Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์สถานการณ์ให้ความเห็นท้ายข่าวต่อกรณีไทย-กัมพูชา บนคำอธิบายที่สรุปรวบยอดและประมวลเป็นกลุ่มเป็นก้อนอย่างคร่าวๆ ได้สามแบบ
 
คำอธิบายแบบแรก ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นเพราะกัมพูชายึดแย่งเขาพระวิหารจากไทย ไทยจึงต้อง ทวงคืนเขาพระวิหารจนกัมพูชาตอบโต้โดยแต่งตั้งอดีตนายกฯ ของไทย เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจ รัฐบาลไทยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้อง กอบกู้ศักดิ์ศรีของประเทศไทย
 
คำอธิบายแบบที่สอง ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นเพราะกัมพูชามีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจขัดแย้งกับไทยหลายเรื่อง ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องทรัพยากรธรรมชาติบริเวณพื้นที่ทับซ้อน รัฐบาลของสมัครและสมชาย ขายชาติ ในเรื่องนี้ ขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์รักษาผลประโยชน์ของไทย ทำให้กัมพูชาไม่พอใจ จึงสมคบกับอดีตนายก เพื่อ ล้มอภิสิทธิ์ และปกป้องผลประโยชน์ลับๆ ของกัมพูชาในพื้นที่ดังกล่าว
 
คำอธิบายแบบที่สาม กัมพูชาเป็นชาติที่ไว้ใจไม่ได้ มักฉวยโอกาสแทรกแซงไทยเวลาที่ฝั่งไทยเกิดปัญหา ทำตัวเป็นข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย ส่งบรรณาการให้ไทย แต่ก็พร้อมจะส่งบรรณาการให้เวียดนามไปด้วย เป็นประเทศราชของไทย แต่ก็พร้อมทรยศไทยเสมอ ท่าทีของกัมพูชารอบล่าสุดก็มีเหตุจากเรื่องนี้ นั่นคือเห็นการเมืองไทยอ่อนแอ คนไทยแตกเป็นฝักเป็นฝ่าย จึงฉวยโอกาส ทำร้ายประเทศไทย
 
คำอธิบายสามแบบนี้ทำงานด้วยกัน ถักทอไขว้กันไปมา บางจังหวะ คำอธิบายแบบแรกก็โดดเด่นที่สุด บางจังหวะก็เป็นคำอธิบายแบบที่สองหรือแบบที่สาม คำอธิบายสามแบบรวมกันเป็นวาทกรรมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบที่เรียกง่ายๆ ว่า วาทกรรมเผชิญหน้าระหว่างไทย-กัมพูชา
 
วาทกรรมแบบนี้ทำงานอย่างไร คำตอบที่ง่ายที่สุดคือวาทกรรมแบบนี้ทำงานบนการอธิบายความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา บนมุมมองของชาติไทยแบบคับแคบ เอาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์นี้ คิดบนพื้นฐานของความหลงเฟื่องเรื่องความเหนือกว่าชาติอื่นในภูมิภาคเดียวกันทั้งหมดของไทย สืบทอดความใฝ่ฝันของอาณานิคม-จักรวรรดินิยมสยาม และมองโลกสมัยใหม่ด้วยสายตาของนักการฑูตและนักความมั่นคงสมัยสงครามเย็น
 
เราอาจพูดให้สั้นๆ ก็ได้ว่าวาทกรรมเผชิญหน้านี้ทำงานบนอคติที่ชนชั้นนำศักดินาอาณานิคมสร้างขึ้น และกลุ่มพลังคลั่งชาติสวาปามและใช้เป็นเครื่องมือปลุกปั่นโดยปราศจากการกลั่นกรอง
 
ประวัติศาสตร์ไทย-เขมร ภายใต้เงาอาณานิคม-จักรวรรดินิยามสยาม
เป็นความจริงว่าไทยกับกัมพูชามีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นและไม่ลงรอยกันมานานแล้ว อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บอกว่า คนที่รู้ประวัติศาสตร์สักหน่อยก็จะรู้ว่าปกติไทยมักจะเข้าไปแทรกแซงการเมือง ภายในกัมพูชา เพราะจากประวัติศาสตร์ ที่เรียกว่า อันนัมสยามยุทธ์ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะเห็นศึกระหว่างเวียดนามกับไทยที่พยายามเข้าไปแทรก แซงการเมืองกัมพูชา โดยต่างฝ่ายต่างต้องการให้คนของตัวได้เป็นจักรพรรดิ
 
การแทรกแซงเพื่อให้เขมรฝ่ายที่ไทยชื่นชอบเป็นกษัตริย์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ชาติไทย
 
ในคำสัมภาษณ์ของนายกฮุนเซ็นที่คนไทยเป็นเดือดเป็นแค้นนักหนา ท่านได้พูดประเด็นนึงที่เกี่ยวกับการแทรกแซงกิจการกัมพูชาโดยไทยไว้น่าคิด นั่นคือบทบาทไทยในการสนับสนุนเขมรแดงอย่างลับๆ เป็นเวลาหลายปี นั่นคือไทยสนับสนุนระบอบที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนเขมรเรือนล้าน ระบอบที่ดูดกินเลือดเนื้อผู้คนจนซากศพทับถมท่วมท้นทุ่งสังหาร ระบอบที่ฆ่านักศึกษาปัญญาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ระบอบที่อพยพคนทั้งหมดไปเป็นชาวนาทำการผลิตรวมหมู่ในระบบนารวม
 
ในกรณีแบบนี้ คนไทยคงลืมไปแล้วว่า เรา เคยสนับสนุนระบอบคอมมูนิสม์คลุ้มคลั่งที่ทำทั้งล้มเจ้าและฆ่าพลเรือนในเขมร เพราะเห็นว่า เขา เป็นแนวร่วมกับเราในการสร้างแนวกันชนระหว่างเรากับเวียดนาม
 
เขมรแดงฆ่าคนและมือเปื้อนเลือดได้เป็นปีๆ โดยมีดินแดนไทยเป็นชัยภูมิและที่หลบภัย ผู้นำกองทัพเขมรแดงที่ได้ชื่อว่าเป็นนักฆ่าที่โหดเหี้ยมที่สุดคนนึงมีกิจการค้า มีร้านค้า มีครอบครัว อยู่จังหวัดชายแดนไทยจนปัจจุบัน
 
เสียดานที่ฮุนเซ็นไม่ได้พูดเรื่องที่ไทยให้สหรัฐฯ ตั้งฐานทัพในไทยสมัยสงครามอินโดจีน นั่นคือการที่ไทยเป็นลูกไล่ปลายแถวของสหรัฐฯ ในการทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา เป็นฐานทัพให้สหรัฐเอาเครื่องบินไปทิ้งระเบิดตามหมู่บ้านต่างๆ ปล่อยสารพิษที่เรียกว่า ฝนเหลือง ฆ่าพลเรือนบริสุทธิ์ในลาวในเขมรไปนับไม่ถ้วน ส่งทหารไทยเข้าไป ปฏิบัติการพิเศษ ทั้งในการรบและในการสร้างเครือข่ายกับชนชั้นนำเขมรยุคเจ้าสีหนุ และกระทั่งลักลอบช่วยเหลือกองทัพเขมรแดง
 
เมื่อฮุนเซนรบกับเขมรแดงโดยความช่วยเหลือของเวียดนาม ไทยเลือกเล่นบทเพื่อนบ้านผู้โอบอุ้มเขมรแดงอย่างแข็งขันที่สุดในโลก ช่วยจัดตั้งรัฐบาลผสม ช่วยหาที่นั่งให้ในสหประชาชาติ ปกป้องไม่ให้ผู้นำเขมรแดงขึ้นศาลอาชญากรสงครามระหว่างประเทศ หนุนหลังให้เขมรแดงสู้กับฮุนเซนนานนับสิบปี และเมื่อฮุนซน ยึดอำนาจเจ้านโรดม รณฤทธิ์ ในปี 2540 พรรคการเมืองของพระองค์ก็หนีมาตั้งหลักที่ชายแดนด้านจังหวัดสุรินทร์ภายใต้ความโอบอุ้มของไทย
 
ขณะที่ไทยมองเขมรเป็นลูกไล่ เป็นชาติเล็กที่ต้องด้อยกว่าชาติใหญ่อย่างไทยไปไม่รู้จบ บทบาทที่ไทยมีต่อเขมรจากอดีตจนปัจจุบันก็อัดแน่นเรื่องราวที่ทำให้เขมรมองไทยว่าเป็นชาติที่อันธพาล เห็นแก่ตัว แทรกแซงกิจการเขมร ฆ่าคนเขมร และพร้อมจะเผชิญหน้ากับเขมรตลอดเวลา
 
ขณะที่ไทยสะกดจิตตัวเองว่าเป็นพี่ใหญ่ของทุกชาติในภูมิภาค ทึกทักไปเองว่าคนอื่นคือ เมืองน้อง ขณะที่ไทยคือ บ้านพี่ ตีขลุมว่าเขามองเราแบบ เป็นพี่เป็นน้องแต่ประวัติศาสตร์แบบที่เกิดขึ้นจากอดีตถึงปัจจุบัน ไม่มีทางที่เขาจะมองเราเป็น บ้านพี่ ได้แน่ๆ ในทางตรงกันข้าม เขามองเราได้แม่นยำกว่าที่เราคิด นั่นคือมองเราเป็นอาณานิคม เป็นจักรวรรดิสยามที่พร้อมจะรุกรานชาติเล็กๆ เพื่อผลประโยชน์ของสยามเอง
 
ไม่มีทางสร้างความสัมพันธ์แบบปกติสุขกับเขมรได้ หากไม่ตระหนัก ไม่ยอมรับ ไม่เข้าใจ และไม่ยอมไถ่บาปประวัติศาสตร์ที่ติดลบของไทยกับเขมรลักษณะนี้ ประวัติศาสตร์ซึ่งเต็มไปด้วยเชื้อไฟจนง่ายเหลือเกินที่จะสร้างชาตินิยมเขมรให้ไม่พอใจฝ่ายไทย เช่นเดียวกับง่ายเหลือเกินที่ชาตินิยมไทยจะรู้สึกว่าทำไมเขมร ทรยศ และไม่เป็นดั่งใจไทยต้องการ
 
ในมิติทางประวัติศาสตร์ การล้มล้างทรรศนะการมองเขมรแบบอาณานิคม-จักรวรรดินิยมสยาม คือบันไดขั้นแรกที่สำคัญที่สุดในสร้างความสัมพันธ์แบบสันติระหว่างไทยกับเขมรขึ้นมา
 
ความไม่สามารถคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เขมร บนพื้นฐานของอำนาจอธิปไตย
 
ขณะที่เราคิดเรื่องไทยกับเขมรด้วยอคติทางประวัติศาสตร์แบบอาณานิคม-จักรวรรดินิยมสยาม ความเป็นจริงทางการเมืองในระดับระหว่างประเทศของไทยกับเขมรนั้นวิ่งเลยเรื่องนี้ไปไกลลิบแล้ว เขมรคือชาติเล็กๆ ที่มีอำนาจอธิปไตยของตัวเองเหมือนไทย เหมือนอเมริกา เหมือนสิงคโปร์ เหมือนอังกฤษ
 
อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวได้อย่างถูกต้องว่าบัดนี้เป็นเวลาแล้วที่รัฐไทยต้องมองกัมพูชาในระดับที่เท่ากับเรามองสหรัฐหรือจีน ไม่ควรมองว่าเป็นลูกน้องที่จะต้องยอมเราตลอดเวลา
 
ในคำสัมภาษณ์กรณีแต่งตั้งอดีตนายกของไทย ฝ่ายเขมรอ้างว่านี่เป็นกิจการภายในเขมร เขามีสิทธิ์ตั้งใครเป็นที่ปรึกษาก็ได้ น่าแปลกที่ไทยไม่เข้าใจเรื่องง่ายๆ แบบนี้ นายกของไทยและรัฐบาลไทยในอดีตหลายชุดตั้งที่ปรึกษาจากฝรั่งที่เคยทำงานในธนาคารโลกหรือค้าเงินตรา สมัยอยุธยาเคยมีถึงขั้นตั้งญี่ปุ่นเป็นเจ้าเมืองปกครองหัวเมืองหลักอย่างนครศรีธรรมราชด้วยซ้ำ
 
ถ้าเขมรตั้งอดีตนายกเป็นที่ปรึกษาไม่ได้ และถ้าการเป็นที่ปรึกษาเขมรกลายเป็นเรื่องขายชาติได้จริงๆ เราจะอธิบายการตั้งที่ปรึกษาหรือเสนาบดีจากฝรั่งของรัฐสยามในอดีตอย่างไรดี?
 
โดยตัวการตั้งที่ปรึกษาเป็นเรื่องในเขตอำนาจของรัฐอธิปไตยหนึ่งๆ โดยแท้ จะถูกใจเราหรือไม่ ผิดมารยาทหรือไม่ นั่นก็เป็นอีกเรื่อง แต่ที่เถียงได้ยากแน่ๆ คือมันเป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา
 
การไม่ยอมรับว่าเขมรมีอธิปไตยของตัวเองทำให้รัฐบาลไทยและชนชั้นนำไทยบางกลุ่มเคียดแค้นเหลือเกินเมื่อเขมรไม่ทำตามคำสั่งในกรณีนี้ ไม่เข้าใจเรื่องง่ายๆ ว่านี่คือเรื่องในเขตอำนาจของรัฐเขมร เขาจะตั้งใครมันก็เรื่องของเขา ต่อให้เป็นคนที่รัฐบาลไทยเกลียดเข้าไส้ขนาดไหนก็ตาม เหมือนกับที่เขมรไม่มีสิทธิคัดค้านไทยในการตั้งรัฐมนตรีต่างประเทศจากบุคคลที่ผู้นำที่เขมรเกลียดแสนเกลียด เพราะนี่มันเรื่องในเขตอำนาจของรัฐไทย
 
ถ้าไทยตัดความสัมพันธ์กับเขมรเพราะการแต่งตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาได้ เขมรก็ย่อมอ้างได้ว่าสามารถตัดความสัมพันธกับไทยเพราะตั้งกษิตเป็นรัฐมนตรี
 
ถ้าเข้าใจว่าเขมรเป็นรัฐอธิปไตย ไม่ใช่เมืองขึ้น ไม่ใช่เมืองน้อง ไม่ใช่ประเทศเล็กๆ ที่ควรฟังไทยให้มาก ก็จะเห็นว่าการตั้งที่ปรึกษาเป็นเรื่องธรรมดา ต้องมองการแต่งตั้งแบบที่คุณสุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรมว.ต่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่คนในเครือข่ายทักษิณแล้วแน่ๆ พูดในคำสัมภาษณ์ล่าสุดว่า คุณทักษิณจะเป็นที่ปรึกษาก็เป็นไป อย่าไปสนใจ เพราะเขาก็เป็นที่ปรึกษาประเทศฮอนดูรัส มอนเตเนโกร นิการากัว ฯลฯ ที่ปรึกษากัมพูชาถือเสียว่าเท่าๆ กันได้ไหม
 
แปลความง่ายๆ คืออย่าไปดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบเลือกปฏิบัติกับเขมร เพราะทันทีที่ไทยมีท่าทีแบบนี้ เรากำลังสร้างแผลใหม่บนรอยแผลเดิมว่าเขมรนั้นด้อยกว่าไทย
 
ชาตินิยมเก่าในสภาพแวดล้อมใหม่
 
ประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเขมรนั้น ราบรื่นบ้าง ไม่ราบรื่นบ้างมาตั้งแต่อดีต การแก้ประวัติศาสตร์นี้ทำได้ไม่ง่าย แต่โอกาสในการกลบรอยแผลจากอดีตนั้นก็มีได้ ทำได้หลายวิธี
 
ในรอบเกือบยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา การหยุดมองเขมรและอินโดจีนเป็นสนามรบ แต่เห็นเป็นสนามการค้า ช่วยได้มากในการทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งใหม่ๆ เพราะเน้นการมีผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจของสองฝ่าย เห็นเขาเท่ากับเราเพื่อค้าขายและอยู่ร่วมกันและกัน ไม่ใช่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศบนพื้นฐานเรื่องการค้าขายนั้นดีที่สุด แต่ทำแบบนี้ดีกว่าแน่ เมื่อเปรียบเทียบกับการทำสงคราม
 
การปลุกกระแสคลั่งชาติกรณีพระวิหารเป็นจุดหักเหของกระบวนการทำสนามรบเป็นสนามการค้าที่ทั้งไทยและเขมรยึดเป็นยุทธศาสตร์หลักของการอยู่ร่วมกันมาหลายปี กระแสพระวิหารทำให้สนามการค้ากลับไปเป็นสนามรบขึ้นมาใหม่ เกิดความขัดแย้งทางทหารตามแนวชายแดน เกิดการปิดด่านและปิดพรมแดนหลายครั้ง เกิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ตึงเครียด เกิดการเรียกฑูตกลับ เกิดการตอบโต้ทางการทูตและการเมืองที่ดูอย่างไรก็ไม่เห็นทางคลี่คลายลง
 
เรื่องพระวิหาร ไม่ว่าจะรักชาติและมืดบอดต่อสิทธิธรรมตามมิติทางโบราณคดีและศิลปะของตัวพระวิหารแค่ไหน ก็ต้องไม่ลืมว่าศาลโลกได้วินิจฉัยให้พระวิหารเป็นของเขมรไปครึ่งศตวรรษแล้ว การสู้คดีของไทยจบและแพ้ด้วยหลักฐานที่ศาลโลกเห็นว่าชนชั้นนำไทยตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5 จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นิ่งเฉยไม่คัดค้านการอ้างสิทธิ์ของฝรั่งเศส
 
น่าแปลกที่ต่อให้ศาลโลกตัดสินแบบนี้ ยังมีชนชั้นนำไทยบางกลุ่มคิดว่าไทยไม่แพ้ แต่ศาลโลกผิด ใช้ประเด็นพระวิหารปลุกกระแสคลั่งชาติ สร้างวาทกรรมหลุดโลกที่ใครได้ยินก็คงมึนงงด้วยความพิศวง เช่นพระวิหารเป็นของเขมร แต่ดินใต้พระวิหารเป็นของไทย , พระวิหารเป็นของเขมร แต่การพัฒนาพระวิหาร ต้องทำร่วมกับไทย, พระวิหารเป็นของเขมร แต่การเป็นมรดกโลก ต้องดำเนินการกับไทย ฯลฯ รวมทั้งไทยสงวนสิทธิ์ในการคัดค้านคำตัดสินศาลโลก ทั้งที่ผ่านมาราวครึ่งศตวรรษ ก็เป็นไทยเองที่ไม่เคยขุดคุ้ยคดีนี้ใหม่ในศาลโลกแม้แต่ครั้งเดียว
 
น่าสังเกตด้วยว่าถ้าไทยเชื่อว่าเราถูกทางกฎหมายระหว่างประเทศจริง ทำไมรัฐบาลไทยทุกชุดในช่วงหลัง พ.ศ.2505 จึงดึงดันที่จะไม่แก้ปัญหาพระวิหารด้วยกลไกศาลระหว่างประเทศอีก ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่าต้องการแก้ปัญหานี้โดยวิธีเจรจากับเขมรโดยตรง มีแต่ฝ่ายเขมรเท่านั้นที่ยืนยันว่าต้องคุยเรื่องนี้ผ่านกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ ใช้กลไกระหว่างประเทศเป็นตัวกลางในการเจรจา
 
เพราะศาลระหว่างประเทศแย่จนเชื่อถือไม่ได้? เพราะกฎหมายระหว่างประเทศผิดหมด ? หรือเพราะวิธีเจรจากับเขมรโดยตรงทำให้ไทยมีโอกาสมากกว่าในการ “บีบ” เขมรได้อย่างที่ไทยต้องการ
 
ขณะที่ฝั่งไทยเชื่อเหลือเกินว่าชาตินิยมจะเป็นทางออกสารพัดนึก ประเด็นอินโดจีนกลับแสดงให้เห็นความเร่อร้าและล้มเหลวของชาตินิยมไทย ชาตินิยมไทยภายใต้มืออาณานิคมจักรวรรดินิยมสยามแพ้ในการชิงเขาพระวิหารเป็นของไทยในเวทีกฎหมายระหว่างประเทศ การยกดินแดนไทยเป็นฐานทัพสหรัฐในสงครามอินโดจีนจบด้วยการถอนตัวของสหรัฐจากเวียดนาม การหนุนหลังเจ้าสีหนุจบด้วยชัยชนะของเขมรแดง การหนุนหลังเขมรแดงและทำตัวเป็นร่างทรงจีนในการสร้างแนวกันชนกับเวียดนาม จบด้วยการพ่ายแพ้ของเขมรแดงและการยุติอิทธิพลทางทหารของจีนในภูมิภาคนี้ การแข่งขันกับเวียดนามอยู่ในสภาพที่น่าสงสัยว่าเวียดนามจะแซงหน้าไทยในภูมิภาคอินโดจีนในอีกไม่นาน
 
ชาตินิยมแบบจักรวรรดินิยมหลงยุคของไทยไม่เคยนำชัยชนะให้ไทยในเรื่องระหว่างประเทศ ในทางตรงกันข้าม ชาตินิยมแบบนี้นำไปสูการเลือกข้างผิด การขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน การแทรกแซงทางการเมืองและการทหาร พูดง่ายๆ คือไม่ได้อะไรเลยอย่างที่ชาตินิยมไทยต้องการ
 
ยุติการสร้างสนามรบด้วยลัทธิคลั่งชาติของกลุ่มการเมืองภายในประเทศ
สำหรับคนเขมรหรือประชาคมโลก พระวิหารเป็นประเด็นที่จบไปแล้ว แต่ในฝั่งไทย การแพ้คดีไม่ได้ทำให้ความเคียดแค้นจากการเสียหน้าที่แพ้คดีจบไปด้วย การปลุกกระแสพระวิหารถึงขั้นใช้ขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและยึดทำเนียบโดยไม่มีใครผิด ดำเนินต่อเนื่องมาแล้วกว่าหนึ่งปี
 
ถ้ามองเรื่องนี้จากมุมเขมรหรือมุมประเทศอื่นๆ พระวิหารแสดงถึงความคลั่งชาติและเล่นการเมืองแบบไร้สติของกลุ่มการเมืองในไทย มีประเทศเยอะแยะที่เกิดความขัดแย้งทางดินแดนแบบนี้ แต่หลักใหญ่เมื่อศาลโลกหรือศาลระหว่างประเทศวินิจฉัยแล้ว ต้องจบ
 
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง สิงคโปร์และมาเลเซียเคยขัดแย้งกันเรื่องเกาะ Pulau Batu Puteh หรือ Pedra Branca ต่อมาศาลโลกมีมติให้เกาะดังกล่าวตกเป็นของสิงคโปร์ในปี 2551 ขณะที่อินโดนีเซียพิพาทกับมาเลเซียในกรณีเกาะ Sipadan และ Ligitan แต่ที่สุดศาลโลกมีมติเมื่อปี 2546 ยกเกาะทั้งสองให้มาเลเซีย
 
ประเทศคู่ขัดแย้งในกรณีพิพาททั้งสองกรณีใช้เวลานานกว่าทศวรรษเพื่อยุติปัญานี้ แต่เรากลับไม่เคยเห็นข่าวการระดมม็อบด้วยกระแสคลั่งชาติ-เกลียดชังเพื่อน บ้านในสามประเทศข้างต้น และเมื่อศาลโลกมีมติออกมาเช่นไร รัฐบาลและประชาชนของมาเลเซียและอินโดนีเซียก็ยอมรับความสูญเสียนั้นไป จะไม่พอใจทางการเมืองหรือไม่ก็อีกเรื่องนึง แต่ไม่มีใครหลุดโลกขนาดตั้งเวทีชุมนุมให้ล้มล้างการพิจารณาคดี และคงไม่มีใครเหลวไหลขนาดบอกว่าเกาะเป็นของชาติหนึ่ง แต่ทรัพยากรใต้เกาะเป็นของอีกชาติ
 
ขอย้ำอีกทีว่าการค้าไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีที่สุด แต่ยุทธศาสตร์ทำสนามรบเป็นสนามการค้าทำให้ไทยกับเขมรอยู่ร่วมกันอย่างสันติมาหลายปี แต่การคลั่งชาติของกลุ่มการเมืองในประเทศได้จุดชนวน พระวิหารจนเป็นระเบิดลูกใหม่บนแผลจากประวัติศาสตร์ของไทยกับเขมรในอดีต ทำให้ความเคียดแค้นในอดีตได้เชื้อไฟจากความเกลียดชังในปัจจุบัน สนามรบที่จบไปแล้วถูกกระตุ้นให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่จากกระแสคลั่งชาติของฝ่ายไทย
 
สุรชาติ บำรุงสุข กล่าวได้ถูกต้องว่าประเด็นเขมรของไทยเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ระหว่างฝ่ายต้านทักษิณกับ เงา ของ ระบอบทักษิณ ฝ่ายแรกใช้ชาตินิยมทุกรูปแบบเป็นเครื่องมือไล่ตามฝ่ายหลัง การปลุกกระแสพระวิหารเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดที่ฝ่ายนี้ใช้ในการล้มล้างรัฐบาลสองชุดที่แล้ว แต่อย่าลืมว่าการใช้ชาตินิยมแบบนี้ในสังคมไหนก็อันตรายทั้งนั้น เพราะในที่สุดย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่ลัทธิคลั่งชาติจะครอบงำทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กลุ่มการเมืองในประเทศแบบขวาจัดบางกลุ่มจะใช้ประเด็นระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือ
 
ในที่สุดแล้ว การขับไล่ทักษิณนำไปสู่ความเสี่ยงของการเอาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสงครามกับเพื่อนบ้านเป็นเดิมพัน ยุทธการไล่ล่าทักษิณจึงก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่พิสดารเกินคาดคิด นั่นคืออภิสิทธิ์กลายเป็นคู่แฝดของฮุนเซ็น เพราะทั้งคู่ล้วนเหมือนกันในแง่ใช้ชาตินิยมแบบเกลียดชังเพื่อนบ้านเป็นฐานสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองในประเทศ และการเอาชนะฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
 
ไทย-เขมร ในโลกยุคหลังอาณานิคม
 
หนึ่งในกระบวนการคิดที่ควรเริ่มคิดเพื่อยุติการสร้างสนามรบคือการคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เขมร ในฐานะส่วนหนึ่งของโลกยุคหลังอาณานิคม นั่นคือ
 
1.ไทยไม่ใช่พี่ใหญ่หรือผุ้มีอิทธิพลเหนือเขมรและภูมิภาคนี้ ทรรศะคติแบบนี้เป็นอาการเมาค้างของลัทธิจักรวรรดินิยมสยามของชนชั้นนำโบราณที่สืบทอดมาถึงทหารและกระทรวงต่างประเทศสมัยสงครามเย็น ในทางตรงกันข้าม ไทยและเขมรเป็นตัวละครเล็กๆ ตัวนึงในภูมิภาคนี้ มีตัวละครอื่นเกี่ยวข้องมากมายนับไม่ถ้วน เวียดนามสำคัญ จีนสำคัญ ญี่ปุ่นสำคัญ สหรัฐอเมริกาก็สำคัญด้วย เช่นเดียวกับอาเซียน
 
อย่าลืมว่าขณะที่ไทยกระเหี้ยนกระหือในการสร้างสนามรบกับเขมร ญี่ปุ่นและจีนกลับบอกว่าจะให้การสนับสนุนความร่วมมือการลงทุนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่อไป ล่าสุดหลังการประชุมที่ญี่ปุ่นก็อนุมัติความช่วยเหลือการลงทุนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกว่าสองแสนล้านบาท ความหมายก็คือไทยอยากมีเรื่องกับเขมรก็มีไป แต่ญี่ปุ่นจะเดินหน้ามีอิทธิพลในภูมิภาคนี้ต่อ
บทความสุภลักษณ์ชิ้นนึงชี้ภาพทางเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นว่าไทยละเมอไปเองเรื่องอิทธิพลในเขมร เพราะไทยไม่ใช่ผู้ค้าและผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในกัมพูชา และไม่ใช่ประเทศที่ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่แก่กัมพูชาด้วย แต่คือจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ต่างหาก เฉพาะเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าในปี 2549 ไทยให้กัมพูชา 36.6 ล้านบาท แต่ในปี 2550 จีนให้ถึง 600 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนโครงการช่วยเหลือเพื่อสร้างถนนในกัมพูชาที่รัฐบาลอภิสิทธิ์กำลังทบทวน ก็ไม่ใช่ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า แต่เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ผู้รับเหมาส่วนใหญ่ก็คือผู้รับเหมาไทย
 
ถ้าเข้าใจภาพนี้ การปิดด่านและตัดความช่วยเหลือก็คงไม่ทำให้เขมรเดือดร้อนมากอย่างที่ไทยคิด นักธุรกิจเยอะแยะของไทยเริ่มพูดว่าฝ่ายคนไทยเองต่างหากที่ทุกข์จากนโยบายนี้โดยตรง
 
ถ้ายังไม่หยุดเดินเกมระหว่างประเทศแบบหลงยุคอย่างนี้ ในที่สุดไทยก็จะเป็นตัวตลกในภูมิภาคเอเชียอาคเณย์
 
2. การเมืองในประเทศไม่ใช่พื้นฐานเดียวของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่มิติทางเศรษฐกิจ สังคม และความร่วมมือในภูมิภาคก็มีความสำคัญ ท่าทีของไทยต่อเขมรช่วงที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าถูกผลักดันจากความไม่พอใจที่รัฐบาลมีต่อคุณทักษิณเป็นหลัก นั่นคือการเอาการเมืองภายในไทยเองเป็นตัวกำหนดยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ไม่นึกถึงมิติอื่นที่สำคัญ เช่นเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเขมร ความร่วมมือกันระหว่างเขากับเรา
 
ในการสัมมนาที่ธรรมศาสตร์เมื่อเร็วๆ นี้ นักธุรกิจไทยในเขมรจำนวนหนึ่งพูดว่าท่าทีของไทยทำให้ธุรกิจเขามีปัญหา เราพูดกันเยอะว่ากลุมชินวัตรมีอิทธิพลในเขมร แต่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ของไทยอีกมากมายที่ลงทุนในเขมร ธนาคารไทยพาณิชย์ ทิฟฟี่ สามารถ ปูนซีเมนต์ ฯลฯ ท่าทีของรัฐบาลส่งผลกับกิจการของธุรกิจเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่รัฐบาลไม่ได้คำนึงถีงเรื่องนี้ในการกำหนดท่าทีของไทยต่อเขมรในช่วงที่ผ่านมา
 
ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ เราพูดกันมากว่ารัฐไม่ใช่ตัวแสดงเดียวในเวทีระหว่างประเทศอีกต่อไป แต่ท่าทีของไทยต่อเขมรช่วงที่ผ่านมากลับกลายเป็นว่ารัฐบาลกำหนดท่าทีโดยคิดถึงประโยชน์ทางการเมืองระยะสั้นของรัฐบาลอย่างเดียว
ถ้าเดิมเกมระหว่างประเทศโดยไม่แยกแยะระหว่างวาระทางการเมืองของรัฐบาล กับผลประโยชน์ของคนกลุ่มอื่นๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้น ในที่สุดก็คือการเอาผลประโยชน์ของคนทั้งหมดเป็นเดิมพันกับการไล่ล่าทักษิณของรัฐบาล
 
รัฐบาลอยู่แล้วก็ไป ยิ่งรัฐบาลที่มีพื้นฐานอ่อนแอแบบนี้ อายุของรัฐบาลคงไม่ยืนยาวนัก แต่ผลประโยชน์ของประเทศที่ซับซ้อนนั้น เมื่อเสียหาย คงใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้น เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองประเทศ
 
3. ศูนย์กลางของการเมืองระหว่างประเทศไม่ได้อยู่แค่กรุงเทพและอำนาจของรัฐบาลกลาง แต่คือชีวิตของคนธรรมดาที่อยู่ชายแดนไทยและเขมร รวมทั้งคนไทยและเขมรที่อยู่ในดินแดนของทั้งเขมรและไทย การดำเนินนโยบายระหว่างประเทศที่เน้นความเกลียดชังทำให้ชีวิตคนชายแดนและคนสองฝ่ายเผชิญความเสี่ยง ชีวิตของผู้คนต้องเป็นศูนย์กลางในการดำเนินนโยบาย ไม่ใช่คะแนนนิยมของตัวนายกรัฐมนตรี
 
พูดให้ง่ายคือ ชีวิต และ ชายแดน สำคัญกับนโยบายระหว่างประเทศไม่น้อยกว่า หรืออาจมากกว่าด้วยซ้ำ กับผลประโยชน์ของรัฐ ผลประโยชน์ของรัฐบาล และความต้องการทางการเมืองของกรุงเทพและส่วนกลาง
 
เรื่องการตอบโต้ที่ไทยมีต่อเขมร เมื่อไทยปิดด่านและปิดตลาดชายแดนนั้น น่าแปลกมากที่ไม่มีสื่อไทยแม้แต่ฝ่ายเดียวตั้งคำถามว่าการปิดชายแดนคือการทำให้คนตามชายแดนค้าขายไม่ได้ การปิดด่านคือการปิดโอกาสในการเข้าถึงสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน ยา อาหาร เสื้อผ้า ฯลฯ ในแง่นี้ การปิดด่านคือการเอาชีวิตประจำวันของคนธรรมดามาเป็นเครื่องมือแสดงความไม่พอใจของรัฐบาลที่กรุงเทพ หรือแรงกว่านั้นคือเอาชีวิตคนประจำวันเป็น ตัวประกัน ในการบีบคั้นให้กัมพูชาทำอย่างที่ไทยต้องการ
 
กรณีคุณศิวรักษ์ มีคนพูดมากว่าการจับเป็นจริงหรือปาหี่ แต่มุมที่ไม่มีใครพูดเลยก็คือถ้าไม่เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับเขมร กรณีนี้ย่อมไม่เกิด คุณศิวรักษ์เป็นเหยื่อของท่าทีระหว่างประเทศบนผลประโยชน์ของรัฐบาลและลัทธิคลั่งชาติของไทยโดยตรง
 
กล่าวโดยสรุปแล้ว เราไม่มีทางมีความสัมพันธ์ปกติกับเขมรได้ หากไม่ยุติการมองเขมรแบบอาณานิคมจักรวรรดินิยมสยาม ไม่ยุติการมองเขมรแบบสงครามเย็นที่เห็นเขาเป็นเขตอิทธิพลของไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net