Skip to main content
sharethis

 

(5 พ.ย.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า การแถลงข่าวในวันนี้สืบเนื่องมาจากกัมพูชาได้ออกแถลงการณ์แต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา นอกจากนั้นยังยืนยันที่จะไม่ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ไทยตามสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน หากมีการไปพำนักในประเทศกัมพูชา กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวเคยเกิดขึ้นหนึ่งครั้ง เมื่อสมัยการประชุมอาเซียนซัมมิทที่ชะอำ-หัวหิน ที่ผ่านมา และได้มีการพูดจาทำความเข้าใจแล้วว่า ขอให้รัฐบาลกัมพูชายึดถือผลประโยชน์ของประเทศ อยู่เหนือผลประโยชน์ของบุคคล และขอให้รักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เหนือกว่าความสัมพันธ์ส่วนบุคคล

เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า อย่างไรก็ดี การแถลงการณ์ของรัฐบาลกัมพูชาเมื่อเช้าก็เป็นการชี้ชัด ว่ารัฐบาลกัมพูชาไม่สามารถแยกผลประโยชน์ของประเทศ ออกจากความสัมพันธ์ส่วนบุคคลของผู้นำประเทศกัมพูชาได้ เนื่องจากปัจจุบัน พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเป็นผู้หลบหนีคดีอาญา และยังคงมีบทบาทอย่างสูงในการเมืองในประเทศไทย เพราะฉะนั้นการแต่งตั้งคุณทักษิณเป็นที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจ จึงเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ รวมทั้งเป็นการแสดงถึงความไม่เคารพ และไม่ยอมรับต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย รัฐบาลจึงไม่สามารถอยู่เฉยได้ ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศจะต้องดำเนินการเพื่อปกป้องสิทธิและความรู้สึกของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ โดยในเบื้องต้นกระทรวงการต่างประเทศจะดำเนินการขั้นแรก คือ 1. เรียกตัวนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ กลับประเทศ 2. ทบทวนพันธกรณีและความร่วมมือข้อตกลงต่างๆ ที่มีในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมาทั้งหมดกับรัฐบาลกัมพูชา ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ความไม่ชอบมาพากล หรือสิ่งที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนในอดีตที่ผ่านมา ตรงนี้ก็จะเป็นเวทีที่จะมีการชำระกันทั้งหมด

นายชวนนท์ กล่าวต่อว่า 3. สิ่งต่างๆ ที่จะเริ่มดำเนินการหรือกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา ก็คงต้องเรียนว่าจะมีความยากลำบากมากยิ่งขึ้นในการที่จะเดินหน้าต่อ เนื่องจากหากรัฐบาลกัมพูชาทำให้สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ 2 ประเทศ เป็นไปในลักษณะนี้แล้ว การให้ความช่วยเหลือการให้ความร่วมมือด้านต่างๆ ก็คงจะสามารถกระทำได้โดยยาก อันนี้เป็น 3 ประเด็นหลักๆ ที่รัฐบาลจะดำเนินการทันทีและคาดว่าท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญจะกลับมาถึงไทยวันนี้

เมื่อถามว่าได้แจ้งท่าทีไปยังกัมพูชาหรือไม่ นายชวนนท์ กล่าวว่า การแถลงผ่านสื่อวันนี้เป็นการแจ้งท่าทีครั้งแรก

เมื่อถามว่า การเรียกทูตไทยกลับมีเงื่อนไขอะไรและระยะเวลานานเท่าใด นายชวนนท์ กล่าวว่า ในชั้นต้นยังไม่มีกำหนด

ต่อข้อถามว่า ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีไทยจะได้พบกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 ที่ประเทศญี่ปุ่น จะมีการพูดคุยกันหรือไม่ นายชวนนท์ กล่าวว่า ชัดเจนว่าเราจะไม่เป็นฝ่ายไปขอเขาพูดคุยแน่นอน แต่ถ้าเขาจะคุยกับเราก็ต้องยืนยันว่าจะคุยเรื่องอะไร ถ้าคุยไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ไม่คุย แต่ถ้าเขาจะมาชี้แจงเรื่องนี้ก็คงต้องดูกันอีกที

ต่อข้อถามว่า การทบทวนพันธกรณีจะรวมถึงการเรียกคืนเงินกู้ที่รัฐบาลไทยปล่อยให้หรือไม่ นายชวนนท์ กล่าวว่า ไม่ใช่ แต่หมายความถึงไม่ว่าจะเป็นความตกลง หรือ MOU ทางบก ทางทะเล ทางอะไรก็แล้วแต่ที่ประชาชนมีความไม่สบายใจ หรืออาจจะมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน วันนี้เราก็ต้องมานั่งดูกันว่ามันมีสิ่งใดแอบแฝงอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มีก็เดินหน้า แต่ถ้ามีเรื่องอะไรที่น่าจะมีความไม่ชอบมาพากล ก็คงต้องทบทวน เพราะเรื่องนี้เราต้องวิเคราะห์สาเหตุที่รัฐบาลกัมพูชาได้มีท่าทีต่อรัฐบาลไทยในระยะหลังว่ามาจากสาเหตุใด จะเป็นเรื่องของความเข้าใจผิด หรือความชอบพอส่วนตัว หรือมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็คงต้องวิเคราะห์และพิจารณาในทุกแง่มุม

เมื่อถามว่า ในเมื่อพันธกรณีเกี่ยวกับเงินกู้และกลไก JBC ยังคงอยู่แล้วจะดำเนินการทบทวนเรื่องใด นายชวนนท์ กล่าวว่า มีข้อตกลงอื่นอยู่ เช่น MOU ทางทะเล ที่มีการลงนามเมื่อปี 2544 ก็มีหลายฝ่ายออกมาพูดว่ามีความไม่ชัดเจน และอาจจะเกี่ยวเนื่องถึงผลประโยชน์ทางทะเล อะไรต่างๆ ก็จะนำมาดูกันว่าเนื้อหารายละเอียดต่างๆ มีที่มาที่ไปอย่างไร ถ้าไม่ถูกต้องหรือต้องยกเลิกก็ต้องดำเนินการตามนั้น นอกจากนั้น ยังมีเรื่องที่กำลังดำเนินการอยู่หรือจะดำเนินการในอนาคต เช่น มติ ครม. การให้เงินกู้การสร้างถนน ก็คงต้องดูในระยะนี้ว่าเหมาะสมหรือถูกต้องหรือไม่ แต่จะยังไม่ระงับ เพราะทางกระทรวงการต่างประเทศต้องพิจารณาร่วมกับรัฐบาลอีกครั้ง ส่วนใครจะเป็นคณะกรรมการทบทวนพันธกรณี นายชวนนท์ กล่าวว่า หากว่าเป็นเรื่องขึ้นอยู่กับกระทรวงการต่างประเทศ ก็เป็นกระทรวงการต่างประเทศผู้ดำเนินการ

ถามว่านายกรัฐมนตรีมีการฝากอะไรมาหรือไม่ นายชวนนท์ กล่าวว่า การดำเนินการใดๆ ขอให้ไม่กระทบกับความอยู่ดีมีสุขกับประชาชนทั้ง 2 ประเทศ หรือถ้ามีก็ให้น้อยที่สุด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลและเป็นเรื่องระหว่างตัวบุคคลบุคคลเดียว ที่เข้ามาเกี่ยวข้องเพราะฉะนั้น พี่น้องประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับทราบท่าทีดังกล่าวแล้ว

เมื่อถามว่า รัฐบาลสงสัยว่า สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีผลประโยชน์อะไร นายชวนนท์ กล่าวว่า ไม่ได้สงสัยประเด็นใดเป็นพิเศษ แต่หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขาที่มีข้อตกลงอะไรกันอยู่ก็คงต้องมานั่งดู เพื่อจะวิเคราะห์ดูว่าน่าจะมีเรื่องอะไรที่เป็นชนวนเหตุของความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นในระยะหลัง ทั้งนี้จะรีบดำเนินการแต่ยังไม่กำหนดกรอบเวลาที่จะทบทวนว่านานเท่าใดแต่จะดูทุกเรื่อง และไม่ได้ตั้งเงื่อนไขให้กัมพูชาดำเนินการอะไร

เมื่อถามว่าจะทบทวนเรื่อง JBC หรือไม่ นายชวนนท์ กล่าวว่า JBC อยู่ในขั้นตอนที่จะนำบันทึกการประชุมเสนอต่อรัฐสภา ก็คงต้องปล่อยไปตามนั้นก่อน

เมื่อถามว่า จะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศหรือไม่ นายชวนนท์ กล่าวว่า เราพยายามรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ถึงวันนี้เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลไทยต้องแสดงออกถึงการปกป้องถึงสิทธิและเกียรติภูมิของประเทศไทย

เมื่อถามว่า ต้องประสานฝ่ายทหารให้เตรียมตัว เพื่อความพร้อมรับสถานการณ์ตามแนวชายแดนหรือไม่ นายชวนนท์ กล่าวว่า คิดว่าทุกฝ่ายต้องพิจารณาเข้าใจว่าทุกคนต้องนั่งดูว่าแต่ละฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องดำเนินการอย่างไร อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าไม่ต้องการให้เกิดการปะทะ เราหลีกเลี่ยงในทุกกรณีการดำเนินการทั้ง 3 อย่างเราเห็นว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสม และถูกต้องในสถานการณ์นี้

“การเรียกตัวท่านทูตกลับมาเป็นการแสดงออกถึงการประท้วงของรัฐบาลอยู่แล้ว” นายชวนนท์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดจึงเรียกทูตเรากลับ แต่ไม่ไล่ทูตกัมพูชาออกนอกประเทศไทย นายชวนนท์ กล่าวว่า เราดำเนินการในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพวกเราก่อน ส่วนเรื่องอื่นขอให้พิจารณาดูกันอีกที

ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ทวิตเตอร์ว่า "...ขณะนี้ได้ข่าวว่ารัฐบาลจะเรียกทูตกลับ คงพูดได้คำเดียวครับว่า ทำไมเด็กจัง over react ไป"

โดยก่อนหน้านั้น เขากล่าวถึงการไปเป็นที่ปรึกษาให้รัฐบาลกัมพูชาว่า ตอนนี้ก็ได้ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลอื่นอยู่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการลับสมองไว้ ถ้าไม่ใช้ ไม่ติดตามข้อมูลและความรู้ใหม่ๆ ก็จะขึ้นสนิมหมด

"อยากทำงานให้คนไทยก็ไม่ได้ แม้กระทั่งพาสปอร์ตเขายังไม่ให้ถือ ยศก็จะถอด เครื่องราชก็จะเอาคืน ถ้ายึดเชื้อชาติและสัญชาติได้ก็คงจะทำ โทษฐานทำงานมากไป" พ.ต.ท.ทักษิณ แสดงความเห็น

 

 

ท่าทีของรัฐบาลไทยต่อกรณีรัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษา
05 พฤศจิกายน 2552 17:30:25

ตามที่รัฐบาลกัมพูชาได้แต่งตั้ง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา และที่ปรึกษาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และยืนยันที่จะไม่ส่งตัว พ.ต.ท. ทักษิณฯ ให้กับไทยตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน หากได้รับการร้องขอนั้น กระทรวงการต่างประเทศขอแถลง ดังนี้

1. รัฐบาลได้ชี้แจงกับรัฐบาลกัมพูชาไปแล้วในโอกาสต่างๆ ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ต้องอยู่เหนือความสัมพันธ์ส่วนบุคคล

2. การดำเนินการใดๆ ของฝ่ายกัมพูชาเกี่ยวกับ พ.ต.ท. ทักษิณฯ ไม่สามารถแยกแยะออกจากความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศได้ และกระทบต่อความรู้สึกของคนไทยทั้งชาติ เนื่องจาก พ.ต.ท. ทักษิณฯ เป็นผู้หลบหนีคดีอาญา และยังคงมีบทบาททางการเมืองในประเทศอยู่

3. การแต่งตั้ง พ.ต.ท. ทักษิณฯ เป็นที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชาและที่ปรึกษาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ถือว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทย และเป็นการปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมของไทย รวมทั้งทำให้ความสัมพันธ์และผลประโยชน์ส่วนบุคคลอยู่เหนือความสัมพันธ์ ระหว่าง 2 ประเทศ

4. รัฐบาลไทยจึงนิ่งเฉยไม่ได้ และมีความจำเป็นจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งประเทศ การดำเนินมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลไทย ก็เพื่อจะให้ฝ่ายกัมพูชารับรู้ถึงความไม่พึงพอใจของประชาชนไทยทั้งปวง

5. จากการดำเนินการของรัฐบาลกัมพูชา ทำให้รัฐบาลไทยจำเป็นต้องทบทวนสถานะความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา และดำเนินการ ดังนี้

5.1 เรียกเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ กลับ

5.2 ทบทวนพันธกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับฝ่ายกัมพูชาในช่วงที่ผ่านมา

5.3 ทบทวนความร่วมมือต่างๆ ที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการกับกัมพูชา ซึ่งการทบทวนนี้ รัฐบาลไทยจะกระทำด้วยความจำใจ เนื่องจากรัฐบาลไทยประสงค์มาโดยตลอดที่จะให้ความร่วมมือกับฝ่ายกัมพูชาเพื่อ พัฒนาการอยู่ดีกินดีของชาวกัมพูชา เพื่อลดช่องว่างของประชาชน และลดช่องว่างระหว่างกัมพูชากับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ

ที่มา: http://www.mfa.go.th/web/200.php?id=23403

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net