Skip to main content
sharethis

สมัชชาสังคมก้าวหน้าคัดค้านการใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ คุกคามการแสดงความเห็นและการรับรู้ข่าวสารกรณีข่าวทุบหุ้นเดือนตุลาคม 2552และเรียกร้องผู้รักเสรีภาพต่อต้าน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

เมื่อ วันที่ 18 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ด้วยการกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช อันเป็นเหตุให้ตลาดหุ้นตกลงอย่างรุนแรงเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีความเชื่อมโยงกับผู้ถูกกล่าวหาอีกสามคนที่ถูกจับกุมไปแล้วเมื่อต้น เดือนนี้ พวกเขาถูกจับตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กรณีการปล่อยข่าวลือก่อให้เกิดความเสื่อมเสียไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและหลงเชื่อ

ในครั้งนี้ผู้ถูกจับกุมคือ แพทย์หญิงทัศพร รัตนวงศา ส่วนผู้ถูกจับกุมก่อนหน้านี้ คือ นายคฑา ปาจริยพงศ์ และน.ส.ธีรนันต์ วิภูชนิน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ทั้งสองได้รับการประกันตัวแต่ห้ามออกนอกประเทศ รายที่ 3 คือ นายสมเจตน์ อิทธิวรกุล ถูกจับเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน

มาตรา 14 ระบุว่า ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้สมัชชาสังคมก้าวหน้าระบุว่า การจับกุมผู้ต้องหาในกรณีดังกล่าว ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่ไร้หลักฐานและ ละเมิดสิทธิในการรายงานข่าวทางเศรษฐกิจ ซึ่งผู้รายงานข้อมูลดังกล่าวรายงานหลังจากที่เหตุการณ์หุ้นตกได้เกิด ขึ้นแล้ว จากข้อมูลเบื้องต้นการเผยแพร่ข้อความเป็นการแปลข่าวของสำนักข่าวบลูมเบิร์กที่อธิบายถึงการตกของตลาดหุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับข่าวลือเกี่ยวกับพระสุขภาพของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว จึงมิได้เป็นการสร้างอันตรายต่อสถาบันกษัตริย์และความมั่นคงแห่งชาติ

แถลงการณ์ของสมัชชาสังคมก้าวหน้าระบุต่อไปว่า "ในขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้รับการใช้เพื่อปิดกั้นข่าวสารและการวิพากษ์วิจารณ์ทางการ เมือง มีการปิดเว็บไซต์ไปมากกว่า 15,000 ราย มีการตรวจค้นเว็บไซต์ มีการจับกุมผู้ใช้อินเตอร์เน็ต โดยมีความพยายามอย่างยิ่งในการเชื่อมโยงไปถึงการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งนี้เพื่อกดดันต่อเสรีภาพของการแสดงออก แต่ทางการเกือบจะไม่ได้ใช้ในการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลที่ถูกละเมิด ซึ่งดำเนินการไม่กี่ครั้งในช่วงแรกของการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อสร้างการยอมรับเท่านั้น

"ในกรณีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการจับกุมโดย ปราศจากหลักฐานการกระทำผิดที่นับได้ว่าเป็นการคุกคามและปิดกั้นต่อเสรีภาพใน การรับรู้ข่าวสารของประชาชนทั่วไป การให้ข่าวของ ว่าที่ร้อยตรีหญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ ที่ชี้นำเสมือนบุคคลเหล่านี้ได้กระทำผิดเป็นการละเมิดต่อหลักกฎหมายสากลที่ กล่าวว่า บุคคลทุกคนต้องถือบริสุทธิ์ จนกว่าพิสูจน์ว่าได้กระทำผิด ซึ่งการกระทำนี้เป็นการสร้างความเสียหายต่อบุคคลเหล่านี้"

สมัชชาสังคมก้าวหน้าเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ 3 ประการคือ
1. เจ้าหน้าที่ตำรวจยุติการใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน
2. การจับกุมของเจ้าหน้าที่ต้องมีหลักฐานการกระทำผิดชัดเจน
3. ทางการต้องยุติการให้ข่าวชี้นำที่สร้างความเสื่อมเสียกับผู้ถูกกล่าวหาจนกว่าจะมีหลักการการกระทำผิด

ในตอนท้ายของแถลงการณ์ ระบุว่า "สมัชชาสังคมก้าวหน้าขอเรียกร้องต่อนักสิทธิมนุษยชน และผู้ทำงานด้านสื่อ ให้คัดค้านการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการรับรู้ข่าว สารตามรัฐธรรมนูญ สมัชชาสังคมก้าวหน้าขอเรียกร้องต่อคนเสื้อแดง และผู้รักเสรีภาพทั้งหลาย ให้ต่อต้าน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อย่างถึงที่สุด"
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net