Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. เวลา 16.00 น. ห้องประชุมเกษม ลิ่มวงศ์ ศูนย์การประชุมคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์การเรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชนอำเภอจะนะ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.ใต้) สมาคมดับบ้านดับเมือง สมาคมรักษ์ทะเลไทยจัดเวทีชวนคนจังหวัดสงขลาร่วมคิด ร่วมคุย เพื่อกำหนดอนาคตคนสงขลาด้วยแผนพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ทำลายฐานทรัพยากร วิถีชีวิตของคนสงขลา จากการระดมความคิดเห็นคนสงขลาไม่ต้องการเห็นรัฐบาลและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพัฒนาจังหวัดสงขลาไปสู่ทิศทางของการเป็นเมืองอุตสาหกรรมหนักแบบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งส่งผลกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต และสุขภาพของคนในจังหวัดสงขลาในระยะยาว

จากการระดมความคิดเห็นจากกลุ่มคนหลากหลายในจังหวัดสงขลา ประกอบด้วยตัวแทน ราชการไม่น้อยกว่า 8 หน่วยงานซึ่งมีบทบาทหลักในการรับผิดชอบเรื่องของสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของคนใน จ.สงขลา รวมทั้งสถาบันการศึกษาทั้งระดับมัธยมและอุดมศึกษา, สมาคมผู้นำสตรี จ.สงขลา, สมาชิกสมาพันธ์ครูภาคใต้, องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น, องค์กรพัฒนาเอกชน,โครงข่ายความร่วมมือสงขลา, สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจ.สงขลา, สมาคมเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน, องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น, สหพันธ์เด็กคนหนุ่มสาวเพื่อสันติภาพโลก ประเทศไทย (เครือข่ายภาคใต้), โครงข่ายสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจังหวัดสงขลา, สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.สงขลา, สมาคมเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน สมาคมผู้บริโภคจังหวัดสงขลา, สภาเด็กและเยาวชน, สภาศิลปินพื้นบ้าน, องค์กรการเงินชุมชน, เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน, สภาองค์กรชุมชน, สภาศิลปินพื้นบ้าน, องค์กรการเงินชุมชน, เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดสงขลา, สภาองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา, สื่อมวลชน โทรทัศน์ วิทยุ วิทยุชุมชน, พันธมิตรสงขลา, ศิลปิน , ชาวบ้านจากอำเภอจะนะ ได้แก่ ตำบลนาทับ ป่าชิง คลองเปียะ ตลิ่งชัน สะกอม, และตัวแทนจังหวัดสงขลาที่จะเดินทางไปเข้าร่วมเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม ที่กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมเวที

เพ็ญณี ฤทธิ์กาญจน์ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา กล่าวว่า โดยภูมิศาสตร์ ภาคใต้ติดทะเลอ่าวไทยและอ่าวอันดามัน และเป็นดินแดนอารยธรรม มีประเพณี วัฒนธรรมที่ดีงามเป็นจุดเด่นของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจังหวัดสงขลามีศักยภาพการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ ท่องเที่ยวทะเล ป่าเขา คลองนาทับ ทั้งยังมีแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ จึงไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาจังหวัดสงขลาและภาคใต้สู่การเป็นอุตสาหกรรม เพราะจะกระทบศักยภาพเรื่องการท่องเที่ยว และมองว่า คุณค่าของการพัฒนาที่สำคัญคือความสุขของคนในพื้นที่มากกว่า

สุมิตร สมิตชัยจุฬารัตน์ โครงข่ายสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจังหวัดสงขลา และผู้ประกอบการโรงแรมในจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลามีศักยภาพด้านใดให้สังเกตจากสองฤดูกาลคือช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม และช่วงฤดูกาลเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงปิดภาคเรียนทุกปีจะมีนักเรียนจากจังหวัดต่างๆ ทั่วภาคใต้โทรศัพท์จากที่พัก เพื่อเข้ามาติวตามสถาบันกวดวิชาต่างๆ ทำให้เห็นว่าสงขลามีศักยภาพเป็นเมืองแห่งการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ของคนภาคใต้ และในอนาคตน่าจะพัฒนาจังหวัดสงขลาเป็นศูนย์กลางการกินเจ

ทั้งนี้ ประเด็นที่นายสุมิตรเสนอเป็นความคิดที่สอดคล้องกับความคิดเห็นของนักวิชาการ ภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว ที่เห็นว่าสงขลามีศักยภาพด้านการศึกษา สงขลาถือเป็นตักศิลา เพราะเป็นศูนย์รวมของการศึกษา ความรู้และที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในการผลิตและพัฒนาบุคลากรของประเทศ จึงเป็นคำถามว่า จะทำอย่างไรที่จะพัฒนาจังหวัดสงขลาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ทั้งของคนในประเทศ รวมถึงสายตาของต่างประเทศด้วย ไม่ใช่มองภาพลักษณ์ของสงขลาเป็นเมืองบันเทิงด้านเดียว

ส่วนข้อสรุปยุทธศาสตร์ทิศทางการพัฒนาจังหวัดสงขลา ให้รัฐบาลและสภาพัฒน์ฯ มุ่งเน้นการท่องเที่ยว เกษตรกรรมยั่งยืน ประมงชายฝั่งโดยการเพิ่มมูลค่าผลิต ส่งเสริมพลังงานทางเลือกจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจริงจัง เช่น พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานอื่นๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาบนแนวคิดการพึ่งตนเองเศรษฐกิจพอเพียงไม่ก่อความขัดแย้งในชุมชน ซึ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาดังกล่าวชุมชนสามารถดำรงชีวิตพิถีพิถันบนฐานทรัพยากร ความหลากหลายชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมประเพณีได้อย่างปกติสุข หากจะมีอุตสาหกรรมควรเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรยั่งยืน ที่ผ่านมาการพัฒนามักเน้นรายได้ทางเศรษฐกิจโดยมุมข้ามการพัฒนาคน จิตใจ จิตวิญญาณ และสะท้อนว่าการพัฒนาที่ผ่านมารัฐมุ่งเน้นการศึกษาไปสู่เทคโนโลยีโดยมองข้ามฐานของชุมชน เช่น เน้นวิศวกรรม แพทย์ แต่กลับไม่มีวิศวกรรมทางการเกษตร แพทย์ทางการเกษตร หรือการพัฒนาทางเลือก พลังงานสีเขียวเลย

สำหรับยุทธศาสตร์ทิศทางการพัฒนาจังหวัดสงขลาที่ประชุมเสนอว่า ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องพัฒนาบนฐานทรัพยากรที่มีอยู่ท้องถิ่น ชุมชน รัฐบาลต้องบูรณาการการมีส่วนร่วมโดยต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย เสนอควรเป็นวาระแห่งชาติของคนสงขลาในการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสงขลา

และเสนอว่าควรมีการจัดเวทีให้ข้อมูลในรูปแบบนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนสงขลาได้รับรู้ข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนที่รัฐบาลและกลุ่มทุนจะเข้าดำเนินโครงการต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดสงขลา เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริงให้ประชาชนเจ้าของพื้นที่ทราบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเมื่อมาเยือนจังหวัดสงขลาว่าสภาพัฒน์ฯ ต้องเปิดเผยหน้าตาโครงการต่างๆ ว่าเมื่อทำครบวงจรแล้วจะมีหน้าตาอย่างไร แล้วให้คนสงขลาตัดสินใจ ซึ่งวันนี้คนสงขลาได้ตัดสินใจและกำหนดแล้วว่าไม่ต้องการทิศทางการพัฒนาจังหวัดสงขลาไปสู่การเป็นพื้นที่รองรับ พลังงาน อุตสาหกรรมหนัก และปิโตรเคมีที่จะส่งผลต่อศักยภาพทรัพยากรด้านต่างๆ และกระทบต่อวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม ที่สำคัญผลกระทบต่อสุขภาพคนสงขลา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net