองของพี่น้องสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว แรงงานข้ามชาติกลับไม่เคยเป็นอื่นและเป็นสายเลือดแรงงานสายธารเดียวกัน พวกเขาเป็นสหภาพแรงงานกลุ่มแรกของแรงงานประเภทรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย ที่ออกมาสนับสนุนแรงงานข้ามชาติให้มีสิทธิมีเสียง และควรได้รับการปกป้องคุ้มครองตามกฎหมาย
ในประเทศไทยลูกจ้างประเภทแรงงานข้ามชาติไม่สามารถรวมตัวได้ถูกกฎหมาย เพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเจรจาต่อรองกับรัฐและทุนได้ หลายต่อหลายครั้งลูกจ้างถูกให้ออกจากงาน ขึ้นบัญชีดำ การสมคบร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อส่งแรงงานกลับประเทศ ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย มีการจ้างนักเลงท้องถิ่นไปทำร้าย หรือมีการเข้าจับกุมแรงงานข้ามชาติทีละมาก ๆเวลาแรงงานมีการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรองกับนายจ้าง เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนดูเป็นเรื่องปกติ
แต่สำหรับ “เหลี่ยม โมกงาม” แล้ว นี้คือนาฏกรรมของความโศกเศร้าที่สายเลือดแรงงานเดียวกันต้องเผชิญ เขาพร่ำบ่นกับคนรอบข้างหลายต่อหลายครั้งว่าทำอย่างไร “แรงงานข้ามชาติจะรวมกลุ่มได้โดยถูกกฎหมาย เพื่อมีสิทธิมีเสียงเสียที ?”
วัยร่วม 50 ปี ในตำแหน่งพนักงานขบวนรถการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) คนธรรมดาในชื่อเชยๆและไม่ใคร่เป็นที่รู้จักของสังคม ถ้าเขาไม่ถูกนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. ยื่นคำฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเพื่อขอเลิกจ้างพนักงานรวม 6 คน ซึ่ง 1 ใน 6 คน คือตัวเขาเอง ด้วยข้อหาทำผิดข้อบังคับ โดยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
“เหลี่ยม โมกงาม” อาจเป็นผู้ร้ายในสายตาผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. แต่สำหรับพี่น้องแรงงานข้ามชาติแล้ว ไม่เคยมีสักครั้งที่เขาปฏิเสธ ทั้งกำลังคน งบประมาณ เครื่องเสียง อุปกรณ์ต่างๆ ไม่ใช่แค่พึ่งเกิดขึ้นมาแค่ปีสองปี แต่นับร่วมสิบปีกว่าที่คำว่า “แรงงานข้ามชาติ” มีสถานะเท่ากับ “มนุษย์ต่างดาวและเชื้อโรคร้ายในสังคมไทย”
“เหลี่ยม โมกงาม” รวมถึงสาวิทย์ แก้วหวาน และภิญโญ เรือนเพ็ชร ต้องต่อสู้กับสายตาคนรอบข้าง ครอบครัว และผู้ปฏิบัติงานในองค์กรเดียวกันเสมอมา ยามที่กระแสชาตินิยมพุ่งสูงขีดสุด แต่พวกเขากลับร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่และเป็นหนึ่งเดียวกับพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ที่ว่ากันตามจริงแล้ว “แม้เป็นแรงงานเหมือนกัน แต่ก็เป็นคนอื่นของประเทศไทย” เสียงก่นด่า เสียงประณาม ไม่นับก้อนอิฐ มาถึงพวกเขานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาถอยห่าง กลับเป็นหน่วยบุกเบิกสำคัญที่ทำให้ประเด็นแรงงานข้ามชาติ เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องหยิบยกมาพิจารณาหารือในกลุ่มแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์กรอื่นๆ เสมอมา
มีครั้งหนึ่งที่ภรรยาเขาออกกฎประจำบ้านว่า “ให้เข้าบ้านก่อนเวลาตีหนึ่ง ไม่อย่างนั้นจะเสียค่าปรับหนึ่งพันบาท” เหลี่ยม โมกงาม ปฏิบัติตามกฎนี้อย่างเคร่งครัดมาหลายสิบปี แต่นั่นเองเมื่อภารกิจเขียนป้ายผ้า สกรีนผ้าพันคอ และเขียนแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกประกาศจังหวัดต่อรัฐบาลยังไม่ลุล่วง วันนั้นเขายอมผิดกฎของบ้านเป็นครั้งแรกและเสียเงินหนึ่งพันบาทให้ภรรยา ด้วยคำพูดสั้นๆว่า “แรงงานข้ามชาติคือแรงงานเหมือนกัน จะทิ้งไปได้อย่างไร ถ้าไม่ช่วยกัน แล้วใครจะช่วย?”
วันนี้ “เหลี่ยม โมกงาม” อาจเป็นผีบ้าของการรถไฟไทยและผู้โดยสารไปแล้วที่พวกเขากับเพื่อนๆ ตัดสินใจเลือก “ความปลอดภัยของคนไทยทั้งประเทศเป็นที่ตั้งสำคัญมากกว่าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ” เขาเลือกให้ “รถหยุดแต่ปลอดภัย ดีกว่ารถออกไปเกิดอันตรายร้ายแรง” รู้ทั้งรู้ว่าผิดหน้าที่ ไม่มีสำนึกความรับผิดชอบต่อองค์กร ต้องโดนก่นประณามมหาศาลว่าสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน แต่ถ้าต้องเลือก เขายอมเลือกรับความผิด โดนกล่าวโทษ หัวใจเขาไม่กล้าแกร่งและหยาบกร้านพอที่จะปล่อยให้ประชาชนต้องเสียชีวิตเพราะน้ำมือของพนักงานขับรถไฟได้อีกต่อไปแล้ว (โดยที่คนไม่เคยมองเลยไปถึงระบบการเดินรถที่ไม่สมบูรณ์ หัวรถจักร ระบบรางที่ต้องปรับปรุง ความรับผิดชอบในการบริหารงานของฝ่ายบริหารแม้แต่น้อย) แค่เหตุการณ์ล่าสุดที่รถไฟตกรางที่เขาเต่า จนผลให้ประชาชนต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก แค่นี้หัวใจเขาก็สาหัสหนักหน่วง
แรงงานข้ามชาติเป็นคนนอกประเทศแท้ๆเขายังปกป้อง แต่นี้คือคนไทยทั้งประเทศ คือพี่น้องร่วมบ้านเดียวกัน คือคนที่เสียภาษีมาจ่ายเป็นเงินเดือนให้เขาทุกเดือน เขาจะปล่อยให้คนไทยต้องรับกรรมจากระบบการเดินทางสาธารณะที่ไม่ปลอดภัยนี้ได้อย่างไร ?
เป็นคำถามที่คนไทยทั้งประเทศต้องลุกขึ้นมาให้คำตอบได้แล้ว !
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท