Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 


ศุกร์ที่ผ่านมา ผู้แทนภาคประชาชนสังคม 10 ท่าน ได้เรียนรู้ว่า การริเริ่มดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียนนั้น แท้ที่จริงแล้วลำบากยากเย็นเพียงใด

ผู้แทนทั้ง 10 ท่าน คาดหมายว่าจะได้พบปะกับผู้นำของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของชาติสมาชิก ชาติละ 1 คน เพื่อพูดคุยก่อนการเริ่มดำเนินการของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน 
 
แต่ทว่าในคืนก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม กล่าวว่า คณะผู้แทนภาคประชาสังคมทั้ง 10 ท่านนั้น จะมีเพียง 5 ท่านเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบผู้นำอาเซียน และเมื่อทั้ง 5 ท่าน มาถึงสถานที่ประชุม เจ้าหน้าที่กลับบอกพวกเขาว่า พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้พูด
 
ขอต้อนรับเข้าสู่การสนทนาเรื่องสิทธิมนุษยชน สไตล์อาเซียน
 
ในแถลงการณ์ของนักเคลื่อนไหวที่ถูกผู้นำอาเซียนปฏิเสธให้เข้าพบกล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็น “การปฏิเสธทั้งภาคประชาสังคมและกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย” ซึ่ง “บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือ” ของคณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ ขณะที่รายงานของสื่อต่างๆ กล่าวพาดพิงถึงกลุ่มอื่นๆ ว่า “โจมตี” และ “ดูถูก” คณะกรรมาธิการฯ     
ทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะเป็นความวุ่นวายอย่างมากในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง
 
เห็นได้ชัดเจนมาตั้งแต่เริ่มแรกแล้วว่า วัตถุประสงค์ของหน่วยงานใหม่ของอาเซียนไม่ใช่เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน วัตถุประสงค์ที่แท้จริงเป็นเรื่องตรงกันข้าม
 
อาเซียนได้ก่อตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลขึ้น เพื่อที่รัฐบาลและหน่วยงานด้านสิทธิที่ไร้ประสิทธิภาพของชาติสมาชิกจะสามารถผลักไสการร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิไปให้พ้นเขตแดนของตนเองได้ ในคณะกรรมาธิการฯ นี้ พวกเขาสามารถทำให้เรื่องร้องเรียนเหล่านี้อ่อนลงได้อย่างมืออาชีพ และดำเนินการผ่าน “ช่องทาง” และ “กลไก” ต่างๆ จนกระทั่งประเด็นเริ่มแรกถูกหลงลืม และเจ้าทุกข์ที่เกิดความท้อแท้ยอมเลิกราไป
 
ถึงแม้ว่าคณะกรรมาธิการฯ นี้จะไม่ได้มีเจตนาที่จะส่งเสริมในเรื่องสิทธิ แต่ก็มีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมการรณรงค์หาเสียงของประเทศสมาชิกเพื่อเข้าไปดำรงตำแหน่งในหน่วยงานระหว่างประเทศอันทรงเกียรติ เช่น คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (U.N. Human Rights Council)
 
ประเทศไทยได้ประกาศแล้วว่าจะพยายามส่งคนเข้าไปดำรงตำแหน่งสูงสุดในคณะมนตรีฯ ให้ได้ในปีหน้า ผู้แทนในคณะมนตรีฯ คนปัจจุบันของไทยเคยดำรงตำแหน่งโฆษกรัฐบาลสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นผู้สั่งให้วิสามัญฆาตกรรมผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าค้ายาเสพติดหลายพันคน ในปี 2546
 
ในบทบาทใหม่ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียนนั้น เขาผู้นี้ได้ทำงานในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาล ซึ่งบางทีอาจจะด้วยความคาดหวังถึงตำแหน่งที่ใหญ่โตกว่าในห้องประชุมใหญ่ที่นครเจนีวา
 
การที่รัฐบาลของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหล่านี้กำลังดำเนินงานอย่างหนักในทางการทูตด้านสิทธิมนุษยชนด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากเรื่องของสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจนัก กลุ่มผู้แทนภาคประชาสังคมที่ถูกต้มให้เข้าไปสู่วาระทางการทูตต่างหากที่โชคร้าย 
 
ไม่เพียงพิสูจน์ว่ามันเป็นการสูญเสียทั้งเวลาและเงินทองอย่างสิ้นเชิงเท่านั้น แต่มันกำลังทำลายการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในเอเชียด้วย
 
การดำเนินงานทางการทูตด้านสิทธิมนุษยชนทำให้กลุ่มต่างๆ เหินห่างต่อการรณรงค์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง การดำเนินงานทางการทูตบังคับให้ต้องเจรจาต่อรองและประนีประนอม มันเป็นการแอบจับมือกันอย่างลับๆ ในที่รโหฐาน ในทางตรงข้าม การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนหมายความถึง การยืนหยัดในหลักการอย่างหนักแน่น ซึ่งจำเป็นต้องเปิดกว้างและเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
 
นักการทูตด้านสิทธิกลัวการอ้าปากพูดออกมาอย่างเปิดเผย เพราะมันอาจจะไปทำให้เจ้าหน้าที่ขุ่นเคือง ไม่พอใจ หรือเสี่ยงต่อการสูญเสียสถานภาพความเป็นมิตรกับนักการทูตคนอื่น พวกเขายอมทิ้งความสามารถในการสื่อสารในประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งต่อสาธารณะไป เพื่อที่จะรักษาตำแหน่งอันน่าหวงแหนบนโต๊ะเจรจาไว้
 
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมนักสิทธิมนุษยชนบางกลุ่มจึงไม่เปิดปากคัดค้านการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทยในการปิดปากและจับประชาชนเข้าคุก ในเมื่อตามหลักการแล้ว พวกเขาไม่สมควรแม้แต่จะลังเล
นักการทูตด้านสิทธิอาจจะหลงตัวเองด้วยการคิดว่า พวกเขาสามารถทำอะไรให้ดีขึ้นได้ผ่านการเจรจาต่อรองแบบเงียบๆ ราวกับว่าพวกเขากำลังตัดสินใจเรื่องข้อตกลงทางการค้า หรือกำลังตกลงซื้อขายอาวุธ ทั้งที่ความจริงแล้ว วิธีการเช่นนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อการรณรงค์ปกป้องสิทธิมนุษยชนที่แท้จริง
 
นั่นเป็นเพราะว่าวัตถุประสงค์หนึ่งเดียวที่สำคัญที่สุดของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนก็คือ ทำลายความเงียบที่ดำรงอยู่อย่างเปิดเผย และท้าทายต่อข้อห้ามทั้งหลายที่ปล่อยให้การละเมิดยังคงดำเนินอยู่ต่อไป งานด้านสิทธิมนุษยชนก็คือการยุติการเซ็นเซอร์การถกเถียงในปัญหาที่เป็นสาเหตุให้การละเมิดยังคงมีอยู่
 
การเซ็นเซอร์จะยุติลงได้ด้วยการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ในทางตรงข้าม การทูตเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่เพียงแต่หนุนเสริมให้เกิดการเซ็นเซอร์ แต่ยังบีบให้ผู้ที่มีส่วนร่วมเข้าร่วมในการเซ็นเซอร์ตัวเองด้วย
 
ใครที่เข้าร่วมการเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยการพูดจาหลอกลวงไม่ควรจะคาดหวังความเห็นอกเห็นใจจากผู้อื่น ถ้าหากต่อมาภายหลังพบว่า ตัวเองตกเป็นเหยื่อของความพยายามทางการทูตของตนเอง แล้วออกมาร้องปาวๆ ว่าพวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
 
ได้แต่หวังว่า พวกเขาจะได้เรียนรู้บทเรียนที่สำคัญว่า การทูตเรื่องสิทธิมนุษยชนกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้ ใครก็ตามที่เลือกที่จะใช้วิธีการทางการทูตก็ต้องจ่ายต้นทุนด้วยการยุติการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน และการยุติการรณรงค์ในเรื่องสิทธิมนุษยชนก็หมายความถึงการยอมเลิกราต่อจุดยืนในเรื่องสิทธิมนุษยชนไปในที่สุด
 
 
หมายเหตุ
(ออว์ซาร์ ธิ[Awzar Thi] เป็นนามปากกาของกรรมาธิการคนหนึ่งของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนเอเชีย ซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า 15 ปี ในฐานะนักส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและนิติรัฐในประเทศไทยและพม่า บล็อก Rule of Lords ของเขาสามรถเข้าไปอ่านได้ที่ http://ratchasima.net)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net