Skip to main content
sharethis

องค์กรสิทธิมนุษยชนในเชียงใหม่เตรียมรณรงค์เนื่องใน “วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล” ขณะที่ในเว็บไทยเอ็นจีโอมีผู้เผยแพร่บทความอ้างในวงการนักสิทธิมนุษยชนไทยมีเรื่องล่วงละเมิดทางเพศ กังขา “เอ็นจีโอผู้ใหญ่” ทราบแล้วเรื่องแล้วแต่ไม่ดำเนินการ เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในวงการนักสิทธิมนุษยชนไม่เช่นนั้นจะต่างอะไรกับ “ระบบสองมาตรฐาน”

 
องค์กรสิทธิในเชียงใหม่เตรียมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล
วันนี้ (23 พ.ย.) มูลนิธิเพื่อนหญิง จ.เชียงใหม่ และ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP) เปิดเผยว่า เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล (International Stop Violence Against Women Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พ.ย. นี้ ทางกลุ่มและเครือข่ายจะจัดกิจกรรมเนื่องในวันดังกล่าว โดยมีกำหนดจะเดินรณรงค์ในวันที่ 25 พ.ย. โดยตั้งแต่เวลา 9.00 น. จะเริ่มเดินรณรงค์จากหน้าสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ ถ.วังสิงห์คำ เยื้องกงสุลสหรัฐอเมริกา ประจำ จ.เชียงใหม่ ผ่านตลาดวโรรสมายัง ถ.ท่าแพ มาที่พุทธสถาน จากนั้นในเวลา 10.30 น. จะมีการเสวนาหัวข้อ “การยุติความรุนแรงต่อสตรีและครอบครัว” โดยวิทยากรที่เป็นนักจิติทยา นักสังคมสงเคราะห์ ตัวแทนเยาวชน ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน และตัวแทนจากองค์กรด้านศาสนา
 
สำหรับประเด็นที่ใช้รณรงค์ในปีนี้มี 3 ข้อได้แก้ 1.พลังครอบครัว พลังชุมชน ปกป้องดูแลเด็กและสตรี (Power of family and community to protect women and Children) 2.ยุติความรุนแรงต่อเด็กสตรีและครอบครัว (Stop violence against children, women and family) และ 3.ทุกภาคส่วนร่วมใจลดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี: All alliances jointly allimination of violence against children and women โดยในขบวนรณรงค์จะมีการทำริบบิ้นสีขาว ข้อความว่า ‘NO to Violence against Women’
 
 
เว็บไทยเอ็นจีโอแพร่บทความ เผยยังมีการล่วงละเมิดทางเพศในวงการนักสิทธิมนุษยชน
ขณะที่ในวันเดียวกันนี้ เว็บไซต์ไทยเอ็นจีโอ (www.thaingo.org) มีการเผยแพร่บทความที่ตั้งชื่อว่า “ใต้เท้าขอรับ! คุณคิดอย่างไรกับการละเมิดสิทธิสตรีในองค์กรสิทธิมนุษยชน” โดยผู้เขียนที่ใช้ชื่อว่า “นักสิทธิ์ฯ คนหนึ่ง” โดยในบทความระบุว่า ในแวดวงคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยมีการวิจารณ์กรณีที่มี “อดีตนักกิจกรรมบางคน” ที่มีตำแหน่งใน “องค์กรสิทธิฯ” กระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อสิทธิมนุษยชนที่เป็นหญิงทำงานร่วมองค์กรเดียวกัน โดยเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนหลายครั้งแต่ไม่ถูกเปิดเผย หรือคนทำงานในวงการเพิกเฉยต่อเรื่องนี้
 
ผู้เขียนบทความนี้ตั้งข้อสังเกตว่าคณะกรรมการใน “องค์กรดังกล่าว” หลายคน “มิได้มีท่าทีเดือดร้อน หรือกระตือรือร้น ที่จะสืบหาข้อเท็จจริงในกรณีนี้อย่างแข็งขัน แต่กลับอ้างต่างๆ นานาว่า ยังไม่ได้รับเรื่องบ้าง..... ไม่ว่างบ้าง.....บางคนอ้างว่านึกว่ามีการจัดการเรื่องนี้แล้ว.......” ผู้เขียนยังอ้างว่านักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในต่างประเทศได้ทำหนังสือร้องเรียนพฤติกรรมของนักสิทธิมนุษยชนผู้นี้ด้วย เนื่องจาก “ได้เคยแสดงพฤติกรรมดังกล่าว” ต่อนักสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ ที่เป็นผู้หญิง ระหว่างการเดินทางไปประชุมด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ
 
 
กังขา “เอ็นจีโอผู้ใหญ่” ทราบเรื่องแต่ยังไม่ดำเนินการ
โดยผู้เขียนมีคำถามและข้อห่วงใยต่อวงการองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย 4 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง ทำไมวงการพัฒนาเอกชนโดยเฉพาะแวดวงคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนยังปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นภายในองค์กร แถมยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งที่มีผู้ร้องเรียน ผู้เขียนบทความยังตั้งคำถามถึงมาตรฐานด้านการทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วยเพราะสิทธิสตรี คือพื้นฐานที่ถือพึงปฏิบัติของนักสิทธิมนุษยชนทุกคน ข้อสอง บุคคลที่ทำการล่วงละเมิดในครั้งนี้ เคยกระทำการลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้ง กับนักสิทธิมนุษยชนผู้หญิงหรือนักกิจกรรมหลายๆ คน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง หลายคนทราบเรื่องนี้หรือไม่ สาม ทำไมผู้ที่มีคุณวุฒิและวัยวุฒิในแวดวงสิทธิทั้งหลาย จึงไม่มีการดำเนินการตามมาตรการใดๆ ต่อเรื่องนี้อย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรม ทั้งที่ท่านหลายๆ คน เป็นถึง “เอ็นจีโอผู้ใหญ่” ข้อสี่ ผู้เขียนบทความเรียกร้องให้ประณามการกระทำดังกล่าวของบุคคลที่อ้างตัวว่า “เป็นคนทำงานด้านสิทธิฯ” และขอเรียกร้องให้นำบุคคลดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาการกระทำอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาและให้มีการชี้แจงผลของการพิจารณาสู่สาธารณะ
 
ผู้เขียนบทความอ้างว่า ในวงการนักสิทธิมนุษยชนยังมีการละเมิดสิทธิต่อนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในพื้นที่ห่างไกลอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ที่ทำงานในแวดวงนี้ไม่สนใจต่อปัญหานี้เลย ผู้เขียนยังเสนอว่า “หากว่าผู้ที่ทำงานด้านสิทธิกระทำการละเมิดสิทธิเสียเอง ความชอบธรรมที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นคงหมดลงในทันที” ตอนท้ายของบทความยังระบุว่า “ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมควรจะได้รับรู้เรื่องราวดังกล่าว และวงการสิทธิมนุษยชนไทยเองจะได้ตระหนักถึงมาตรฐานการทำงานทั้งในทางปฏิบัติและทฤษฎี เพื่อจะได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้วงการสิทธิฯ บ้านเราได้รับการยอมรับมาตรฐานในระดับสากล มิเช่นนั้น วงการสิทธิเมืองไทยคงไม่ต่างอะไรกับระบบสองมาตรฐานของการเมืองไทยปัจจุบัน หรือ..นี่คือจุดจบของวงการสิทธิมนุษยชนบ้านเรา....”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net