เปิดคำอุทธรณ์ ‘ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล’ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

 
บทคัดย่อ
คำอุทธรณ์นี้อาจแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ การโต้แย้งการพิจารณาคดี และ การโต้แย้งการตีความในคำปราศรัยตามโจทก์ฟ้อง
สำหรับการโต้แย้งการพิจารณาคดี เริ่มต้นตั้งแต่การที่จำเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อสู้คดีในชั้นสอบสวน ทำให้ไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ไม่สามารถตรวจสอบหลักฐานของฝ่ายโจทก์เนื่องจากอยู่ในเรือนจำ ไม่สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยเนื่องด้วยขากรรไกรอักเสบได้ ทำให้ขาดโอกาสสู้คดีและทำให้กระบวนการพิจารณาในคดีนี้เสียความยุติธรรม
ประการต่อมาคือ คัดค้านการสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ และศาลไม่มีอำนาจยกคำร้องของทนายจำเลยที่ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าศาลมีอำนาจสั่งพิจารณาคดีลับที่กระทบกับสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ จึงขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเพิกถอนคำพิพากษาศาลชั้นต้น และเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นพร้อมทั้งส่งความเห็นของจำเลยไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เมื่อชี้ขาดประการใดแล้ว ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่โดยเปิดเผย
อีกประเด็นคือ การคัดค้านพยานหลักฐาน ซีดีบันทึกเสียงคำปราศรัยของพนักงานสอบสวน โดยอุทธรณ์ระบุว่า ซีดี วจ.1 วจ.2 ที่เป็นวัตถุพยาน จำเลยไม่มีโอกาสตรวจสอบเนื่องจากกฎของเรือนจำไม่ให้นำซีดีเข้าไปเปิดฟัง ส่วนซีดี วจ.3 ก็เพิ่งมาเพิ่มเติมหลังจากสืบพยานโจทก์แล้ว รวมทั้งศาลยังสั่งให้มีการเปิดซีดีวจ.1-วจ.3 ในห้องพิจารณาคดีและให้ถือว่าเป็นการพิจารณาต่อหน้าจำเลย รวมไปถึงประเด็นที่ว่า ซีดี วจ.2 และ วจ.3 ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้บันทึก จึงนับเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่มุ่งลบล้างข้อบกพร่องในพยานหลักฐานของโจทก์ และเป็นกระบวนพิจารณาคดีไม่ชอบธรรม จึงขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดพิจารณามีคำสั่งยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับแผ่นซีดีวัตถุพยาน วจ.1 ถึง วจ.3 เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้
นอกจากนี้ยังยกคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า จำเลยเบิกความว่าจำเลยได้ขึ้นกล่าวปราศรัยมาประมาณ 2 ปี นับตั้งแต่มีการรัฐประหาร และจำไม่ได้ว่าในวันที่โจทก์ฟ้อง จำเลยขึ้นกล่าวปราศรัยหรือไม่ และปราศรัยประเด็นใดบ้าง แสดงว่าจำเลยได้ขึ้นกล่าวปราศรัยหลายครั้งและจำเลยมิได้ปฏิเสธว่าไม่ได้กล่าวคำปราศรัยตามที่โจกท์ฟ้อง เพียงแต่อ้างจำเลยจำไม่ได้เท่านั้น เห็นว่าเป็นการวินิจฉัยโดยใช้การสันนิษฐานว่าเมื่อจำเลยไม่ให้การปฏิเสธเท่ากับยอมรับ ขัดกับหลักการดำเนินคดีอาญาที่ต้องถือว่าการที่จำเลยไม่ให้การยอมรับเท่ากับปฏิเสธ
ในส่วนของเนื้อหาคำปราศรัยที่โจทก์ฟ้องนั้น เห็นว่าถ้อยคำตามฟ้องมิได้ดูหมิ่น หมิ่นประมาทหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ แต่มุ่งโจมตีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ดึงเอาสถาบันเข้ามาในความขัดแย้งทางการเมือง และโจมตีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้ที่คาดว่าอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหาร 2549 ซึ่งผู้พูดเห็นว่ารัฐประหารว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เป็นการทำลายประชาธิปไตย
ถ้อยคำตามที่โจทก์ฟ้องสามารถตีความหมายได้หลายนัย ทั้งไม่มีถ้อยคำใดเอ่ยชื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระราชินี ถ้อยคำที่กล่าวถึงคดีสวรรคตของรัชการที่ 8 เป็นเพียงการกล่าวว่านายปรีดี พนมยงค์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสวรรคตเท่านั้น
คำอุทธรณ์ระบุอีกว่า มูลคดีนี้เกิดจากการปราศัรัยแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งไม่มีผู้ฟังการปราศรัยของจำเลยคนใดรู้สึกว่าเป็นการจาบจ้วงเบื้องสูง เว้นแต่นายสนธิ ซึ่งนำไปพูดขยายความเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 18 ปีจึงเป็นการลงโทษที่รุนแรงเกินเหตุ ขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษไว้ด้วย เพราะการรักษากฎหมายหาใช่เพียงการรักษากฎหมายสาระบัญญัติเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญกว่าคือกระบวนการพิจารณาคดีอันเป็นส่วนวิธีสาระบัญญัติ
 
อย่างไรก็ตาม คำอุทธรณ์ยืนยันด้วยว่ามูลเหตุที่แท้จริงของการปราศรัยของจำเลย เป็นความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองระหว่างกลุ่มบุคคล 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ที่จำเลยร่วมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย การกล่าวปราศรัยของทั้ง 2 กลุ่มจึงเป็นสิ่งปกติธรรมดาในการแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหัวใจหลักที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย
 
อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งและคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2552
คดีหมายเลขดำที่ อ.3959/2551
คดีหมายเลขแดงที่ อ.2812/2552
วันที่ 27 ตุลาคม 2552
ความอาญาระหว่าง โจทก์-พนักงานอัยการฯ   จำเลย-นางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล
ข้อหาหรือฐานความผิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ
 
ข้อ 1    - censor – (อ้างถึงคำฟ้องของโจทก์)
 
ข้อ 2. ในระหว่างพิจารณาคดีนี้ ศาลไม่อนุญาตให้จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการพิจารณา สั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ สั่งยกคำร้องขอให้รอการพิพากษาและส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ที่ศาลใช้ในการสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นคดีลับ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเมื่อจำเลยคัดค้านการรับฟังแผ่นซีดี หมาย วจ.1 ถึง วจ.3 เป็นพยานหลักฐาน ศาลได้สั่งให้เปิดแผ่นซีดี หมายวจ.1 ถึง วจ.3 ในห้องพิจารณาดี จากนั้นศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานโจทก์โดยรับฟังว่าแผ่นซีดีทั้ง 3 ดังกล่าวเป็นแผ่นซีดีบันทึกเสียงการปราศรัยของจำเลยจริง ศาลชั้นต้นเชื่อว่าจำเลยกล่าวคำพูดตามที่โจทก์ฟ้องจากการรับฟังแผ่นซีดี หมาย วจ.1 ถึง วจ.3 เป็นพยานหลักฐานและพิพากษาลงโทษจำเลย
 
ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อสู้คดี
ข้อ 3. จำเลยยังไม่เห็นด้วยกับการดำเนินกระบวนการพิจารณา คำสั่ง ตลอดจนคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงขออุทธรณ์การดำเนินการกระบวนพิจารณา คำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ดังต่อไปนี้
จำเลยขออุทธรณ์ว่า การที่ศาลสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาเป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ อันเป็นการดำเนินคดีที่ไม่ชอบ และการไม่อนุญาตให้จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีทั้งที่จำเลยมีเหตุเจ็บป่วยเป็นการดำเนินคดีไม่ชอบธรรม
- การที่จำเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณา ทำให้จำเลยไม่สามารถตรวจสอบพยานหลักฐานของโจทก์ก่อนเริ่มการพิจารณาคดีสืบพยานโจทก์ได้ โดยเฉพาะแผ่นซีดีที่โจทก์อ้างว่าบันทึกเสียงคำปราศรัยของจำเลย วัตถุพยาน หมาย วจ.1 และ 2
- การที่จำเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณา ทำให้จำเลยไม่สามารถแสวงหาพยานหลักฐานมาหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ไม่ว่าจะเป็นพยานเอกสารหรือพยานบุคคล และแม้ว่าจำเลยจะมีทนายความแก้ต่างแทน แต่ทนายความเป็นเพียงตัวแทนจำเลยผู้มีความรู้กฎหมายในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีแทนจำเลย ข้อเท็จจริงต่างๆ ในคดีย่อมอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยโดยเฉพาะ หาใช่ทนายความไม่ ทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการปราศรัยของจำเลยหลายอย่าง ก็มีแต่ตัวจำเลยที่สามารถแสวงหาหรือติดต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลกับทนายจำเลยได้ การที่จำเลยต้องถูกคุมขังในระหว่างพิจารณา จำเลยย่อมไม่สามารถแสวงหาพยานหลักฐานหรือแจ้งข้อมูลให้ทนายจำเลยแสวงหาพยานหลักฐานแทนได้ เพราะระเบียบข้อบังคับของกรมราชทัณฑ์ ไม่อนุญาตให้จำเลยนำสิ่งใดเข้าไปในเรือนจำด้วย แม้แต่กระดาษบันทึกชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการปราศรัยของจำเลย
- การที่จำเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา ทำให้จำเลยไม่ได้รับการรักษาอาการเจ็บป่วย เนื่องจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีเครื่องมือในการรักษาอาการของจำเลย ทำให้จำเลยต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วย จึงรบกวนสมาธิทำให้จำเลยไม่สามารถพิจารณาข้อต่อสู้และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนวิธีการแสวงหาพยานหลักฐานได้ ขณะที่โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐ มีทั้งเครื่องมือในการแสวงหาพยานหลักฐาน และมีอำนาจออกหมายเรียกพยานหลักฐาน นำมาปรักปรำจำเลย จำเลยกลับต้องต่อสู้คดีอยู่ในคุก ไร้ซึ่งเครื่องมือในการแสวงหาพยานหลักฐาน ขาดอิสระในการตรวจสอบพยานเอกสารของโจกท์เพราะต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ ไม่สามารถติดต่อบุคคลซึ่งอาจเป็นพยาน ไม่อาจแสวงหาพยานเอกสาร ทั้งยั้งต้องต่อสู้คดีท่ามกลางความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยในอาการขากรรไกอักเสบ จนขากรรไกรยึดติดกัน การดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีนี้จึงเป็นการดำเนินการะบวนการพิจารณาอย่างไม่ชอบธรรม
ด้วยเหตุดังกล่าว จำเลยจึงขออุทธรณ์ว่า การที่จำเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา ทำให้จำเลยจาด
โอกาสในการต่อสู้คดีนี้ ทำให้การดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีนี้เสียความยุติธรรม
ขอให้ศาลอุทธรณ์ได้โปรดพิจารณามีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้ใหม่ โดยให้จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณา เพื่อให้จำเลยมีโอกาสต่อสู้คดีนี้
 
สั่งพิจารณาคดีลับ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
ข้อ 4. จำเลยขออุทธรณ์ว่าคำสั่งศาลชั้นต้นในการพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ ตามกระบวนพิจารณาคดีลงวันที่ 23 มิถุนายน 2552 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ตามหลักกฎหมายสากล การพิจารณาคดีจะต้องกระทำโดยเปิดเผย เพื่อเป็นหลักประกันว่าจำเลยจะได้การพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม การตีความประมวลกฎหมาวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับนั้น ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีนี้จำเลยถูกฟ้องเป็นความผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 อนุญาตให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับได้
-ต้นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เป็นการปราศรัยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของจำเลย ข้อกล่าวหาที่จำเลยถูกฟ้องเกิดจากการพูดปราศรัย ถ้อยคำที่กล่าวหาว่าจำเลยพูดจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะตั้งแต่ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว ผู้ที่ต้องการเข้าฟังการพิจารณาคดีนี้จึงรู้ข้อความที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าพูดจาบจ้วงพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุให้ต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ
ด้วยเหตุดังกล่าว จำเลยอุทธรณ์ว่า คำสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับของศาลชั้นต้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอศาลอุทธรณ์โปรดพิจารณาเพิกถอนคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับของศาลชั้นต้น และมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ใหม่โดยเปิดเผย
 
ข้อ 5. จำเลยขออุทธรณ์คำสั่งยกคำร้องขอให้รอการพิพากษาคดีและส่งเรื่องตามทางการไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามรายงานกระบวนพิจารณาคดีลงวันที่ 25 มิถุนายน 2552 ว่าเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้โดยไม่รอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน เป็นการพิพากษาคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ คำสั่งศาลชั้นต้นให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ เป็นคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 เป็นการใช้บทบัญญัติของกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อย่างชัดแจ้ง บทบัญญัติมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ศาลนำมาบังคับใช้นี้จึงใช้บังคับมิได้ ตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
-ตามมาตรา 40 และมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้มีบทบัญญัติไว้ว่า
“มาตรา 40 บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมดังต่อไปนี้
………………………………………………………………………………
(2) สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริง และตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษาหรือคำสั่ง
…………………………………………………………………………………
“มาตรา 29 การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้
กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้นำมาใช้บังคับกับกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วยโดยอนุโลม”
- ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 40(2) ของรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติชัดเจนว่า ในการพิจารณาคดี หลักประกันขั้นพื้นฐานคือ การได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว ไม่ได้เปิดช่องให้มีข้อยกเว้นในการบัญญัติกฎหมายให้ลบล้างหลักการดังกล่าวได้เลย ดังนั้น การที่มาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งให้อำนาจศาลสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับได้ จึงเป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 40(2) ของรัฐธรรมนูญฯ อย่างชัดแจ้ง กรณีจึงเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยชัดแจ้ง ซึ่งกระทำมิได้ ตามมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญฯ และจึงต้องด้วยบทบัญญัติมารตรา 6 ของรัฐธรรมนูญฯ จึงเป็นอันบังคับใช้ไม่ได้
- การที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น เป็นการใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวซึ่งขัดแย้งกับบทบัญญัติมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงใช้บังคับมิได้ และกรณีนี้ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินี้
- เหตุผลที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของจำเลยดังกล่าว เนื่องจากศาลชั้นต้นเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 177 มิได้มีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของจำเลย เนื่องจากจำเลยมีทนายความเข้ามาแก้ต่างให้ และสามารถนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของตนและหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ คำโต้แย้งของจำเลยจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 211 ยกคำร้อง
จากเหตุผลของศาลชั้นต้นดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยว่ามาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ได้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจวินิจฉัย การวินิจฉัยว่าการกระทำหรือกฎหมายบทใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ หรือไม่ เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ทั้งบทบัญญัติมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญฯฯ ได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าให้ศาลส่งความเห็นของจำเลยไปยังศาลรัฐธรรมนูญ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องจำเลยดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ขอให้ศาลอุทธรณ์ได้โปรดพิจารณามีคำสั่งเพิกถอนคำพิพากษาศาลชั้นต้น และเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ส่งยกคำร้องขอให้ส่งความเห็นจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และส่งความเห็นของจำเลยตามทางการไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย เมื่อชี้ขาดประการใดแล้ว ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญฯ

 
คัดค้านพยานเอกสาร และแผ่นซีดี
ข้อ 6. จำเลยนขออุทธรณ์ว่า พยานเอกสาร หมาย จ.1 ถึง จ.4 และแผ่นซีดี หมายวจ.1 และ วจ.2 ไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานคดีนี้ กล่าวคือ ตัวจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณา ทนายจำเลยจึงได้ส่งสำเนาพยานเอกสารในคดีนี้ที่โจทก์อ้างทั้งหมดพร้อมทั้งแผ่นซีดีให้กับจำเลยในเรือนจำทัณฑสถานหญิงกลาง แต่ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ไม่อนุญาตให้ผู้ต้องขังเปิดแผ่นซีดีฟัง ตัวจำเลยจึงไม่สามารถเปิดแผ่นซีดีดังกล่าวฟังข้อมูลที่ถูกบันทึกนั้นได้ ทำให้จำเลยไม่สามารถทราบได้ว่าแผ่นซีดี หมาย วจ.1 และ วจ.2 บันทึกข้อความเสียงอะไรบ้าง เสียงที่ถูกบันทึกเป็นเสียงของใคร พูดอะไรบ้าง จำเลยจึงไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในแผ่นซีดี หมาย วจ.1 และวจ.2 ได้
เมื่อจำเลยไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลในแผ่นซีดี หมาย วจ.1 และ วจ.2 ดังกล่าว จำเลยย่อมไม่สามารถตรวจสอบข้อความในเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 ซึ่งเป็นเอกสารการถอดข้อความจากแผ่นซีดีได้เช่นกัน ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาหักล้างวัตถุและพยานเอกสารดังกล่าวได้
ด้วยเหตุดังกล่าว จำเลยจึงขออุทธรณ์การรับฟังแผ่นซีดี หมาย วจ.1 และ วจ.2 และพยานเอกสาร หมาย จ.1 ถึง จ.4 ว่าไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้
 
ข้อ 7. จำเลยขออุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับแผ่นซีดี หมาย วจ.3 เป็นพยานหลักฐาน กล่าวคือ โจทก์ได้อ้างส่งแผ่นซีดีบันทึกเสียงจำนวน 1 แผ่น และศาลชั้นต้นได้สั่งรับไว้เป็นวัตถุพยาน หมาย วจ.3 การอ้างส่งแผ่นซีดีดังกล่าว เป็นการอ้างวัตถุพยานเพิ่มเติม หลังจากมีการสืบพยานโจทก์แล้ว อันเป็นการอ้างพยานหลักฐานปรักปรำจำเลยในลักษณะจู่โจม ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ไม่มีโอกาสตรวจสอบวัตถุพยานดังกล่าวมาก่อน จำเลยจึงขออุทธรณ์ว่าแผ่นซีดี วัตถุพยาน หมาย วจ.3 ไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
 
ข้อ 8. จำเลยขออุทธรณ์ว่า การเปิดแผ่นซีดี วัตถุพยาน หมายวจ.1 ถึง วจ.3 เป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีมิชอบ กล่าวคือ คดีนี้ศาลไม่อนุญาตให้จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา ก่อนถึงวันนัดสืบโจทก์ ทนายจำเลยได้ส่งแผ่นซีดี หมายวจ.1 และ วจ.2 ให้จำเลยตรวจสอบก่อนแล้ แต่จำเลยไม่สามารถเปิดแผ่นซีดีได้เพราะระเบียบกรมราชทัณฑ์ไม่อนุญาตให้ผู้ต้องขังเปิดฟัง ต่อมาในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 23 มิถุนายน 2552 ทนายจำเลยได้แถลงคัดค้านการรับฟังแผ่นซีดี วัตถุพยานหมาย วจ.1 และวจ.2 เป็นพยาน ในวันนั้นเองศาลชั้นต้นได้สั่งด้วยวาจาให้โจทก์นำเครื่องเล่นซีดีมาเปิดแผ่นซีดี วัตถุพยาน หมายวจ.1 และ วจ.2 ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ต่อเนื่องตามที่ได้นัดไว้ก่อนแล้ว วันต่อมาโจทก์จึงได้นำเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คมาศาลเพื่อเปิดเล่นแผ่นซีดี วัตถุพยานหมาย วจ.1 และวจ.2 พร้อมกับขออ้างส่งแผ่นซีดีต่อศาลเพิ่มอีก 1 แผ่น โดยอ้างว่า พันตำรวจโทพรศักดิ์ เลารุจิราลัย ส่งแผ่นซีดีให้พนักงานอัยการผิดแผ่น ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้รับแผ่นซีดีที่โจทก์อ้างส่งเพิ่มเติมเป็นพยานวัตถุหมาย วจ.3 และสั่งให้โจทก์เปิดเล่นแผ่นซีดีทั้ง 3 แผ่นในห้องพิจารณาคดีในช่วงบ่ายของวันที่ 24 มิถุนายน 2552 หลังจากสืบพยานโจทก์ในช่วงเช้าแล้ว โดยถือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อหน้าจำเลย
การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้เปิดเล่นแผ่นซีดี วัตถุพยาน หมาย วจ.1 ถึง วจ.3 ต่อหน้าจำเลยดังกล่าวนั้น เป็นความดำริของศาลชั้นต้นหลังจากทนายจำเลยแถลงคัดค้านมิให้รับฟังแผ่นซีดีเป็นพยานหลักฐานเนื่องจากตัวจำเลยไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลที่บันทึกในแผ่นซีดีได้ เป็นการสั่งให้เปิดหลังจากโจทก์ไม่สามารถหาพยานบุคคลที่เป็นประจักษ์พยานมายืนยันในสิ่งที่จำเลยพูดได้ เมื่อโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานบุคคลอื่นใดมายืนยันว่าจำเลยพูดถ้อยคำตามที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ทั้งหากไม่สามารถรับฟังแผ่นซีดีเป็นพยานหลักฐานยืนยันการกระทำ (การพูดถ้อยคำที่ถูกกล่าวหา) คดีนี้ก็จะไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่าจำเลยพูดถ้อยคำตามที่โจทก์กล่าวหาในคำฟ้อง การเปิดเล่นแผ่นซีดี วัตถุพยาน หมาย วจ.1 ถึง วจ.3 ในห้องพิจารณาต่อหน้าจำเลย จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่มุ่งลบล้างข้อบกพร่องในพยานหลักฐานของโจทก์ และต่อมาศาลชั้นต้นก็ได้ใช้การเปิดเล่นแผ่นซีดี วัตถุพยาน หมาย วจ.1 ถึง วจ.3 เป็นพยานหลักฐานว่าจำเลยได้กล่าวคำพูดถ้อยคำตามที่โจทก์ฟ้องจริง และพิพากษาลงโทษจำเลย นอกจากนี้ การเปิดเล่นแผ่นซีดี วัตถุพยาน หมาย วจ.1 ถึง วจ.3 เป็นดำริของศาลชั้นต้น โดยสั่งด้วยวาจาให้โจทก์นำเครื่องเล่นมาเปิดเล่นแผ่นซีดี วัตถุพยาน หมาย วจ.1 และ วจ.3 แต่กลับจดรายงานกระบวนการพิจารณาว่าโจทก์เป็นผู้แถลงขอเปิดแผ่นซีดี วัตถุพยาน หมาย วจ.1 ถึง วจ.3
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น จำเลยจึงขออุทธรณ์ว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้เปิดเล่นแผ่นซีดี วัตถุพยาน หมาย วจ.1 ถึง วจ.3 ในห้องพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลย เป็นกระบวนพิจารณาคดีไม่ชอบธรรม ขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดพิจารณามีคำสั่งยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับแผ่นซีดีวัตถุพยาน วจ.1 ถึง วจ.3 เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ และมีคำสั่งว่าแผ่นซีดี วัตถุพยาน หมายวจ.1 ถึง วจ.3 ไม่สามารถรับฟังได้
 
