รายงาน: เมื่อชาวบ้านหวั่นท่อมหาภัย เชื่อมคลังน้ำมันละงู–สิงหนคร

 
 
ภาพถ่ายทางอากาศ สถานที่ตั้งคลังน้ำมัน ฝั่งอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
 
ภาพถ่ายทางอากาศ สถานที่ตั้งคลังน้ำมัน ฝั่งอำเภอละงู จังหวัดสตูล
 
 
 
เมื่อพูดถึงโครงการท่อขนส่งน้ำมันจากฝั่งอันดามันไปยังฝั่งอ่าวไทย ที่จะมีการสร้างคลังน้ำมัน ที่บ้านปากบาง ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล และแถวๆ ตำบลรำแดง ตำบลป่าขาด ตำบลวัขนุน ตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา น้อยคนนักที่จะรู้ที่มาที่ไปของโครงการนี้
 
ทั้งที่พื้นที่ทั้งสองแห่งถูกเลือกเป็นจุดตั้งคลังน้ำมัน ที่จะต่อท่อขึ้นมาจากทะเลปากบารา นับสิบกิโลเมตร เชื่อมจากฝั่งอันดามันสู่ฝั่งอ่าวไทย โดยมีท่อส่งน้ำมันลงสู่ทะเลอ่าวไทยอีกประมาณ 37 กิโลเมตร
 
อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแลนด์บริดจ์ หรือสะพานเศรษฐกิจสงขลา – สตูล ประกอบด้วย
 
โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ในฝั่งสตูล เชื่อมต่อกับท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่บ้านสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอ จะนะ จังหวัดสงขลา
 
การขนส่งทางราง ด้วยรถไฟรางคู่จากบ้านควนมีด อำเภอจะนะ เชื่อมปากบารา ที่มีแนวโน้มจะใช้เส้นทางใหม่ ควนมีด ตรงไปยังคลองแงะ เข้าสู่บ้านบาโรย ตัดผ่านป่าต้นน้ำผาดำ เจาะภูเขา ข้ามเหว ไปทะลุอำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ตัดตรงสู่ปากบารา
 
ถนนเพื่อการขนส่งสินค้า ทำหน้าที่เชื่อมท่าเรือปากบารากับท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 โดยมีถนนมอเตอร์เวย์สะเดา ผ่านนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ที่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา รองรับการขนส่งและขนถ่ายสินค้าอีกเส้นทางหนึ่ง
 
และท่อน้ำมันละงู – สิงหนคร ดังที่กล่าวมาแล้ว
 
ถึงกระนั้นจนบัดนี้ คนในพื้นที่เอง ยังไม่มีใครรู้รายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชนระดับผู้ใหญ่บ้าน ไปจนถึงนายกองค์การบริหารส่วนตำบล
 
จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านปากบาง ตำบลละงู อำเภอละงู ต่างเข้ามารายล้อม เมื่อเห็นเอกสารตรงหน้า ที่ระบุว่าเป็นเอกสารประกอบการประชุมของกระทรวงพลังงาน เกี่ยวกับการวางท่อน้ำมันจากฝั่งอันดามันไปยังฝั่งอ่าวไทย ซึ่งจะขึ้นฝั่งและตั้งคลังน้ำมันโดยใช้พื้นที่ 5,000 ไร่ ที่บ้านปากบาง แล้วลากท่อน้ำมันไปโผล่ที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ใช้พื้นที่ 10,000 ไร่ ตั้งคลังน้ำมัน ตรงบริเวณตำบลปากรอ ตำบลป่าขาด ตำบลวัดขนุน และตำบลรำแดง
 
จะไม่ให้แปลกได้อย่างไร ในเมื่อชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกเลือกเป็นสถานที่ตั้งของคลังน้ำมันอย่างบ้านปากบาง ไม่เคยรับรู้อะไรมาก่อนเลย นี่เป็นการรับรู้ครั้งแรกของชาวบ้านในพื้นที่
 
นั่นเป็นเหตุทำให้พวกเขารู้สึกไม่พอใจ เพราะเมื่อไม่นานมานี้ ชาวบ้านเพิ่งได้ข้อยุติ เมื่อมีการนำที่ดินในบริเวณที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันตั้งค่ายลูกเสือ กว่าจะลงตัวก็ใช้เวลานานพอสมควร
 
ทว่า ยังไม่ทันข้ามปี ข่าวการตั้งคลังน้ำมันก็มาถึงหู ที่สำคัญข่าวที่ได้รับไม่ได้ออกมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่กลับเป็นนักข่าวจากต่างถิ่น ที่เดินทางมาพร้อมกับเอกสารโครงการของหน่วยงานรัฐระดับกุมนโยบาย
 
ชาวบ้านปากบางบอกว่า ถ้ามีการนำที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่รัฐท้องถิ่นอนุญาตให้อยู่อาศัย ไปตั้งคลังน้ำมัน เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ พวกเขาไม่มีที่อยู่จริงๆ เพราะส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง อาศัยอยู่ตามชายฝั่ง แต่หลายปีมานี้ น้ำเซาะฝั่งเข้ามาเรื่อยๆ จนไม่เหลือผืนดินที่เคยอาศัยอยู่ จำต้องขยับขยายมาอยู่ในที่ดินสาธารณะมานานหลายปีแล้ว
 
พวกเขาบอกว่า ถ้าคำนวณตามอายุคน พวกเขาอาศัยอยู่ตามบริเวณชายฝั่งแถบนี้เกิน 100 ปี และต้องจำใจแบ่งที่ดินอยู่อาศัยให้กับค่ายลูกเสือไป 70 กว่าไร่ จนทางโรงเรียนบ้านปากบาง ต้องเจียดที่ดินราชพัสดุให้ 27 ไร่ ตอนนี้อยู่กัน 42 ครอบครัว
 
ชาวบ้านบอกว่าเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะตั้งคลังน้ำมันที่หมู่ที่ 2 เพราะพื้นที่ตรงนี้ทั้งหมดมีแค่ 2,700 กว่าไร่ แต่ตามเอกสารระบุว่าคลังน้ำมันใช้ที่ดิน 5,000 ไร่ นั่นหมายความว่า การตั้งคลังน้ำมัน ต้องกินอาณาบริเวณครอบคลุมไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงด้วย
 
นายต่ายูเด็น บารา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 เดินทางมาถึงวงสนทนาด้วยอาการหัวฟัดหัวเหวี่ยง พร้อมทั้งกล่าวว่า ทำไมไม่เคยได้ยินข่าวมาก่อนเลย นี่ก็เพิ่งไปประชุมที่อำเภอ ไม่มีใครพูดเรื่องนี้ในที่ประชุม เคยมีการประชุมเรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่องค์การบริหารส่วนตำบลละงูเพียงครั้งเดียว แต่ไม่มีใครแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงเรื่องคลังน้ำมัน
 
นายต่ายูเด็น ยังบอกอีกว่า เพิ่งมีนายหน้ามาจากจังหวัดภูเก็ต มาถามหาซื้อที่ดินประมาณ 3 – 4 ราย ราคาที่ดินที่ขายกันไปแล้วไร่ละล้านกว่าบาท คนกลุ่มนี้น่าจะทราบข่าวการก่อตั้งคลังน้ำมันแล้ว เลยมาหาซื้อที่ดินเตรียมไว้ก่อนล่วงหน้า
 
นายต่ายูเด็นยังบอกอีกว่า ถ้าสร้างคลังน้ำมันตรงนี้ สิ่งที่จะถูกทำลายเป็นสถานที่สำคัญทางจิตใจหลายแห่ง คือ มัสยิด 2 แห่ง กุโบร์ 1 แห่ง ป่าช้า 1 แห่ง โรงเรียน 2 โรง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีก 1 แห่ง
 
ผู้ใหญ่บ้านกล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องความเจริญเราก็อยากได้ แต่มารังควาญชาวบ้านไม่ได้ และต้องคอยดูว่าฝ่ายโน้นจะขับเคลื่อนยังไง หลังจากนั้นพวกเราชาวบ้าน ค่อยมาว่ากันอีกที
 
“ถ้าเข้ามาแบบรุกรานชาวบ้าน ผมก็ไม่ยอม” เป็นคำกล่าวของนายต่ายูเด็น
 
เมื่อเราไปดูพื้นที่ตำบลรำแดง นายอุดม ทักขระ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรำแดง ท่าทางสงบนิ่ง เขาพยายามย้อนนึกถึงเรื่องราวเกี่ยวกับคลังน้ำมัน ที่จะมาสร้างขึ้นที่นี่ ดูเหมือนเขาไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไรกับเอกสารที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า ขณะรำลึกย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์เมื่อนานมาแล้ว
 
เขาบอกว่า มีผู้ชายแปลกหน้าท่าทางไม่น่าเชื่อถือ เดินทางมาพบกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลผู้นี้ พูดคุยเรื่องซื้อที่ดิน อ้างว่าจะรวบรวมที่ดินเพื่อตั้งคลังน้ำมัน แล้วก็หายไป จากนั้นก็ไม่เคยมีเรื่องราวการสร้างคลังน้ำมันปรากฏให้ได้ยินอีกเลย
 
อุดม ทักขระ ค่อนข้างแน่ใจว่าคลังน้ำมันที่จะเกิดขึ้น ไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตตำบลรำแดง หรืออาจจะติดแค่บางส่วน เขาคาดว่าพื้นที่หลักที่ถูกเลือกให้เป็นจุดตั้งคลังน้ำมัน น่าจะเป็นที่ดินในพื้นที่ตำบลป่าขาด
 
ทว่า ดูในแผนที่แล้ว พวกเรากลับเห็นว่า น่าจะเป็นจุดเดียวกับที่ตั้งของที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลรำแดง
 
ไม่ว่าพื้นที่ตำบลรำแดงจะติดอยู่ในพื้นที่เป้าหมายตั้งคลังน้ำมันมากน้อยแค่ไหน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรำแดงเจ้าของพื้นที่ กลับไม่รู้สึกตื่นเต้น เขาบอกว่าเนื้อที่ตำบลรำแดงมีไม่กี่ไร่ ความสัมพันธ์ของคนที่นี่ ส่วนใหญ่โยงใยเป็นญาติกัน จึงอยู่กันเหมือนพี่น้อง ที่ดินเป็นสมบัติที่ถูกถ่ายทอดส่งต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ตอนนี้เหลือเป็นที่อยู่อาศัย และเป็นที่ทำกินคนละไม่กี่ไร่
 
“ที่ดินเป็นสิ่งเชื่อมร้อยความผูกพันของคนทั้งตำบล หากใครขายก็ต้องออกไปอยู่ที่อื่น เพราะไม่มีที่ดินเหลือให้จับจองซื้อหาได้อีก เพื่อนบ้านก็จะมองว่า ขายสมบัติกิน ตำบลอื่นผมไม่รู้ แต่สำหรับคนตำบลรำแดง คงไม่มีใครขายที่ดิน” อุดม ทักขระ กล่าวอย่างมั่นใจ
 
ไม่ว่าจะมีฐานคิดความเชื่ออย่างไร เอกสารประกอบการประชุมเกี่ยวกับโครงการท่อน้ำมันเชื่อม 2 ฝั่งทะเลอันดามัน – อ่าวไทย ที่จะมีการตั้งคลังน้ำมันที่บ้านปากบาง ริมฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดสตูล 5,000 ไร่ และตำบลปากรอ ตำบลป่าขาด ตำบลวัดขนุน ตำบลรำแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา อีก 10,000 ไร่ ก็ทำให้ชาวบ้านทั้ง 2 ฟากฝั่งทะเล พากันหวั่นไหวอยู่ไม่น้อย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท