Skip to main content
sharethis

สัญญาณดี ทุนใหญ่หวนคืนชายแดนใต้ ผุด”ปัตตานีเพลส” ศูนย์การค้า ศูนย์กลางการศึกษา โรงแรม หอพัก โปรเจ็กส์มูลค่า 500ล้าน บนถนนสาย ม.อ. ระดมทุนจากสถาบันการเงินมุสลิม หวังช่วยด้านการศึกษาเด็กชายแดนใต้

 
นายทวีศักดิ์ มหามะ กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ บริษัท ดี อาร์ เอส ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (DRS DEVELOPMENT CO., LTD) ในฐานะกรรมการ(บอร์ด) บริหารโครงการปัตตานีเพลส เปิดเผยว่า บริษัท ดี อาร์ เอส ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด มีแผนที่จะลงทุดก่อสร้างโครงการปัตตานีเพลส มูลค่า 500 ล้านบาท ขึ้นบนพื้นที่ 10 ไร่ ริมถนนเจริญประดิษฐ์ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ห่างจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ( ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ประมาณ 200 เมตร
นายทวีศักดิ์ มหามะ กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ บริษัท ดี อาร์ เอส ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด
 
นายทวีศักดิ์ เปิดเผยต่อว่า โครงการปัตตานีเพลส คือการก่อสร้างศูนย์การค้าShopping Mall และศูนย์กลางการศึกษาขนาดใหญ่ใจกลางเมืองปัตตานี ประกอบด้วย IEC หรือ International Education Center เป็นอาคารสูง 5 ชั้นสำหรับบริการด้านการศึกษานานาชาติแห่งใหม่ในภาคใต้ ประกอบด้วย สถาบันทดสอบทางภาษา เช่น TOEFL, IELT และศูนย์ของมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ
 
นอกจากนั้นยังมีโรงแรมระดับ 4 ดาวชื่อ Pattani Hotel ขนาด 60 ห้อง พร้อมห้องสัมมนาขนาดใหญ่ มี Condotel หรือคอนโดมีเนียมจำนวน 4 อาคาร เพื่อบริการที่พักสำหรับนักศึกษาและบุคคลทั่วไป ทั้งยังมีโฮมออฟฟิศอีก 13 ยูนิต สำหรับเป็นสถานที่ให้บริการของสถาบันกวดวิชา ร้านค้าอุปกรณ์ทางการศึกษา (Stationary) และอื่นๆ พร้อมด้วย Hall Outdoor หรือลานกลางแจ้งสำหรับจัดกิจกรรมทางการศึกษา นิทรรศการ และงานแสดงสินค้าอีกด้วย
 
นายทวีศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า โครงการดังกล่าวคาดว่า จะเริ่มลงมือก่อสร้างได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2553 โดยเงินลงทุน 500 ล้านบาทดังกล่าว มาจากเงินของบริษัท ดี อาร์ เอส ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เอง และจากการระดมทุนจากสถาบันการเงินต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันการเงินอิสลามหลายแห่งในภาคใต้ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์อัศศิดดีก จำกัด เป็นต้น
 
นายทวีศักดิ์ กล่าวด้วยว่า การลงทุนดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งกำลังเกิดเหตุการณ์ไม่สงบอยู่นั้น ไม่น่าจะเป็นเรื่องลำบาก เนื่องจากนายอิบรอเฮง เจ๊ะอาหลี ประธานกรรมการบริษัท ดี อาร์ เอส ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด มีประสบการณ์และมีงานรับเหมาก่อสร้างอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว ส่วนกรณีที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขาดแคลนแรงงานฝีมือนั้น ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา เนื่องจากบริษัท ดี อาร์ เอส ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้เตรียมความพร้อมในส่วนนี้อยู่แล้ว
 
“แม้เกิดเหตุไม่สงบใครๆ ก็ไม่กล้ามาลงทุน แต่เรื่องการพัฒนาก็ไม่ใช่ ว่าชาวปัตตานีไม่ต้องการ ซึ่งก่อนจะทำโครงการ เราก็มีการวิเคราะห์และวิจัยโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญทางด้านอสังหาริมทรัพย์แล้ว” นายทวีศักดิ์ กล่าว
 
นายทวีศักดิ์ กล่าวเสริมว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจร่วมลงทุนโครงการ Pattani Place เพราะตั้งอยู่บนทำเลทองใจกลางเมืองปัตตานีและราคาที่เป็นธรรม นอกจากนี้ ทางบริษัทฯได้วางกรอบแนวคิดในโครงการที่ประกอบด้วย Moral, Education, และ CSR (Corporate Social Responsibility) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องทางด้านคุณธรรมจริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคมตลอดจนสิ่งแวดล้อม
 
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรับผิดชอบทางด้านสังคม หรือ CSR นั้น บริษัทฯ ไม่ได้คำนึงเพียงเรื่องการสนับสนุนทางด้านการบริจาคหรือช่วยเหลือสังคมที่ ด้อยโอกาสจากผลกำไรในการประกอบการที่จะได้รับ หรือ เรื่องการจ่ายซากาต (ทานบังคับตามหลักศาสนาอิสลาม) แต่ยังคำนึงถึงความรับผิดชอบที่ไม่ละเมิดต่อ ผู้บริโภค ลูกค้า และคู่แข่งในทางกฎหมายเป็นประเด็นสำคัญ” นายทวีศักดิ์ กล่าว
 
 
โมเดลของ Pattani Place มูลค่า 500 ล้านบาท บนถนนสาย ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี ที่กำลังจะมีขึ้นเร็วๆนี้

 
นายทวีศักดิ์ เปิดเผยด้วยว่า สำหรับศูนย์การค้านั้น ทางบริษัทฯ ต้องการให้เป็นศูนย์การค้าฮาลาล หรือ ได้รับอนุญาตตามหลักการศาสนาอิสลามให้มากที่สุด โดยจะมีสถานที่ละมาด มีเสียงอาซาน(การประกาศเวลาละหมาด) ทุกครั้งเมื่อถึงเวลา เป็นต้น ส่วนที่พักสำหรับนักศึกษานั้น มีความต้องการสูงมาก เนื่องจากนักศึกษา ม.อ.วิทยาเขตปัตตานีมีจำนวนมาก ขณะเดียวกันหอพักที่มีอยู่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของผู้ปกครอง โดยเฉพาะผู้ปกครองนักศึกษามุสลิมที่ต้องการให้อยู่ในหอพักที่เหมาะสมสำหรับมุสลิม
 
นายทวีศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า บริษัท ดี อาร์ เอส ดีเวลลอป์เมนท์ จำกัด มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญทางด้านพัฒนาอาสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะศูนย์การค้าที่ครบวงจร นอกจากนี้ยังมีทีมงานและทีมที่ปรึกษาที่มีความรู้และเข้าใจทางด้านการพัฒนาการศึกษาที่เป็นมืออาชีพ เข้ามาบริหารจัดการทางด้านการศึกษา เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยเฉพาะ เช่นการติว การอบรม และอื่นฯที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษา โดยจะมีอาคารศูนย์การศึกษานานาชาติที่ทางบริษัทฯได้ผนวกเข้าไปในโครงการอีกด้วย
 
สำหรับถนนสายดังกล่าว เป็นถนนสายเดียวในจังหวัดปัตตานี รวมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงมีความคึกคักมากทั้งกลางวันและกลางคืนท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2552 บริษัท ดี อาร์ เอส ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้จัดเสวนาและนำเสนอโครงการ พร้อมแนะนำผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ ไปแล้ว ที่ห้องประชุมเช็คอะหมัด-อัลฟาฏอนีย์ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
โดยครั้งนั้น นายทวีศักดิ์ ได้เปิดเผยกับโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศราว่า ตนมักมองวิกฤติให้เป็นโอกาส และนั่นคือการตัดสินใจครั้งสำคัญด้วยการลงทุนครั้งใหญ่ที่ปัตตานี
 
“ผมเป็นนักธุรกิจ วันนี้พี่น้องในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบและความรุนแรงในมุมมองของสื่อที่ได้เสนอออกไป ทำให้พื้นที่ตรงนี้ดูไม่น่าลงทุน เพราะมันน่ากลัว แต่ผมอยากขอเชิญชวนพี่น้องที่อยู่ในจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทยให้มาเยี่ยมปัตตานี ถ้าถามว่าวันนี้ปัตตานีเป็นอย่างไร คำตอบคือเท่าที่ผมได้มาสัมผัส มันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เป็นข่าว”
 
นายทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า ก่อนจะตัดสินใจลงทุน ได้ทำการศึกษาวิจัยเป็นอย่างดีแล้ว เพราะทราบดีถึงปัญหาในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งแน่นอนว่าการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สิ่งแรกที่ต้องดู คือ ทำเลที่ตั้ง ซึ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีศักยภาพ แต่สิ่งที่ทำให้เด็กขาดศักยภาพคือโอกาส ขาดโอกาสที่จะเติมเต็ม จึงหวังที่จะเพิ่มพูนความรู้ให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการต่อไป
 
“บนถนนเจริญประดิษฐ์ หรือถนนสาย ม.อ.นั้น สามทุ่มยังมีคนพลุกพล่าน ตรงนี้เองที่เรามองว่าดีมานด์สูง (หมายถึงความต้องการซื้อ) แต่ตัวซัพพลาย (ผู้ขายหรือผู้ให้บริการ) กลับยังไม่มี เราไม่ใช่คู่แข่งขององค์กรอื่นๆ ในภาคธุรกิจ แต่เราพยายามเติมเต็มในส่วนที่ขาดมากกว่า” นายทวีศักดิ์ กล่าว
 
“ในปัตตานีเพลสจะมี ไออีซี หรือศูนย์การศึกษาในระดับนานาชาติ ซึ่งต่อไปนี้เด็กในพื้นที่สามจังหวัด หากต้องการศึกษาต่อ ก็ไม่ต้องเดินทางไปกรุงเทพฯแล้ว เพราะที่นี่จะเปิดเป็นสถานที่ทดสอบภาษาอังกฤษ และมีติวเตอร์เพื่อต่อยอดเรื่องการศึกษาในต่างประเทศด้วย” นายทวีศักดิ์ กล่าว
 
“ปัจจุบันเด็กไทยจบปริญญาตรีเยอะ แต่สาเหตุที่ไม่สามารถพัฒนาหรือเพิ่มมูลค่าเมื่อไปประกอบอาชีพได้ นั่นก็คือภาษาที่สอง โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ โลกปัจจุบันนี้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ต้องใช้ติดต่อกันทั่วโลก ฉะนั้นถ้าเราทิ้งตรงนี้ก็เท่ากับขาดโอกาส รัฐบาลเองต้องกล้าที่จะสนับสนุน และกล้าท้าทายกับสภาพที่เป็นอยู่ วันนี้ปัตตานีเพลสเกิดขึ้นมาแล้ว รัฐบาลต้องมาขอบคุณและสนับสนุนพวกเรา ภายใต้ความกลัวนั้นยังมีโอกาสอยู่ ถ้าเราไม่ได้เติมเต็มในสิ่งที่ขาด ทุกอย่างก็จบเลย” นายทวีศักดิ์ กล่าว
 
ผศ.นิฟาริศ ระเด่นอาหมัด รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวัฒนธรรม ม.อ.ปัตตานี ในฐานะที่ปรึกษาด้านวิชาการของโครงการ กล่าวว่า แรกเริ่มได้รับข้อเสนอจากนักธุรกิจกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความคิดจะทำธุรกิจเรื่องการศึกษา ส่วนตัวคิดว่าน่าจะช่วยได้ เพราะทราบปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างดีว่ามาตรฐานของเด็กในพื้นที่ต่ำกว่าที่อื่นๆ มาก ทำให้บางส่วนที่ทางบ้านมีฐานะการเงินดี จะส่งไปเรียนเพิ่มเติมที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และกรุงเทพ ฯ ทำให้เด็กต้องอยู่ไกลบ้าน อาจจะเสียผู้เสียคน ขณะที่เงินที่ต้องส่งเสียก็สูงขึ้น
 
“ผมเคยทำโครงการติวข้อสอบให้เด็กก่อนเอนทรานซ์ (การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในอดีต) มาหลายปี โดยเดินสายติวในพื้นที่สามจังหวัด ยกทีมจาก ม.อ.ร่วม 20 คนไปติว จะเห็นได้ว่าสมัยที่เราติวเด็กกันอย่างเข้มข้น เด็กในพื้นที่ของเราก็สู้ที่อื่นได้ แต่ช่วงหลังพอผมมาเป็นผู้บริหารก็ไม่มีเวลา ทำให้เลิกไป เพราะฉะนั้นความคิดของนักธุรกิจกลุ่มนี้ที่อยากสร้างศูนย์การศึกษาในพื้นที่ก็ตรงกับสิ่งที่ผมคิดเอาไว้นานแล้ว และผมน่าจะมีประสบการณ์ช่วยเหลือได้ จึงเข้ามาร่วมงาน”
 
“ผมคิดว่าปัตตานีเพลสจะเป็นศูนย์กลางเรื่องพัฒนาการศึกษาของภาคใต้ เราเองก็อยู่ในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์และอยู่ท่ามกลางปัญหามา 5 ปีแล้ว ยังไม่เคยเจอทางออกที่ดีแบบเลย ฉะนั้นอย่างน้อยถ้าเราบอกว่าเราอยู่ได้และไม่มีอะไรที่น่ากลัว เราสามารถพัฒนาคนได้ ธุรกิจก็เดินหน้า ก็เท่ากับว่าเราได้นับหนึ่งใหม่ โจทย์ในพื้นที่ที่เราต้องแก้ในวันนี้คือโอกาสทางธุรกิจ และโอกาสทางการศึกษา ถ้าเราเริ่มต้นโครงการได้ก็ถือว่าสามารถจุดประกายอะไรได้บางอย่าง และจะเป็นตัวนำไปสู่ความสงบของภาคใต้ได้อีกทางหนึ่ง”
 
“ในด้านของผู้ปกครองและตัวเด็กนั้น เมื่อไหร่ที่เด็กมีที่พักสะดวกสบาย และผู้ปกครองเด็กก็รู้สึกมั่นใจว่าเด็กไม่เหลวไหล ไม่หนีออกไปหาแสงสียามค่ำคืน ผมคิดว่าตรงนี้คือคำตอบ ผู้ปกครองจะได้ไม่ต้องส่งลูกไปเรียนถึงหาดใหญ่ ผมเองก็ส่งลูกไปเรียนที่หาดใหญ่ เพราะคิดว่าปัจจุบันถ้าเราไม่เติมความรู้เข้าไป เด็กจะเสียเปรียบแล้วไปสอบสู้คนอื่นไม่ได้เลย ขนาดการเปิดติวที่นำนักวิชาการจากส่วนกลางลงมาในพื้นที่ก็ยังไม่มากพอ เพราะเวลาที่ติวให้เด็กยังน้อยเกินไป”
 
ผศ.นิฟาริศ กล่าวอีกว่า วงการการศึกษาไทยต้องปรับตัวให้ทันกับสภาพสังคม ยกตัวอย่างเช่นยาที่หมอให้เรารับประทานนั้น ส่วนใหญ่จะมีรสขม ฉะนั้นยาบางตัวถึงต้องเคลือบน้ำตาลเพื่อให้รับประทานได้ง่าย ถามว่าน้ำตาลมีประโยชน์ไหม คำตอบคือไม่มีประโยชน์ แต่ก็เคลือบเอาไว้เพื่อให้เราทานได้ เหมือนกับการศึกษากับความสนุกสนานต้องเดินไปด้วยกัน
 
“ผมยังชอบคำของฝรั่งที่เอาคำว่า education (การศึกษา) กับคำว่า entertainment (บันเทิง) มารวมกัน และได้คำว่า Edutainment เพราะทุกคนต้องการเรียนรู้และบันเทิงไปด้วย แต่ความบันเทิงนั้นต้องอยู่ในกรอบที่เราสามารถคุมได้ ไม่ใช่เตลิดเปิดเปิงถึงขึ้นไร้สาระจนกระทั่งเป็นอันตรายต่อวัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนาที่มีอยู่”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net