Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
“ไม่มีสิ่งผิดพลาดใดในประเทศนี้ที่การเลือกตั้งที่ดีไม่สามารถแก้ไขได้”
ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน
29 ตุลาคม 2511
 
 
ในวาระครบรอบ 36 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 33 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งส่วนหนึ่งของกิจกรรมสำคัญก็คือ การจัดงานเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในวาระดังกล่าว แต่ในวาระเช่นนี้ก็จะต้องคิดถึงเรื่องของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยของประเทศในอนาคตด้วย เพราะเราจะรำลึกแต่เพียงอดีต โดยไม่มองไปในอนาคตไม่ได้
 
ถ้าต้องคิดถึงความท้าทายในอนาคต ประชาธิปไตยไทยจะเผชิญกับเรื่องราวและประเด็นที่หลากหลายมากขึ้น อย่างน้อยจะมีสิ่งที่เป็นปัญหาท้าทายใน 8 ประเด็นใหญ่ ได้แก่
 
 
1) ความท้าทายจากกระบวนการคิด
กระบวนการคิดทางการเมืองในการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทยเป็นประเด็นที่น่าจะนำมาพิจารณาอย่างมาก เพราะหากเราลองพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่า ในหลาย ๆ ครั้งเรามักจะคิดถึงประชาธิปไตยเหมือนกับการคิดถึง “อาหารสำเร็จรูป” เช่น เราคิดว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นโดยง่ายๆ หรือมีอาการแบบที่มีคนวิจารณ์ในละตินอเมริกาว่าเป็นพวก “ลัทธิเดี๋ยวนี้” (nowism) คือประชาธิปไตยจะต้องทำให้ทุกอย่างดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพทันที
 
ดังนั้นหากมองในทางการเมือง กระบวนการคิดแบบการทำอาหารสำเร็จรูป อาจจะทำให้เรามีลักษณะเป็น “สังคมมาม่า” (คิดอะไรง่ายและอยากได้เร็ว เหมือนทำบะหมี่ด้วยการใส่น้ำร้อนแล้วรับประทานได้เลย) ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดกระบวนการสร้าง “ประชาธิปไตยแบบเนสกาแฟ” ที่มองว่า ประชาธิปไตยสามารถสร้างได้เหมือนกับกาแฟสำเร็จรูป ที่ตักใส่ถ้วยและใส่น้ำร้อนก็รับประทานได้ทันที (การเอ่ยถึงชื่อผลิตภัณฑ์สินค้าไม่ได้ต้องการโฆษณา แต่ต้องการนำเสนอภาพเปรียบเทียบในเชิงภาษา)
 
การคิดเช่นนี้เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาของประชาธิปไตย เช่น นักการเมืองโกง หรือกระบวนการเมืองไร้ประสิทธิภาพ แทนที่เราอยากจะสร้างกลไกการเมืองที่เข้มแข็งเพื่อใช้ในการกำกับระบบการเมือง เราก็มักคิดแก้ปัญหาในแบบการทำอาหารสำเร็จรูปอีก คือ เมื่อสร้างง่ายก็ล้มง่าย หรือถ้าได้มาง่ายและไม่ถูกใจ ก็ล้มไปก่อน แล้วค่อยสร้างใหม่ การคิดเช่นนี้ทำให้เราไม่ค่อยจะอดทนกับปัญหา และมักจะไม่ยอมรับว่า เราต้องการความ “อดทน” และ “อดกลั้น” ต่อการสร้างประชาธิปไตย และในขณะเดียวกันก็ต้องการระยะเวลาเพื่อให้ประชาธิปไตยถูก “ฟูมฟัก” ให้แข็งแรง เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาอื่นๆ มิใช่การคิดแก้ปัญหาการเมืองด้วยความเชื่อว่าคอร์รัปชั่นต้องแก้ด้วยการรัฐประหาร เพราะก็เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่า รัฐบาลทหารที่มาจากรัฐประหารจะคอร์รัปชั่นน้อยกว่ารัฐบาลพลเรือนที่ถูกล้มลง
 
 
2) ความท้าทายจากปัญหาความขัดแย้ง
ไม่ว่าจะเป็นการเมืองหลัง 2475 หรือหลัง 2516 หรือหลัง 2535 ล้วนแต่มีความขัดแย้งทางการเมือง ดำรงอยู่อย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ดูเหมือนว่า ความขัดแย้งในปัจจุบันอาจจะมีความซับซ้อนมากกว่า อันเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระหว่างชนชั้นนำและผู้มีอำนาจทางการเมือง และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นปัญหาระหว่างชนชั้นนำกับประชาชนบางกลุ่มต่อทิศทางและอนาคตการเมืองไทย
 
ความขัดแย้งในปัจจุบันถูกสะท้อนออกเป็นสีเสื้อจนมีผู้เปรียบเทียบว่า การต่อสู้ในการเมืองไทยครั้งนี้เป็นเสมือนกับ “การแข่งกีฬาสี” และจนบัดนี้ก็ไม่มีความชัดเจนว่าทิศทางของการแก้ปัญหาความขัดแย้งใน “สงครามกีฬาสี” เช่นนี้ จะให้ใครหรือองค์กรใดเป็นส่วนหลักของการแก้ปัญหา และจะแก้ด้วยกลไกใดเพื่อทำให้สังคมไทยกลับสู่สภาวะเดิมได้เร็ว
 
ดังนั้นถ้าเราจำลองความขัดแย้งชุดนี้ในรูปของสมการกึ่งคณิตศาสตร์แล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า สมการของความขัดแย้งในการเมืองไทยได้แก่
 
แดง – (เหลือง-ขาว) – (เขียว+น้ำเงิน) = 0
 
สมการเช่นนี้บอกแก่เราว่า ประชาธิปไตยที่จะถูกสร้างขึ้นจะต้องสร้างแนวคิดและกลไกของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองรองรับไว้ด้วยในอนาคต มิฉะนั้นแล้ว สมการจำลองชุดนี้อาจจะกลายเป็น “สมการสงครามการเมือง” ได้ในวันข้างหน้า
 
 
3) ความท้าทายจากปัญหากองทัพกับการเมือง
ปัญหาเช่นนี้ว่าที่จริงเป็นเรื่องเก่าตกค้างมาตั้งแต่ยุค 2475 เรื่อยมาตลอดจนหลัง 2516 และหลัง 2525 จนถึงหลังรัฐประหาร 2549 ก็ยังคงเป็นประเด็นเก่าที่ยังคงต้องการคำตอบอย่างจริงจังจากสังคมไทยมากขึ้นว่า ประชาธิปไตยไทยในอนาคตจะสามารถจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพอย่างไร (หรือที่ในทางทฤษฎีเรียกว่า “ความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร”) หรือจะสร้างกรอบทางความคิดอย่างไรที่จะต้องตอบปัญหาสำคัญ 2 ประการคือ
 
1. บทบาทของทหารในระบอบประชาธิปไตย
2. ทิศทางของการสร้างและพัฒนากองทัพที่สัมพันธ์กับระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย
 
ปมของปัญหาทั้งสองประการสรุปง่าย ๆ ก็คือ ระบอบประชาธิปไตยไทยจะสร้าง “ทหารอาชีพ” ให้เกิดขึ้นในระบอบการเมืองไทยอย่างไร และทหารอาชีพเช่นนี้มี “พื้นที่ทางการเมือง” อยู่ในขอบเขตเช่นไรในระบบประชาธิปไตยไทยในอนาคต คำถามเช่นนี้ทำให้เราต้องคิดและแสวงหาคำตอบให้ได้ เพราะความสำเร็จของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยไทยยังคงขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับการทหารภายใต้กรอบเรื่อง “การควบคุมทหารโดยพลเรือน” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
 
4) ความท้าทายจากปัญหาความมั่นคงภายใน
กระบวนการสร้างประชาธิปไตยในอนาคตจะต้องตอบให้ได้ถึงการบริหารจัดการปัญหาความมั่นคงภายใน ดังจะเห็นได้จากความท้าทายปัจจุบันก็คือ ประชาธิปไตยจะแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภายใต้ของประเทศอย่างไร ไม่ใช่การตอบปัญหาว่าจะแก้ได้หรือแก้ไม่ได้ แต่ประเด็นของคำถามคือ จะแก้ปัญหาอย่างไร ตลอดรวมถึงในท้ายที่สุดจะยุติปัญหาในแบบใดที่ไม่กลายเป็นความขัดแย้งในสังคม จนกลายเป็นจุดแตกหักในทางการเมือง หรือกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยต้องแตกสลาย (democratic breakdown) ตัวอย่างของปัญหานี้เห็นได้จากกรณีของการแพ้สงครามเรียกร้องเอกราชของฝรั่งเศสในแอลจีเรีย มีผลทำให้กลุ่มทหารปีกขวาในกองทัพถึงขั้นตัดสินใจทำรัฐประหารรัฐบาลของประธานาธิบดีเดอโกล เป็นต้น
 
 
5) ความท้าทายจากปัญหาความมั่นคงภายนอก
ความท้าทายคู่ขนานกันอีกประการก็คือ ปัญหาความมั่นคงภายนอกว่า ระบอบประชาธิปไตยไทยในอนาคตจะบริหารจัดการปัญหาความมั่นคงภายนอกอย่างไร ดังตัวอย่างจากปัญหาความมั่นคงในปี 2551-52 ก็คือ ประชาธิปไตยไทยจะมีบทบาทในการจัดความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับประเทศเพื่อนบ้านดังตัวอย่างจากกรณีของปัญหาเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาอย่างไร และถ้าหลักการทางการทูตในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องการแก้ปัญหาด้วยการเจรจาเป็นวิธีการหลักแล้ว หลักการเช่นนี้จะรับมือกับการขยายตัวของลัทธิชาตินิยมของการเมืองภายในอย่างไร หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ ประชาธิปไตยในอนาคตจะเปราะบางเกินไปจากการขยายตัวของการปลุกระดมลัทธิชาตินิยมหรือไม่
 
ในอีกด้านหนึ่ง ประชาธิปไตยไทยจะจัดความสัมพันธ์กับบทบาทของรัฐมหาอำนาจอย่างไร ดังที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อแล้วว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยหน่วยงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ คือ USAID ได้เตรียมโครงการ (พร้อมทุน) ในการ “ดูแล” ประเทศไทยใน 3 มิติคือ
 
1. ประชาธิปไตยและธรรมภิบาลทางการเมือง
2. ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
3. การบรรเทาภัยพิบัติขนาดใหญ่
 
ตัวอย่างของเรื่องราวที่ USAID กำลังทำหน้าที่เหมือนเป็น “ผู้ปกครอง” เข้ามา “ดูแล” ปะเทศไทย จึงต้องคิดไปในอนาคตว่า ประชาธิปไตยไทยในวันข้างหน้าจะจัดความสัมพันธ์กับรัฐมหาอำนาจอย่างไร หรือประชาธิปไตยจะดำรงตนเป็น “เด็กนักเรียน” ที่ยังคงต้องให้หน่วยงานของรัฐบาลอเมริกันเป็น “ผู้ปกครอง” ที่คอยดูแลเรื่อยไปไม่สิ้นสุด
 
 
6)  ความท้าทายจากการขยายตัวของระบอบทุนนิยม
หนึ่งในปัญหาสำคัญที่จะต้องตอบในอนาคตก็คือ การจัดความสัมพันธ์ระหว่างระบบการเมืองกับระบบเศรษฐกิจของประเทศในทางทฤษฎี เราอาจกล่าวได้ว่า ถ้าจะทำให้ระบบการเมืองของประเทศเป็นประชาธิปไตยแล้ว ก็จะต้องทำให้ระบบเศรษฐกิจเป็นทุนนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรืออีกนัยหนึ่งความสัมพันธ์ที่ต้องยอมรับก็คือ ระบบการเมืองเสรีต้องมีปัจจัยพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจเสรีรองรับไว้ แต่ในขณะเดียวกันมิได้มีนัยว่าเศรษฐกิจเสรีแล้วจะทำให้การเมืองเป็นเสรีตามไปด้วยเสมอไป (ถ้ากล่าวในทางทฤษฎีก็คือ การเมืองจะเสรีต้องมีเศรษฐกิจเสรี แต่เศรษฐกิจเสรี มิได้หมายความว่าการเมืองจะต้องเสรีไปด้วย)
 
ในความสัมพันธ์เช่นนี้ จึงเป็นประเด็นสำคัญอย่างมากว่าประชาธิปไตยไทยจะจัดความสมดุลและความสัมพันธ์กับการพัฒนาของเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมอย่างไร ตลอดรวมทั้งเราจะให้บทบาทของปัจจัยทางเศรษฐกิจเข้ามามีส่วนในทางการเมืองมากน้อยเพียงใด ซึ่งก็คล้ายกับปัญหาของความสัมพันธ์กับกองทัพก็คือ ประชาธิปไตยจะเปิด “พื้นที่ทางการเมือง” ให้กับการพัฒนาและการขยายตัวของระบบทุนนิยมมากน้อยเพียงใด อีกทั้งประเด็นนี้ยังครอบคลุมถึงขีดความสามารถของกลไกประชาธิปไตยในการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งในยามปกติและยามวิกฤต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ ตลอดรวมถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจใหม่ๆ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศ หรือการจัดตั้งเขตการค้าเสรี เป็นต้น
 
 
7) ความท้าทายจากการกระจายอำนาจ
โลกทางการเมืองปัจจุบันเป็นยุคสมัยของการกระจายอำนาจ ซึ่งจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ความอ่อนแอของรัฐในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือความมั่นคงก็ตาม ในสภาพเช่นนี้ยังเห็นได้ชัดเจนถึงการขยายบทบาทของภาคสังคม หรือที่เรียกกันว่า “ประชาสังคม” (civil society) หรือหากกล่าวในภาพรวมก็คือ โลกาภิวัตน์เป็นยุคของความอ่อนแอของรัฐ ที่มาคู่ขนานกับแนวคิดของการกระจายอำนาจ ซึ่งรัฐและสังคมไทยก็อยู่ภายใต้กระแสนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
ในด้านหนึ่งที่เป็นรูปธรรม เราอาจจะเห็นถึงบทบาททั้งของ อบต. และ อบจ. และในอีกด้านหนึ่งก็เห็นถึงความตื่นตัวทางการเมืองของคนในชนบทมากขึ้น ตลอดรวมถึงชนชั้นล่างในเมือง เรื่องราวเช่นนี้ให้คำตอบอย่างสังเขปว่า การสร้างประชาธิปไตยไทยอนาคตจะต้องคิดคู่ขนานกับเรื่องของการกระจายอำนาจ และบทบาทของชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบทที่มีความตื่นตัวมากขึ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ หมดยุคของประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์อำนาจ หรือการเมืองของชนชั้นนำในแบบ “ประชาธิปไตยชี้นำ” (Guided Democracy) ที่ปฏิเสธบทบาทของชนชั้นล่าง และขณะเดียวกันก็จะต้องรักษาสมดุลไม่ให้การเมืองกลายเป็น “ความขัดแย้งทางชนชั้น” ที่ไม่รู้จบ ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยบั่นทอนให้ประชาธิปไตยมีความเปราะบางได้
 
 
8) ความท้าทายจากการสร้างรัฐธรรมนูญ
ประเด็นนี้อาจจะเป็นหัวข้อที่สังคมไทยชอบถกเพราะเราพยายามทำทุกอย่างด้วยความเชื่อว่า รัฐธรรมนูญจะเป็นเครื่องมือในการ “ชำระ” เพื่อก่อให้เกิด “ความสะอาด” ในการเมืองของประเทศ และถ้าการเมืองไม่ดี เราก็จะอาศัยทหารเข้ามาเป็น “เทศบาล” เพื่อล้างความสกปรกให้หมดไป (คิดเสมือนทหารเป็น “พนักงานทำความสะอาด” เช่นถ้าท่อการเมืองตัน ก็ให้ทหารล้างท่อ) หรือไม่ก็สร้างรัฐธรรมนูญที่มีข้อกำหนดในแบบต่างๆ “ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย” โดยหวังว่าจะเป็นหนทางของการทำให้การเมืองเป็นประชาธิปไตย ดังตัวแบบของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550
 
เรื่องราวเช่นนี้ว่าที่จริงก็ย้อนกลับไปสู่ประเด็นในข้อแรก ในสังคมที่คิดสร้างประชาธิปไตยแบบการทำอาหารสำเร็จรูป รัฐธรรมนูญก็มักถูกทำให้เป็นอาหารสำเร็จรูปด้วยเช่นกัน ทำเสร็จแล้วไม่อร่อยก็ทำใหม่ เพราะทำง่ายอยู่แล้ว อันส่งผลให้รัฐธรรมนูญแบบมาม่า ซึ่ง “ง่ายเพียงฉีกซอง” ก็ง่ายที่จะถูก “เททิ้งทั้งซอง” และไม่ค่อยมีแนวคิดในการแก้ไข ดังจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งแต่เดิมเคยเชื่อกันว่าเป็น “ฉบับประชาชน” แทนที่จะถูกแก้ไข กลุ่มสนับสนุนเดิมกลับหันไปผลักดันรัฐประหารและคลอดรัฐธรรมนูญ “ฉบับทหาร” ออกใช้ในปัจจุบันแทน
 
ในอนาคตเราอาจจะต้องถอยกลับสู้ปัญหาเก่าๆ ว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือและกลไกของการสร้างประชาธิปไตย ไม่ใช่ข้อถกเถียงของการแสวงหารัฐธรรมนูญ    “ฉบับสมบูรณ์” หากแต่จะต้องคิดด้วยความ “อดทน” และ “อดกลั้น” เพื่อให้ระบบการเมืองแบบการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยสามารถก้าวเดินไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคง แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาและวิกฤต... กล่าวง่าย ๆ ก็คือ ต้องเลิกคิดทำให้การเมืองไทยเป็นดัง “มาม่า” และ “เนสกาแฟ” หากจะต้องทำให้เกิดการปรุงอาหารร่วมกันให้ได้ก่อนที่ทุกอย่างจะถูกแทนที่ด้วย “สงครามเสื้อสี” อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำลายเสถียรภาพและความมั่นคงของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในท้ายที่สุดนั่นเอง!

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net