ประกายไฟเสวนา: สถานีต่อไป แปรรูป รถไฟ รถเมล์

วงเสวนา "กลุ่มประกายไฟ" หวั่นรัฐอ้างวิกฤตขาดทุนแล้วแปรรูปรถไฟรถเมล์ ชี้การแปรรูปเท่ากับผลักภาระให้ประชาชน "เก่งกิจ กิติเรียงลาภ" ชี้หัวใจของการแปรรูปคือการทำให้สาธารณูปโภคเปลี่ยนจากบริการของรัฐกลายเป็นสินค้า เสนอให้กดดันรัฐให้บริการด้านสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพที่สูง-รัฐสวัสดิการ แทนการแปรรูป

 

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว เยาวชนนักกิจกรรมกลุ่มประกายไฟ จัดงานเสวนาประจำเดือนพฤศจิกายน หัวข้อ “สถานีต่อไป: แปรรูป รถไฟ รถเมล์” โดยการจัดเสวนาครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่ภาครัฐพยายามใช้ข้ออ้างวิกฤตการณ์เรื่องประสิทธิภาพและการขาดทุนของทั้งรถไฟและรถเมล์เพื่อปฏิรูปองค์กรทั้งสอง โดยการดำเนินนโยบายแปรรูปองค์กรทั้งสองให้เป็นรัฐวิสาหกิจที่เอกชนเข้ามาบริหารจัดการ โดยวิทยากรเสวนาประกอบด้วย ปกรณ์ อารีกุล กรรมการบริหารสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย วณัฐ โคสาสุ กรรมการฝ่ายการเมืองและการมีส่วนร่วมองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ สมาชิกกลุ่มประกายไฟ และดำเนินรายการโดยสลิลทิพย์ ณ พัทลุง
 
 
เชื่อแรงงานต่อสู้จะสามารถสั่นสะเทือนทุนนิยม
ปกรณ์ อารีกุล กล่าวว่า เมื่อพนักงานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ที่เป็นกลไกการผลิตของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประกาศหยุดงาน ส่งผลกระทบต่อส่วนต่างๆ ทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย รัฐบาล และเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถคำนวณเป็นจำนวนเงินนับร้อยล้านบาท ปรากฏการณ์สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ว่าโลกทุนนิยมหรือสังคมไทยที่ต้องการจะเดินตามระบอบทุนนิยม หากไม่สนับสนุนแรงงานให้มีชีวิตที่ดีหรือไม่ส่งเสริมให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ไม่สามารถคงความสมดุลของระบบไว้ได้ และหากแรงงานรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้วลุกขึ้นมาต่อสู้มันก็สามารถสั่นสะเทือนต่อระบบได้เช่นเดียวกัน
 
นอกจากนั้นสังคมไทยยังได้รับรู้ว่าท่ามกลางสภาวะทางการเมืองที่แบ่งเป็น 2 ฝ่ายนั้น ยังคงมีกลุ่มเคลื่อนไหวที่ไม่สุดโต่ง แสดงให้เห็นว่าความสุดโต่งในการเลือกข้างไม่ใช่คำตอบ ถ้าหากเราเลือกข้างที่สุดโต่งมากจนเกินไปจนกระทั่งไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับการรถไฟแห่งประเทศไทยได้นั้น ก็จะทำอะไรไม่ได้เลย จากการออกแถลงการณ์ของกลุ่มเลี้ยวซ้ายเกี่ยวกับปัญหานี้นั้น ทำให้เห็นว่าปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชนยังมาก่อนเสมอ
 
การเป็นคนสุดโต่งมันอาจนำมาซึ่งผลร้ายต่างๆ การฆ่ากันทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่อย่างเช่นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือพฤษภา 2535 ก่อนที่จะฆ่ากันทางความคิดก่อนหน้านั้นก็จะมีการฆ่ากันทางความคิดและทางวาทกรรมก่อน   
 
ปกรณ์กล่าวต่ออีกว่า ถ้าการการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รฟท. สำเร็จย่อมกระทบต่อสิทธิของ สร.รฟท. แน่นอนแต่ว่าการหยุดเดินรถของ สร.รฟท. ก็กระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคเช่นกัน เพราะฉะนั้นสื่อกระแสหลักจึงได้นำเสนอว่า สร.รฟท. เป็นผู้ร้ายมาตลอดแต่ในขณะเดียวกัน ก็เกิดคำถามเกี่ยวกับการหยุดเดินรถไฟขึ้นเช่นกัน
 
 
การแปรรูปคือการผลักภาระให้ประชาชน
วณัฐ โคสาสุ กล่าวว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจรถไฟ รถเมล์ คือ การผลักภาระค่าใช้จ่ายไปให้ประชาชน เพราะถ้าหากภาคเอกชนเข้ามารับหน้าที่ในการจัดการเรื่องการคมนาคม แน่นอนว่าการแข่งขันธุรกิจการคมนาคมในรูปของสินค้าตัวหนึ่งต้องเกิดขึ้นและภาระค่าใช้จ่ายที่จะตกอยู่กับคนรากหญ้าก็ย่อมสูงขั้นตามมา
 
มีปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่อย่างสม่ำเสมอในรัฐบาลทุกสมัยคือการทุจริตคอรัปชั่น โดยเฉพาะในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนของพวกพ้องตนเอง แล้วบริษัทเอกชนที่จะเข้าดูแลจัดการหลังจากการแปรรูปนั้นย่อมเป็นบริษัทของญาติพี่น้องหรือพวกพ้องของรัฐบาลที่ควบคุมดูแลอยู่ในกระทรวงนั้นๆ
 
นายวณัฐได้ตั้งคำถามก่อนจบว่า “การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ รฟท. นั้นเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงๆ หรือเป็นเพียงนโยบายสวยหรูที่รัฐบาลใช้เพื่อดึงคะแนนนิยมจากประชาชนเท่านั้น”
 
 
การแปรรูปคือการเปิดตลาดให้นายทุนกอบโกยกำไร
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ กล่าวว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยังไม่เข้าใจสาเหตุที่รัฐบาลต้องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหัวใจสำคัญของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็คือรัฐควรจะลดบทบาทในการดูแลประชาชนลง เพราะรัฐมองว่าสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น รถไฟ ประปา การศึกษา หรือการขนส่งมวลชน เป็นสินค้าไม่ใช่การให้บริการของรัฐ หากประชาชนต้องการส่งเหล่านี้ประชาชนก็ต้องจ่ายเพราะมันเป็นสินค้าที่มีต้นทุน ดังนั้นเมื่อมันไม่ใช่หน้าที่ของรัฐเอกชนก็ต้องเข้ามาลงทุนและเอกชนก็ต้องการกำไร เพราะจากเป้าหมายของภาคเอกชนไม่ได้อยู่ที่การบริการประชาชน  ซึ่งการบริการเหล่านี้ประชาชนจะได้รับก็ต่อเมื่อมันอยู่ในมือของรัฐเท่านั้น และความไม่มีประสิทธิภาพของการขนส่งไทยหากให้ภาคเอกชนเข้ามารับผิดชอบและหวังว่าจะดีขึ้นคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากกำไรที่สูงย่อมมาจากการลงทุนต่ำสิ่งที่ประชาชนนควรทำก็คือ การกดดันให้รัฐให้บริการด้านสาธารณูปโภคต่างในประสิทธิภาพที่สูงแก่ประชาชน
 
เก่งกิจได้กล่าวต่อว่า หัวใจของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ได้แก่คือ หนึ่งคือการผลักดันกำไรให้กับนายทุน รัฐบาลทุกสมัยย่อมผลักดันให้เกิดการแปรรูปอยู่เสมอ และสองคือการทำลายความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน แม้ว่าแนวคิดของเศรษฐศาสตร์แบบเก่าจะสนับสนุนการมีสหภาพแรงงานเพื่อปกป้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของแรงงาน แต่แนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ที่เชื่อเรื่องการแปรรูปกลับมองตรงกันข้าม และนั่นทำให้นายทุนต้องการการจ้างแบบเหมาค่าแรง เหมาช่วงซึ่งมันหมายความว่าการมีสหภาพเป็นไปได้ยาก และนายทุนไม่จำเป็นต้องติดอยู่กับกฏเกณฑ์การจ้างแบบเดิมๆ
 
การผลักดันภาระให้ประชาชนหรือการแปรรูรัฐวิสาหกิจ เกิดขึ้นตั้งแต่สมัย พล.อ.เปรม ติณสูรานนท์ เนื่องจากจักรวรรดินิยมต้องการให้ไทยแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อเปิดเสรีทางการค้า และต่อมาเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็ใช้วิกฤตนี้ผลักดันการแปรรูปอีกครั้ง เนื่องจากทุนเอกชนล้มละลายและต้องการหาที่ลงทุนใหม่ที่ทำกำไรได้และขายได้แน่นอนซึ่งได้แก่ น้ำ ไฟ ขนส่งมวลชน มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาล นายทุนจึงใช้โอกาสวิกฤตสะสมทุนให้แก่ตนเอง
 
การคัดค้านรัฐวิสาหกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ตัวอย่างเช่น ปี 2547 มีคนงานออกมาประท้วงนับแสนคน มีการนัดหยุดงานนับเดือน เพื่อคัดค้านการแปรรูป กฟผ. ดังนั้นการลดบทบาทรัฐเพื่อเพิ่มผลกำไรให้แก่นายทุน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลสมัยใดก็ตามที่ควบคุมอำนาจตรงนี้อยู่ ก็ย่อมต้องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจกันทั้งนั้น
 
 
เสนอภาคประชาชนชูรัฐสวัสดิการ
เก่งกิจเห็นว่าจุดยืนของทั้งขบวนการเสื้อเหลืองและขบวนการเสื้อแดงเหมือนกันในแง่ของการเป็นคนตาบอดข้างเดียวทั้งคู่ ในขณะที่ขบวนการเสื้อเหลืองแสดงจุดยืนว่าต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมาโดยตลอดแต่ ประมาณปี 2540 – 2541 นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อดีตประธาน สร.รฟท.และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็เคยพูดว่า “หากแปรรูปรัฐวิสาหกิจแล้วให้สมาชิกของ กฟผ.ไปถือหุ้นหรือนั่งในบอร์ดบริหาร ก็ยินดีที่จะแปรรูปเช่นกัน”  แต่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นมันไม่ใช่เรื่องของชาตินิยมแต่เป็นเรื่องของชนชั้น เป็นเรื่องของผลประโยชน์ของนายทุนขนาดใหญ่  ทางขบวนการเสื้อแดงก็เข้าใจผิดในแนวคิดเสรีนิยมใหม่ โดยการเรียกร้องเสรีนิยมทางการเมืองโดยประชาชนต้องมีส่วนร่วม แต่กลับไม่เข้าใจผลประโยน์ที่แท้จริงของประชาชนในด้านสวัสดิการสังคมว่าคืออะไร
 
ในการต่อสู้ครั้งนี้ของ สร.รฟท. นั้นน่าจะเป็นความผิดพลาดของทั้งขบวนการเสื้อเหลืองและขบวนการเสื้อแดงซึ่งทำให้มันไม่ถูกรับใช้ผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะการต่อสู้ของ สร.รฟท. ไม่สามารถอ้างอิงกับผลประโยชน์ของประชาชนได้อย่างชัดเจน และก็มีเพียง สร.รฟท.และประชาชนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ออกมาเรียกร้อง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือขบวนการเสื้อแดงต่างก็รุมซ้ำเติมการเรียกร้องที่เกิดขึ้นนี้
 
ทั้งนั้นเก่งกิจได้เสนอแนะว่า “หัวใจการต่อสู้ของภาคประชนในปัจจุบันน่าจะมีการพูดถึงการมีรัฐสวัสดิการ ประเด็นที่หนึ่งคือต้องฟรี คนทุกคนต้องได้รับการรักษาพยาบาลฟรี มีงานทำ มีเงินเดือนที่ดี ลูกสามารถเข้าเรียนโรงเรียนได้ในราคาถูกที่สุดหรือฟรี ประเด็นที่สองคือต้องมีคุณภาพ ซึ่งมันจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องที่เถียงมาตลอดว่าควรจะแปรรูปหรือไม่ควร และมันจะมีคุณภาพไม่ได้หากรัฐบาลไม่เอาเงินภาษีที่ประชาชนจ่ายไปมาทุ่มกับการบริการสาธารณะ และประเด็นที่สามคือการให้บริการอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะคนจนหรือรวยต้องเข้าโรงพยาบาลที่เดียวกัน แต่ในปัจจุบันนี้เราจะเห็นว่าในสังคมไทยคนจนคนรวยเข้าโรงพยาบาลคนละที่กัน”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท