Skip to main content
sharethis

แล้วจะให้พวกเราไปอยู่ที่ไหน?” เป็นถามคำถามสะท้อนความอึดอัดใจของชาวประมงพื้นบ้านคนหนึ่ง เมื่อได้ข้อมูลว่าการเปิดเสรีการลงทุนด้านการประมง อันเนื่องมาจากความตกลงเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement: ACIA) ที่มีการลงนามไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 นั้น ปัจจุบัน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้เสนอให้กรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กศน.) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552 ยกเลิกข้อสงวนของประเทศไทย 3 รายการในการเปิดเสรีการลงทุนด้านเกษตร ป่าไม้ และประมง ซึ่งครอบคลุม 3 สาขาสำคัญ คือ 1.การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์พืช 2.การทำประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทุกชนิด ทั้งในน้ำจืดและในทะเล และ 3.การทำสวนป่าและปลูกไม้ทุกประเภท [1]

 

ความตกลงเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement: ACIA) เป็นความตกลงเต็มรูปแบบที่เกิดจากการผนวกความตกลงเขตการลงทุนอาเซียน (AIA) ซึ่งเป็นความตกลงเปิดเสรีการลงทุน ที่มีผลบังคับใช้ในปี ค..1998 กับความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนของอาเซียน (ASEAN IGA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 1987 ให้เป็นความตกลงเต็มรูปแบบฉบับเดียว โดยมีการลงนามเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 ที่หัวหิน ประเทศไทย ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14

ความ ตกลงนี้ จะให้สิทธินักลงทุนในอาเซียน และนักลงทุนต่างชาติที่มีกิจการอยู่ในอาเซียนและต้องขยายการลงทุนในอีก ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นได้รับสิทธิประโยชน์ในการลงทุนตามหลักปฏิบัติเยี่ยง คนชาติ (National Treatment) กล่าวคือ นักลงทุนต่างชาติได้รับสิทธิเช่นเดียวกับประชาชนเจ้าของประเทศ ยกเว้นในสาขาที่สงวนเอาไว้ (Temporary Exclusion List) และสาขาที่อ่อนไหว (Sensitive List)

ที่มา: วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูณ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch Group)

 

แนวคิดการเปิดลงทุนเสรีเช่นนี้ สร้างความกังวลและหนักใจให้กับชาวประมงพื้นบ้าน ที่อยู่อาศัยทำมาหากินกับทะเลมาหลายชั่วรุ่นคน ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนที่ทำลายทรัพยากร สร้างความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงและใช้ทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น

 

ยูหนา หลงสมัน ชาวประมงพื้นบ้าน บ้านบ่อเจ็ดลูก ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วย หากรัฐบาลต้องการเปิดลงทุนเสรีในด้านประมง และการเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำ เพราะความลำบากจะกลับมาตกอยู่ที่ชาวบ้าน คนที่จะได้ประโยชน์คือกลุ่มทุนต่างชาติรายใหญ่ ที่จะเข้ามาแย่งพื้นที่ทำกินของพี่น้องชาวบ้านที่ทำอาชีพประมงอยู่เดิม

 

ชาวบ้านจะไปอยู่ตรงไหนถ้าให้นายทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนแบบนี้ เพราะจะทำให้เกิดการถือครองกรรมสิทธิ์เหมือนกับแนวคิดการออกโฉนดทะเลในยุครัฐบาลทักษิณ ซึ่งในอาณาเขตที่มีโฉนดทะเลนั้น ชาวบ้านจะไม่สามารถเข้าไปทำมาหากินได้” ยูหนา กล่าว

 

ยูหนา กล่าวอีกว่า ทะเลเป็นสมบัติของทุกคน ที่เราจะต้องช่วยกันรักษาเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน ในฐานะที่ตนอยู่กับทะเล ทำมาหากินในทะเล ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในทะเล แต่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ วันหนึ่งถ้ามีการแบ่งแยกอาณาเขตโดยมีคนนอกเข้ามาทำการลงทุนด้านการประมง ก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน

 

แต่แนวคิดการเปิดลงทุนเสรีด้านการประมง จะเป็นการให้ทุนต่างชาติเข้ามาสร้างงานโดยที่คนที่เป็นเจ้าของประเทศได้ประโยชน์ไม่สมเนื้อ เหมือนกับในสมัยก่อนที่รัฐบาลเคยให้สัมปทานป่าชายเลนกับนายทุน ทำให้ป่าชายเลนเสื่อมโทรม ผลประโยชน์ที่นายทุนเอาไปจากเรา ทรัพยากรจากประเทศของเราปีหนึ่งๆ มากเท่าไหร่ แต่ผลกระทบหนักตกอยู่ที่ชาวบ้าน การทำแบบนี้ เป็นการให้คนนอกเข้ามาจูงจมูก

 

ชาวประมงหวงแหนทรัพยากรเพราะทะเลเปรียบเสมือนบ้านของเรา ลูกได้ไปโรงเรียน มีอาหารการกิน ยารักษาโรค เสื้อผ้า รายได้ ก็มาจากทะเล ชาวประมงบางคนไม่มีรายได้อื่นมาเสริม ถ้าวันหนึ่งทะเลถูกจับจอง เราได้รับผลกระทบแน่” ยูหนา กล่าวย้ำ

 

ความตกลงเปิดเสรีการลงทุนทั้ง 3 สาขานั้น ชาวประมงซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักและเป็นคนส่วนใหญ่กลับไม่ได้มีส่วนร่วมในทุกระดับตั้งแต่ขั้นริเริ่มความคิด การพูดคุยหารือ กระทั่งการตัดสินใจ ดูเหมือนว่ากระบวนการดำเนินงานและอำนาจการตัดสินใจจะถูกรวบไว้ที่ภาครัฐและกลุ่มทุนธุรกิจ

 

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูณ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch Group) กล่าวว่า ที่ผ่านมา การประชุมของ กนศ. เมื่อ 3 สิงหาคม 2552 มีมติเปิดเจรจา โดยบีโอไอจะเสนอเรื่องนี้เข้าสภาก่อนการเจรจา อ้างว่าได้รับฟังความเห็นจากประชาชนแล้ว แต่ปรากฏว่ามีการจัดประชุมจริงเมื่อเดือนมิถุนายน 2552 แต่คนที่ได้รับเชิญเข้าประชุมคือภาคอุตสาหกรรมสำคัญที่ไปลงทุนในต่างชาติอยู่แล้ว ซึ่งภายหลังต่อมากลุ่มเหล่านี้ก็มาบอกว่าลืมดูว่าความตกลงเหล่านี้มีผลในการตกลงนอกอาเซียนด้วย เลยตกใจกันใหญ่เพื่อที่จะขอเขียนข้อสงวน แต่กลับไม่ได้ขอสงวนในกิจการ 3 สาขา คือ 1.การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์พืช 2.การทำประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทุกชนิด ทั้งในน้ำจืดและในทะเล และ 3.การทำสวนป่าและปลูกไม้ทุกประเภท ทั้งๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนเป็นจำนวนมาก

 

วิฑูรย์ กล่าวอีกว่า สถานะความตกลงเรื่องการเปิดเสรีการลงทุน อาจจะดีนิดหนึ่งตรงที่ว่ายังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าได้มีการยกเลิกข้อสงวนเหล่านั้นแล้ว ก็ยังมีเวลาที่จะแก้ไขเรื่องนี้ ซึ่งขณะนี้คณะเจรจากำลังเจรจาเรื่องนี้อยู่ และหลายประเทศอาจจะไม่ยอมรับ ซึ่งหลายประเทศที่ว่าไม่ใช่ประเทศไทย

 

การผลักดันนโยบายในการลงทุน เป็นเรื่องของคนบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งคนบางกลุ่มนั้นไปอ้างว่าเป็นฉันทามติของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ไม่รู้ว่าใครจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการลงทุนทั้ง 3 สาขานี้ แต่ที่แน่ๆ คือ ความตกลงเหล่านั้นไม่ได้เป็นฉันทามติของประชาชนและคนส่วนใหญ่ในประเทศ” วิฑูรย์ กล่าวย้ำ [2]

 

ด้าน ยูหนา กล่าวว่า ผมเป็นคนหาเช้ากินค่ำ ออกทะเลกลับมาก็ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุบ้าง พอรู้เรื่องบ้าง แต่ที่ผ่านมาไม่มีกระบวนการคิดและคุยร่วมกับชาวบ้านเพื่อพัฒนาหมู่บ้านไปในทางที่ดีขึ้น เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร เป็นแค่กระบวนการที่ชาวบ้านรับรู้อย่างเดียว รัฐต้องการอะไรก็คิดว่าชาวบ้านรับรู้แล้ว แต่ที่จริงไม่มีกระบวนการคุยและคิดร่วมกันเลย

 

เมื่อไม่มีกระบวนการคิด คุย และตัดสินใจร่วมว่าชาวบ้านต้องการอะไร ต่อไปจะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งตั้งแต่ในระดับพื้นที่ขึ้นไปอย่างแน่นอน อย่างน้อยคนชายขอบที่เขามีความรักความหวงแหนทรัพยากร แต่วันหนึ่งมีคนมาแย่งที่ทำมาหากิน มีคนมาทุบหม้อข้าวของเขา เขาก็ต้องสู้เพื่อตัวเขา เพื่อครอบครัวและคนในชุมชนของเขา เพื่อให้อยู่รอด เมื่อชาวบ้านอยู่ไม่ได้แล้ว คงเหมือนน้ำที่มันเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ต้องประทุ” นายยูหนา กล่าวย้ำ

 

กิตติศักดิ์ จันทร์ใหม่ โครงการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามันภูเก็ต-พังงา กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงเรื่องการเปิดลงทุนเสรีทางการค้าด้านการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคือ ผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน

 

ที่ผ่านมา ในพื้นชายฝั่งอ่าวไทยบางพื้นที่เคยเปิดให้นายทุนเข้าไปลงทุนเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น สัมปทานพื้นที่เลี้ยงหอยแครง ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ชายฝั่งเป็นอย่างมาก เพราะการเพาะเลี้ยงหอแครง ต้องปักเสาลึก ส่งผลให้ระบบทิศทางการไหลของน้ำและร่องน้ำเปลี่ยน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชองสันดอนหอย เสาไม้ที่ปักติดกันเป็นแผง ทำให้เหลือช่องการเดินเรือที่แคบลงไปมากอีกด้วย

 

กิตติศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า แม้ว่าปัจจุบัน หลายพื้นที่จะเลิกการเพาะหอยแครงไปแล้ว แต่เสาหลักที่เคยเป็นที่เพาะหอยก็ยังไม่ได้ถอนออกหมด ชาวประมงก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเสาปักลงไปลึกมาก หาปลาในบริเวณนั้นไม่ได้เหมือนแต่ก่อน

 

สำหรับผมทะเลก็คือชีวิต เป็นหม้อข้าว เป็นอนาคตของลูก ทะเลคือทุกอย่างอยู่ในนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ชาวประมงต้องตระหนักร่วมกัน คือ เราสามารถจัดการดูแลทะเล สร้างความสมดุลให้กับระบบชายฝั่ง ระบบนิเวศน์ เพื่อวิถีชีวิตของเราได้ โดยที่เราต้องกำหนดการพัฒนาเอง” กิตติศักดิ์ กล่าว

 

สำหรับแม่น้ำโขง สายน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านระบบนิเวศน์มากเป็นลำดับที่ 2 ของโลก มีจำนวนพันธุ์ปลาที่สำรวจพบ 1,245 ชนิด [3] ชุมชนริมโขงมีทั้งหาปลาเพื่อดำรงวิถีชีวิตและยึดเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ โดยการประมงน้ำจืดตลอดสายแม่น้ำโขงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี [4] ปัจจุบัน หลายชุมชนที่พึ่งพาแม่น้ำโขง กำลังเผชิญปัญหาจากโครงการเขื่อนพลังงานไฟฟ้าทางน้ำบนแม่น้ำโขงตอนบน ที่ปิดกั้นการไหลอิสระของกระแสน้ำ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และพันธุ์ปลาในแม่น้ำลดลง ขณะเดียวกัน แนวคิดการเปิดลงทุนเสรีด้านการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งทางบกและทะเล ก็เป็นที่น่าหวาดหวั่นว่าจะนำมาซึ่งรูปแบบหนึ่งในการกระหน่ำทำลายระบบนิเวศน์และวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขง

 

ขวัญชัย จันหอม คนริมแม่น้ำโขง บ้านคกเว้า ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ. เลย กล่าวว่า การเปิดเสรีการลงทุนด้านการประมง อาจจะนำไปสู่การให้กรรมสิทธิ์พื้นที่แม่น้ำเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นสิ่งไม่เหมาะสม เพราะแม่น้ำเป็นของสาธารณะที่ทุกคนเข้ามาหาปลา ซึ่งตามปกติการหาปลาของชาวบ้านจะจับจองพื้นที่เป็นจุดๆ คนไหนลงน้ำก่อน ก็สามารถจับจองพื้นที่หาปลาตรงนั้นก่อนได้ แต่จะใช้พื้นที่นั้นเพียงชั่วคราว เช่น จุดวางเบ็ด ไม่มีการถือกรรมสิทธิ์ในพื้นที่นั้นในระยะยาว พอได้ปลาแล้ว คนอื่นก็เข้าไปใช้ต่อได้ หรือวางเบ็ดไว้ข้างๆ กันได้ จึงไม่ส่งผลลกระทบกับการหาปลาของคนอื่น และไม่กระทบสิ่งแวดล้อมเพราะวิธีการทำประมงใช้เครื่องมือพื้นบ้านหาตามธรรมชาติ

 

ขวัญชัย แสดงความเห็นว่า การลงทุนทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาจต้องการพื้นที่เพาะพันธุ์สัตว์น้ำมาก พร้อมทั้งให้กรรมสิทธิ์พื้นที่แม่น้ำทำแนวเขตเพื่อป้องกันไม่ให้คนนอกเข้าไปจับสัตว์น้ำในเขตเพาะพันธุ์ จะทำให้คนอื่นเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้นไม่ได้อีก

 

การเข้ามาลงทุนเพาะเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำ จะทำให้เกิดน้ำเสีย ปลาธรรมชาติที่อาศัยอยู่ในน้ำก็จะพลอยได้รับผลกระทบจากน้ำเสียด้วย ชาวบ้านครอบครัวหาปลาเป็นอาชีพ เป็นรายได้เสริม ส่วนบางครอบครัวหาปลาเป็นอาหารเลี้ยงดูคนในครอบครัวจะลำบากมากขึ้น หากปลาธรรมชาติลดลง รวมทั้งพื้นที่ที่เคยหาปลาก็ถูกกันเขตแนวไว้เข้าไปหาปลาบริเวณนั้นไม่ได้” ขวัญชัย กล่าวทิ้งท้าย

 

การเปิดเสรีการลงทุนด้านการประมง เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อม อาหาร และชีวิตของชุมชนประมงพื้นบ้านโดยตรง นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่กำลังคุกคามชีวิตของพวก และไม่อาจให้ใครมาแอบอ้างใช้อำนาจฉันทามติตัดสินใจแทนได้ ประชาชนมีสิทธิกำหนดชีวิตของตนเอง!

 

อ้างอิง

[1] วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูณ, กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch Group)

http://www.biothai.net/node/902

[2] วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูณ, อภิปรายในงานเสวนาในหัวข้อ ภาครัฐและประชาชนในการพัฒนาประชาชนอาเซียน ณ ห้องจุมภฎ พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 12 ตุลาคม 2552

[3] รู้จักแม่น้ำโขง, เสขิยธรรม ฉบับที่ ๖๐ เมษายน - มิถุนายน ๒๕๔๗.

http://www.skyd.org/html/sekhi/60/028-kong.html

[4] ทรงฤทธิ์ โพนเงิน. เขื่อนกับความสมบูรณ์ของสายน้ำโขง, 16 มิถุนายน 2552. http://indochinapublishing.com/index.php?module=content&submodule=view&category=2&code=an16060915260048

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net