Skip to main content
sharethis
 
 
 
 
สมกิจ อนันตเมฆ
ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย
 
หอการค้าไทย คือ หนึ่งในองค์กรสมาชิกของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน หรือ กกร.ที่ประกอบด้วย หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคาร ที่มีบทบาทและอิทธิพลสูงต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไทยมาตลอด จึงมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดอนาคตของประเทศด้วย เช่นเดียวกับการพัฒนาภาคใต้ของไทย
 
ในวันที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเดินทางไปพบปะกับภาคเอกชนในภาคใต้ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2552 ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พร้อมคำถามที่ให้คนใต้เลือกว่าจะเอาอุตสาหกรรมที่จะมาพร้อมการแผนพัฒนาพัฒนาภาคใต้ แลนด์บริดจ์เชื่อมสองฝั่งทะเลอ่าวไทยกับอันดามัน หรือจะเอาการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของภาคใต้และของประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ ด้วยเพราะการเดินทางคู่กันของอุตสาหกรรมกับการท่องเที่ยวในพื้นที่แคบๆ อย่างภาคใต้ดูจะขัดแย้งกัน
 
นั่นจึงทำให้หอการค้าไทย โดยคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หนึ่งในผู้กุมอนาคตของภาคใต้ ต้องตัดสินใจกันอีกครั้งหนึ่งแล้ว ท่าทีของพวกเขาเป็นอย่างไร อ่านบทสัมภาษณ์ นายสมกิจ อนันตเมฆ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย พี่เลี้ยงใหญ่ของหอการค้าทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้
 
 
....................
 
ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้หอการค้าไทย ที่มีการประชุมไปหลายรอบและจะเสนอในที่ประชุมหอการค้าไทยทั่วประเทศครั้งที่ 27 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2552 มีอะไรบ้าง
ภาคใต้เรากำหนดเป็น 3 กลุ่มจังหวัด กลุ่มแรก คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง เรากำหนดให้เป็นพื้นที่พัฒนาผลไม้เมืองร้อนเพื่อการส่งออก และให้จัดตั้งตลาดการเที่ยวอ่าวไทยภาคใต้ตอนบน ภาคใต้กลาง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว ทั้งความปลอดภัย การเตือนภัย การกู้ภัยและอะไรต่อมิอะไรอีกมาก
 
กลุ่มนี้เราก็คิดว่าประตูสู่การท่องเที่ยวในภาคใต้ จึงต้องสร้างความพร้อมในหลายด้าน เช่น การหนึ่งขยายรันเวย์สนามบินชุมพร เพื่อให้บริษัทนำเที่ยวระดับโลกที่สนใจนำซัตเตอร์ไฟลท์(เครื่องบินเช่าเหมาลำ) ลำใหญ่มาลงได้ เพราะถ้านำเครื่องบินลำใหญ่มาลงได้มันถึงจะคุ้มทุน จากที่ได้แค่ 160 ที่นั่ง ก็จะได้ถึง 300-400 ที่นั่งก็จะคุ้มทุน เพราะขณะนี้รันเวย์จังหวัดชุมพรยาว 2,100 เมตร เครื่องบินลำใหญ่ไม่กล้าลง ตอนนี้มีเครื่องบินพาณิชย์ขึ้นลงสัปดาห์ละเที่ยวเท่านั้น
 
สอง ในอ่าวไทยจังหวัดชุมพร มีเรือสตาร์ครูส ซึ่งเป็นเรือท่องเที่ยวระดับโลกมาลอยลำอยู่เรื่อยๆ เราต้องไปรับนักท่องเที่ยวกลางทะเลโดยใช้เรือสปีดโบ้ทเล็กๆ ไปรับ มันดูแล้วไม่ดีเรา ก็จะให้สร้างท่าเทียบเรือท่องเที่ยวที่ชุมพร ซึ่งไม่ใหญ่โตมากและงบประมาณก็ไม่มาก เพราะตอนนี้มีแขกจะลงมาที่อ่าวไทย เที่ยวเกาะสมุย เที่ยวเกาะเต่า เกาะนางยวน ลงชุมพรวันหนึ่งประมาณ5,000คน
 
เขามากันเยอะเพราะเกาะนางยวน เกาะเต่า สวยมาก ภาพมันออกระดับโลก เขาต้องนั่งรถทัวร์มา ระบบก็ไม่ดี ทั้งการรับแขกต่อจากรถไฟ และรถทัวร์มาสู่ท่าเรือ ถ้าเรามีประตูตัวนี้ มันจะทำให้เกิดระบบที่เขาเชื่อมั่น
 
ชุมพรคือ เพชรเม็ดใหม่ เพราะว่านักท่องเที่ยวจะรู้เองว่า เขาจะไปท่องเที่ยวที่เกาะสมุย ต้องลงเรือที่ชุมพรก่อนเพราะมีที่ท่องเที่ยวเชื่อมกันอยู่ ระบบเตือนภัยในทะเล มีหน่วยกู้ภัยทางทะเลต้องมี แต่ถ้าไม่ตั้งเป็นศูนย์ระบบนี้ไม่เกิดขึ้น เราก็ของบประมาณจากรัฐบาลในงบนโยบายไทยเข็มแข็ง
 
ต่อไปเป็นเรื่องผลไม้เราจะพัฒนาให้เกิดความเป็นธรรมแก่ชาวสวนในการกำหนดราคา แล้วเราจะพัฒนาพร้อมกันระหว่างชาวสวนที่ส่งออกและผู้นำเข้า จะจับมือมาร่วมกันในการวางแผนให้ผู้ประกอบการตลอดถึงชาวสวนผู้ผลิต ซึ่งเราตกลงกันที่ประชุมร่วมกันระหว่างหอการค้าไทยกับผู้แทนการค้าของเขตปกครองตนเองหนิงเซียะ ประเทศจีนเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 ที่โรงแรมเจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลากันแล้วด้วย ซึ่งทางจีนรับปากว่าต่อไปภายในประเทศจะทำเป็นสากลมาก
 
กลุ่มอันดามัน มีระนอง ตรัง กระบี่ พังงา ภูเกต เราต้องการให้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพในระดับโลกแล้วให้เชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางทะเลสู่บนบก ให้นักท่องเที่ยวได้มีเวลาอยู่ที่นี่มากขึ้น เพื่อจะนำรายได้เข้าสู่ประเทศ เพราะฉะนั้นต่อไปหอการค้าจะพัฒนาการท่องเที่ยวบนบกด้วยซึ่งมีศักยภาพพอสมควร
 
กลุ่มภาคใต้ชายแดน แบ่งเป็นสองส่วน พื้นที่หนึ่งคือเชิญชวนผู้ประกอบการลงทุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับฮาลาลที่สามจังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่ที่สอง คือสงขลาและสตูล เป็นศูนย์กระจายสินค้าระหว่างกลุ่มประเทศมหาสมุทรอินเดีย และกลุ่มประเทศมหาสมุทรแปซิฟิก
 
เราต้องการให้จังหวัดสงขลาและสตูลเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ซึ่งตอนนี้ผู้แทนการค้าจีนก็จะลงมาตั้งศูนย์กระจายสินค้าของเขตปกครองตนเองหนิงเซียะ ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในเดือนมกราคม 2553 จะเปิดอย่างเป็นทางการที่ห้างสรรพสินค้าโอเดียน อำเภอหาดใหญ่ เป็นการชั่วคราวไปก่อน ต่อไปจะไปคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสม ถ้าได้พื้นที่ที่เหมาะสมก็จะสร้างเลย และจีนต้องการมากที่สุด คือหุ้นส่วนหรือพาร์ทเนอร์ที่มีคุณภาพ เช่นเดียวกับที่ไทยไปเปิดศูนย์กระจายสินค้าไทยที่เมืองหนิงเซียะแล้ว
 
โดยศูนย์กระจายสินค้าจีนในอำเภอหาดใหญ่ที่จะสร้างขึ้น มีมูลค่า 30 ล้านบาท บนพื้นที่ประมาณ 400 ตารางเมตร โดยหอการค้าภาคใต้เตรียมนำเสนอสินค้าไปจำหน่ายยังประเทศจีน 15 รายการ เช่น รังนก ข้าวเกรียบ เสื้อบาติก อาหารทะเลแปรรูป ข้าวสาร เป็นต้น โดยเฉพาะผลไม้ 4 ชนิดได้แก่ ทุเรียน ลองกอง เงาะ และมังคุดที่ประเทศจีนมีความต้องการสูง และเป็นโอกาสที่เกษตรกรไทยจะสร้างตลาดใหม่ เพื่อระบายสินค้า ตลอดจนเพิ่มมูลค่า ซึ่งแต่ละปีประสบปัญหาราคาตกต่ำ
 
ในส่วนของหุ้นส่วนนั้น เราจำเป็นต้องหาและต้องกรองกันให้ดี สำหรับฝ่ายนโยบายของศูนย์กระจายสินค้าจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นที่ปรึกษาใหญ่ ให้ทางหอการค้าจังหวัดสงขลาเป็นผู้จัดการของโครงการทั้งหมด โดยในการประชุมรวมกับผู้แทนการค้าจีนเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมานั้น ก็มีการพูดคุยกันถึงหุ่นส่วนและมีการจับคู่เจรจาทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการทั้งสองประเทศแล้วด้วยเช่นกัน
 
เจรจากันไปถึงไหนแล้ว
เรายังไม่เปิดประตูมาก แต่โอกาสเราต้องเปิดไปตลอดโครงการ ลองดูว่าจะทำได้ไหม ถ้าทำได้ ต่อไปหอการค้าไทยจะมาเป็นพี่เลี้ยง
 
เรามีความคืบหน้าไปเยอะ แล้วเราจะมีคณะทำงานตามนโยบายไทยเข้มแข็งของรัฐบาล เป็นการยกระดับจากท้องถิ่นสู่สากล แม้เป็นงานหนักเราก็จะเริ่ม
 
ส่วนรูปแบบก็คือต่อไปต้องพัฒนาผู้ประกอบการและผู้ผลิตในพื้นที่ในเรื่องการส่งออก เพื่อให้เป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพไปสู่ระดับโลกได้ ซึ่งขณะนี้เราจะเริ่มต้นที่ภาคใต้ก่อน
 
ตอนนี้เราจะให้ทุกจังหวัดสำรวจผู้ประกอบการที่มีคุณภาพที่จะมาเป็นหุ้นส่วน แต่กี่รายแล้วยังไม่พูดก่อน เพราะต้องให้มั่นคงก่อน ตอนนี้ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานหอการค้าไทยและประธานหอภาคกำลังวางแผนเก็บข้อมูลผู้ประกอบการส่งออกอยู่
 
ขั้นตอนไปหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร
 หลังจากเปิดศูนย์กระจายสินค้าแล้ว จะมีผู้ประกอบการมาเป็นหุ้นส่วนกับจีน หลังจากที่จีนลงตัวดีแล้ว หอการค้าไทยจะเดินหน้าประสานสัมพันธ์กับการค้าประเทศต่างๆในโลกต่อไป ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆไม่มีจุดจบ เพราะยุคโลกาภิวัตน์การค้าจะพลิกแพลงกันไปตลอด
 
เราทำตรงนี้เพราะต้องการช่วยผู้ประกอบการไทย จะช่วยผู้ผลิตไทยให้เข้าใจว่า ยกตัวอย่างคุณทำอาหารคุณต้องรู้ว่าประเทศไหนกินของคุณ
 
ทำไมต้องเขตปกครองตนเองหนิงเซียะ ประเทศจีนและทำไมต้องเริ่มกับสินค้าฮาลาลก่อน
หลังจากเราเดินทางไปพบผู้นำเข้าจากต่างประเทศ เรามองว่าจีนมีประชากร 1,400 ล้านคน หนิงเซียะเมืองเดียวมีถึง 8 ล้านคน มากกว่าคนไทยทั้งภาคใต้ โดยจีนมีเขตปกครองตัวเอง 4 เขต นอกจากนั้นเป็นมณฑลและมีเมืองศูนย์กลางการค้า 5 เมือง
 
ที่หนิงเซียะมีประชากรมุสลิม 2 ล้านคน ส่วนทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนมีชาวมุสลิมมากกว่าภาคใต้ของเรา ถ้าให้มุสลิมได้ค้าขายกับมุสลิมเองก็น่าจะดีกว่า เหมือนคนจีนค้าขายกับคนจีน คนไทยค้าขายกับคนไทย
 
ขณะเดียวกันจีนก็มีอัตราการเจริญเติบโตของ จีดีพี หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงกว่าประเทศอื่นในโลก แม้แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังสู้ไม่ได้ จึงน่าจะให้ผู้ประกอบการไทยทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายตกลงร่วมกันในการสร้างคุณภาพของสินค้าเพื่อส่งออก เป็นการให้ทุกฝ่ายได้เปิดการค้ากันอย่างยั่งยืน
 
เมื่อครั้งที่นายอภิสิทธิ์ เชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลงมาพบปะกับภาคเอกชนภาคใต้เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2552 ที่โรงแรมบีพีแกรนด์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สิ่งที่นายกฯ บอกกับคนใต้ว่า จะเอาอุตสาหกรรมหรือไม่ ถ้าเอาแล้วจะทำอย่างไรไม่ให้กระทบกับการท่องเที่ยว
 ที่นายกฯ พูดเพราะกลัวเอ็นจีโอ(องค์กรพัฒนาเอกชน : NGO) ค้าน ซึ่งในวันที่ 1 ธันวาคม 2552 นี้ สนข.(สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) จะลงทำประชาพิจารณ์เรื่องสะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์สงขลา – สตูล ที่จังหวัดสตูล เรื่องที่เขาจะเปิดทางรถไฟจากสงขลาไปสตูล
 
ผมก็อยากวิงวอนให้เอ็นจีโอว่า บางเรื่องเราจำเป็นต้องทำ เพราะว่าถ้าเศรษฐกิจมันแย่ก็เหมือนกับคนป่วยถึงขั้นที่จะต้องฝ่าตัด เราก็จำเป็นต้องผ่าเพื่อที่จะเอาชีวิตรอด เพราะฉะนั้นบางที่มันก็ต้องเสียเลือดเสียเนื้อกันบ้าง ไม่เสียอะไรเลยมันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นขอวิงวอนว่า ตรงนี้ปิดหูปิดตาบ้าง
 
สิ่งที่เอ็นจีโอกังวลคือ เมื่อมีแลนด์บริดจ์แล้วอุตสาหกรรมต่างๆ ก็จะตามมา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งในคนในภาคตะวันออกกำลังได้รับผลกระทบอยู่อย่างที่กำลังเกิดขึ้น
เรื่องอุตสาหกรรมเราต้องการให้ไปลงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนสงขลากับสตูลเป็นพื้นที่กระจายสินค้า คือเป็นพื้นที่สนับสนุนการค้า ซึ่งจำเป็นต้องมีท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ตรงนี้เป็นมติของที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2552 หลังการพบปะกับนายกรัฐมนตรี
 
เราคิดแล้วว่าพื้นที่ตรงนี้มีมุสลิมเยอะ และเราไม่ได้เอาแต่หนิงเซียะลงมาเท่านั้น ต่อไปเราจะเชิญกลุ่มประเทศในอาหรับหรือตะวันออกกลางมาลงทุนด้วย
 
ปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมเพื่อนักธุรกิจระดับใหญ่ แต่ที่หอการค้ากำลังพูดถึง คือเรื่องที่จะช่วยชาวบ้านอยู่ดีกินดี มีงานทำครอบครัวอบอุ่น ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ภาคใต้มั่นคง
 
เรื่องอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเหมือนที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในภาคตะวันออก ยังอีกนานเพราะต้องลงทุนเป็นแสนล้าน แต่ตรงนี้เราต้องการเปิดศูนย์กระจายสินค้าก่อน อย่างน้อยที่สุดยางพาราภาคใต้ทั้งหมด ก็สามารถนำมารวมกันที่ศูนย์กระจายสินค้านี้แล้วส่งออกโดยไม่ต้องขนส่งผ่านมาเลเซียอย่างปัจจุบัน
 
เรื่องอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเราไม่เอา แต่เราพยายามเอาวัตถุดิบในท้องถิ่นที่มีอยู่แล้ว มานั่งคิดว่าจะทำอะไรได้บ้าง แล้วใช้แรงงานคนในสามจังหวดภาคใต้ และดึงแรงงานไทยที่อยู่ในมาเลเซียที่ห่างครอบรัวมาทำงานในพื้นที่ ครอบครัวจะได้อบอุ่น และคนมีรายได้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายน้อยลง
 
ถ้าเราไม่สร้างงานให้เขา เขาก็ไม่มีงานทำ ถามว่าจะสร้างงานอย่างไร ในเมื่อการเกษตรเรามีอยู่แล้ว เราก็เอาอุสาหกรรมมาใส่ เป็นอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องการเกษตรในสามจังหวัด และทางหอการค้าก็จะพยายามหาตลาดให้
 
การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเมื่อผู้ประกอบการไม่กล้าไปลงทุน เราก็เสนอรัฐบาลว่า ขอให้รัฐบาลเป็นคนสร้างโรงงานให้ แล้วให้ผู้ประกอบการเช่า เพราะโรงงานเป็นสิ่งที่อยู่กับที่ ผู้ประกอบการกลัวว่าโรงงานจะโดนระเบิด รัฐบาลก็ดูแลรักษาความปลอดภัยให้ การพัฒนาอุตสาหกรรมก็จะเกิดขึ้นได้จริง นี่คือความคิดของหอการค้า ผลิตสินค้าได้แล้ว ก็กระจายสินค้าไปสงขลาและติดต่อสินค้าไประหว่างประเทศ
 
ตอนนี้ผู้ประกอบการพร้อมจะมาลงทุน ซึ่งก็เท่ากับลงทุนเพื่อให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้และมีสินค้า จะคิดภาษีเท่าไหร่ ก็เป็นรายละเอียดต้องใช้เวลาคุยกันอีกยาว
 
ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนปลุกเร้ามาที่ผมมาก ก็คือการขุดคลองไทย เชื่อมฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย ที่อยากให้มี แต่ก็ยังมีคนที่คัดค้าน ซึ่งเป็นคนใต้ด้วยกัน แต่คนภาคเหนือภาคอีสานเขาต้องการให้มี ประเทศที่จะมาเป็นหุ้นส่วนกับเราเขาพร้อมที่จะลงทุน ตรงนี้คำนวณแล้วใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท ใช้เวลาขุด 4 ปี เราไม่ต้องออกเงินลงทุน เพราะต่างประเทศเขาสนใจ
 
ทีแรกเข้าใจว่าทางสิงคโปร์ค้าน แต่ไม่ใช่ เพราะร่องน้ำที่ประเทศสิงคโปร์ตื้นเขินมาก แต่ขุดลอกไม่ได้ เพราะติดข้อตกลงระหว่างประเทศ ถ้าทำได้เราก็จะมีศักยภาพในการต่อรองกับการค้าโลกสูงขึ้น และอยากจะฝากความคิดแบบชาวบ้านแบบนี้ไปสู่ผู้ที่รับผิดชอบ ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่หอการค้าไทยจัดทำโครงการพัฒนาเศรษฐกิจเสนอต่อรัฐบาล ที่มีโครงการนี้เพิ่มเข้าไปด้วย
 
คนที่ค้านเขามีเหตุผลอย่างไร
คิดว่าความคิดของคนคิดไปคนละอย่าง อาจเป็นมุมมองที่ไม่เหมือนกันและอีกอย่างอาจคิดว่าเสียประโยชน์อะไรบางอย่าง
 
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นที่ทับซ้อนกับแหล่งท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งหารายได้หลักของคนใต้หรือไม่
ถ้าเราขุดคลองได้ การท่องเที่ยวจะบูมอย่างมหาศาลด้วย เพราะนักท่องเที่ยวแต่ละคน เขามีธุรกิจกันทั้งนั้น เขามาเที่ยวเพื่อหาทีทำธุรกิจ ส่วนเรื่องของสิ่งแวดล้อมหน่วยงานราชการสามารถรักษาได้ ถ้าทำได้มันเป็นผลประโยชน์ครั้งยิ่งใหญ่ทั้งของไทยและโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net