คนสงขลาร่วมกำหนดอนาคต “บนฐานทรัพยากรที่ยั่งยืน”

4 พฤศจิกายน 2552 เวลา 09.00 น. ห้องประชุมเกษม ลิ่มวงศ์ ศูนย์การประชุมคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีการจัดเวทีสัมมนา ร่วมกำหนดอนาคตคนสงขลา “บนฐานทรัพยากรที่ยั่งยืน” มีผู้เข้าร่วมเวทีประมาณ 200 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจาก หน่วยงานราชการ สถานบันการศึกษา สมาคม กลุ่มองค์กรต่างๆในพื้นที่จังหวัดสงขลาทั้งภาคประชาชนและองค์กรสาธารระประโยชน์

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลาได้นำเสนอถึงภาพรวมทิศทางการพัฒนาจังหวัดสงขลา ซึ่งตามกรอบการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ได้ระบุให้จังหวัดสงขลาอยู่ในกลุ่มจังหวัดชายแดนซึ่งมีการระบุว่าเป็นพื้นที่กลุ่มเป้าหมายเหมาะที่จะพัฒนาพลังงานและปิโตรเคมี ปัจจุบันหลังจากที่มีการพัฒนาโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ตามด้วยโครงไฟฟ้าจะนะ ขณะกำลังมีโครงการที่จะขยายโรงไฟฟ้าจะนะ และกำลงจะมีโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกที่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลาเพื่อการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูลและเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดสงขลา การพัฒนาต้องเอาสุขภาพคนเป็นตัวตั้ง ซึ่งแม้การดำเนินโครงการจะพยายามบอกว่ามีการกำหนดมาตรฐาน ซึ่งในความเป็นจริงค่ามาตรฐานการควบคุมของประเทศไทยต่ำกว่าต่างประเทศ และสุขภาพของคนจะกำหนดโดยค่ามาตรฐานไม่ได้ เพราะความแข็งแรงของร่างกายของมนุษย์แต่ละคนไม่เท่ากัน การได้รับมลพิษแล้วมีผลต่อร่างกายแต่ละคนไม่เท่ากัน

จากนั้น ดร.อาภา หวังเกียรติ คณะวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้นำเสนอภาพเปรียบเทียบจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดสู่เมืองสงขลา เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้มองเห็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในจังหวัดสงขลา ไม่ว่าโรงแยกก๊าซ โรงไฟฟ้า ท่าเทียบเรือน้ำลึก และสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล เป็นการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อการรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เพราะเป็นรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลเหมือนกัน ซึ่งบทเรียนจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆมากมายโดยเฉพาะปัญหาสุขภาพของคนระยอง การก่อมลพิษที่ไม่สามารถควบคุมแก้ไขปัญหาได้เลย แล้วรัฐบาลยังจะนำโครงการเล่านี้มาพัฒนาจังหวัดสงขลาอีก แม้หลังจากมีปัญหามลพิษที่มาบตาพุดคณะกรรมการพัฒนาชายฝั่งภาคใต้จะพยายามบอกว่าจะเป็นอุตสาหกรรมนิเวศน์เป็นนิคมอุตสาหกรรมสะอาดและเขียวขึ้นซึ่งเป็นไปได้ยาก ซึ่งมลพิษจากนิคมอุตสาหกรรมเป็นแบบมลพิษแบบผสมรวมซึ่งข้อจำกัดทางการแพทย์ไม่สามารถตรวจสอบได้

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกอบด้วย ผศ.ดร.จารุณี เชี่ยววารีสัจจะ รศ.ดร.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกุล ผศ.ประสาท มีแต้ม และนายนฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ ผู้เชี่ยวชาญประเด็นทะเลสาบสงขลา ได้นำเสนอข้อมูลศักยภาพของจังหวัดสงขลาบนฐานทรัพย์กรที่มีอยู่ในจังหวัดสงขลา

ผศ.ดร.จารุณี เชี่ยววารีสัจจะ ภาควิชาวาริชศาสตร์ พูดถึงศักยภาพจังหวัดสงขลา ว่ามีระบบนิเวศที่หลากหลายตั้งแต่ภูเขา ป่าไม้ ทะเลอ่าวไทย ทะเลสาบ แม่น้ำ ลำคลอง จึงควรมีการพัฒนาจากฐานทรัพยากรและระบบนิเวศที่มีอยู่ นายนฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ ผู้เชี่ยวและติดตามปัญหาทะเล นำเสนอถึงปัญหาของทะเลสาบสงขลาที่เกิดจากโครงการพัฒนาต่างๆ เช่น ท่าเทียบเรือน้ำลึกที่สิงหนคร

รศ.ดร.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกุล คณะเศรษฐศาสตร์ ได้นำเสนอมูลมิติด้านเศรษฐศาสตร์ว่าการพัฒนาที่ผ่านมาของรัฐโดยยกตัวอย่างกรณีโรงแยกก๊าซและการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดว่าไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจและวิถีชีวิตของคนชุมชนในชุมชนดีขึ้นจริงๆ กลับส่งผลกระทบกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ผศ.ประสาท มีแต้ม ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลเรื่องปัญหาการวางแผนพัฒนาของประเทศว่าเกินความเป็นจริง และพูดถึงว่าศักยภาพของภาคใต้และสงขลาสามารถที่จะทำการผลิตและพัฒนาพลังงานทางเลือกเพื่อการพึ่งตนเองได้ซึ่งจะเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ในช่วงบ่ายจะมีการให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาจังหวัดสงขลา

นางสาวสุรัตน์ แซ่จุ่ง ผู้ประสานการจัดเวทีสัมมนาในวันนี้ กล่าวว่า ทางศูนย์การเรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน จัดเวทีสัมมนาในวันนี้เนื่องจาก เนื่องจากมีความห่วงกังวลถึงทิศทางการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดสงขลาซึ่งมีแนวโน้มการพัฒนาสู่การเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งจะกระทบกับวิถีชีวิตชุมชน ทรัพยากรและศักยภาพของจังหวัดสงขลาที่จะพัฒนาไปสู่แนวทางที่ยั่งยืนสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ดังนั้นทางคณะกรรมการประสานงานองค์พัฒนาเอกชน (กป.อพช.ใต้) เครือข่ายประเมินผลกระทบทางสุขภาพในประเด็นแผนพัฒนาภาคใต้ โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา ได้นำเสนอประเด็น “แผนพัฒนาที่ยั่งยืนของคนใต้” เข้าสู่วาระของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552

สืบเนื่องตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พุทธศักราช 2550 กำหนดให้มีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งการกำหนดระเบียบวาระการประชุมมีการพิจารณาคัดเลือกประเด็นเพื่อบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุม โดยพิจารณาจากความสำคัญ ความรุนแรงของผลกระทบ ความสนใจของสาธารณะต่อประเด็นดังกล่าว และความเป็นไปได้ในการผลักดันเชิงนโยบาย ซึ่งประเด็นแผนพัฒนาที่ยั่งยืนของคนใต้ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็น 1 ใน 11          ประเด็น จากจำนวนประเด็น 114 ประเด็นทีมีการเสนอ

ในวันนี้ทางศูนย์การเรียนรู้จึงประสานจัดเวทีสัมมนาเพื่อชวนภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดสงขลามาร่วมกันกำหนดอนาคตการพัฒนาจังหวัดสงขลา สอดคล้องกับคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวในการเดินทางมาจังหวัดสงขลาในโครงการไทยเข้มแข็ง ว่าพัฒนาท่าเทียบเรือน้ำลึกในจังหวัดเป็นการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจ ซึ่งต้องมีทางรถไฟ ถนน โครงข่ายท่อน้ำมันและต้องมีอุตสาหกรรม ซึ่งจะเข้าข่ายกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตร 67 เพราะส่งผลกระทบรุนแรงและเปลี่ยนวิถีชีวิต ต้องนี้กำลังให้ทางสภาพัฒน์ฯ เปิดโฉมหน้าของโครงการทั้งหมดว่าหากครบวงจรจะเป็นอย่างไร แบบนี้คนสงขลาจะเอาไหม คนสงขลาต้องช่วยกำหนด ซึ่งการจัดเวทีนี้สอดคล้องกับการที่นายกได้กล่าวว่าคนสงขลาต้องมาร่วมการพัฒนาว่าจะเอาแบบไหน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท