Skip to main content
sharethis
3 พ.ย.52 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการแถลงข่าวเรื่อง รัฐบาล และคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ (กนศ.) ต้องทบทวนการยกเลิกข้อสงวนในการเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน (ACIA) ในสาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำไม้จากป่าปลูก และการปรับปรุงพันธุ์พืช จัดโดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายองค์กรประชาชน 103 องค์กร
 
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า การแถลงข่าววันนี้มีขึ้น เพราะต้องการแสดงจุดยืนของภาคประชาชน ก่อนที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ (กนศ.) จะประชุมเรื่องข้อตกลงเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน (ACIA) ในวันศุกร์ที่ 6 พ.ย.นี้ หากภาคประชาชนพบว่า กนศ.ไม่ยอมสงวน 3 สาขา ได้แก่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำไม้จากป่าปลูก และการปรับปรุงพันธุ์พืช  ภาคประชาชนจะแถลงรายละเอียดของการฟ้องร้อง โดยคาดว่าจะฟ้องทั้งบีโอไอ กรมเจรจาการค้า และรัฐบาล
           
นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยมูลนิธิธรรมรัฐเพื่อพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดการประชุมร่วมของหลายฝ่ายเกี่ยวกับประเด็นนี้ พบว่า หลายหน่วยงานที่รับผิดชอบกับประเด็นนี้โดยตรงคัดค้าน อาทิ กรมประมง กรมการข้าว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรณีของกรมการข้าว ถึงกับระบุว่า หากเปิดเสรีปรับปรุงพันธุ์พืชก็เท่ากับเป็นการชักศึกเข้าบ้าน แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกลับพูดแต่เพียงว่า เป็นข้อตกลงที่ตกลงไว้แล้ว ทำให้สงสัยว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่มีนักลงทุนใกล้ชิดกับบีโอไอ และใกล้ชิดกับพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลจะได้ประโยชน์จากการได้เงินลงทุนเพิ่ม และยังได้สิทธิการคุ้มครองการลงทุนด้วย ในฐานะที่มีสภาพเป็นนักลงทุนต่างชาติด้วย ซึ่งเป็นสิทธิที่ไม่เคยได้มาก่อน เพราะข้อตกลงประเภทนี้ให้สิทธินักลงทุนต่างชาติมากกว่าคนในชาติด้วยซ้ำ
 
“บีโอไอมักชี้แจงว่า ประเทศไทยมีกฎหมายภายในเพียงพอ เช่น นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถขออนุญาตสร้างสวนป่าได้, ไม่สามารถขอมีเลื่อยยนต์ได้, ไม่สามารถขอใช้ป่าสงวนเสื่อมโทรม ถ้าฟังแบบนี้แล้ว อยากรู้ว่า นักลงทุนอาเซียนอีก 9 ประเทศไม่รู้เรื่องนี้เลยหรือไร แต่จากเนื้อหาในข้อตกลงข้อ 9 ชี้ว่า เราจะให้สิทธินักลงทุนต่างชาติไม่เท่านักลงทุนในชาติได้ก็ต่อเมื่อ เราต้องทำข้อสงวน ถ้าไม่ทำข้อสงวนก็ไม่อนุญาตได้ แต่กระนั้น หากเกิดปัญหาในอนาคต เราจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายหรือกฎหมายได้เลย เพราะหากทำไป นักลงทุนอาจนำไปอ้างว่ามีผลกระทบเชิงลบ และฟ้องร้องเป็นกรณีพิพาทให้รัฐต้องใช้เงินภาษีของประชาชนไปชดเชยดังที่เกิดใน เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) มาแล้ว หากอีกหน่อยรัฐบาลไทยประกาศพื้นที่ป่าสงวน หรือ ควบคุมการปล่อยน้ำทิ้งจากนากุ้ง จะมีผลกระทบต่อนักลงทุนต่างชาติหรือไม่ จนเขาเอาไปเป็นประเด็นฟ้องร้อง ฝากเอาไว้ให้รัฐบาลมองไกลกว่าเม็ดเงินลงทุน”
 
บัณฑูร กล่าวต่อว่า การลงทุนยังครอบคลุมสัมปทานธุรกิจ แสวงหา เพาะปลูก สกัด หรือ แสวงหาประโยชน์จ่ากทรัพย์ยากร ในกรณีการปลูกป่า ไม่ได้มีประโยชน์แค่เนื้อไม้ แต่ยังรวมไปถึงการเอาเข้าโครงการกลไกที่สะอาดตามพิธีสารเกียวโต เช่น  CDM และ REDD เขาจะได้สิทธิการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งมีอยู่ในความหมายการลงทุน แต่ในระยะยาว หากประเทศไทยต้องทำตามพันธสัญญาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราจะไม่มีสิทธิ เพราะป่าเหล่านี้ถูกใช้ไปแล้วจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเชื่อว่าบีโอไอไม่เคยคิดถึงประเด็นเหล่านี้มาก่อน
           
นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนกล่าวว่า
การเปิดเสรีการลงทุน นำสิ่งเหล่านี้ไปสู่พื้นที่เสี่ยง ฉะนั้นพวกเราต้องหยุดการเปิดเสรีการลงทุนใน 3 สาขานี้ให้ได้ ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ถ้าการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ (กนศ.) ในวันศุกร์นี้ ไม่มีทิศทางบวก เราต้องดำเนินการทางกฎหมายทุกวิถีทาง พร้อมการเคลื่อนไหวทางสังคม ปล่อยไว้ไม่ได้ เพราะทางรัฐบาลของนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไม่เคยพูดอะไรที่ให้มั่นใจเลย เอาแต่อ้างว่าตกลงมาแล้ว ตกลงมาอย่างไรต้องเป็นไปอย่างนั้น แต่ขณะนี้เรากำลังเผชิญสถานการณ์ใหม่ ทั้งวิกฤตอาหาร วิกฤตพลังงานและ วิกฤตโลกร้อน ถ้าเราไม่ทบทวนข้อตกลงที่ทำมาตั้งแต่เมื่อ10 กว่าปีก่อน ก็ฟังไม่ขึ้น
 
กิ่งกรระบุว่า ในวันที่ 6 พ.ย.นี้ รัฐบาล บีโอไอ กรมเจรจาการค้ากระทรวงพาณิชย์ ต้องมีแนวทางชัดเจนว่าจะสงวนอย่างไร และมีแนวทางระยะยาวที่จะฟื้นฟูอย่างไร มิเช่นนั้น องค์กรภาคประชาชนคงต้องใช้มาตรการฟ้องร้อง ร่วมกับการเคลื่อนไหวทางสังคม
 
“อยากให้วาดภาพ อาฟต้าจะทำให้การค้าขายเฟื่องฟู แต่เกษตรกรจะลำบากมากกว่าเดิมอยู่ไม่รอด แต่ ACIA จะเป็นการเปิดให้ฐานถูกทุนใหญ่ครอบครอง ขณะนี้เราจะถ่ายโอนการผลิตอาหารไปสู่ทุนขนาดใหญ่ ตอนนี้อาหารถูกนำไปเก็งกำไร” กิ่งกรกล่าว
 
วิฑูรย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาข้อมูลทั้งจากทางฝ่านเรา และข้าราชการบางส่วนได้ส่งถึง นายเกียรติ สิทธีอมร ผู้แทนการค้าไทย ไปแล้วว่า สามารถทบทวนได้และสงวนได้
  1. ที่ผ่านมาผู้แทนเจรจาฝ่ายไทยเคยละเลยไม่สงวน อาชีพเกษตรกร ใน AIA เราก็มาสงวนได้ หลักฐานนี้กรมเจรจาฯทราบดี ครั้งนี้ก็ต้องสามารถทำได้เช่นกัน
  2. ในขณะที่เราบอกทำตามพันธะกรณี แต่อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่เผชิญวิกฤต เขายังคงข้อสงวนเอาไว้ เราก็ควรคงข้อสงวนได้
  3. ที่ผ่านมาหน่วยงานรับผิดชอบหลัก อาทิ กรมการข้าว กรมประมง เคยคัดค้านแล้ว แต่ทำไมไม่ถูกนำไปพิจารณา จริงหรือไม่ที่ รัฐบาลไม่เคยฟังความเป็นจริง แต่ฟังเฉพาะข้าราชการกลุ่มเล็กๆที่เราเชื่อว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงจากการเดิหน้าเปิดเสรีให้นักลงทุนรายใหญ่ทั้งไทยและต่างประเทศได้ประโยชน์
 
“การเปิดเสรีในรัฐบาลก่อนหน้านี้ ยังเน้นเรื่องการค้า ลดภาษี มีการลงทุนบ้างบางส่วน ผลกระทบยังไม่สามารถเยียวยาได้จนถึงขณะนี้ แต่ข้อตกลงเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน จะปล่อยให้นักลงทุนอาเซียนและนอกอาเซียนมาใช้ทรัพยากร ซึ่งสถานการณ์จะรุนแรงกว่าที่เคยเปิดมาในรัฐบาลที่แล้ว เราหวังว่า รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะตระหนักในเรื่องนี้”วิฑูรย์กล่าว
 
 
ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ประธานมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า“วันที่ 6 นี้ จะเปิดหน้าอย่างชัดเจนว่า ใครรักแผ่นดินจริงๆ หรือใครพูดแต่ปากว่ารักประเทศ แต่ไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้นเราจะต้องฟ้อง เราจะต้องเอาคนผิดออกมาดูหน้ากันให้ได้ ใครคิดทำอะไร ใครมีพฤติกรรมขายชาติ ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินจริงหรือเปล่า หรือทำเพื่อเอาตำแหน่ง เอาหน้าเอาตา เราจะทำทั้งระยะสั้น ระยะยาว เราจะไม่เลิก เราจะทำต่อ เป็นบทเรียนที่เราจะต้องเรียนรู้ ไม่มีชาติไหนเขามอบการเกษตรให้กับคนชาติอื่น ถ้าเราไม่ทำ แผ่นดินเราสูญแน่”
 
 
 0000
 
คำแถลงยืนยันให้มีการสงวนการลงทุนด้านการเกษตร 3 สาขา
ภายใต้ความตกลงเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน
และมาตรการคัดค้านของภาคประชาชนหากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามข้อเสนอ
 
ตามที่จะมีการประชุมของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เพื่อพิจารณาความตกลงการเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Agreement) และการจัดทำข้อเสนอและมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 นั้น มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)  และองค์กรภาคประชาชนรวม 103 องค์กร ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
 
1.             ยืนยันให้รัฐบาลยับยั้งการเปิดเสรีภาคเกษตรและภาคบริการที่เกี่ยวข้อง 3 สาขา คือ การเพาะและขยายพันธุ์พืช  การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการปลูกป่า ภายใต้ข้อตกลงการเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน และรัฐบาลต้องผลักดันให้มีการเจรจาเพื่อสงวนอาชีพดังกล่าวสำหรับเกษตรกรรายย่อย ชุมชนท้องถิ่น และประชาชนคนไทย เช่นเดียวกับที่ รัฐบาลอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ดำเนินการเพื่อสงวนอาชีพและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องเอาไว้สำหรับประชาชนของเขา
 
2.             รัฐบาลต้องไม่รับฟังเพียงข้อเสนอของข้าราชการและกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มเดินหน้าการเปิดเสรีทั้ง 3 สาขา โดยอ้างว่าเป็นพันธกรณีภายใต้ความตกลง AIA (ASEAN Investment Agreement) ซึ่งไม่สามารถทบทวนได้ และอ้างว่ามีกฎหมายภายในครอบคลุมอยู่แล้ว อีกทั้งสามารถจัดทำข้อสงวนเพิ่มเติมได้โดยไม่จำเป็นต้องทบทวนการเปิดเสรีใน 3 สาขาข้างต้น
 
ข้อเสนอดังกล่าวไม่สามารถปกป้องผลกระทบต่อเกษตรกรและผลประโยชน์ของประเทศได้ เนื่องจากปัญหาช่องโหว่ของกฎหมายภายใน การบังคับใช้กฎหมาย อีกทั้งมีปัญหาตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน  สภาผู้แทนราษฎร ได้รวบรวมไว้และจัดทำเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาลจากการจัดประชุมเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา รวมทั้งมีข้อท้วงติงของนักวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้ศึกษาเรื่องความตกลงการลงทุนอาเซียนมาเป็นเวลานาน
 
หากรัฐบาลมิได้ดำเนินการใดๆ ตามข้อเรียกร้องซึ่งยืนอยู่บนผลประโยชน์ของเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของชาติ มิได้ฟังเสียงคัดค้านของหลายหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคำท้วงติงของนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และเครือข่าย/องค์กรภาคประชาชนรวม 103 องค์กรจะดำเนินการยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
 
รายละเอียดของการฟ้องร้อง และการเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาชนในลำดับต่อไปนั้น จะประกาศให้ทราบโดยเร็วหลังการประชุมของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552
 
                                    มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
                                    สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
                                    กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)
                                    และเครือข่าย/องค์กรภาคประชาชน 103 องค์กร
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2552
เคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net