“กลุ่มลูกน้ำปิง” จัดอภิปรายค้านประตูระบายน้ำแม่สอย กังขา EIA ไม่โปร่งใส

 
จากกรณีการคัดค้านการสร้างประตูระบายน้ำแม่สอย โดย “กลุ่มลูกน้ำปิง” ต.แม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ในแผนโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาล โดยกลุ่มลูกน้ำปิงให้เหตุผลว่าชาวบ้านไม่ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการดังกล่าว ทั้งไม่มีการพูดคุยและรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ล่าสุดวันที่ 17-18 ต.ค. ที่ผ่านมาที่ หอประชุมบ้านแม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ มีได้จัดโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิชุมชนกับผลกระทบจากโครงการรัฐ โดยได้มีการจัดเวทีเสวนาให้ความรู้ ซึ่งเริ่มจากการที่ชาวบ้านในพื้นที่ ได้มาลำดับเหตุการณ์โครงการฯ และมีวงเสวนา “โครงการประตูระบายน้ำแม่สอย (เขื่อน) กับผลกระทบต่อวิถีชีวิตของลุ่มแม่น้ำปิง”
 
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวนั้นดำเนินการโดยสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ โดยมีแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ การอุปโภคบริโภคในพื้นที่ท้ายน้ำของลำน้ำแม่ปิงตอนบน โดยเอกสารประชาสัมพันธ์โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมประตูระบายน้ำแม่สอยได้ให้ข้อมูลว่า คาดการณ์ว่าจะต้องใช้งบประมาณก่อสร้างและดำเนินการทั้งสิ้น 965.974 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน 48.484 ล้านบาท ค่าก่อสร้างประตูระบายน้ำ แนวคันกั้นน้ำ รวมถึงอาคาร 850.240 ล้านบาท และค่าดำเนินการเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอีก 67.250 ล้านบาท
 
สำหรับพื้นที่รับประโยชน์ของโครงการเมื่อมีการก่อสร้างแล้วนั้นจะสามารถทดน้ำไปทางเหนือประมาณ 21 กิโลเมตร โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ของโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่อยู่ด้านเหนือจำนวน 31 สถานี รวมพื้นที่ส่งน้ำ 33,496 ไร่ นอกจากนี้ยังสามารถระบายน้ำลงสู่ท้ายน้ำแก่พื้นที่โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจำนวน 44 สถานีรวมพื้นที่ส่งน้ำ 47,359 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ต.แม่สอย ต.บ้านแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และ ต.หนองปลาสะวาย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน
 
นางพิมพ์ใจ นามเทพ ตัวแทนชาวบ้านแม่สอย ได้ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เพิ่งทราบว่าจะมีการสร้างประตูระบายน้ำเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งหากมีการสร้างขึ้นจริงจะทำให้เกิดปัญหาน้ำเอ่อเข้าท่วม ที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้าน ทั้งจะส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตริมฝั่งน้ำของคนชนบท ที่ใช้เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค โดยทางสำนักชลประทานที่ 1 นั้นไม่ได้ให้ข้อมูลกับคนในพื้นที่ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโครงการ นอกจากนี้ การจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA นั้นก็มีส่วนที่ขัดกับข้อเท็จจริง โดยในส่วนที่ระบุว่าช่วงที่มีน้ำท่วมหนักที่สุดนั้นคือปี พ.ศ. 2548 ทั้งที่ในปี พ.ศ. 2516 นั้นมีพื้นที่นี้ประสบภาวะน้ำท่วมสูงกว่ามาก ทำให้ชาวบ้านเห็นว่าทางผู้ดำเนินการจัดทำ EIA นั้นดำเนินการอย่างไม่โปร่งใส
 
สำหรับการเสวนานั้นนายนเรศ สิงห์คำ จากอำเภอเชียงดาวได้มาบอกเล่าประสบการณ์โครงการสร้างฝายที่อำเภอเชียงดาวเมื่อปี พ.ศ. 2543 ว่าไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับชุมชนแต่อย่างใด ซึ่งเท่ากับเป็นการใช้งบประมาณอย่างสิ้นเปลือง ส่วนนายนาวิน โสภาภูมิ นักศึกษาปริญญาโทมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้ที่ติดตามโครงการดังกล่าวได้ให้ความเห็นว่าสภาพที่เกิดขึ้นคือคนในพื้นที่ที่จะมีการสร้างประตูระบายน้ำนั้นแทบไม่ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ ซึ่งควรจะต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบที่จะต้องอธิบายสร้างความเข้าใจให้กับคนในพื้นที่ได้เข้าใจ
 
ทาง อ.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับๆ หลายโครงการที่เคยดำเนินการในหลายพื้นที่ ซึ่งในท้ายที่สุดก็เกิดปัญหาตามมามากมาย  สำหรับโครงการสร้างประตูระบายน้ำที่บ้านแม่สอยนั้นที่จะมีการสร้างพนังกั้นน้ำนั้นถึงแม้ว่าจะสามารถรองรับการไหลของน้ำจากต้นทางได้ แต่พนังกั้นน้ำจะเป็นตัวกันน้ำที่ไหลจากด้านข้างของแม่น้ำไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำ ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ใกล้เคียงเกิดน้ำท่วมได้
 
ด้านนายหาญณรงค์  เยาวเลิศ นักพัฒนาเอกชน ได้ชี้ให้เห็นว่าโครงการไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มีส่วน เพราะการประชุมตัดสินใจในการกำหนดโครงการนั้นเป็นข้าราชการเท่านั้น ขณะที่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบไม่ใช่คนเหล่านั้นแต่เป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านก็มีสิทธิในการตรวจสอบโครงการดังกล่าว เพราะโครงการดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการอนุมัติในหลักการชลประประทาน
 
ขณะที่ นายสุริยันต์  ทองหนูเอียด รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า การใช้งบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็งเพื่อสร้างประตูระบายน้ำแม่สอยนั้น จะเป็นโครงการไทยเข้มแข็งไม่ได้ หากประชาชนไม่มีส่วนร่วม ซึ่งต้องย้อนถามว่าโครงการไทยเข้มแข็งแสดงว่าตอนนี้ไทยอ่อนแอใช่หรือไม่ ถ้าใช่แล้วใครอ่อนแอ ประชาชนหรือนักการเมือง ซึ่งหากเป็นประชาชนก็ควรจะให้งบประมาณมากับชุมชนเพื่อพัฒนา แต่ในกรณีจะเห็นได้ว่างบประมาณอยู่กับหน่วยงานราชการเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท