ปาฐกถาพิเศษ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’: คำตอบเรื่องไฟใต้-รับปาก 'พัฒนา' ตามใจคนพื้นที่

 
 
 เที่ยงวันที่ 31 ตุลาคม 2552 โรงแรม บี.พี แกรนด์ ทาวเวอร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คลาคล่ำไปด้วยภาคเอกชน ทั้งจากหอการค้าไทย และหอการค้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งมายื่นข้อเสนอและรับฟังแนวทางการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากปากของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีโดยตรง
 
ต่อไปนี้ เป็นแนวทางที่รัฐบาลกำลังดำเนินการในการพัฒนา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นายกรัฐมนตรี กล่าวกับผู้แทนภาคเอกชนในพื้นที่
 
..............................................................
 
 
 
ต้องขอบคุณผู้นำภาคเอกชน ที่สรุปประเด็นได้ค่อนข้างกระชับแต่ได้ใจความ และครอบคลุมเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม คือ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า ภาคการท่องเที่ยวรวมถึงพี่น้องประชาชนด้วย ที่จริงตอนที่เสนอมีอยู่ 16 ประเด็น เรื่องหลายเรื่องที่ไม่ได้พูด เพราะเป็นข้อเสนอ ข้อเรียกร้องในช่วงที่ผ่านมา ผมทราบว่าบางเรื่องได้ดำเนินการไปแล้ว บางเรื่องยังมีปัญหามีอุปสรรคอยู่ ดังนั้นจะพูดถึงภาพรวมเสียก่อน แล้วลงมาที่ประเด็นปัญหาต่างๆ ที่มีการนำเสนอขึ้นมาอีกครั้ง
 
เมื่อสักครู่พิธีกรบอกว่าไม่ได้พูดถึงเรื่องความมั่นคงมากนัก ไม่ทราบว่าบรรยากาศดีขึ้นหรือไม่ ผมคิดว่าตอบยาก เพราะท่านทั้งหลายที่อยู่ในที่นี้เผชิญกับปัญหานี้มานานแล้ว คงจะเข้าใจว่าปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่สามารถจะแก้ไขให้หายไปได้ ในระยะเวลาอันสั้น ต้องการการบริหารจัดการ ต้องการนโยบายที่มีความต่อเนื่องมั่นคง แม่นยำและที่สำคัญที่สุดอิงอยู่กับพระราชดำริในเรื่องเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา
 
ตรงนี้เป็นจุดที่รัฐบาลทราบตั้งแต่ต้น จึงได้ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วน พูดถึงความเป็นวาระแห่งชาติ และพูดถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย รวมทั้งกลไกการบริหารจัดการต่างๆ เพราะว่าปัญหานี้ เป็นปัญหาที่มีผลกระทบทุกด้าน ต่อพี่น้องประชาชนและประเทศ ถ้ามองตั้งแต่ภาพใหญ่ที่สุดคือความมั่นคงของประเทศ และในความมั่นคงของประเทศ ก็แตกออกมาเป็นปัญหาเรื่องความมั่นคงโดยแท้ หมายถึงเรื่องของความสงบเรียบร้อยนะครับ
 
จนมาถึงเรื่องเศรษฐกิจ เพราะเป็นตัวทำลายภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่น จนมาถึงระดับประชาชน ความสูญเสียชีวิตแต่ละชีวิตประมาณค่าไม่ได้ เรารู้ว่าเรื่องนี้เป็นความทุกข์ของพี่น้องประชาชนทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และความเป็นความทุกข์ของพี่น้องประชาชนคนไทยทั่วประเทศ ที่ยังต้องอยู่กับเหตุการณ์และสถานการณ์นี้
 
ในภาพรวมจำนวนครั้งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นลดลง แต่ลดลงไม่มาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบปี 2552 กับ 2551 ที่สำคัญเมื่อเหตุการณ์เริ่มลดลง ลักษณะของเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเลือกใช้วิธีการดูรุนแรงขึ้น อันนี้ค่อนข้างชัด
 
ภาพรวมนโยบายของรัฐบาล เราเชื่อเรื่องการเมืองเป็นตัวนำในการแก้ไขปัญหา เราเชื่อว่าปัญหานี้แก้ได้ด้วยกระบวนการพัฒนา การอำนวยความยุติธรรม เป็นแนวทางเดียวที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน ทั้งสองเรื่องนี้ต้องใช้เวลา แต่ในแง่ของการอำนวยความยุติธรรม
 
สำหรับการแก้ไขปัญหาที่บอกว่า การเมืองนำในเชิงนโยบาย ผมขออนุญาตอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจ
 
ประการแรก การบอกว่าการเมืองนำ ไม่ได้หมายความว่า เรื่องการทหารก็ดี เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ก็ดี ไม่มีความสำคัญ ต้องบอกนะครับว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ไม่ว่าตำรวจ ทหาร ยังทำงานอย่างหนัก และบางครั้งยังทำงานเชิงรุก ที่จะเข้าไปกดดันฝ่ายตรงกันข้าม เข้าไปปิดล้อม ป้องกันสกัดไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น ต้องพูดตรงนี้เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่า การทำเช่นนี้ไม่ได้ขัดอะไรกับนโยบายการเมืองนำการทหาร การปฏิบัติการทั้งหลายของเจ้าหน้าที่รัฐบาล ต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิตามหลักสากล สิทธิในรัฐธรรมนูญทุกประการ
 
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมย้ำไปในช่วงที่ผ่านมา ได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี ไม่ว่าจากกองทัพ ไม่ว่าจะในส่วนของตำรวจ เมื่อไรก็ตามที่มีการร้องเรียนกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของพี่น้องประชาชน ต้องให้ความสำคัญกับข้อร้องเรียน ต้องเอาจริงเอาจังกับการหาข้อเท็จจริง หากเจ้าหน้าที่รัฐทำผิด ต้องมีความรับผิดชอบ
 
ย้ำนะครับว่าทางผู้นำของเหล่าทัพก็ดี ทางตำรวจก็ดี ได้นำเอานโยบายนี้ไปปฏิบัติอยู่ ผมเองเวลามีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น มีกลุ่มประชาชนไม่ว่ากลุ่มใด ร้องเรียนติดต่อสื่อสาร ผมให้ความสำคัญ มีการติดต่อสื่อสารกันตลอดเวลาเพื่อรับฟังข้อมูลทุกด้าน
 
เหตุการณ์ที่มีผลกระทบมากที่สุด ในช่วง 10 เดือนที่เราอยู่ คงหนีไม่พ้นในช่วงสั้นๆ ที่มีการยิงเจ้าหน้าที่ ยิงครู และมีเรื่องยิงในมัสยิดไอร์ปาแย ทั้งสองกรณีนี้เราได้พิสูจน์แล้วว่า เราทำคดีตรงไปตรงมา จริงอยู่ในขณะที่ออกหมายจับ ผู้ที่ถูกออกหมายจับยังหลบหนีอยู่ ข้อมูลจากพื้นที่ก็ยอมรับว่าการสืบสวนสอบสวนและการออกหมายจับ เป็นไปอย่างเที่ยงตรงเที่ยงธรรม ตรงกับข้อมูลของคนในพื้นที่ ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ต้องตอกย้ำ เพราะการทำงานจะวัดผลด้วยจำนวนเหตุการณ์ที่ลดลง
 
เราต้องการให้การใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษลดลง แม้กระทั่งจำนวนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็ต้องลดลง จริงๆ แล้วปีงบประมาณ 2553 ในส่วนของกอ.รมน. สามารถปรับลดกำลังได้ส่วนหนึ่ง มีหลายพื้นที่ที่เราสามารถเข้าไปดูแลสถานการณ์ได้ดีขึ้น เพื่อการเดินหน้าไปตามแนวทางนี้
 
ภายในเดือนพฤศจิกายน 2552 เราเริ่มทดลองยกเลิกกฎอัยการศึกใน 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา นำกฎหมายความมั่นคงมาใช้แทน หากตรงนี้ดำเนินการแล้วประสบความสำเร็จ เป้าหมายต่อไป ก็คือใน 3 จังหวัด ก็จะเริ่มถอด ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน นำเอากฎหมายความมั่นคงไปใช้ จนในที่สุดเราต้องการสามารถใช้กฎหมายปกติได้เหมือนพื้นที่อื่นในประเทศไทย นี่คือสิ่งที่เราเดินหน้าทำ
 
ขณะเดียวกันนะครับในแง่การดำเนินการแก้ไขปัญหา ผมทราบดีครับว่า ช่วงที่มารณรงค์เลือกตั้ง เราพูดถึงการปรับปรุงกลไก หรือศอ.บต. ซึ่งเป็นช่วงเกิดสถานการณ์วิกฤตการเมืองด้วย เพราะฉะนั้นการผลักดันกฎหมายจึงต้องใช้เวลา ผมเลยเลือกใช้วิธีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจภาคใต้ หรือดูแลจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาก่อน เพื่อยกระดับให้ฝ่ายนโยบายเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งมีการประชุมจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างที่ทราบดีอยู่แล้ว รวมถึงมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้ามาติดตามเกาะติดสถานการณ์ในพื้นที่ตลอดเวลา
 
ตอนนี้คณะรัฐมนตรีอนุมัติกฎหมายที่จะปรับปรุงเรื่องการบริหารจัดการจังหวัดชายแดนภาคใต้นำเสนอต่อสภา คาดว่าจะแล้วเสร็จในสมัยประชุมหน้า เพราะกระบวนการของสภาค่อนข้างยาวพอสมควร หลักในการบริการจัดการ จะมีสภาพัฒนาความมั่นคง มีผมในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานกันครบถ้วน เราจะมีคณะกรรมการในเรื่องของยุทธศาสตร์ มีศอ.บต. มีส่วนของสภา ประกอบด้วย ผู้แทนภาคส่วนต่างๆ เข้ามาช่วยให้คำปรึกษา โดยยกระดับของศอ.บต.ขึ้นมา โดยให้ผู้บริหารสูงสุดขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี นี่เป็นแนวทางที่เราเดินหน้าชัดเจน เพื่อให้การบริหารจัดการทั้งหลายมีกลไกที่เข้มแข็ง มีฝ่ายนโยบายเข้ามารับผิดชอบชัดเจนมากขึ้น
 
ผมเรียนว่าร่างกฎหมายนี้ เรายินดีรับทุกข้อเสนอ แล้วจะนำไปถกเถียงอภิปรายจนได้ข้อยุติในชั้นสภา เช่น องค์ประกอบของคณะกรรมการคงไม่ค่อยมีปัญหา จริงๆ แล้วที่เขียนเอาไว้เข้าใจว่าผู้แทนภาคเอกชน คงจะเลือกคนในท้องถิ่นว่า ส่วนจะเขียนอย่างไร ต้องไปดูกันในสภา จะดูแลพื้นที่แค่ 3 จังหวัด บวก 4 อำภอ หรือรวมทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งสองแง่มุมก็ให้ถกเถียงกัน จากนั้นไปดูชั้นกรรมาธิการฯ ว่าจะเอาอย่างไร
 
นั่นคือ ภาพรวมของนโยบายที่อยากจะเน้นย้ำ
 
ผมเรียนว่านอกจากเรื่องการวางกลไกต่างๆ และเรื่องการสร้างความตื่นตัว มีคณะรัฐมนตรีขึ้นมาดูแลปัญหาพื้นที่โดยเฉพาะแล้ว งานการต่างประเทศจำนวนมาก เราได้รุกเข้าไปทำความเข้าใจกับประเทศต่างๆ ทั้งเดินทางไปเยือนประเทศเพื่อนบ้าน พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียท่านใหม่ จะเห็นได้ว่าในการประชุมอาเซียน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า เห็นด้วยกับแนวทางกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบของรัฐบาลปัจจุบัน พร้อมที่จะให้สนับสนุน ตามที่เราร้องขอ
 
นั่นคือ 1. เห็นด้วยกับนโยบาย 2. ถือว่ารื่องนี้เป็นเรื่องภายในของเรา 3. หากเราต้องการใช้เขาช่วยอะไรยินดีจะช่วย
 
ผมได้พูดคุยไว้หลายเรื่อง เช่น เรื่องการศึกษา เรื่องการพัฒนาตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย ที่ควรจะมาผนวกกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทางตอนใต้ของเรา ความร่วมมือบางอย่างอย่ามองว่าเราเป็นคู่แข่งกัน เช่น อุตสาหกรรมฮาลาล เขาอาจจะมีความพร้อมบางเรื่องมากกว่าเรา แต่เรามีความพร้อมบางเรื่องมากกว่าเขา เช่น ความพร้อมเรื่องวัตถุดิบ แทนที่จะมาแย่งชิงกันว่าใครจะเป็นศูนย์กลาง ทำไมเราไม่คิดว่าเรามาทำร่วมกัน ผมคิดว่าแนวทางนี้ควรมีการประสานงานในภาควิชาการด้วย เพราะเรามีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันนี้ก็จะเป็นอีกแนวทาง
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับพื้นที่นี้ ผมเชื่อว่าหลายคนในพื้นที่ก็คงจะทราบ เพราะว่าท่านลงมาหลายครั้งแล้ว นำเอาทูตานุทูตจากยุโรปบ้าง จากประเทศในกลุ่มมุสลิม กลุ่มประเทศต่างๆ มาดูพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาของเรา
 
ต้นเดือนธันวาคม 2552 ผมจะพบกับท่านนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เป็นการพบปะประจำปีของนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ ปีนี้ที่ได้เสนอและตอบรับท่านไว้คือเราจะลงไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกัน เราจะไปดูเรื่องสะพานที่ก่อสร้าง ตรงชายแดนไทย – มาเลเซีย ที่จังหวัดนราธิวาส และไปดูโรงเรียน นี่คือ เรื่องที่จะเดินหน้าทำกันอย่างเต็มที่
 
ทีนี้เรื่องของแผนต่างๆ เวลาพูดกัน เราจะพูดถึงเรื่องงบประมาณเป็นหลัก ถ้าไม่มีงบประมาณก็ทำไม่ได้ ผมย้ำนะครับว่าเรื่องงบประมาณมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า งบประมาณที่มาลงที่นี่กี่ล้านบาท อยากจะย้ำว่ารัฐบาลนี้ไม่คิดว่าปัญหาทั้งหลายแก้ได้ด้วยเงิน ไม่ใช่ ถ้าเงินมาเป็นแสนล้าน ถ้าใช้ไม่ถูกวิธีก็เปล่าประโยชน์ ตรงกันข้ามถ้าเงินไม่จุใจ แต่สามารถเดินหน้าแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ตรงนี้ต่างหากที่จะเป็นตัวพลิกขึ้นมา ที่สำคัญจึงไม่ใช่เรื่องงบประมาณ แต่เป็นเรื่องการพัฒนา
 
ผมอยากบอกว่าการปรับแผนและการปรับงบประมาณ เราได้กำหนดเป้าหมายเป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น เราบอกว่า ในช่วงของไทยเข้มแข็ง เราตั้งเป้าไว้เลยว่ารายได้ครัวเรือนต้องเพิ่มขึ้นเป็น 120,000 บาทต่อปี ในปี 2555 ถ้าพูดเรื่องปาล์มเราบอกว่า ต้องเพิ่มพื้นที่ปลูก 214,755 ไร่ โดยเปลี่ยนพื้นที่จากนาร้าง 85,000 ไร่ มาปลูกปาล์ม เพิ่มปริมาณแพะเนื้อ 300,000 ตัว ทุกอย่างจะเป็นรูปธรรมหมดเลย จะต้องเพิ่มการมีงานทำ 120,000 คน เพิ่มทักษะแรงงานไม่ต่ำกว่า 170,000 คน ประชาชนมีที่อยู่อาศัยมั่นคงขึ้นไม่ต่ำกว่า 100,000 ครัวเรือน ขณะนี้จะเห็นว่าการแก้ปัญหาในมิติสังคม เราจะทำเรื่องที่ทำกิน ซึ่งนายถาวร เสนเนียมลงไปทำอยู่ และเรื่องของบ้านมั่นคง อันนี้ค่อนข้างชัดเจน
 
นอกจากนั้นโครงการที่เราทำเพื่อให้มั่นใจว่าสอดคล้องกับความต้องการ มีโครงการในระดับหมู่บ้าน ทั้งที่ศอ.บต., กอ.รมน. ลงไปทำ ตรงนี้เราไปสำรวจความต้องการจริงๆ สิ่งที่ต้องการให้ทำมากคือ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง หรือใครก็ตาม เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา เพื่อให้ความใกล้ชิด ความไว้วางใจ ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐมีมากขึ้น ตอนนี้ในปีแรกมีเป้าหมาย 696 หมู่บ้าน หมู่บ้านยากจน 329 หมู่บ้าน หมู่บ้านประมง 150 หมู่บ้าน หมู่บ้านเสริมสร้างสันติสุข 217 หมู่บ้าน ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่นับงานที่ภาคเอกชน หรือภาคประชาชนทำกันเอง ขณะนี้ให้ทางภาครัฐติดตามและรับทราบมากขึ้น
 
สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่ค้างคามานาน ทั้งเรื่องของถนน ภายในสิ้นปี 2552 จะเปิดเส้นทางหลวง 418 ปัตตานี – ยะลา ที่ล่าช้ามาหลายรัฐบาล ปีนี้เปิดแน่นอน ส่วนสายยะลา – เบตง ซึ่งเดิมเป็นเส้นทางคดเคี้ยว ทหารช่างเริ่มก่อสร้างสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง คาดว่า 2 ปีจะแล้วเสร็จ ขณะเดียวกันกรมทางหลวงก็จะเร่งรัดก่อสร้างทางหลวงเชื่อมต่อยะลา – รามัน –บาเจาะ – นราธิวาส ให้เสร็จโดยเร็วเช่นกัน
 
มีโครงการขยายสนามบินนราธิวาส หรือด่านเบตง ด่านสะเดา ด่านประกอบ ขณะนี้ได้จัดงบประมาณและมีการเดินหน้า นี่ก็เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน อันนี้เรียนให้ทราบถึงแนวที่ทำมา
 
ส่วนประเด็นที่เป็นข้อเรียกร้อง หรือข้อเสนอเดิมๆ เรื่องของสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับ ยืนยันว่าได้ตัดสินใจในเชิงนโยบายไปหมดแล้ว ต่ออายุให้หมดแล้ว ที่มีปัญหาคือเรื่องซอฟต์โลน ที่ถามกันเยอะ ปัญหาเกิดขึ้นอย่างนี้ครับ มีกฎหมายแบงค์ชาติฉบับใหม่ขึ้นมา เมื่อเกือบ 2 ปีมาแล้ว กฎหมายนี้ไปเอามาตรฐานโลกว่า ธนาคารกลางควรจะเลิกบทบาทการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพราะฉะนั้นไม่ได้ติดกฎระเบียบ แต่กฎหมายห้ามไม่ให้แบงค์ชาติทำงานนี้ต่อไป เพียงแต่ว่าบอกว่าส่วนที่ปล่อยไปแล้วให้ทำจนเสร็จ
 
เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงมีมติคณะรัฐมนตรีให้ธนาคารออมสิน รวมทั้งธนาคารอิสลาม ช่วยทำเรื่องสินเชื่อผ่อนปรนมากขึ้น เพื่อเข้ามารับช่วงแทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผมเพิ่งเรียกประชุม คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือกรอ. ปรากฏว่าเข้าใจคลาดเคลื่อนกันบางส่วน คือ ธนาคารออมสินและธนาคารของรัฐเข้าใจว่าธนาคารแห่งประเทศไทยยังทำได้ปกติไปจนถึงสิ้นปีนี้ หรือตามอายุที่กำหนดเอาไว้ ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่าทำได้เฉพาะที่ค้างอยู่
 
ผมจึงเร่งรัดธนาคารออมสินไปแล้ว คิดว่าน่าจะมีความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้น ผมทราบว่ามีปัญหาใหม่คือธนาคารออมสินไปทำบทบาทเดียวกับแบงค์ชาติไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาแบงค์ชาติปล่อยเงินผ่านธนาคารพาณิชย์อื่นๆ อีกที ธนาคารออมสินทำแบบนั้นไม่ได้ ก็เกิดปัญหาขึ้นเล็กน้อย มีหลายท่านถึงแม้ไม่ประสงค์จะย้ายจากธนาคารพาณิชย์ที่ใช้บริการประจำไปยังธนาคารอื่น ก็ต้องมาที่ออมสิน
 
ตรงนี้ผมรับไปดูว่าจะมีวิธีการแก้ปัญหานี้อย่างไร อาจจะเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารออมสินกับธนาคารพาณิชย์ หลักคือกฎหมายไม่บินยอมให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทำเรื่องนี้ เพราะเกรงว่าจะบิดเบือนนโยบายทางการเงิน ถ้าอยากจะช่วยเรื่องสินเชื่อผ่อนปรนต้องเป็นมาตรการทางการคลัง คือ กระทรวงการคลังจัดเงินมาอุดหนุนให้ชัดเจน ส่วนจะเพิ่มวงเงินอะไรนั้น ผมจะดูให้ เพราะที่ได้รับรายงานมา วงเงินเดิมยังใช้ไม่หมด อันนี้ยืนยันว่าถ้าจำเป็นก็จะเดินหน้า เพราะว่าไทยเข้มแข็งเราได้เพิ่มทุนธนาคารของรัฐไปแล้ว คิดว่าน่าจะสามารถดำเนินการได้
 
ขอไล่ประเด็นเสนอมา เท่าที่ผมรวบรวมได้ก่อนนะครับ ประเด็นแรกเรื่องการท่องเที่ยว เรื่องวงจรปิด เกิดปัญหาจากโครงการติดตั้งวงจรปิดของกระทรวงมหาดไทย มีการยกเลิกสัญญา ระหว่างยกเลิกสัญญาอาจจะมีการฟ้องร้อง บวกกับต้องมีการสอบสวนว่า มีการทุจริตในโครงการนี้หรือไม่ โดยดำเนินโครงการต่อ หรือทำเป็นโครงการใหม่ไปเลย อย่าให้การฟ้องร้องมาชะลอการติดตั้งวงจรปิด ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยเดินหน้าจัดซื้อจัดจ้างใหม่ทันทีแล้ว แต่กระบวนการนี้ ต้องใช้เวลา
 
ผมเองก็เป็นทุกข์เรื่องนี้ เพราะอยากให้การติดตั้งเป็นไปอย่างรวดเร็ว อาจจะต้องมีการปรับปรุงโครงการให้มีความป็นไปได้มากขึ้น และอาจจะไม่เชื่อมโยงเครือข่ายกันทั้งหมดก็ได้ เพื่อให้รวดเร็วมากขึ้น
 
ส่วนเรื่องการประชุม ผมไม่ทราบข้อเท็จจริงว่ามีคนหนีไม่มาประชุมครั้งนี้ ปลายเดือนพฤศจิกายน 2552 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่จะจัดงาน ผมจะมาประชุมที่นี่อีกครั้ง ผมจะรับข้อสังเกตตรงนี้ไป
 
ประเด็นถัดมา เรื่องการส่งเสริมการลงทุน ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับประธานหอการค้าจังหวัดยะลา ตอนนี้เรามีมาตรการผ่อนปรนภาษี และเราก็มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI อยู่ สิ่งที่เราต้องเติมเข้าไปให้เขตเศรษฐกิจพิเศษคือสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ซึ่งจะต้องพิจารณาว่า จะให้เหมือนกันทั้ง 5 จังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือจะให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน
 
อันนี้ผมได้ให้ข้อสังเกตไปกับผู้ที่กำลังศึกษาเรื่องนี้คือสำนักงงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเอง มิฉะนั้นเงินสนับสนุนการลงทุนจะไปไม่ถึง 3 จังหวัด ถ้าเรามีระดับของสิทธิประโยชน์ที่จะให้แตกต่างกัน ก็จะมีส่วนให้เกิดการกระจายที่ทั่วถึง
 
ในเรื่องของการค้า เข้าใจว่าหลายโครงการดำเนินการไปแล้วนะครับ เช่น สะพานเป็นเรื่องที่กำลังศึกษาและจัดงบประมาณให้อยู่
 
ส่วนเรื่องการขนส่งระบบราง เรียนว่าเป็นส่วนสำคัญของโครงการไทยเข้มแข็ง อาจจะร่วมมือกับต่างประเทศ หรือจะเป็นเอกชนก็ได้ เช่นหัวรถจักรคิดว่าน่าจะเดินหน้าเจรจากับประเทศจีน ซึ่งมีความพร้อมเรื่องระบบราง ส่วนรางคู่รางที่จะเชื่อมโยงเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก เชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน ภายใน 2 สัปดาห์เขาจะเสนอแผนเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แล้วจัดลำดับว่า จะทำตรงไหนก่อนหลัง และจะใช้เงินทุนจากไหน
 
ในส่วนที่จะเป็นรางคู่ลงมาทางใต้ ท่านบอกว่าถึงสุราษฎ์รธานีก่อนก็ยังดี ก็ถูกต้องคือการทำรางคู่ในขณะที่เราไม่มีเงินที่จะทำตลอดทั้งสาย แนวที่เราจะใช้คือเราจะทำในจุดที่เรามีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุง ไม่ใช่ตลอดทั้งสาย ส่วนการบริหารจัดการการเดินรถ เราทำเป็นรางคู่บางส่วน เราก็สามารถได้มาบางส่วนที่เราต้องการคือ ร่นเวลาการเดินรถที่สูญเสียไปกับการหยุดรอรถสวน ตรงนี้จะเดินหน้าดำเนินการต่อไปครับ
 
พูดเรื่องกีฬาด้วย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลนราธิวาส แล้วก็ฤดูกาลต่อไปจะมีการจัดระบบเรื่องการถ่ายทอดฟุตบอลลีก เพราะขณะนี้เราส่งเสริมลีกของไทย ทั้งพรีเมียร์ลีกหรือลีกภูมิภาคจนเป็นที่นิยม ทำให้ประชาชนในชุมชนท้องถิ่นมีความผูกพันกับกระแสกีฬาฟุตบอลมากขึ้น โทรทัศน์ก็เป็นตัวหนึ่งที่เป็นตัวกระตุ้น พร้อมกันนั้นจะมีการกันเงินจากกองทุนกีฬาส่วนหนึ่งออกมาทำเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ เพื่อส่งเสริมให้เกิดฟุตบอลแต่ละจังหวัด แต่ละสโมสร เพื่อดึงดูดความสนใจ ดึงคนของเราเข้ามาใกล้กีฬามากขึ้น
 
สำหรับจังหวัดปัตตานี ที่พูดเรื่องประมง ผมเป็นคนหยิบเรื่องนี้ขึ้นมากับทางอินโดนีเซีย ก็ทราบว่ามีปัญหากับอินโดนีเซียมา 2 – 3 ปีแล้ว นับตั้งแต่เขาจัดระเบียบใหม่ ในส่วนของเขาผมเข้าใจว่าวัตถุประสงค์ทางอินโดนีเซีย เขาไม่อยากให้เราไปเอาทรัพยากรของเขามาเฉยๆ เขาคิดว่าเขาอยากได้อะไรมากกว่านั้น จึงมีเงื่อนไขในเรื่องของการเพิ่มมูลค่าจากการแปรรูป ผมไม่ไม่ขัดข้องในหลักการ แต่ขอว่าอย่าเพิ่งแปรรูปอะไร ที่สลับซับซ้อน เพราะจะเกิดขึ้นได้ยาก เอาง่ายๆ ก่อนครับ อาจจะเป็นเรื่องของห้องเย็น เรื่องการเอาขึ้นท่า แล้วทำอะไรเล็กน้อยแล้วส่งออกมา ที่สำคัญจำเป็นต้องมีการจับคู่กันระหว่างภาคเอกชนครับ ไม่อย่างนั้นมันเกิดขึ้นไม่ได้ อันนี้ต้องติดตามกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่รับไปดูเรื่องนี้ และจะประสานกับทาง ศอ.บต.ด้วยว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ส่วนร่องน้ำก็เช่นเดียวกัน ขณะนี้ทำการศึกษาอยู่ เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ จะดำเนินการต่อไป
 
ประด็นสุดท้าย จังหวัดสตูลเสนอเรื่องเมกะโปรเจ็กต์ ผมรับไปดูนะครับเรื่องมอเตอร์เวย์ ที่บอกว่าตกหล่นไป ในส่วนสะพานเศรษฐกิจ อยากจะเรียนอย่างนี้ พูดกันมานานว่าจะมีท่าเรือสองฝั่งตัวเชื่อมก็มีถนน มีรถไฟ มีท่อน้ำมัน มีท่อก๊าซ และจะเกิดอุตสาหกรรมขึ้นทั้งสองฝั่ง
 
ข้อเท็จจริง แนวคิดนี้เสนอให้มีสะพานเชื่อม 2 ฝั่งทะเลมาตั้งแต่ตอนบนเลย ตั้งแต่ชุมพร – ระนอง ลงมาที่กระบี่ – ขนอม ผมเรียนเลยว่าขณะนี้ตอนบนที่ไล่ลงมาไม่เกิดนะครับ แนวสุดท้ายที่มีการศึกษากันอยู่คือปากบารา จังหวัดสตูลเชื่อมกับสิงหนคร หรือจะนะ จังหวัดสงขลา
 
บัดนี้ต้องยอมรับว่า เริ่มมีคนไม่เห็นด้วย ทางฝั่งสตูลยังต้องไปทำความเข้าใจ หรือคลายความกังวลให้กับคนที่ไม่เห็นด้วย ส่วนฝั่งจังหวัดสงขลาดูท่าจะยากหน่อย เริ่มมีความรู้สึกจะต้องลงไปปัตตานีแล้ว
 
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2552 โครงการท่าเทียบเรือปากบารา เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติบอกว่า ในส่วนของการศึกษาสิ่งแวดล้อมไม่มีปัญหา
 
ประเด็นที่ใหญ่กว่านั้นคือ ทำท่าเทียบเรือเสร็จก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่มีถนน ไม่มีทางรถไฟเชื่อมโยง หรือไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ การจะใช้ท่าเทียบเรือให้คุ้มค่า ต้องมีการขนถ่ายสินค้า อาจจะต้องมีอุตสาหรรมเกิดขึ้น ประเด็นมีอยู่ว่าพี่น้องในพื้นที่ต้องตัดสินใจร่วมกับรัฐบาลว่า ตกลงจะให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมหรือไม่ ถ้ามี มีประเภทใด ถ้ามีแล้ว ทำอย่างไรไม่กระทบกระเทือนกับการท่องเที่ยว
 
สิ่งที่ผมไม่ต้องการก็คือ เราเอาอะไรมาคิดว่าดี เห็นว่าเป็นการลงทุน เอาเข้าจริงๆ พอมาแล้ว เกิดการต่อต้าน เกิดความขัดแย้ง โครงการเกิดขึ้นไม่ได้ ทำลายภาพลักษณ์ สูญเสียความเชื่อมั่น แบบนี้ไม่มีประโยชน์
 
ตอนนี้ ผมให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประเมินดูว่า ที่พูดถึงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ รวมทั้งสะพานแห่งนี้ หน้าตาครบทั้งวงจรแล้วเป็นอย่างไร เพื่อที่จะถามความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ได้ว่า จะเอาอย่างนี้หรือไม่ เพราะนี่เข้ามาตรา 67 วรรค 2 มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง เพราะถ้ามีเรื่องเหล่านี้เข้ามา มันจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในพื้นที่
 
จากเดิมที่คิดว่าน่าจะลุยทำกันเลย ผมคิดว่าเป็นไปได้ยาก แต่ไม่ได้แปลว่าจะชะลอไปเรื่อยๆ ถ้าให้ทำก็ทำเลย ถ้าบอกไม่ทำก็ไม่ทำ เราจะได้หันไปดูว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาจะหมุนไปเรื่องท่องเที่ยวได้อย่างไร จะได้ว่ากันไปตรงนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขอเวลาอีกไม่นานครับ จะส่งเรื่องกลับมาให้คณะรัฐมนตรีได้ดูกันในส่วนนี้
 
สุดท้าย ผมรับจะเอาไปดูครับ เรื่องเอนเตอร์เทนเม้นคอมเพล็กซ์ ผมเข้าใจและเห็นใจกับปัญหาที่ท่านเผชิญอยู่ ท่านต้องหาทางออก ถ้าเลือกได้ และให้ผมเลือก ผมยังไม่อยากเลือกตรงนี้เป็นจุดขายของสงขลา ผมยังอยากให้เป็นเรื่องอื่น
 
ถึงแม้จะเห็นใจและเข้าใจมุมมอง แต่ก็มีอีกมุมหนึ่งจะต้องเอามาชั่งน้ำหนักดูให้ดี อย่างที่เรียนนะครับว่า มันยังมีจุดขายจุดอื่นที่สามารถทำได้ แต่ผมพร้อมจะเอารายงานการศึกษาที่บอกว่า ได้ศึกษาทั้งความเป็นไปได้ และทัศคติของพี่น้องประชาชนในพื้นที่แล้วไปดู
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท