Skip to main content
sharethis
กิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม
 
เรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องสำคัญที่จะเข้ามามีผลกระทบต่อชาวบ้าน  และดูเหมือนว่าทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายเรื่องโลกร้อนถูกกำกับดูแลหรือถูกควบคุมโดยรัฐ  และประเด็นเรื่องโลกร้อนไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วม ทั้งยังมุ่งไปสู่ผลประโยชน์ทางด้านทุนและผลักภาระไปให้กับประเทศโลกที่สาม  ซึ่งประเทศที่เป็นคนสร้างปัญหาเรื่องโลกร้อนไม่ได้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เอง
 
โลกร้อนเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชนเผ่าทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลกระทบทางตรงที่ชนเผ่าได้รับนั้นจะเป็นเรื่องทั่วไป เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ ผลกระทบทางด้านสุขภาพ  การเกษตร  และการทำไร่  โดยเฉพาะไร่หมุนเวียนซึ่งถูกมองว่าเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดปัญหา และผลกระทบทางอ้อมนั้นมาจากนโยบายหรือกิจกรรมจากการที่รัฐไปจัดทำหรือเกิดจากการพูดคุยกันระหว่างประเทศ  ซึ่งก็คืออนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  และพิธีสารเกียวโต
 
อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  มีเป้าหมายรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกให้คงที่ไม่ให้เป็นอันตรายต่อมนุษย์  มุ่งเน้นไปยังประเทศอุตสาหกรรมเป็นหลัก  วัตถุประสงค์คือให้ประเทศที่พัฒนาแล้วลดปริมาณของก๊าซเรือนกระจก  และให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีกับประเทศที่กำลังพัฒนา  และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งให้ทางคณะกรรมการพิจารณา  อีกทั้งยังมีการพูดถึงการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับปัญหาโลกร้อนในทุกวันนี้  แต่อนุสัญญานี้เป็นเพียงกรอบหรือหลักการกว้างๆ  ไม่มีข้อผูกมัดตามกฎหมาย  หลายคนจึงมองว่าอนุสัญญานี้อ่อนเกินไปในการนำมาจัดการแก้ไขปัญหาจึงได้มีการเสนอการทำพิธีสารเกียวโตขึ้นมา  ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่มีข้อผูกมัดให้ประเทศที่ลงนามแล้วปฏิบัติตาม  โดยได้มีการเสนอตั้งแต่ปี 2540  แต่ก็ต้องมีการลงนามให้ครบตามจำนวนซึ่งใช้เวลานาน จึงมีผลบังคับใช้ในปี 2548  โดยหลักการของพิธีสารเกียวโตจะเกี่ยวข้องกับการค้าขายก๊าซคาร์บอน  โดยมองว่าก๊าซเรือนกระจกนั้นไม่มีพรมแดน  ถึงแม้ไปปล่อยอเมริกาก็ยังสามารถไหลมาที่ไทยได้  ในอากาศไม่มีจุดควบคุมได้  ซึ่งพิธีสารเกียวโตจะเน้นกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว  หรือที่เรียกว่าประเทศภาคผนวกที่ 1 ซึ่งจะต้องลดก๊าซประมาณ 5.2% โดยใช้ฐานในปี 1991  แต่หลายคนมองว่าการลดก๊าซปริมาณนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้  เพราะสำหรับกลุ่มประเทศเหล่านี้นั้นอาจต้องลดถึง  60-70% จึงจะแก้ปัญหานี้ได้ 
 
พิธีสารเกียวโตเน้นไปที่ประเทศกลุ่มอุตสาหกรรม  แต่ไม่ได้เน้นในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา  ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาไม่ต้องมีเงื่อนไข  เพียงแต่ทำตามอัตภาพที่ประเทศของตนพึงมีถือเป็นเจตนารมณ์ของพิธีสารเกียวโต  โดยหลักการนั้นจะเน้นเรื่องของการค้าขายคาร์บอนเป็นหลัก  มี 3 อย่าง  คือ  การค้าขายระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว  การลงทุนร่วมกันในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว  และโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM:Clean Develoment Machanism)  ซึ่งเป็นโครงการชดเชย  ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่พัฒนาแล้ว  ซึ่งประเทศที่พัฒนาเหล่านี้ยังคงมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนอยู่แล้วเพียงแต่หาโครงการมาชดเชย  เช่น การปลูกป่า  โครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำ  การสร้างกังหันลม  พลังงานแสงอาทิตย์  พลังงานใต้พิภพ  พลังงานชีวมวล  การกำจัดของเสีย  เป็นต้น  โดยโครงการเหล่านี้สามารถทำให้เกิดกระบวนการขายคาร์บอนแก่ส่วนกลางภายใต้การควบคุมของ UN  นอกจากนั้นยังมีโครงการในส่วนของพืชพลังงานที่ยังคงผลักดันให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการชดเชยดังกล่าวด้วย
 
นอกจากนี้ยังมีโครงการ REDD (Reducing Emission from Deforestation and Degradation in Developing Countries) เป็นอีกโครงการหนึ่งที่มุ่งเน้นให้มีการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้  ซึ่งมีส่วน 20%  ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน  เรดด์เป็นโครงการชดเชยให้ประเทศที่มีป่าไม้หรือประเทศที่กำลังพัฒนา  ไม่ให้มีการทำลายป่าไม้และนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจก  แต่ในด้านของกองทุนในตอนนี้ยังไม่ชัดเจน  เนื่องจากมีหลายแนวคิดที่เสนอมาจึงไม่มีข้อยุติ  แต่ในทางปฏิบัติได้มีธนาคารโลกเข้ามาช่วยนำร่องโครงการนี้อยู่  ซึ่งโครงการเรดด์จะมีหลักการในการนำเสนอโครงการ  กล่าวคือ  ต้องเสนอโครงร่าง R-Plan  ตามกรอบธนาคารโลก  โดยมีประเทศปานามาได้ลองเสนอโครงการแล้ว  แต่มาตรฐานธนาคารโลกมีการตั้งกรอบไว้สูง  จึงมีการปรับ R-Plan ซึ่งลดเงื่อนไขโดยรวมให้ง่ายขึ้น  โดยในตอนนี้มีทั้งหมด 37 ประเทศเข้าร่วม  ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยไทยเสนอโครงการครั้งแรกในปี 2551  แต่ได้รับการอนุมัติในปี 2552  โดยพื้นที่ที่ใช้ทำโครงการคือพื้นที่โครงการเขตเชื่อมต่อของเขตตะนาวศรี 
 
ในมุมมองของชนเผ่าต่อสถานการณ์นี้กลับมองว่า  ป่าไม้ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่กักเก็บคาร์บอน  แต่ป่านั้นเป็นแหล่งอาศัย  เป็นปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตของตน ซึ่งหากมองป่าเป็นเพียงแต่ที่กักเก็บคาร์บอนก็จะทำให้เห็นไม่เห็นมิติป่าเหมือนที่ผ่านมาในอดีต  และความขัดแย้งเดิมๆในพื้นที่ระหว่างรัฐกับชาวบ้านยังคงมีอยู่หากโครงการเรดด์เข้าไปอาจส่งผลกระทบต่างๆตามมา
 
ในท่าทีของชนเผ่าต่อกลุ่มองค์กรเรดด์แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม  โดยกลุ่มแรกนั้นเห็นด้วยเพราะอาจได้รับผลประโยชน์จากการดูแล  ซึ่งมองถึงศักยภาพของตัวเองกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ตนเองมีอยู่แล้ว  ในกลุ่มที่สองนั้นไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าเรดด์นั้นไม่ได้มีประโยชน์กับตนเอง  แต่หากต้องการให้เห็นด้วยก็ต้องยอมรับเงื่อนไขต่างๆของชนเผ่าด้วย  และกลุ่มสุดท้ายนั้นเป็นกลางเนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษา  ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด 
 
ในด้านนโยบายชนเผ่าทั่วโลกก็ได้มีการจัดตั้งเวทีระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเวทีเรียนรู้แลกเปลี่ยนยุทธศาสตร์  และผลักดันประเด็นต่างๆในมิติของชนเผ่าต่อนโยบายของรัฐ  ซึ่งโจทย์ใหญ่ก็คือให้มีการบรรจุเรื่องของสิทธิเข้าไป  เพราะกิจกรรมที่ทำมาหากไม่นำเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไปจะทำให้เกิดปัญหาและแก้ไขยาก  แต่การดันเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไปมีประสบปัญหาในแง่ของการยอมรับจากประเทศต่างๆ ซึ่งประเทศที่คัดค้านมากที่สุดมีอยู่ 4 ประเทศ  คือ  สหรัฐอเมริกา  แคนาดา  นิวซีแลนด์  และออสเตรเลีย  ซึ่งเป็นประเทศที่คัดค้านปฏิญญาสากลสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองมาตั้งแต่ต้น  ซึ่งถ้าเอาเรื่องสิทธิเข้าไปในเชิงนโยบายจะถูก 4 ประเทศคัดค้าน  เพราะทั้งสี่ประเทศมองว่าหากนำเรื่องสิทธิเข้าไปในนโยบายจะมีปัญหาเรื่องการดำเนินการทำให้รัฐทำงานยาก ส่วนในระดับการปฏิบัติก็พี่น้องชนเผ่ามีการทำวิจัยการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบ  จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเพื่อให้มีอาวุธในการเจรจาหรือพูดคุยเพื่อไม่ให้เสียเปรียบ  และมีการติดตามงานในระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่พี่น้องชนเผ่าพยายามปฏิบัติกันอยู่
 
 
ประยงค์  ดอกลำไย กองเลขาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)
 
เรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องการเมืองซึ่งใช้ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์มาต่อรอง  เพราะฉะนั้นการเมืองในปัญหาโลกร้อนก็เท่ากับการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนาว่าใครมีสิทธิที่จะปล่อยคาร์บอนได้มากกว่ากัน  แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นมีข้อจำกัด  ซึ่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญที่ชี้วัดวามเป็นธรรม  แต่เครื่องมือเหล่านี้กลับไปอยู่ภายใต้กลุ่มคนทางการเมืองมากกว่าชาวบ้านทั่วไป
 
ว่าด้วยเรื่องการปล่อยคาร์บอนในประเทศที่พัฒนาแล้ว  อย่างจีนและสหรัฐเป็นประเทศชั้นนำในการปล่อยคาร์บอน  และไทยเราก็เป็นประเทศในลำดับที่ 20 โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วประสบปัญหาในการเป็นตัวเก็งเรื่องการปล่อยคาร์บอนจึงทำให้มีการคุกคามด้านอุตสาหกรรมที่นำเข้ามาผลิตในประเทศไทย  หากอุตสาหกรรมหลักในการผลิตถูกย้ายมาจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว  และผลผลิตที่เกิดขึ้นยังต้องส่งไปประเทศเหล่านั้น  จะทำให้ปริมาณคาร์บอนภายในประเทศเราสูงขึ้นจนอาจจะทำให้ขยับอันดับไปยังอันดับที่ 15 ซึ่งการปล่อยคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคที่ปล่อยคาร์บอนสูงสุด  ในทางกลับกันทางภาคเกษตรเป็นภาคที่ปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด  แต่ภาครัฐกลับหยิบยกประเด็นสัดส่วนภาคการเกษตรมาถกเถียงพูดคุยกันมากที่สุด
 
การเมืองกับปัญหาโลกร้อนและป่าไม้  ซึ่งเป็นปัญหาดั้งเดิม เป็นข้อกล่าวหาของชุมชนคนในป่า  จากเดิมที่เป็นปัญหาในด้านการทำลายแหล่งต้นน้ำ แต่ในสถานการณ์นี้ชาวบ้านก็ถูกกล่าวหาเพิ่มเติมว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอีกด้วย  จากการตัดไม้ทำลายป่า  ซึ่งชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากประเด็นปัญหานี้เป็นอย่างมาก
 
ในการวิจัยพื้นที่บ้านหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เครื่องมือชิ้นแรก คือ รอยเท้านิเวศน์ (ฟู้ดปริ๊นส์) นำมาศึกษาถึงปริมาณการบริโภคและการผลิตระหว่างชาวบ้านหินลาดใน  และคนในเมือง  ซึ่งจะมองในสามสัดส่วน ว่าด้วยเรื่อง การบริโภค  พลังงาน  และพื้นที่เสื่อมโทรม  ส่วนเครื่องมือชิ้นที่สองเป็นเรื่องของสำรับอาหารก็จะทำการเก็บแหล่งที่มาของอาหารและปริมาณการบริโภคเป็นเวลาหนึ่งเดือน  ซึ่งเป็นตัวชี้วัดทางด้านอาหารด้วยว่านำเข้าเท่าไหร่และผลิตเองเท่าไหร่  และเครื่องมือชิ้นที่สามเป็นเรื่องการตรวจวัดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากนา ไร่  สวน  โดยสามารถอธิบายถึงปริมาณการกักเก็บคาร์บอนภายในพื้นที่ได้.
 
หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ) จัดเวทีสาธารณะเรื่อง ข้อหาโลกร้อน คาร์บอนเครดิต ฯลฯ เรื่องน้อยนิดมหาศาลที่ชาวบ้านเผชิญอยู่ในขณะนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิด รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีวิทยากรหลักคือ กิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี ผู้ประสานงานมูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม นำคุยในประเด็น โลกร้อนและผลกระทบสถานการณ์ชนเผ่า และ ประยงค์ ดอกลำไย กองเลขาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) นำคุยในประเด็น ผลกระทบโลกร้อนกับเกษตรกรในเขตป่า พร้อมกับการศึกษา ฟู๊ดปรินส์ บ้านหินลาดใน จ.เชียงราย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net