จดทะเบียนการเกิดเด็ก 1 ล้านคน: ความหวัง ความท้าทายที่รออยู่

เด็กที่เกิดในประเทศไทยกว่า 1 ล้านคน ยังคงไม่มีใบจดทะเบียนการเกิด และกลายเป็นคนไร้สถานะบุคคล ไร้สิทธิ ไร้การศึกษา ไร้การเข้าถึงการดูแลสุขภาพ ไร้ความยุติธรรม  ใบเกิดจึงเป็นทางสว่างที่จะพาพวกเขาเข้าถึงสิทธิที่ขาดหายไป

“ทำอย่างไรให้เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยได้ใบรับรองการเกิด 100 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่วันที่กฎหมายบังคับใช้แล้ว” คำถามนี้กดดันผมยิ่งกว่าวันที่สอบสัมภาษณ์เข้าเรียนต่อด้านมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อหลายปีที่แล้ว สำลี ใจดี หรือ “ป้าสำลี” ไม่เปิดโอกาสให้ผมได้หยุดคิด กลับตอกย้ำด้วยคำพูดประโยคต่อมาว่า “เมื่อประเทศไทยมี พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร ฉบับที่ 4 พ.ศ.2551 ปรากฏขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 การจดทะเบียนการเกิดเป็นไปได้สำหรับมนุษย์ทุกคนฉะนั้นเธอต้องพยายามทำให้ได้จริงๆ ฉันรู้ว่าเป็นเรื่องยาก แต่เรื่องนี้คือความหวัง ความท้าทายของเด็กทุกคนที่รออยู่”

ระหว่างที่ผมครุ่นคิดถึงคำตอบที่จะสื่อสารออกมา ภาพของใครบางคนปรากฏแจ่มชัดขึ้นในห้วงความทรงจำ คนแรก คือ “ยายคำ” แม่เฒ่าชาวไทใหญ่อายุร่วม 80 ปี ณ บ้านแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดบ้านเกิด ประเทศไทย ยายคำคือหมอตำแยที่ทำคลอดให้เด็กมากกว่า 100 ร้อยคนในพื้นที่แห่งนี้ร่วม 40 ปีผ่าน พื้นที่ซึ่งอยู่ไกลโพ้นจากความรับรู้ของคนเมืองหลวง และที่นี่ยังอยู่ห่างไกลจากสถานที่ที่เรียกกันว่า “โรงพยาบาลสบเมย” ไม่ใช่แค่ไกลระยะทาง แต่ยังเป็นความไกลของ “ความเป็นไทย” ที่นับกันด้วยเพียงเลข 13 หลักในบัตรประชาชน ซึ่งยายคำ พ่อแม่เด็ก และเด็กๆที่นี่ไม่รู้จัก พวกเขาและเธอคือกลุ่มคนที่ถูกเรียกในชื่อทางการว่า “คนไร้สัญชาติ”

คนต่อมา คือ หมอตำแยอีกคนหนึ่งในพื้นที่สนามมานุษยวิทยาแห่งแรกของชีวิตผม มหาชัย พื้นที่ที่ใครบางคนเปรียบเปรยว่า “ถ้าแรงงานพม่าจุดไม้ขีดแค่คนละก้าน ก็จะเผาเมืองได้ทั้งเมือง” ผมเรียกแกว่า “ป้ามี” อายุกว่า 50 ปี มหาชัยไม่ห่างไกลจากเมืองหลวง กลับยังใกล้โรงพยาบาลอีกหลายแห่ง แต่ที่นี่ก็ยังมีแรงงานข้ามชาติจากพม่าจำนวนมากเลือกใช้บริการหมอตำแยทำคลอด เพราะที่นี่มีเรื่องเล่าที่บอกต่อๆกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นเรื่องจริงว่า “ถ้าใครคลอดลูก จะจับส่งกลับบ้านเกิดทั้งแม่ทั้งลูก” ป้ามีจึงกลายเป็นคำตอบและตัวเลือกที่ยากจะปฏิเสธ

การคลอดนอกโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย ที่มาพร้อมกับความหวาดกลัวเรื่อง “ความไม่เป็นคนไทย” กับ “การถูกส่งกลับประเทศ” ซึ่งยังฝังแนบแน่นในหัวใจ“คนเป็นแม่และครอบครัว” จึงทำให้เด็กจำนวนมากทั้งที่เป็น “ไทย” และ “ไม่เป็นไทย” ไม่มีโอกาสเข้าถึงการจดทะเบียนการเกิด ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้ว “ไทย ไม่ไทย ก็แจ้งเกิดกันได้ทั้งนั้น”

อย่างไรก็ตามเนื่องจากการจดทะเบียนการเกิดต้องเกี่ยวข้องกับขั้นตอนที่ยุ่งยาก คนจำนวนมากจึงเข้าไม่ถึงขั้นตอนเหล่านี้ คือ หนึ่ง-โรงพยาบาลหรือผู้ทำคลอดหรือผู้ใหญ่บ้านต้องออกเอกสารที่เรียกว่า ใบรับรองการเกิด (ทร. 1/1) เมื่อมีการเเจ้งเกิดเพื่อรับรองการเกิดขึ้นมา ว่าใครทำคลอด บิดาและมารดาเป็นใคร เกิดเมื่อไหร่ ที่ไหน เพศอะไร สอง-เจ้าหน้าที่ต้องรับเเจ้งเกิด ในที่นี้คือ นายทะเบียนราษฎร และจะมีการออกสูติบัตรประเภทต่างๆให้กับเด็กผู้นั้น เพื่อรับรองตัวตนทางกฎหมายของเด็ก เเละ สาม –การบันทึกข้อมูลเหล่านี้ลงในทะเบียนบ้านต่อไป

รายงานประจำปี 2552 ของยูนิเซฟระบุว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมีเด็กกว่า 1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กชนกลุ่มน้อย ลูกหลานแรงงานอพยพข้ามชาติ และเด็กๆผู้ลี้ภัย ที่ยังคงไม่มีใบจดทะเบียนการเกิด เด็กเหล่านี้กลายเป็นคนไร้สถานะบุคคล ไร้การยอมรับความเป็นคนที่มีตัวตนทางกฎหมาย ไร้สิทธิ ไร้เสียง ไร้การศึกษา ไร้การเข้าถึงการดูแลสุขภาพ ไร้ความยุติธรรม หรือแทบจะมีชีวิตที่ไร้ชีวิตก็ว่าได้ คนกลุ่มนี้ถูกผลักให้กลายเป็นคน “พื้นที่เงาสลัวของสังคม” ชีวิตต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนให้อยู่รอด เพราะไม่มีตัวตนทางกฎหมาย ซึ่งเป็นใบเบิกทางสำคัญที่จะคืนกลับสู่ “พื้นที่สว่างของสังคม”

ในจำนวนนั้นมีเด็กจำนวนหลักแสนที่เกิดในประเทศไทย ปู่ย่าตายายตั้งรกรากอยู่ในแผ่นดินไทยมายาวนานกว่าห้าสิบหกสิบปี กล่าวได้ว่าเป็น "เด็กไทยโดยกำเนิด“ พูดภาษาไทยและชั่วชีวิตนี้ก็ไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศไทย แต่ไม่มีหลักฐานใดยืนยันได้ว่าพวกเขาคือคนไทย จาก “ไทย” จึงกลายเป็น “ต่างด้าว” โดยทันที

การจดทะเบียนการเกิดจึงสำคัญยิ่งนักสำหรับเด็กๆ  ถ้าคนที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว ทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข (แพทย์ พยาบาล) หรือเจ้าหน้าที่ทะเบียนในพื้นที่ (ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย) มีกระบวนการหรือกลไกที่ทำให้ “แม่” เข้าถึงการแจ้งเกิดลูกได้จริงทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้ใบรับรองการเกิดหรือใบแจ้งการเกิด เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการนำไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ทะเบียนให้ออกสูติบัตร และนำไปสู่การบันทึกข้อมูลเด็กในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร กระทรวงมหาดไทย และฐานข้อมูลสถิติการเกิด กระทรวงสาธารณสุขต่อไป

การจดทะเบียนการเกิดยิ่งช่วยทำให้รัฐไทยรับรู้ รับทราบ และรับรองว่ามีเด็กคนหนึ่งเกิดขึ้นมาในดินเเดนของตน ไม่ว่าเด็กผู้นั้นจะเป็นคนสัญชาติใดเเละมีสิทธิในการได้รับสัญชาติของรัฐนั้นหรือไม่ก็ตาม  กล่าวอย่างง่าย คือ รัฐมองเห็น “ความเป็นมนุษย์ของคนๆหนึ่ง” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้พวกเขาและเธอยืดหน้าทายท้าบอกสังคมได้เต็มปากเต็มคำว่า “เราคือคนถูกกฎหมาย”
อีกประการหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งและเกี่ยวโยงกับประเทศต้นทาง คือ เมื่อลูกหลานของแรงงานอพยพข้ามชาติจากพม่าต้องเดินทางกลับไปดำเนินชีวิตที่ประเทศพม่าในวันข้างหน้า พวกเขาจะมีหลักฐานยืนยันความมีตัวตนจริงต่อรัฐบาลพม่าด้วยเช่นกัน
ทุกวันนี้การเข้าไม่ถึงเรื่องการจดทะเบียนการเกิดจึงไม่ใช่ปัญหาทางกฎหมาย แต่เป็นปัญหาเรื่องความคับแคบทางจิตใจที่ “คนไม่ถูกนับว่าเป็นไทย” คือ “คนอื่น” ที่สังคมไทยไม่จำเป็นต้องใส่ใจก็ได้  เช่น เด็กเกิดนอกโรงพยาบาลหรือสถานที่ที่สามารถออกใบรับรองการเกิด เมื่อแม่พาเด็กมาแจ้งเกิด เจ้าหน้าที่จะไม่ดำเนินการให้เพราะสภาพของบิดามารดาไม่ใช่คนที่ “ถูกนับว่าเป็นไทย” ข้ออ้างเดิมๆที่ถูกนำเป็นคำตอบในหลายพื้นที่ประเทศไทย คือ เกรงว่าเด็กที่ได้รับเอกสารการจดทะเบียนการเกิดจะนำมาขอสัญชาติไทยภายหลัง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน เเม้การจดทะเบียนการเกิดจะเป็นที่มาของการได้สัญชาติ แต่เนื่องจากประเทศไทยมิได้ใช้หลักดินเเดนในการพิจารณาสัญชาติ ฉะนั้นเด็กทุกคนที่ได้รับการจดทะเบียนการเกิดจึงไม่ได้สัญชาติไทยถ้าพ่อหรือแม่ของเขาไม่ใช่พลเมืองไทย

นอกจากนั้นแล้วหลายต่อหลายครั้งเด็กตกหล่นจากการแจ้งเกิด เป็นเพราะ “ความไม่รู้ของแม่ หรือของคนที่เกี่ยวข้อง” ด้วยเช่นกัน ดั่งเช่นกรณีที่เด็กเกิดที่โรงพยาบาลแล้วได้รับใบรับรองการเกิด หรือกรณีที่พ่อแม่ได้เเจ้งเกิดกับผู้ใหญ่บ้าน/กำนัน จนได้รับใบรับรองการเกิดแล้ว เเต่พ่อแม่เด็กก็ไม่นำเอกสารนี้ไปเเจ้งเกิดกับเจ้าหน้าที่ทะเบียนต่ออีก

การจดทะเบียนการเกิดจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นความใหม่ในการทลายปราการกำแพงอคติในจิตใจที่ท้าทายและต้องฝ่าข้ามให้ได้จริง ฉะนั้นนับแต่นี้เป็นต้นไป เริ่มต้นวันใหม่ปีพุทธศักราช 2553 ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนในสังคมไทยจะจับมือและร่วมกันทำให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาลทุกที่ สร้างกลไกให้เด็กที่เกิดใหม่ ทุกคน และเด็กตกหล่นอีกกว่า 1 ล้าน เข้าถึงการจดทะเบียนการเกิดได้จริงในเร็ววัน

----------------------------------------------------------------
หมายเหตุ

ปัจจุบันโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย และผู้มีปัญหาสถานะบุคคลในจังหวัดต่างๆ เช่น ตราด มุกดาหาร อุบลราชธานี ระนอง แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน เพื่อสร้างต้นแบบ “โรงพยาบาลใบเกิด 100 %” ในการที่จะทำให้เด็กทุกคนที่จะเกิดมาบนแผ่นดินไทยต้องได้รับการจดทะเบียนการเกิด: “ไทย ไม่ไทย ก็แจ้งเกิดกันได้ทั้งนั้น”

โรงพยาบาลใดสนใจร่วมเข้าโครงการ “ต้นแบบโรงพยาบาลใบเกิด 100 %” ติดต่อผู้เขียนในฐานะผู้จัดการโครงการ สสส. ได้โดยตรงที่ 089-7887138 หรือ migrants.thaihealth@gmail.com
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท