Skip to main content
sharethis

พบผู้เสียชีวิตจากการสังหารหมู่ในฟิลิปปินส์แล้ว 57 ราย ในจำนวนนี้เป็นนักข่าวกว่า 20 ราย คาดเหตุขัดแย้งการเมืองโดยฝีมือกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนและ SEAPA ร่วมประณาม ชี้การเพิกเฉยต่อผู้กระทำผิด เปิดทางแก่ความรุนแรงในฟิลิปปินส์มาก่อนหน้านี้แล้ว

 

 
สื่อมวลชน และนักศึกษา และผู้เข้าร่วม จุดเทียนให้แก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ เมื่อ 25 พ.ย.
(AP Photo/Daylife.com)
 
เมื่อ 25 พ.ย. รถแบ็คโฮ ขุดพบรถคันหนึ่งที่ถูกฝังไปพร้อมกับคนที่ถูกสังหาร
(AP Photo/Daylife.com)
 
 
เหตุสังหารหมู่ในฟิลิปปินส์ โยงความขัดแย้งทางการเมือง
23 พ.ย. 2009 เว็บไซต์ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน รายงานว่ามีผู้สื่อข่าว 12 คน ถูกสังหารที่เขตมากินดาเนา (เกาะทางตอนใต้ของมินดาเนา) โดยฝีมือกลุ่มติดอาวุธ รวมถึงตำรวจสองนาย ที่มีความเกี่ยวพันกับนักการเมืองท้องถิ่นที่สนับสนุนประธานาธิบดี กลอเรีย อาร์โรโย นอกจากนักข่าวแล้วยังมีประชาชนอีก 30 คนถูกสังหาร เหยื่อบางรายถูกตัดหัว
 
โดยล่าสุด (25 พ.ย.) เว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ GMA News ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ฟิลิปปินส์รายงานว่าพบผู้เสียชีวิตแล้ว 57 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง รวมทั้งมีนักข่าวร่วมอยู่ด้วยมากกว่า 20 ราย และสถานที่สังหารคือหมู่บ้านซัลมาน
 
อันดาล อัมพาทวน จูเนียร์ นายกเทศมนตรีของเขตการปกครองหนึ่งในจังหวัดชารัฟ อากัค นำมือปืน 50 คน รวมถึงตำรวจที่ชื่อว่า ดีเคย์ ลักพาตัวผู้ที่ถูกสังหารเหล่านี้ขึ้นรถไป ผู้ที่ถูกลักพาตัวเป็นผู้สนับสนุนเอสมาเอล มานกูดาดาตู คู่แข่งทางการเมืองของกลุ่มตระกูลอัมพาตวน ก่อนเกิดการสังหารหมู่ขึ้นดังกล่าวในอีกหนึ่งชั่วโมงถัดมา
 
ผู้สนับสนุนมานกูดาดาตูที่ถูกลักพาตัวขึ้นรถไปนั้น มีนักข่าวรวมอยู่ด้วย ซึ่งรถที่พวกเขานั่งไปในทีแรกกำลังจะไปที่สำนักงานการเลือกตั้ง เพื่อกรอกเอกสารลงสมัครเลือกตั้ง แต่ถูกกลุ่มมือปืนสกัดเอาไว้ เพราะไม่ต้องการให้พวกเขาทำเช่นนั้น ผู้เสียชีวิตในนั้นมีภรรยาของมานกูดาดาตู น้องสาว และญาติคนอื่น ๆ ของเขารวมอยู่ด้วย การสังหารหมู่ในครั้งนี้เชื่อว่ามีลูกชายของนายกเทศมนตรีร่วมลงมือด้วย
 
ในเว็บไซต์ของ GMA ยังได้ทำแผนที่และลำดับเวลาของเหตุการณ์สังหารหมู่ 23 พ.ย. ไว้ โดยเริ่มจากเวลา 9:00 น. มีขบวนรถของ มานกูดาดาตู เดินทางออกเมืองบูลวนเพื่อไปลงสมัครการเลือกตั้ง โดยมีผู้สื่อข่าว ทนายความ และญาติของเขาตามไปด้วย ต่อมาในเวลา 10:30 น. ขบวนรถก็ได้เผชิญกับกลุ่มของคนที่มีอาวุธ และเครื่องมือสื่อสารทั้งหลายถูกตัดการใช้งาน
 
เวลา 11:00 น. กองทัพฟิลิปปินส์ก็เริ่มออกค้นหาเหล่าผู้ที่ถูกลักพาตัว และในราวชั่วโมงเดียวกันนั้น ตัวประกันก็ถูกพาตัวออกจากรถไปยังเนินเขาใกล้ ๆ ราว 2 ก.ม. จากถนนหลัก มีรถแบ็คโฮที่ใช้ขุดเพื่อหมายฝังศพหมู่ จากนั้นจึงมีการสังหารตัวประกันและนำทั้งศพและรถฝังลงในหลุมที่ขุดไว้
 
จนกระทั่งราว 3:00 น. กองทัพก็ไปถึงจุดเกิดเหตุที่มีการฝังศพ และกลุ่มผู้กระทำการก็พากันหนีออกจากพื้นที่อย่างรวดเร็ว เหลือศพที่ยังไม่ได้ฝังอีกราวยี่สิบศพ และพาหนะอีกบางส่วน
 
 
ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน เรียกร้องรัฐบาลแสดงท่าทีต่อเหตุการณ์
ทางองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนให้ความเห็นว่า การสูญเสียนักข่าวมากมายขนาดนี้ภายในวันเดียวไม่เคยมีมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ของสื่อใหม่ โดยทางองค์กรยังได้แสดงความเสียใจและความเห็นใจผู้สื่อข่าวทุกคนในฟิลิปปินส์ ทั้งยังรู้สึกตระหนกกับการสังหารหมู่ดังกล่าว
 
องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน กล่าวอีกว่า "พวกเราขอประณามวัฒนธรรมการไม่ลงโทษคนผิดและความรุนแรงในฟิลิปปินส์อยู่เนื่อง ๆ โดยเฉพาะในมินดาเนา ในคราวนี้ พวกอันธพาลคลั่งความรุนแรงที่ทำงานให้กับนักการเมืองฉ้อฉล ได้ทำให้เกิดการนองเลือดโดยไม่มีสาเหตุ พวกเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคออกมาแสดงท่าทีต่อเหตุการณ์ครั้งนี้"
 
 
SEAPA ชี้ลัทธิผู้มีอิทธิพลและการเพิกเฉยต่อผู้กระทำผิด เป็นสาเหตุของความรุนแรง
"ลัทธิผู้มีอิทธิพลเป็นโรคภัยที่เกิดจากความไม่สามารถเอาผิดกับผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นบรรยากาศหลอกหลอนสังคมของชาวฟิลิปปินส์ รวมถึงสื่อและประชาธิปไตยของพวกเขามาอยู่ทุกวัน กับสภาพที่เป็นพิษเป็นภัยเยี่ยงนี้ รัฐบาลควรออกมาแสดงความรับผิดชอบ" - SEAPA
 
สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ส่งแถลงการณ์ผ่านทางอีเมล์ เพื่อประณามการลักพาตัวและสังหารหมู่ชาวฟิลิปปินส์รวมถึงนักข่าวในเขตมากินดาเนา
 
โดยในแถลงการณ์ระบุว่า พวกเขาเชื่อว่าเหตุนองเลือดในครั้งนี้มาจากความขัดแย้งทางการเมืองจากทั้งสองฝ่าย ทางสื่อและรัฐบาลก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยความรุนแรงในครั้งนี้ถือว่าร้ายแรงที่สุดในหลายสิบปีที่ผ่านมา
 
ทางองค์กร SEAPA จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ดำเนินการยุติความรุนแรงและนำตัวผู้ทำการฆาตกรรมมาลงโทษ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้เหล่าผู้นำในประเทศออกมาแสดงความรับผิดชอบและหาหนทางแก้ไขสภาพการณ์อันเลวร้ายที่กดทับประชาธิปไตยของฟิลิปปินส์อยู่
 
ซึ่งแถลงการณ์ของ SEAPA ระบุอีกว่า เคยมีคนกว่าหลายร้อยคนรวมถึงนักข่าวที่จบชีวิตลง ก่อนหน้าเหตุการณ์ในมาอินดาเนา เหตุเหล่านี้เป็นผลพวงมาจาก การไม่สามารถเอาผิดกับผู้กระทำความผิด รวมถึงลัทธิการช่วงชิงอำนาจของผู้มีอิทธิผล (Warlordism) โดยหากไม่สามารถนำตัวผู้บงการในเหตุฆาตกรรมครั้งนี้มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ ผู้นำฟิลิปปินส์ก็จะถูกครหา
 
ผู้อำนวยการ SEAPA กล่าวว่า ฟิลิปปินส์มีอัตราการสังหารนักข่าวมากที่สุดในโลก ซึ่งรัฐบาลก็เพิกเฉย บ่ายเบี่ยง และไม่มีมาตรการใด ๆ กับเหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้ผู้ใช้ความรุนแรงไม่ถูกลงโทษ จนกลายเป็นภัยต่อชาวฟิลิปปินส์ทุกคน รวมถึงนักกิจกรรม นักการเมือง และสื่อ
 
 
องค์กรสิทธิชนพื้นเมืองและนักข่าวฟิลิปปินส์ ร่วมประณามการสังหารหมู่
นอกจากองค์กรสื่อจากต่างชาติแล้ว ผู้สื่อข่าวฟิลิปปินส์และองค์กรกลุ่มชาติพันธุ์ของฟิลิปปินส์ ก็ออกมาประณามการสังหารหมู่ในวันที่ 23 พ.ย. เช่นกัน
 
โดย เบเวอร์ลี่ ลองกิด หัวหน้าพรรคบัญชีรายชื่อคาทริบู ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในฟิลิปปินส์ บอกว่าทนายความสองคนที่ตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์นี้คือ คอนเซปซิออน บริซูลา และ ซินเธีย โอเควนโด เป็นผู้ที่ทำงานสนับสนุนสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะบริซูลาที่มีประวัติการต่อสู้เรื่องที่ดินมายาวนาน
 
ลองกิด ออกแถลงการณ์ร่วมกับสมาชิกพรรคว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้แสดงให้เห็นการละเลยไม่นำตัวคนผิดมาลงโทษ ที่ทำให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลอาศัยจุดนี้ในการก่อการ ซึ่งผู้ที่อิทธิพลในที่นี้จงใจกล่าวถึงตระกูลอัมพาทวน
 
ในแถลงการณ์ยังได้ชี้ว่า ตระกูลอัมพาทวนน่าจะมีส่วนในการช่วยโกงการเลือกตั้งให้กับประธานาธิบดีอาโรโย่ และสมาชิกพรรคคนอื่น ๆ ทำให้เกิดการปกครองด้วยความหวาดกลัวของพวกอัมพาทวนในมาอินดาเนา ซึ่งมีรายงานว่าตระกูลอัมพาทวนเคยละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายครั้ง รวมถึงต่อชาวโมโรที่ต่อต้านอิทธิพลของตระกูลนี้ด้วย
 
ในคืนวันที่ 24 พ.ย. สหภาพผู้สื่อข่าวแห่งชาติฟิลิปปินส์ (NUJP) ร่วมทำพิธีจุดเทียนที่โบสท์บากิโอเพื่ออุทิศให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์
 
ก่อนหน้านี้ นอนอย เอสปิน่า รองประธานสหภาพ NUJP บอกว่า "รัฐบาลควรนำตัวผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ในครั้งนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่แค่เพียงมือสังหาร แต่รวมถึงผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังด้วย ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม"
 
ในวันที่ 25 พ.ย. ผู้สื่อข่าวราว 70 คน จากหลายสื่อและหลายองค์กรของจังหวัดบูลาคาน ออกมาชุมนุมที่อนุสาวรีย์ของ มาร์เซลโล เอช เดล พิลาร์ รูปปั้นของนักหนังสือพิมพ์ผู้นำการปฏิวัติต่อต้านจักรวรรดิ์นิยมสเปน และเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ ลา โซดาลิแดด ผู้สื่อข่าวที่เข้าร่วมล้วนสวมชุดดำ
 
กลุ่มนักข่าวของบูลาคานยังเรียกร้องให้รัฐบาลส่วนท้องถิ่นประจำจังหวัด รับรองความปลอดภัยของพวกเขาในการทำข่าวการเลือกตั้งในปี 2010 ที่จะถึงนี้ด้วย
 
นอกจากนี้ยังมีนักข่าวและกลุ่มพลเมืองอื่น ๆ ในฟิลิปปินส์ที่ออกมารวมตัวประณามการสังหารหมู่และไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต
 
 
ที่มา แปลและเรียบเรียงจาก
The Maguindanao Massacre: a map and timeline, ANALYN PEREZ and TJ DIMACALI, GMANews.TV, 25-11-2009

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net