Skip to main content
sharethis

กรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกแถลงการณ์กรณีการรั่วไหลของสารเคมีที่ท่าเรือแหลมฉบัง ระบุชุมชนในเขตอุตสาหกรรมของไทยยังไม่ทราบเรื่องพิษภัยจากสารเคมีโรงงาน แนะรัฐบาลปรับมาตรการให้โรงงานเปิดเผยข้อมูลด้านสารเคมีอันตรายที่ใช้ให้กับประชาชนทราบ และเตรียมแผนอุบัติภัยฉุกเฉินสำหรับชุมชน

 26 พ.ย. องค์กรกรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกแถลงการณ์กรณีการรั่วไหลของสารเคมีที่ท่าเรือแหลมฉบัง ในชื่อ "หายนะจากอุบัติภัยด้านสารพิษที่เราสามารถป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้"

ในแถลงการณ์พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานด้านสารพิษ ของกรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลครั้งนี้ทำให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่ได้รับความเสี่ยงจากเหตุการณ์ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ในแต่ละครั้งมักหาผู้ที่จะแสดงความรับผิดชอบกับเหตุการณ์ไม่ได้ ไม่ว่าจะจากหน่วยงานราชการหรือเอกชนก็ตาม

แถลงการณ์ระบุอีกว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้สะท้อนถึงเหตุอุบัติภัย "โบภาล" ในประเทศอินเดีย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยเหตุ "โบภาล" เป็นเหตุการณ์แก๊สพิษรั่วไหลจากโรงงานยูเนียนคาร์บายด์ (Union Carbide) ของบริษัทดาวเคมิคอล (DOW) ส่งผลให้ประชาชนนับหมื่นคนเสียชีวิตภายในคืนเดียว

ในแถลงการณ์กล่าวถึงเรื่องภัยชนิดเดียวกันในเมืองไทยว่า ชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่อุตสาหกรรมในประเทศไทยยังไม่ทราบเรื่องพิษภัยของสารเคมีอันตรายต่างๆ ที่ปล่อยออกจากโรงงานมาสู่ชุมชนโดยรอบ

แถลงการณ์ของกรีนพีช จึงเสนอแนะว่ารัฐบาลไทยต้องปรับปรุงกฏหมายหรือมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตรายและการควบคุมมลพิษ รวมถึงออกกฏหมายใหม่ที่ครอบคลุมถึงสิทธิการรับรู้ข้อมูลของชุมชน โดยการกำหนดให้ทุกโรงงานเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเคลื่อนย้าย การใช้สารเคมีอันตราย การปล่อยมลพิษ หรือโดยการจัดทำทำเนียบการปล่อยสารมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant and Release and Transfer Registers หรือ PRTRs) และเตรียมแผนอุบัติภัยฉุกเฉินสำหรับชุมชน

กรีนพีชระบุว่า ในขณะนี้หลายประเทศอุตสาหกรรมได้นำวิธีการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้แล้ว โดยกฎหมายลักษณะนี้จะทำให้การใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิตลดลง รวมถึงมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net