Skip to main content
sharethis

 


อดีต - ดงต้นตำเสาตรงคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

กลายเป็นอดีตที่ไม่มีวันหวนคืนกลับมาอีกแล้ว เมื่อทางมหาวิทยาลัยฯ โค่นต้นตำเสาเอาพื้นที่มาทำลานจอดรถ

 


ปัจจุบัน - ต้นตำเสาที่เหลืออยู่ทยอยยืนต้นตายไปทีละต้นสองต้น

เพราะทนพิษความร้อนจากลานปูนซิเมนต์ที่จอดรถไม่ไหว

 


ร่องรอย - ตอต้นตำเสาจากการตัดโค่น เพื่อนำพื้นที่มาเทปูนซิเมนต์ทำลานจอดรถ

ซึ่งส่งผลให้ต้นตำเสาทยอยตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน

 

“อีกไม่นานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ จะกลายเป็นสลัมตึกผุดขึ้นตึกแล้วตึกเล่า พื้นดินจะไม่มีหญ้าสีเขียวที่ถูกแทนที่ด้วยพื้นซีเมนต์คอนกรีต ความร่มรื่นจะหายไป ต้นไม้จะตายซากสุดท้ายก็ต้องโค่นเหลือเพียงตอให้รำลึกถึงความทรงจำ บรรยากาศมหาวิทยาลัยจะแปรเปลี่ยนถูกครอบงำด้วยทุนนิยมสุดโต่ง ตัวชี้วัดคือค่าเทอมและค่าบริการจะสูงขึ้น จนนักศึกษาไม่สามารถจะจ่ายได้ ท้ายที่สุดมหาวิทยาลัยจะกลายเป็นมหาวิทยาลัยร้าง”

เป็นความในใจที่อัดอั้นของอาจารย์ที่ไม่อยากเปิดเผยตัวตน ได้แสดงความเห็นถึงภูมิทัศน์ และสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัย ที่กำลังแปรสภาพ ด้วยการรุกรานของความเจริญ ประเคนความสะดวกสบายให้อย่างไม่ลืมหูลืมตา

นี่คือ เสียงสะท้อนจากอาจารย์และนักศึกษาส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยจากการรุกรานของลานจอดรถที่รุกล้ำนำไปสู่การตัดโค่นต้นตำเสาออกบางส่วน เพื่อนำพื้นที่ตรงบริเวณคณะศิลปศาสตร์มาใช้งาน ตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้า โดยไม่ได้คำนึงถึงบรรยากาศและร่มเงาของต้นไม้ ที่กำลังจะหายไป

สังเกตได้ว่าต้นตำเสาเริ่มตายไปทีละต้นสองต้น สาเหตุที่ทำให้ต้นตำเสาบริเวณลานจอดรถตายนั้น น่าจะเกิดจากพื้นที่ลาดเทปูนซิเมนต์เก็บความร้อน ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของต้นตำเสา

ประมาณเดือนสองเดือนที่ผ่านมา มีข่าวการประมูลไม้ตำเสาที่ถูกโค่นในราคากลางเพียงต้นละ 1,000 บาท ซึ่งเป็นการประมูลต้นไม้ภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเจตหาดใหญ่เป็นครั้งแรก

เป็นการประมูลที่รู้กันเฉพาะในวงแคบๆ ปากต่อปากกันเท่านั้น ไม่ได้มีการประกาศผ่านสื่ออื่นใดให้ทราบอย่างแพร่หลาย ตอนนี้ไม้ที่มีประมูลได้ตกไปอยู่ในมืออาจารย์รายหนึ่ง ด้วยราคาเพียง 20,000 กว่าบาทเท่านั้น

ต้นตำเสาเป็นสวนป่าอยู่คู่กับมหาวิทยาลัยมานานกว่า 40 ปี เป็นพันธุ์ไม้หายาก กว่าจะโตต้องคอยดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างมาก เสียงสะท้อนจากคนรักษ์ต้นไม้คนหนึ่งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ ว่า

“มาทำงานที่นี่เกือบ 20 ปี เห็นต้นตำเสาอยู่ก่อนแล้ว ค่อยๆ ดูมันเติบโตจนกลายเป็นดง ต้นตำเสาอวดรูปทรงสวยงาม และหอมกรุ่นหวานประชันกัน อยู่มาวันหนึ่งมีการทำลานจอดรถแบบตัวหนอน ตรงบริเวณดงต้นตำเสา หน้าคณะศิลปศาสตร์ เจ้าของโครงการประกันว่า จะคงสภาพเดิมไว้

“ในวันที่เขาขุดดินทำลานจอดรถ ดิฉันคิดอย่างมองโลกในแง่ดีว่าใครก็รู้ว่า ดงตำเสาดงนี้เป็นพื้นที่สวยที่สุดของมหาวิทยาลัย ดิฉันคิดว่าเขาคงเก็บมันไว้ ไม่ให้มันตาย แต่วันนี้กลับมองเห็นต้นตำเสายืนตายอย่างเศร้าใจ”

ใครจะรู้บ้างว่า อาจารย์ผู้นี้เป็นอีกคนหนึ่งที่เสียใจ เพราะไม่มีโอกาสได้เห็นต้นตำเสาเหล่านั้น อวดโฉมความงามส่งกลิ่นหอมเย็น ในวันเปิดเทอมของทุกปีอีกต่อไป เธอกับลูกๆ ไปนั่งเล่นตรงบริเวณที่เคยเป็นดงต้นตำเสา เด็กๆ บ่นว่าเสียดาย.... มันไม่สวยเหมือนเดิมแล้ว ลูกๆ ของเธอบอกด้วยน้ำเสียงสดใสว่า “แม่ไปบอกให้เขาปลูกใหม่ซิ”

แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะแก้ปัญหาด้วยการนำต้นตำเสามาปลูกทดแทนต้นที่ตายไป คำถามก็คือเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทางแล้วหรือ?

วันนี้ เธอรำลึกถึงบรรยากาศเก่าๆ พร้อมกับเฝ้ามองต้นตำเสาที่ทยอยตายไป ด้วยหัวใจที่แสนหดหู่

................................

 
กันเกรา
 
 
 
ต้นกันเกรา เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ขึ้นโดยทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน จะออกดอกเป็นช่อสีขาว มีกลิ่นหอมเย็น
 
กันเกรามีชื่อเรียกต่างกันไป ภาคกลาง เรียกกันเกรา ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกมันปลา ภาคใต้ เรียกตำแสงหรือตำเสา
 
ถือเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง หมายถึงกันสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายไม่ให้มาทำอันตรายใดๆ ชื่อตำเสาจะเป็นมงคลแก่เสาบ้าน ไม่ให้ปลวก มอด แมลงต่างๆ เจาะกิน มีคุณสมบัติที่ดีในการใช้ประโยชน์
 
ลักษณะต้นตำเสา มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15 - 25 เมตร เปลือกสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องลึกไม่เป็นระเบียบ
 
ใบเดี่ยวออกตรงกันข้าม แผ่นใบรูปมนขนาดกว้าง 2.5 - 3.5 เซนติเมตร ยาว 8 - 11 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือยาวเรียว ฐานใบแหลม โคนมน ใบเขียวมันวาว มีทรงพุ่มเป็นทรงฉัตรแหลมสวยงาม
 
ดอกเริ่มบานสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง กลิ่นหอมเย็น
 
ผลกลมเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 มิลลิเมตร สีส้มแล้วเปลี่ยนไปเป็นสีแดงเลือดนกเมื่อแก่เต็มที่ มีเมล็ดขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก ขยายพันธุ์โดยเมล็ด
 
ประโยชน์ของต้นตำเสา ได้แก่ เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน เสี้ยนตรง เนื้อละเอียด เหนียว แข็งทนทาน ใช้ในการก่อสร้าง นิยมใช้ทำเสาเรือน แก่นมีรสฝาดใช้เข้ายาบำรุงธาตุ แน่นหน้าอก เปลือกใช้บำรุงโลหิต ผิวหนังพุพอง ปลูกเป็นไม้ประดับ
 
ลักษณะลำต้นที่สวยงาม ทั้งลวดลายของเปลือกและเนื้อไม้ เหมาะแก่การนำไปใช้ประโยชน์ทำเครื่องเรือน และเครื่องใช้ต่างๆ มีน้ำมันหอมระเหยที่เปลือก
 
ที่มา - th.wikipedia.org/wiki/
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net