Skip to main content
sharethis

(4 พ.ย.52) คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาคดีความ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผู้อำนวยการกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรับฟังความเห็นจากกลุ่มผู้เดือดร้อน ที่ชุมชนสันติพัฒนา หมู่ 6 ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี ในวันที่ 3-4 พ.ย.2552 และในวันที่ 5 พ.ย.2552 จะลงพื้นที่ไปรับทราบข้อเท็จจริงที่บ้านคอกเสือ ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 28 ต.ค.52 คณะทำงานศึกษามาตรการทางกระบวนการยุติธรรมฯ ภายใต้คณะอนุกรรมการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาคดีความ ในคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ได้รายงานว่าสมาชิกของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 422 ราย ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง โดยเป็นประเภทคดีที่ดินป่าไม้ กว่าร้อยละ 80 ส่วนที่เหลือเป็นคดีที่ดินเอกชนและที่ดินสาธารณะประโยชน์ ส่วนสถานการณ์ปัญหาเฉพาะหน้าที่ผู้ถูกดำเนินคดีต้องเผชิญคือ หลักของการให้ประกันตัวต้องมีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหา หลักทรัพย์ในการประกันตัวสูงกว่าฐานะของผู้ต้องหา รวมถึงกระบวนการพิจารณายึดหลักของกฎหมายมากกว่าข้อเท็จจริง สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการต่อสู้ทางคดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ชุมชนสันติพัฒนา ผู้ถูกคดีทั้งทางแพ่งและอาญา ผู้ได้รับความเสียหายกรณีถูกทำลายบ้านเรือนในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี และสมาชิกผู้เดือดร้อนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้จำนวนกว่า 200 คน ได้เสนอข้อเท็จจริงกรณีบริษัทเอกชนฟ้องบุกรุกชาวบ้าน โดยชาวบ้านตั้งข้อสังเกตุว่า ที่ดินกรณีพิพาทระหว่างชาวบ้านพิพาทกับบริษัทเอกชน เป็นที่ดินที่บริษัทเอกชนได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จากที่ป่าไม้ถาวรและที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน สปก.และมีการแสดงนิทรรศการประวัติการถือครองที่ดินและการต่อสู้เพื่อสิทธิบนผืนดินของชาวบ้านในพื้นที่

นายสุรพล สงฆ์รักษ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ กล่าวว่าประเด็นหลักที่มีการนำเสนอเป็นเรื่องเอกสารสิทธิ์ นส.3 ของบริษัทเอกชน ซึ่งอาจมีการ ทับที่ ส.ป.ก.หรือพื้นที่ป่า โดยในวันนี้ (4 พ.ย.) หลังจากที่ก่อนหน้านี้คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้รับฟังข้อมูลคดีความของชาวบ้านเป็นรายบุคคล ในส่วนของดีเอสไอได้ทำการรับฟังพยานบุคคลเพื่อให้ข้อมูลสภาพชุมชนดังเดิมและยืนยันว่าพื้นที่กรณีปัญหากับบริษัทเอกชนเป็นพื้นที่ป่า ไม่มีการใช้ประโยชน์มาก่อนที่จะมีการบุกเบิกและทำการออกเอกสารสิทธิ์โดยบริษัทเอกชนในช่วงปี 2518-2519 ตามที่บริษัทให้ข้อมูลว่ามีการใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2496 ซึ่งชาวบ้านยืนยันว่าไม่เป็นความจริง

เขากล่าวด้วยว่า เรื่องเอกสารสิทธิ์ นส.3 ดังกล่าวถูกหยิบมาเป็นเหตุผลสำคัญในการฟ้องร้องชาวบ้าน โดยปัจจุบันใน จ.สุราษฎร์ธานี สมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินฯ ที่มีปัญหาเรื่องคดีซึ่งอยู่ในชุมชนบ้านน้ำแดง ต.ไทรทอง จำนวน 7 คนโดยโดนฟ้องคดีอาญา และอยู่ในชุมชนสันติพัฒนา ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง 12 คนโดยทั้งหมดโดนฟ้องอาญาและฟ้องแพ่ง รวมกว่า 15 ล้านบาท ดังนั้นชาวบ้านจึงต้องการให้มีการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว อีกทั้ง ยังเรียกร้องให้กระบวนการของศาลมีการตรวจสอบเรื่องที่มาของเอกสารสิทธิ์ที่ดินและความถูกต้องต่างๆ ก่อนนำมาเป็นเหตุฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน เพราะหากฟ้องร้องแล้วกลับมาตรวจสอบที่หลังก็ไม่ทันการ เนื่องจากชาวบ้านต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีแล้ว