ข้อ 9. จำเลยขออุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ดังต่อไปนี้
ประเด็นแรก จำเลยไม่ได้กล่าวคำพูดตามที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยพูดจาจาบจ้วงเบื้องสูงเป็นคดีนี้
- คดีนี้โจทก์ไม่มีพยานบุคคลใดมายืนยันว่าจำเลยพูดถ้อยคำตามฟ้องโจทก์ ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำบางส่วนหรือทั้งหมด แม้แต่จ่าสิบตำรวจลัทธชัย กลิ่นบรรยงค์ ที่โจทก์นำสืบว่าเป็นผู้บันทึกเสียงคำปราศรัยของจำเลยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2551 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ต่อเนื่องถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2551 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ตามแผ่นซีดี วัตถุพยาน หมายวจ.1 ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยพูดถ้อยคำตามฟ้อง ไม่ทราบแม้ถ้อยคำเพียงบางส่วนบางคำ ผิดวิสัยของผู้ที่ทำหน้าที่บันทึกเสียงที่ต้องได้ฟังถ้อยคำการพูดปราศรัยบ้างไม่มากก็น้อย ทั้งแผ่นซีดี วัตถุพยาน หมาย วจ.1 ลักษณะของการบันทึกมีทั้งต่อเนื่องและหยุดเป็นระยะ ส่วนแผ่นซีดี วัตถุพยาน หมายวจ.2 และ 3 ก็ไม่ปรากฏว่าใครหรือบุคคลใดเป็นผู้บันทึก
- นอกจากนี้ การตรวจพิสูจน์แผ่นซีดีวัตถุพยานของพันตำรวจโทธนสิทธิ แตงจั่น ก็เป็นเพียงการตรวจความต่อเนื่องของคลื่นเสียงว่ามีความต่อเนื่องกันเท่านั้น ซึ่งหากมีการตัดต่อถ้อยคำโดยใช้เครื่องเล่นซีดี 2 เครื่องเล่นสลับกันตามข้อความที่ต้องการ โดยใช้เครื่องบันทึกเสียงอีกเครื่องคอยบันทึกก็ย่อมปรากฏคลื่นเสียงที่ต่อเนื่องตามกันเช่นเดียวกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรากฏจากคำเบิกความของพันตำรวจโทบรรยง แดงมั่นคง พยานโจทก์เองว่า ไม่ได้ส่งแผ่นซีดีบันทึกเสียงคำปราศรัยของจำเลยที่ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2551 ไปที่กองพิสูจน์หลักฐาน แผ่นซีดีบันทึกเสียงคำปราศรัยของจำเลยที่ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2551 จึงไม่มีการตรวจพิสูจน์ว่ามีการตัดต่อเสียงหรือไม่
- นอกจากนี้การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยเบิกความว่า จำเลยได้ขึ้นกล่าวปราศรัยมาประมาณ 2 ปี นับตั้งแต่มีการรัฐประหาร จึงจำไม่ได้ว่าในวันที่โจทก์ฟ้อง จำเลยขึ้นกล่าวปราศรัยหรือไม่ และหากขึ้นพูดประเด็นอะไรบ้างก็จำไม่ได้ แสดงว่าจำเลยได้ขึ้นกล่าวปราศรัยหลายครั้ง และจำเลยมิได้ปฏิเสธว่าไม่ได้กล่าวคำปราศรัยตามที่โจกท์ฟ้อง เพียงแต่จำเลยอ้างว่าจำไม่ได้เท่านั้น เป็นการวินิจฉัยโดยใช้การสันนิษฐานว่าเมื่อจำเลยไม่ให้การปฏิเสธเท่ากับยอมรับ ขัดกับหลักการดำเนินคดีอาญาที่ต้องถือว่าการที่จำเลยไม่ให้การยอมรับเท่ากับปฏิเสธ คำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นการปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้กล่าวคำพูดตามที่โจทก์ฟ้อง หาใช่คำรับตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษว่า จำเลยพูดถ้อยคำตามฟ้องโจกท์ ศาลชั้นต้นอาศัยเพียง แผ่นซีดี วัตถุพยาน หมาย วจ.1 ถึงวจ.3 เมื่อโจทก์ไม่มีพยานบุคคลมายืนยันว่าจำเลยพูดถ้อยคำตามฟ้องโจทก์ ทั้งแผ่นซีดี วัตถุพยาน หมาย วจ.1 ถึง วจ.3 เป็นวัตถุพยานที่ไม่สามารถรับฟังได้ดังที่จำเลยอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้น คดีจึงยังไม่สามารถรับฟังได้ว่าจำเลยกล่าวคำพูดถ้อยคำตามฟ้องโจกท์ กรณีจึงยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดอาญา ชอบที่ศาลจะพิพากษายกฟ้อง
 
ข้อ 10. จำเลยขออุทธรณ์ว่าถ้อยคำของคำพูดตามฟ้องโจทก์ ไม่ใช่คำพูดดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์หรือพระราชินี ดังนี้
ถ้อยคำมที่โจกท์กล่าวหาว่าจำเลยพูดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2551 เป็นถ้อยคำที่มุ่งโจมตีนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า นายสนธิแอบอ้างว่า กลุ่มของตนมีสถาบันกษัตริย์หนุนหลัง เป็นเพียงการแสดงถึงความไม่เกรงกลัวกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยของนายสนธิ แม้นายสนธิจะแอบอ้างว่าได้รับการหนุนหลังจากสถาบันกษัตริย์
ถ้อยคำที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยพูด ตามเอกสาร หมาย จ.4 แผ่นแรก เป็นการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่ามีการนำประกาศของคณะปฏิวัติมาใช้แทนกฎหมาย มีการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม โดยองค์กรที่ตั้งใหม่เหล่านี้มีการนำผู้พิพากษามาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการเหล่านี้ด้วย
ถ้อยคำที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยพูด ตามเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่สอง เป็นการพูดโจมตีว่า พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ส่วนที่กล่าวถึงลายเซ็นต์นั้น หมายถึงการลงพระปรมาภิไธย และโดยปกติของการทำรัฐประหาร คณะรัฐประหารมักจะดึงความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์ เพื่อมาอ้างอิงในความชอบธรรมของตน ผู้พูดต้องการตั้งคำถามกับคณะรัฐประหารเกี่ยวกับการได้มาซึ่งพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ถ้อยคำที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยพูด ตามเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่สาม ข้อความที่ว่าพร้อมจะรับออร์เดอร์จากมือที่มองไม่เห็น หมายถึง รับคำสั่งจากพลเอกเปรม
ถ้อยคำที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยพูด ตามเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่สี่ต่อเนื่องถึงแผ่นที่ห้า เป็นการโจมตีพลเอกเปรม ข้อความทั้งหมดเชื่อมโยงกับข้อความก่อหน้านี้ แสดงว่าผู้พูดตั้งใจจะกล่าวต่อต้านการรัฐประหารว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เป็นการทำลายประชาธิปไตย และผู้พูดต้องการจะสื่อให้เห็นว่า การปฏิวัติที่เกิดขึ้นนั้นมีมือที่มองไม่เห็นหรือเบื้องหลัง นั่นก็คือ พลเอกเปรมและคณะองคมนตรี และที่พลเอกเปรมต้องการให้เกิดการรัฐประหารนั้นเกิดจากการที่พลเอกเปรมไม่ชอบคุณทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่การหมิ่นและกล่าวอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด
ถ้อยคำที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยพูด ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่หนึ่ง เป็นการโจมตีการปฏิวัติที่เกิดขึ้นมาทั้งหมด และต่อว่าผู้นำการปฏิวัติเหล่านั้นว่าแย่งอำนาจประชาชน
ถ้อยคำที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยพูด ตามเอกสารหมาย จฐ.2 แผ่นที่สอง เป็นเรื่องที่ผู้พูดพยายามเล่าถึงเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 และพยายามเล่าว่าการพยายามโจมตีท่านปรีดี พนมยงค์ ว่าเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะท่านปรีดีไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ และข้อความที่ว่า ณ วันนี้ยังตามหาฆาตรกรมือเปื้อนเขม่าปืนในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 อยู่เลยว่าเป็นใครกันแน่นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่เรายังไม่ทราบว่าใครเป็นฆาตรกรกันแน่ แต่ท่านปรีดีไม่ได้เป็นฆาตรกรในคดีดังก่าว
ถ้อยคำที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยพูด ตามเอกสารหมายเลข จ.2 แผ่นที่สามต่อเนื่องถึงแผ่นที่สี่ เป็นการโจมตีพลเอกเปรมว่าเป็นคนไม่ดี โจมตีผู้ที่มีส่วนในการทำลายประชาธิปไตยนั่นคือ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ซึ่งเป็นผู้นำในการปฏิวัติในวันที่ 19 กันยายน พลเอกเปรมอยู่เบื้องหลังการปฏิบัติ และโจมตีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการปฏิวัติ
ถ้อยคำที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยพูด ตามเอกสารหมายเลข จ.2 หน้าสุดท้าย คำว่า ชนชั้นปกครองก่อนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 กับหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีความหมายต่างกัน ก่อนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองพระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรง ชนชั้นปกครองในที่นี้จึงหมายถึงผู้ใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงเท่านั้น ได้แก่ คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และศาล ตามบริบททางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งบุคคลที่อยู่ในองค์กรต่างๆ เหล่านี้มักจะอ้างอิงถึงสถาบันกษัตริย์เพื่อความชอบธรรมในการอยู่ในอำนาจของตน เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ รัสเซีย ฝรั่งเศส เนปาล ต่างก็เคยเกิดเหตุการณ์กลุ่มขุนนาง หรือรัฐบาล หรือผู้มีอำนาจปกครองที่แท้จริง อ้างอิงสถาบันกษัตริย์ แต่กลับใช้อำนาจปกครองไปในทางกดขี่ข่มเหงประชาชนในประเทศของตน ทำให้สถาบันกษัตริย์ของประเทศเหล่านั้นเสื่อมเสีย ที่สุดเมื่อประชาชนในประเทศนั้นทนไม่ไหวก็เกิดการโค่นล้มกลุ่มบุคคลผู้มีอำนาจปกครองประเทศที่แท้จริง ซึ่งในหลายประเทศเหล่านั้นได้มีการโค่นล้มระบบกษัตริย์ด้วย เพราะกลุ่มบุคคลผู้ปกครองที่แท้จริงได้อ้างอิงสถาบันกษัตริย์ จนทำให้สถาบันกษัตริย์ของประเทศเหล่านั้นเสื่อมเสียดังกล่าว คำพูดเหล่านั้นของผู้พูดจึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มบุคคลผู้มีอำนาจปกครองที่แท้จริงของประเทศ หาใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ไม่
ด้วยเหตุดังกล่าว จำเลยขออุทธรณ์ว่าถ้อยคำของคำพูดตามฟ้องโจทก์ ไม่ใช่คำพูดดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์หรือพระราชินี ชอบที่ศาลจะพิพากษายกฟ้อง
 
ข้อ 11. จำเลยขอกราบเรียนศาลอุทธรณ์ว่า การรักษากฎหมายหาใช่เพียงการรักษากฎหมายสาระบัญญัติเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญกว่าคือกระบวนการพิจารณาคดีอันเป็นส่วนวิธีสาระบัญญัติ คดีนี้กฎหมายส่วนสาระบัญญัติ คือ การคุ้มครองประมุขของประเทศมิให้ถูกล่วงละเมิดแน่นอนว่า พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันเป็นที่เคารพรักของประชานทั่วไป แม้แต่ผู้พิพากษาในอีกด้านก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเช่นกัน การพิจารณาคดีข้อหานี้จึงยิ่งต้องกระทำด้วยความรอบคอบระมัดระวัง
ประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ลักษณะ 1 หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองประมุขของรัฐ ในขณะที่รัฐธรรมนูญฯ ระบุว่า อำนาจอธิปไตย หรืออำนาจสูงสุด เป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์จึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่กรใช้อำนาจอธิปไตย พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้อำนาจบริหารทางรัฐบาล ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา ทรบงใช้อำนาจตุลาการทางศาล พระมหากษัตริย์จึงทรงเป็นประมุขของประเทศ แต่ขณะเดียวกันในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยที่แท้จริงเป็นของประชาชน ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติจึงต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
การรักษากฎหมายนสาระบัญญัติเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อความสงบเรียบร้อยของการอยู่ร่วมกันในสังคม แต่ขณะเดียวกันการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกก่าวหาว่าล่วงละเมิดกฎหมายส่วนสาระบัญญัติก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่า ซ้ำยังมีความสำคัญมากกว่าการรักษากฎหมายส่วนสาระบัญญัติเพราะศาลไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์การกระทำตามที่มีการกล่าวหา อันเกิดเป็นสุภาษิตกฎหมายว่า “ปล่อยคนผิด 10 คน ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว” ดังนั้นจึง “ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้อย่างปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิด” และ “ก่อนศาลพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อจำเลยเฉกเช่นผู้กระทำความผิดไม่ได้” ทั้งพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลย จะต้องเป็นพยานหลักฐานที่บริสุทธิ์ เชื่อถือได้ อันเป็นที่มาของหลักการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลย ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้จำเลยได้ตรวจสอบพิสูจน์พยานหลักฐานที่ได้ปรักปรำตน รวมทั้งการที่จำเลยมีโอกาสได้ตรวจสอบที่ใช้ปรักปรำตนยังเป็นการให้โอกาสจำเลยหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์หักล้างพยานหลักฐานที่ปรักปรำตน จากหลักการดังกล่าว นำไปสู่หลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย ซึ่งจะแสดงความโปร่ใสของศาลตลอดจนกระบวนการยุติธรรมทั้งระบขบ ทั้งการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยยังแสดงถึงความบริสุทธิ์ ยุติธรรมของการดำเนินการกระบวนการยุติธรรม สามารถตัดคำครหาได้ หลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยจึงเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของกระบวนการยุติธรรมในการดำเนินคดีอาญา การมุ่งรักษากฎหมายส่วนสาระบัญญัติโดยลงโทษจำเลยด้วยพยานหลักฐษนที่ยังมีข้อชวนสงสัย จะนำไปสู่การลงโทษทุกคนที่ควรสงสัยว่าได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ท้ายสุดจะกลับกลายเป็นการ “ลงโทษคนบริสุทธิ์ 10 คน ดีกว่าปล่อยคนผิดเพียงคนเดียว” อันขัดกับหลักการดำเนินกระบวนยุติธรรมอย่างร้ายแรง
 
ข้อ 12. จำเลยขอกราบเรียนศาลอุทธรณ์อีกว่า มูลเหตุที่แท้จริงของการปราศรัยของจำเลย เป็นความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองระหว่างกลุ่มบุคคล 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นแกนนำ กับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ที่จำเลยร่วมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย การกล่าวปราศรัยของทั้ง 2 กลุ่มจึงเป็นสิ่งปกติธรรมดาในการแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหัวใจหลักที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ใช่เพียงการเลือกตั้ง การเลือกตั้งเป็นเพียงกระบวนการหนึ่งในการคัดครองคนให้มาเป็นตัวแทนคนทั้งประเทศเพื่อบริหารประเทศ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ สิทธิในการแสดงความคิดเห็น การยอมรับสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างจากตน
ท่ามกลางความขัดแย้งดังกล่าว มีการกล่าวปราศรัยโจมตีซึ่งกันและกันระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ที่สำคัญกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นผู้ดึงเอาสถาบันกษัตริย์มาใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตนก่อน ด้วยการถวายฎีกาของให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลดนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และขอให้ทรงตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่ ซึ่งเรียกกันว่า “นายกพระราชทาน” จนแม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววยังได้ตรัสว่าทำไม่ได้ พฤติกรรมของกลุ่มพันธมิตรฯ และนายสนธิ ลิ้มทองกุล จึงเป็นการพยายามดึงให้สถาบันฯ มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือเป็นการแอบอ้าง แอบอิง ใช้สถาบันกษัตริย์อยู่ร่วมฝ่ายเดียวกับตนในการต่อต้านกับบุคคลที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อันเป็นพฤติกรรมที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง
ในอดีตได้มีการแอบอ้างสถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการตะโกนในโรงภาพยนตร์ว่านายปรีดี ปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 หรือการแต่งรูปในหนังสือพิมพ์จนนำไปสู่การสังหารหมู่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทั้งนี้ เพราะสถาบันกษัตริย์เป็นที่รักของประชาชน การโจมตีฝ่ายตรงข้ามในประเด็นนี้จึงส่งผลรุนแรง
คดีนี้สิ่งที่ควรพิจารณามากกว่าว่า ถ้อยคำที่โจทก์ฟ้องเป็นถ้อยคำจาบจ้วงเบื้องสูงหรือไม่ คือ เหตุที่มีการกล่าวถ้อยคำเหล่านั้น การลงโทษผู้พูดเป็นการห้ามมิให้คนแสดงออก ห้ามมิให้คนจาบจ้วงล้วงเกินสถาบันอันเป็นที่รัก แต่การห้ามมิให้คนกระทำ เป็นการปกป้องสถาบันได้จริงหรือ การทำให้ไม่อยากพูด ไม่อยากแสดงออก ถึงการจาบจ้างล้วงเกินสถาบันอันเป็นที่รักไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมกว่าหรือ ถ้อยคำตามฟ้องข้อ 1 (ก) ไม่มีการสอบสวนตรวจสอบมูลความจริงในคำพูดดังกล่าว หากคำพูดเหล่านั้นเป็นความจริง นายสนธิ ลิ้มทองกุล ต่างหากที่เป็นผู้จาบจ้วงเบื้องสูง แต่ไม่มีการตรวจสอบจากพนักงานสอบสวน คนที่สร้างความเสื่อมเสียแก่สถาบันกษัตริย์คือคนที่แอบอ้างสถาบันมาใช้โจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
จากความขัดแย้งและการพูดโจมตีกันดังกล่าว นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้นำถ้อยคำตามฟ้องข้อ 1(ค.) ไปพูดขยายความในวันรุ่งขึ้น ดังที่ พ.ต.ท.บรรยง แดงมั่นคง เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล นำเอาคำพูดของจำเลยไปขยายความ จากนั้นจึงได้มีการดำเนินคดีกับจำเลยเป็นคดีนี้
พฤติกรรมต่างๆ ดังกล่าวบ่งชี้ว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ต่างหากที่มีพฤติกรรมแอบอ้างเอาสถาบันกษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตน การที่พนักงานสอบสวนซึ่งมีหน้าที่สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐษน เพื่อส่งฟ้องอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม มุ่งแต่ดำเนินคดีกับจำเลยโดยไม่ตรวจสอบถึงมูลเหตุแห่งการพูด จึงไม่ต่างจากการตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้แอบอ้างสถาบันกษัตริย์หาผลประโยชน์ทางการเมืองที่แท้จริง
ถ้อยคำตามที่โจทก์ฟ้องสามารถตีความหมายได้หลายนัย ทั้งไม่มีถ้อยคำใดเอ่ยชื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระราชินี ถ้อยคำตามฟ้องข้อ1.(ก) เป็นการโจมตีนายสนธิ ลิ้มทองกุล ว่าแอบอ้างว่าสถาบันกษัตริย์ให้การหนุนหลังตน ถ้อยคำที่กล่าวถึงคดีสวรรคตของรัชการที่ 8 เป็นเพียงการกล่าวว่านายปรีดี พนมยงค์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสวรรคตเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นตีความว่าผู้พูดหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เป็นการตีความขยายความคำพูดเช่นกัน ซึ่งความจริงแล้วเหตุการณ์ในวันนั้นยังคงมีคนอื่นอยู่ในพระบรมมหาราชวังอีกมาก ทั้งคนที่มีอำนาจมากที่สุดขณะนั้น ก็ไม่ใช่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ส่วนการถวายสัตย์ปฏิญาณตน ก็มิได้มีเพียงแต่ผู้พิพากษาเท่านั้น หากแต่องค์กรอื่นอีกมากก็ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หรือแม้แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา
นอกจากถ้อยคำตามฟ้องจะตีความหมายได้หลายนัยดังกล่าวข้างต้น และดังกล่าวในอุทธรณ์ข้ออื่นข้างต้นแล้ว การที่ศาลชั้นต้นตีความไปในทางเป็นผลร้ายกับจำเลย อันเป็นการตีความตามฟ้องโจทก์ ซึ่งนำมาจากนายสนธิ ลิ้มทองกุล นำคำพูดไปขยายความแล้ว การที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานที่มีข้อตำหนิ พยานหลักฐานที่มีข้อสงสัย พยานหลักฐานที่จำเลยไม่สามารถตรวจสอบก่อนพิจารณาคดี ตลอดจนการไม่ให้จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี การเปิดเล่นแผ่นซีดีในห้องพิจารณาโดยบังคับให้จำเลยอยู่ฟังด้วย การสั่งให้พิจารณาคดีลับ ล้วนเป็ฯการดำนินกระบวนพิจารณาโดยมิชอบ ทั้งการที่ศาลชั้นต้นรับฟังแผ่นซีดีวัตถุพยาน หมายวจ.2 แผ่นแรก และ วจ.3 เป็นการอนุมานเอาจากการที่ศาลชั้นต้นเชื่อพยานโจทก์ว่า แผ่นซีดีวัตถุพยานวจ.1 เป็นการบันทึกเสียงของจำเลยจริง จึงเชื่อแผ่นซีดีที่เหลือว่าเป็นการบันทึกเสียงของจำเลยจริงด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ปรากฏบุคคลผู้บันทึก จึงเป็นการใช้การสันนิษฐานมารับฟังพยานหลักฐานเพื่อลงโทษจำเลย อันเป็นการขัดต่อหลักการดำเนินคดีอาญาอย่างยิ่ง
ด้วยเหตุข้อเท็จจริงและเหตุผลดังกล่าว ขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดพิจารณาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยพิพากษายกฟ้องโจทก์
 
ข้อ 13.จำเลยขออุทธรณ์อีกว่า มูลคดีนี้เกิดจากการปราศรัยแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งไม่มีผู้ฟังการปราศรัยของจำเลยคนใดรู้สึกว่าเป็นการจาบจ้วงเบื้องสูง เว้นแต่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งนำไปพูดขยายความเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 18 ปีจึงเป็นการลงโทษที่รุนแรงเกินเหตุ ขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษไว้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท