Skip to main content
sharethis
14 พ.ย. 52 - นพ.ธนะพงศ์ จินวงศ์ ผู้จัดการโครงการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวว่า ศวปถ.ร่วมกับสวนดุสิตโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ในการสำรวจความเห็นคนทั่วประเทศ เรื่อง “การเคารพวินัยจราจรเพื่อลดอุบัติเหตุ" จากกลุ่มตัวอย่าง 1,172 คน พบว่า ได้มีการเสนอแนะ ควรจะมีการเพิ่มโทษเมาแล้วขับจากเดิมปรับ 5,000 บาท และรอลงอาญา เป็นปรับเงินให้มากขึ้นและเปลี่ยนเป็นโทษกักขังแทน ส่วนผู้ที่ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เสนอให้เพิ่มโทษหนักขึ้น เช่น ยึดใบขับขี่ ติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วอัตโนมัติบนถนนสายสำคัญทั่วประเทศ
จากผลสำรวจระบุ เคยประสบอุบัติเหตุจากการเดินทางร้อยละ 58.73 สาเหตุอันดับ 1 มาจากขับรถโดยประมาทร้อยละ 38.82 รองลงมาคือ ฝนตกและทัศนะวิสัยไม่ดี ร้อยละ 13.24 และการขับรถผิดกฎจราจรร้อยละ 11.76 โดยพบว่าพฤติกรรมไม่เคารพกฎหมายและกฎจราจร มีหลายรูปแบบ เช่น มีคนสวมหมวกกันน็อกทุกครั้งที่ขับขี่เพียงร้อยละ 46.67 ทั้งๆ ที่ควรจะมากกว่านี้ หรือการขับขี่รถย้อนศรปรากฏว่าประชาชนเห็นการขับขี่ย้อนศรเป็นประจำถึงร้อยละ 78.40
นอกจากนี้ ยังมีการฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องการขับรถเร็วเกินกว่ากำหนด ซึ่งอาจจะมาจากสาเหตุทางกายภาพของถนนที่มีเลนมากขึ้นและอาจเข้าใจผิดในเรื่องอัตราความเร็วของรถ เพราะผู้ที่ตอบแบบสอบถามประมาณร้อยละ 34.40 เข้าใจว่าต้องขับขี่ความเร็วเกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไปจึงถือว่าเป็นอัตราที่ไม่ปลอดภัย
สถิติ "อุบัติเหตุท้องถนน" ทั่วโลกพุ่งสูง ยอดตาย 1.2 หมื่นคนต่อปี
องค์การอนามัยโลกรายงานว่าในแต่ละปี คนทั่วโลกเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนประมาณ 1.3 ล้านคน ในจำนวนนี้ได้รับบาดเจ็บและพิการถึง 50 ล้านคน ร้อยละ 90 ของอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วโลก เกิดในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลาง ในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ คนเดินทางถนน และการเดินทางด้วยระบบโดยสารสาธารณะที่ไม่ปลอดภัย และประมาณการว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า อุบัติเหตุบนท้องถนนจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลก ดังนั้น วันที่ 19-20 พฤศจิกายนนี้ องค์การสหประชาชาติจึงจัดให้มีการประชุมระดับผู้บริหารของทุกประเทศ ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เพื่อหาความร่วมมือเกี่ยวกับเรื่องนี้
นพ.ธนะพงศ์กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเฉลี่ย 12,000 คน หรือวันละ 33 คน และจะเพิ่มเป็น 2 เท่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่ โดยพบว่า 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตจะเป็นกำลังหลักของครอบครัว ร้อยละ 30 ของผู้บาดเจ็บอายุต่ำกว่า 20 ปี และแต่ละปีจะมีผู้พิการรายใหม่กว่า 5,000 ราย จากการศึกษาพบว่าร้อยละ 80 ของอุบัติเหตุที่เกิดบนท้องถนนเป็นจักรยานยนต์ ทำให้มีผู้ที่บาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ถึง 8,000 คนต่อปี โดยแนวโน้มของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ในกลุ่มเยาวชนที่อายุน้อยกว่า 15 ปีเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การสวมหมวกนิรภัยของผู้ขับขี่ที่เข้ารับการรักษาเฉลี่ยร้อยละ 14 และผู้ที่ซ้อนท้ายร้อยละ 4.7 ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ระบุว่า ประเทศไทยมีมูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 232,845 ล้านบาทต่อปี หรือร้อยละ 2.8 ของจีดีพีประเทศ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปที่ไม่ควรเกินร้อยละ 1-2
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์,เว็บไซต์มติชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net