ครม.เห็นชอบปฏิรูปรถไฟเน้นมาตรฐานความปลอดภัย เล็งใช้งบกว่า 1 แสนล้าน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ว่า ครม.เศรษฐกิจ มีมติเห็นชอบแนวทางการปฏิรูปรถไฟ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ข้อแรกจะมีการรวบรวมการลงทุนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในเรื่องมาตรฐาน แก้ไขปัญหาเรื้อรัง ทั้งเรื่องราง หัวรถจักร เรื่องอาณัติสัญญาณ และจะมีการลงทุนในช่วงของแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง นอกจากทำให้เกิดความปลอดภัยแล้ว รถไฟควรวิ่งบริการได้เร็วขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้ขึ้นมาเป็น 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้จะมีการลงทุนในเส้นทางใหม่ โดยเฉพาะเส้นทางที่จะไปเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน ที่ดูไว้คือจาก อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา จะวิ่งไป จ.มุกดาหาร และ จ.นครพนม และเส้นทาง อ.เด่นชัย จ.แพร่ ไป จ.เชียงราย ซึ่งพูดกันมานานแล้ว นอกจากนี้จะมีการศึกษาการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยองด้วย

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนเรื่องการปรับโครงสร้างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นั้น ให้กระทรวงคมนาคมไปหารือกับ ร.ฟ.ท.ทั้งฝ่ายบริหารและสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.ร.ฟ.ท.) เพื่อให้ยอมรับการปรับเป็นหน่วยธุรกิจมาดูแลทั้งเรื่องราง การเดินรถ และเรื่องทรัพย์สิน พร้อมให้มีหน่วยงานที่มาบริหารให้แอร์พอร์ตลิงก์วิ่งได้โดยเร็วที่สุด

ที่รัฐสภานายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบแผนพัฒนาระบบขนส่งทางรถไฟและแนวทางการแก้ไขปัญหาการ บริหารจัด ร.ฟ.ท. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.การปฏิรูประบบรถไฟเพื่อความปลอดภัยของประชาชน กรอบวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ดำเนินการภายในปี 2556 ทั้งการจัดทำระบบราง จัดหาหัวรถจักร และเปลี่ยนหมอนรถไฟ กระทรวงการคลังจะเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินให้จากงบประมาณตามปกติที่มีอยู่ แล้วกว่าหมื่นล้านบาท 2.การเชื่อมโยงโครงข่ายระบบการขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน และ 3.การลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งโครงการทั้งสองส่วนนี้ คาดว่าจะใช้แหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ

นายโสภณกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมยังเสนอแผนการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานของ ร.ฟ.ท.ให้ที่ประชุมรับทราบ โดยเบื้องต้นจะตั้งหน่วยธุรกิจขึ้นมา 3 แห่ง เพื่อดูแลเรื่องงานโครงสร้างพื้นฐาน การซ่อมบำรุง และการบริหารทรัพย์สิน นอกจากนี้จะตั้งบริษัทลูกเพื่อดำเนินงานโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ โดย ร.ฟ.ท.ถือหุ้น 100% ซึ่งก่อนหน้าที่จะเสนอเรื่องนี้ กระทรวงคมนาคมได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง สร.ร.ฟ.ท.เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันหมดแล้ว

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมว่า ครม.เศรษฐกิจ มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงคมนาคม ไปร่วมกันพิจารณารายละเอียดโครงการและแหล่งเงินที่จะนำมาใช้พัฒนารถไฟ ในกรอบวงเงิน 1 แสนล้านบาท ภายใน 45 วัน เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาอีกครั้ง

นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า การลงทุนปรับปรุงระบบรถไฟครั้งนี้ จะมีทั้งการจัดซื้อหัวรถจักร ซึ่งงบฯบางส่วนจัดไว้ในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง การบูรณะรางรถไฟทั่วประเทศให้มีความปลอดภัยและรับน้ำหนักได้เพิ่มเป็น 100 ปอนด์/หลา การปรับปรุงหมอนรองรางรถไฟ การมีระบบอาณัติสัญญาณไฟสี รวมถึงการมีเครื่องกั้นทางในจุดตัดทุกจุด โดยโครงการเหล่านี้จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป

“แหล่งเงินลงทุนบางส่วนจะมาจากเงินกู้จากประเทศจีนวงเงิน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ต้องพิจารณาเงื่อนไขการกู้เงินก่อน ส่วนการชำระหนี้นั้นรัฐบาลจะผ่อนชำระหนี้ปีละ 5-6 พันล้านบาท ภายในระยะเวลา 20-30 ปี” นายกอร์ปศักดิ์กล่าว

นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า ส่วนที่กระทรวงคมนาคมเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง มาให้พิจารณา ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 745 กิโลเมตร กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 615 กิโลเมตร กรุงเทพฯ-จันทบุรี ระยะทาง 330 กิโลเมตร และกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 985 กิโลเมตร โดยใช้เวลาศึกษา 90 วัน นายกฯเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่นานเกินไป ขอให้ศึกษาในเส้นทางสายตะวันออกมาให้พิจารณาก่อน และไม่จำเป็นที่ระยะทางจะต้องถึง จ.จันทบุรี ทำเพียงแค่ จ.ระยอง ก่อนก็พอ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีนักลงทุนต้องการใช้จำนวนมาก จึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษาความเป็นไปได้เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง มาให้พิจารณาภายใน 45 วัน

นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุมยังมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมศึกษารายละเอียดโครงการลงทุนระบบราง ขนาดราง 1 เมตร ในเส้นทางรถไฟในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อเชื่อมโยงระบบขนส่งกับประเทศ เพื่อนบ้าน คือ เส้นทางบัวใหญ่-นครพนม-มุกดาหาร วงเงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาทด้วย

นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า การลงทุนรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง และการลงทุนระบบรางเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน เส้นทางบัวใหญ่-นครพนม-มุกดาหารนั้น จะมีลงทุนในลักษณะการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) แต่การลงทุนแบบพีพีพียังมีอุปสรรคในการดำเนินการ ดังนั้น ตนจึงเสนอให้ ครม.เศรษฐกิจรับทราบปัญหาอุปสรรค และเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เข้ามาเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการพีพีพีแทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สร.ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ขณะ นี้ สร.ร.ฟ.ท.ยังไม่เห็นแผนปฏิรูปการรถไฟ จึงยังไม่สามารถบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่ ต้องรอดูรายละเอียดก่อน เพราะในการหารือกับนายกฯก็ได้รับปากแล้วว่าหลังแผนดังกล่าวผ่าน ครม.เศรษฐกิจจะนำมาหารือกับ สร.ร.ฟ.ท.อีกรอบ ก่อนที่จะนำเข้า ครม.

“แม้จะอ่านแล้วแต่ก็ยังไม่เห็นรายละเอียด หากส่วนไหนเป็นประโยชน์ต่อ ร.ฟ.ท.และสนองตอบการใช้บริการของประชาชน ก็โอเค แต่ผมยังบอกไม่ได้ว่ามีอะไรบ้าง หากเห็นรายละเอียดแผนแล้วจะหารือกับกรรมการ สร.ร.ฟ.ท.ต่อไป เพราะผมไม่สามารถตัดสินใจคนเดียวได้” นายสาวิทย์กล่าวว่า ส่วนกรณีกระทรวงคมนาคมจะยกเลิกข้อตกลง 66 ข้อตกลงที่อดีตผู้บริหาร ร.ฟ.ท.ทำไว้กับ สร.ร.ฟ.ท.นั้น ต้องดูว่ามีข้อไหนบ้างและขัดกับ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจหรือไม่ แต่ยืนยันว่าข้อตกลงที่ทำไว้ในล้วนแต่เป็นผลประโยชน์ของ ร.ฟ.ท.ทั้งสิ้น

นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาอุทธรณ์ของพนักงาน ร.ฟ.ท.สถานชุมทางหาดใหญ่ 6 คน ที่ถูกไล่ออกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสืออุทธรณ์ของพนักงานทั้ง 6 คน แม้ว่าจะส่งเรื่องมาที่สำนักงานเลขานุการ ร.ฟ.ท.แล้วตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายนแล้วก็ตาม แต่หากได้รับหนังสืงแล้วก็จะส่งเรื่องให้กับนายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ให้พิจารณาตั้งคณะกรรมการพิจารณาคำอุทธรณ์ดังกล่าวต่อไป โดยจะต้องดำเนินการพิจารณาภายใน 15 วันนับจากวันที่ยื่น และหากไม่แล้วเสร็จก็สามารถขยายเวลาได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานทั้ง 6 คนที่ถูกไล่ออกและห้ามเข้ามาในพื้นที่นั้น ล่าสุดมีคำสั่งยกเลิกการห้ามเข้าพื้นที่แล้ว แต่พนักงานยังไม่สามารถทำงานได้ เพราะยังไม่ได้มีการพิจารณาคำอุทธรณ์

วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดตรัง นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ทั้งนี้ สมาชิกหอการค้าตรัง นำปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากรถไฟใน จ.ตรัง มาหารือ โดยเฉพาะผลกระทบด้านจราจร เนื่องจากสถานีรถไฟตรังตั้งอยู่ใจกลางเมือง และมีถนนหลายสายรอบสถานีรถไฟในรัศมี 100 เมตร ซึ่งมีปริมาณรถผ่านในช่วงเวลาเร่งด่วนจำนวนมาก

ดังนั้น ทางหอการค้าตรังจึงเสนอให้ปรับเปลี่ยนตารางเวลาเดินรถไฟกรุงเทพฯ-ตรัง จากเดิมมาถึงสถานีตรังเวลา 07.00-08.00 น. ให้มาถึงเวลา 06.00-07.00 น.แทน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหารถติดช่วงเวลาเร่งด่วน


ที่มา:
มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท