Skip to main content
sharethis

 

    

 

 
“โครงสร้างนิยมที่มีการปฎิบัติอย่างถูกต้องนั้น ไม่ได้มุ่งที่จะสื่อ “สาร” ใด ๆ ไม่ได้เป็นกุญแจไขไปสู่ความกระจ่างทุกๆด้าน ไม่ได้ มีจุดประสงค์ที่จะสร้างโลกทัศน์ใหม่หรือแม้แต่สร้างทัศนะใหม่เกี่ยวกับมนุษย์ โครงสร้างนิยมมิได้มุ่งหมายสร้างเครื่องมือเยียวยาสังคม หรือก่อตั้งแนวคิดเชิงปรัชนักโครงสร้างนิยมถือว่าตนเองเป็นช่างฝีมือที่ทำงานหนัก และคอยสนใจในปรากฏการณ์ที่เล็กน้อย เกินกว่าจะทำให้ใครตื่นเต้น แม้ว่าจะมีลักษณะเล็กน้อยก็ตาม แต่เมื่อนำมันมาพิจารณา ในระดับโครงสร้าง สักวันหนึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ ก็อาจกลายเป็นเนื้อหาของความรู้ที่เคร่งครัดได้”
 

                                              โคล้ด เลวี-สโทรสส์, Le Monde 13 มกราคม 1968
                                             (คัดจาก สรรนิพนธ์มนุษยศึกษาและสังคมศาสตร์ในประเทศฝรั่งเศส ศตวรรษที่ 20)

 
โคล้ด เลวี-สโทรสส์ (Claude Levi-Strauss) นักมานุษยวิทยา คนสำคัญ หนึ่นบรรดานักคิดที่ทรงอิทธิพลที่สุดของฝรั่งเศส และยุโรปได้ถึงแก่กรรมแล้วด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว (cardiac arrest) เมื่อวัที่ 31 ตุลาคมนี้ เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่เขาจะมีอายุครบ 101 ปี
 
โดยการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ถึงการเสียชีวิตของ “ นักมานุษยวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล” ผู้นี้ เพิ่งมีขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
 
บุตรชายของ โคล้ด เลวี-สโทรสส์ กล่าวว่าพิธีฝังศพมีขึ้นที่เมือง ลินเยอรอลล์ (Lignerolles)เขตโกตต์ ดอร์(Côte-d’Or) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงปารีส ซึ่งเป็นที่พำนักในชนบทและ เป็นสถานที่ที่โคล้ด เลวี-สโทรสส์ ได้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายก่อนเสียชีวิต ทั้งกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า “ (โคล้ด เลวี-สโทรสส์) ได้แสดง ความปรารถนาที่จะให้งานศพของตนนั้นเป็นไปอย่างสงบ และเรียบง่ายท่ามกลางครอบครัว ณ บ้านพักในชนบทแห่งนี้”
 
“(โคล้ด เลวี- สโทรสส์) ชื่นชอบที่จะใช้เวลาว่างไปกับการเดินทางท่องป่า และท้ายที่สุดก็ปรารถนาที่จะฝังศพของเขา ณ ชายป่าแห่งนี้”
 
โคล้ด เลวี-สโทรสส์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ปฏิวัติการศึกษา ทางมานุษยวิทยาในศตวรรษที่ 20 เขาได้ปรับแนวคิดโครงสร้างนิยม ในภาษาศาสตร์เข้ามาใช้กับการศึกษาทางมานุษยวิทยา โดยเสนอว่า เราสามารถวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ และระบบ ความเชื่อในฐานะระบบขององค์ประกอบต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน อันเป็นที่มาของแนวทฤษฎีทางมานุษยวิทยา ที่เรียกกันต่อมาว่าสำนัก “โครงสร้างนิยม” (structuralism)  งานศึกษาของเขาค้นหาแบบแผนที่อยู่ภายใต้รูปแบบที่หลาก หลายของพิธีกรรมและตำนานในวัฒนธรรมต่างๆ ให้ความสนใจ กับทั้งความแตกต่างและความคล้ายคลึง ระหว่างสังคมตะวันตก สังคมชนพื้นเมืองในอเมริกาและในแถบลุ่มน้ำอเมซอน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความเข้าใจของโลกตะวันตก เกี่ยวกับกลุ่มคนที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกขานว่า “ชนพื้นเมืองดั้งเดิม” (Primitive)
 
ภายหลังข่าวการเสียชีวิตของ โคล้ด เลวี-สโทรสส์ แพร่ออกไป บุคคลสำคัญ และสถาบันต่างๆ ในฝรั่งเศสได้ร่วมไว้อาลัยกับการ เสียชีวิตของเขาตลอดวันอังคารที่ผ่านมา
 
ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โซี กล่าวไว้อาลัยว่า โคล้ด เลวี-สโทรสส์ เป็น “หนึ่งในนักชาติพันธุ์วิทยาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล”  นายแบร์นาด์ กุชแนร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของฝรั่งเศส กล่าวว่า “(โคล้ด เลวี-สโทรสส์) ได้ทลายทัศนะ ที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และมนุษยชาติ…”
 
นายโคอิชิโร มัตซึอุระ เลขาธิการองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กล่าวในแถลงการณ์ ว่า
 
“ความคิดของ คล้ด เลวี-สโทรสส์ ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองที่ผู้คนมีต่อกัน ทลายกรอบคิดที่แบ่งแยก อย่างแนวคิดเรื่องเชื้อชาติ และได้บุกเบิกทัศนะใหม่ๆ บนพื้นฐานของความตระหนักถึงสายใยร่วมกันแห่งมนุษยชาติ ...พวกเราโศกเศร้ากับการจากไปของเขา ซึ่งเป็นการสูญเสียของทั้งโลก แต่เราจะเฉลิมฉลองชีวิตของเขาซึ่งได้อุทิศให้แก่ การให้ความรู้เพื่อสร้างภูมิปัญญาและความเข้าใจ อันมีรากฐานมาจากความสนใจใคร่รู้ไม่มีที่สิ้นสุดเกี่ยวกับเพื่อนมนุษย์ ซึ่งได้นำพาเขาไปยังซอกมุมต่างๆ ที่ห่างไกลของโลก และได้เปลี่ยนแปลงมานุษยวิทยาสมัยใหม่ไปอย่างสำคัญ”
 
โคล้ดลวี-สโทรสส์ เกิดเมื่อปี ค.ศ.1908 (พ.ศ.2451) ในครอบครัวผู้หลงใหลงานศิลปะชาวฝรั่งเศสเชื้อสายยิวที่มีฐานะร่ำ รวย เขาเติบโตในปารีส และได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยปารีส (ซอร์บอนน์ ) เขาออกเดินทางไปยังประเทศบราซิล เพื่อเป็นอาจารย์ พิเศษที่มหาวิทยาลัย เซา เปาโลในช่วงทศวรรษ 1930 และเริ่มออก เดินทางสำรวจภาคสนามโดยเฉพาะในภาคกลางและตะวันตกของ บราซิล เขาเดินทางกลับมาฝรั่งเศสเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในสงครามเมื่อ ค.ศ. 1939 และทำงานสอนหนังสือภายหลังสงครามสิ้นสุด แต่ก็เผชิญกับแรงกดดันจากการเหยียดเชื้อชาติยิวภายใต้ระบอบวิชี่ (Vichy) เขาจึงย้ายไปพำนักในสหรัฐอเมริกา และต่อมาได้เริ่มสอน หนังสือที่ New School for Social Research ในนิวยอร์ค    
 
ระยะเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษในอเมริกานั้นเอง ที่เขาได้พบกับ ฟรานซ์ โบแอส (Franz Boas) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน และโรมัน ยาคอบซัน (Roman Jacobson) นักทฤษฎีภาษาชาวรัสเซีย อิทธิพลจากแนวการศึกษามานุษยวิทยาวัฒนธรรมในอเมริกาและ แนวคิดภาษาศาสตร์โครงสร้าง เป็นพื้นฐานสำคัญของแนวคิดที่ โคล้ด เลวี สโทรสส์ พัฒนาและได้รับการเรียกขานในเวลาต่อมา ว่ามานุษยวิทยาโครงสร้าง (Structural Anthropology)
 
โคล้ด เลวี-สโทรสส์ เดินทางกลับฝรั่งเศสและได้นำเสนอ วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเมื่อปี ค.ศ. 1948 ซึ่งต่อมาได้ตีพิมพ์ เป็นหนังสือชื่อ The Elementary Structures of Kinship และได้รับ การยกย่องอย่างมากในแวดวงวิชาการ การตีพิมพ์หนังสือ Tristes Tropiques ในปี ค.ศ.1955 ซึ่งถือกันว่าเป็นการสืบทอดประเพณี งานเขียน “การเดินทางเชิงปรัชญา” ที่นับเนื่องมาแต่ศตวรรษที่ 16 และได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านชาวฝรั่งเศสอย่างกว้างขวางเป็นประ วัติการ และทำให้ชื่อของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างในฐานะ ปัญญาชนชั้นนำของฝรั่งเศส
 
ผลงานต่อ ๆ มาของ โคล้ด เลวี-สโทรสส์ ที่มีอิทธิพลต่อ มานุษยวิทยาและได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างเช่น Structural Anthropology (1958) The Savage Mind (1962) และรวมบท วิเคราะห์ชุด Mythologies ระหว่างทศวรรษ 1960-70
 
ถึงแม้ว่าแนวคิดของเขาจะขัดแย้งอย่างรุนแรงกับแนวคิดปรัชญาอัตถิภาวะนิยม (existentialism) ของฌอง ปอล ซาร์ตร แต่เขาก็ได้รับ การยกย่องจากคู่ชีวิตของซาร์ตร คือซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir)  เกี่ยวกับการตีความบทบาทของเพศหญิงในระบบ เครือญาติว่า เป็นแนวคิดที่ก้าวหน้าในสมัยนั้น      และแม้ว่าแนวคิดโครงสร้างนิยมจะถูกท้าทายและทดแทนด้วย แนวคิดที่เรียกว่า “หลังโครงสร้างนิยม” ในช่วงทศวรรษที่ 1980 แนวคิดของ โคล้ด เลวี-สโทรสส์ก็ได้รับการอ้างถึง ในงานเขียน ของนักคิดหลังโครงสร้างนิยม อย่างมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) และฌาคส์ แดริดา (Jacques Derrida)
 
เหนืออื่นใด นักมานุษยวิทยา ทั้งหลายยังคงรู้สึกทึ่งระคน อัศจรรย์ใจในตัว โคล้ด เลวี-สโทรสส์อยู่เสมอตราบจนปัจจุบัน มิใช่เพราะเขาได้นำเสนอทฤษฎีที่สมบูรณ์แบบ หากบนพื้นฐาน ของทฤษฎีที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โคล้ดเลวี-สโทรสส์ กลับสามารถพัฒนาคำอธิบายที่แหลมคมอย่างเหลือเชื่อ เกี่ยวกับ แทบทุกประเด็นสนใจของการศึกษาทางมานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม
 
โคล้ด เลวี สโทรสส์ได้รับตำแหน่งสำคัญ ๆ สูงสุด ในสถาบัน ที่เกี่ยวข้องกับมานุษยวิทยาของฝรั่งเศสหลายตำแหน่ง ระหว่างปี ค.ศ. 1949-1950 ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ พิพิธภัณฑ์มนุษยชาติ (Musée de l’Homme) ระหว่างปี ค.ศ. 1950-1974 ได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ทางด้านมานุษยวิทยา ที่สถาบันการศึกษาชั้นสูง (École Pratique des Hautes Études)และในปี ค.ศ. 1959 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ที่วิทยาลัยแห่งฝรั่งเศส (College de France) อันทรงเกียรติ และได้รับการสถาปนาให้เป็นสมาชิกแห่งราชบัณฑิต ยสภาแห่งฝรั่งเศส (l’Académie Française) ในปี ค.ศ. 1973  นอกจากนี้ ยังได้รับเชิญให้ร่วมงานกับรัฐบาลฝรั่งเศส และองค์การ สหประชาชาติ โดยเฉพาะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กร UNESCO ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง
 
การฉลองครบรอบ 60 ปีของการก่อตั้ง UNESCO ณ กรุงปารีส ในปี ค.ศ.2005 ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่ โคล้ดเลวี-สโทรสส์ ปรากฏ ตัวต่อสาธารณชน
 
เมื่อโคล้ดเลวี-สโทรสส์ มีอายุครบหนึ่งร้อยปีใน ค.ศ. 2008 ​(28 พฤศจิกายน พ.ศ.2551) ได้มีการเฉลิมฉลองทั้งในฝรั่งเศสและอีกกว่า 25 ประเทศทั่วโลก ที่พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาแห่งใหม่ของฝรั่งเศส (Musée du Quai Branly) ได้เปิดหอประชุมและโรงละครเพื่อเป็น เกียรติในนามของ โคล้ดเลวี-สโทรสส์ และในวันเดียวกันนี้เอง เพ่ือเป็นการคารวะต่อโคล้ด เลวี-สโทรสส์ และผลงานอันลือลั่น ของเขา ได้จัดให้นักวิชาการผู้มีชื่อเสียง นักปรัชญา นักเขียน นักจิตวิเคราะห์ และศิษยานุศิษย์จำนวนกว่าร้อยคน (อาทิ Hélène CIXOUS , Maurice GODELIER, Julia KRISTEVA, Philippe DESCOLA และ Marshall SAHLINS) ร่วมกันการอ่านงานเขียน สำคัญบางตอนโดยเริ่มตั้งแต่เวลา13.00-21.00 น. (จากผลงาน ชิ้นสำคัญ 14 เล่ม) นอกจากนั้นยังจัดรายการวิทยุเป็นสัปดาห์พิเศษ ว่าด้วยดนตรีและโคล้ด เลวี-สโทรสส์ รวมถึง เปิดบทเพลงโปรด ของเขาคือ งานของเดอ บุซซีและวากเนอร์ (Pelléas et Mélisande ของ Claude Debussy, Tristan et Isolde ของ Richard Wagner) สลับกับการสนทนา กับผู้รู้ทางดนตรี ในแง่มุมต่างๆตลอดทั้งสัปดาห์ นอกจากนั้น ยังถือเป็นเกียรติอย่างสูงในวงการหนังสือของประเทศฝรั่งเศสก็คือ ผลงาน ของโคล้ด เลวี-สโทรสส์ ได้รับคัดเลือกให้ตีพิมพ์อยู่ใน คอลเล็คชั่น Bibliothèque de la Pléiade ซึ่งจะคัดสรรจัดพิมพ์ อย่างประณีต โดยเฉพาะแต่ผลงานอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นที่ยอมรับ กันทั่วไปเท่านั้น โดยที่ผลงานจำนวน 2130 หน้าชิ้นนี้ โคล้ด เลวี-สโทรสส์ ได้เป็นผู้คัดสรรผลงานที่จะนำมาตีพิมพ์ด้วยตนเอง 
 
การเฉลิมฉลองเหล่านี้ออกจะขัดแย้งกับบุคลิกภาพของ โคล้ด เลวี-สโทรสส์อยู่ไม่น้อย เขาต้องการให้โอกาสของการมีชีวิต อยู่ข้ามผ่านศตวรรษนั้นเป็นไปอย่างเงียบๆ มากกว่า เขากล่าวว่า “สำหรับอายุเท่านี้ วันเกิดไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดอีกต่อไป เพราะว่า มันไม่มีเหตุผลที่จะเฉลิมฉลองให้กับการก้าวต่อไปสู่ความร่วงโรยทางกายภาพและปัญญา” 
 
วันนี้ ศตวรรษของโคล้ด เลวี-สโทรสส์ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว อย่างสิ้นเชิง   สำหรับคนที่เกิดเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 และใช้ชีวิตมา จนถึงต้นศตวรรษที่ 21 นั้น เขากล่าวอยู่เสมอในช่วงท้ายๆของชีวิตว่า
 
“โลกที่ข้าพเจ้ารู้จักและรักใคร่นั้น เป็นโลกที่มีประชากรเพียงแค่สองพันห้าร้อยล้านคนเท่านั้น
แต่โลกที่มีประชากรถึงเก้าพันล้านคน เช่นทุกวันนี้นั้น ไม่ใช่โลกของข้าพเจ้าอีกต่อไปแล้ว”
 
 
 
           
......................................................................
ที่มา
-สรรนิพนธ์มนุษยศึกษาและสังคมศาสตร์ในประเทศฝรั่งเศส ศตวรรษที่ 20
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net