ส่วนชาวบ้านเองก็มีความลำบากในการต่อสู้คดีอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องการเข้าถึงข้อมูล และค่าใช้จ่ายต่างๆ เขายกตัวอย่าง กรณีของชุมชนสันติพัฒนา ที่ชาวบ้านถูกฟ้องว่าตั้งชุมชนบุกรุกที่ดินเอกชนโดยใช้เอกสารสิทธิ์ นส.3 จำนวน 3 แปลง ในการยื่นฟ้อง แต่ปรากฎผลการตรวจสอบภายหลังพบว่า ชุมชนไม่ได้อยู่บนเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวและเป็นพื้นที่ที่ทางบริษัทเอกชนเคยของเอกสารสิทธิ์แต่ทางกรมที่ดินไม่ได้ออกให้ ทั้งนี้ กระบวนการต่อสู้ทางคดีที่ผ่านมาได้ทำให้ชาวบ้านต้องหมดเงินไปกว่า 2 แสนบาทแล้ว

นายสุรพลกล่าวตอบคำถามถึงการดำเนินการต่อไปหลังการพิสูจน์เรื่องที่มาของเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวว่า หากพบว่า นส.3 ออกโดยไม่ชอบจะเป็นผลให้ชาวบ้านหลุดคดี อีกทั้งจะนำไปสู่การนำที่ดินของรัฐมาปฏิรูปตามแนวทางโฉนดชุมชน ทั้งในส่วนที่ดิน ส.ป.ก. และที่ดินในเขตป่า เพราะพื้นที่ดังกล่าวได้แปลสภาพเป็นสวนเศรษฐกิจแล้วน่าจะมีโอกาศในการเจรจาเพื่อขอให้ชาวบ้านเข้าใช้ประโยชน์ได้

นอกจากนี้ นายสุรพลยังได้กล่าวถึงข้อกังวลในเรื่องอิทธิพลมืดในพื้นที่ที่มีการข่มขู่ คุกคามชาวบ้านมาโดยตลอด ซึ่งก็ได้มีการเสนอให้คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้รับทราบ เพื่อช่วยเหลือในการแก้ปัญหา โดยในกรณีของชุมชนคลองไทร ต.ไทรงาม อ.ชัยบุรี ที่ถูกกลุ่มอิทธิพลใช้รถแทรกเตอร์ (รถไถจาน) เข้าทำการไถดัน ทำลายบ้านเรือนที่พักอาศัยเสียหายไปราว 60 หลังคาเรือน เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถึงตอนนี้คดียังไม่มีความคืบหน้า โดยยังอยู่ในชั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในวันนี้ (4 พ.ย.) กองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพก็ได้ลงพื้นที่เพื่อดูข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตามนายสุรพลแสดงความเห็นว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นเพียงการมารับทราบข้อมูลในพื้นที่ หลังจากที่ชาวบ้านได้ให้ข้อมูลในที่ประชุมคณะอนุกรรมการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาคดีความรับทราบก่อนหน้านี้ ซึ่งก็ยังไม่ทราบผลที่ชัดเจนของการลงพื้นที่ดังกล่าว

สำหรับการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีที่ดินคนจนในวันที่ 5 พ.ย.2552 จะจัดขึ้นที่ ศาลาเอนกประสงค์บ้านคอกเสือ ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ผู้ถูกคดีทั้งหมด 69 ราย และผู้เดือนร้อนสมาชิกเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดจำนวน 300 คน จะนำเสนอข้อเท็จจริงกรณีอุทยานฟ้องร้องชาวบ้านในข้อหาทำลายทรัพย์สิน และจะมีการแสดงนิทรรศการของผู้ต้องหารายบุคคล   

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาคดีความ ได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 71/2552 ลงวันที่ 9 มี.ค.2552 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่ดินทำกิน ซึ่งมีการตั้งคณะอนุกรรมการ 6 ชุดเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน คือ อนุกรรมการชุดพื้นที่ป่าไม้ อนุกรรมการชุดที่สาธารณประโยชน์และที่ดินเอกชนทิ้งร้าง อนุกรรมการชุดที่ดิน ส.ป.ก. อนุกรรมการชุดที่ราชพัสดุ อนุกรรมการชุดที่อยู่อาศัย และอนุกรรมการชุดนโยบาย

จากนั้นในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2552 ได้เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาคดีความ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาคดีความ ศึกษาแนวทางและมาตรการทางกระบวนการยุติธรรมเพื่อรองรับนโยบายโฉนดชุมชน สิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ คณะกรรมการชุดนี้จึงนับเป็นคณะอนุกรรมการชุดที่ 7
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net