Skip to main content
sharethis

EIA ท่าเรือปากบาราผ่าน สนข.รับลูก เดินหน้าศึกษาโครงการวางรางรถไฟเชื่อมอ่าวไทย - อันดามัน สบน.ดึง METI จากญี่ปุ่นร่วมลงทุนเมกะโปรเจกต์

 

ภาพจำลองท่าเรือน้ำลึกปากบารา

 

แนวเส้นทางรถไฟเชื่อมสองฝั่งทะเลภาคใต้ในอนาคตในแนวแลนด์บริดจ์สงขลา - สตูล

 

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรีเป็นประธานแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบร่างรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ (EIA) โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแลนด์บริดจ์สงขลา - สตูล ตามที่สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.นำเสนอ

ทั้งนี้ รายงานข่าวดังกล่าวยืนยันได้จากกรณีที่นายอภิสิทธิ์  ได้แจ้งภาคเอกชนในภาคใต้  ระหว่างเดินทางมาพบปะและรับฟังข้อเสนอแนะ  ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันต่อมา ที่ระบุว่า  คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไม่มีปัญหาในเรื่องของอีไอเอ แต่เป็นในเรื่องความคุ้มทุนของการก่อสร้างท่าเรือดังกล่าวขึ้นมาเท่านั้น 

นายอภิสิทธิ์  ระบุต่อว่า เนื่องจากเมื่อมีการก่อสร้างท่าเรือแล้วก็จำเป็นต้องมีสินค้า จึงต้องมีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมาด้วย แต่จะกระทบกับยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของภาคใต้หรือไม่ ดังนั้นจึงสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ นำโครงการทั้งหมดมาให้คนใต้ได้ตัดสินใจอีกครั้ง

ด้านนายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล แจ้งว่า สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร  หรือ สนข. กำหนดจัดประชุมครั้งที่ 1 การศึกษาความเหมาะสมและการออกแบบเบื้องต้นทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันขึ้นในวันอังคารที่ 1 ธันวาคม 2552 เวลา 09.00- 12.30 น. ที่โรงแรมสินเกียรติธานี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เพื่อชี้แจงรายละเอียดการดำเนินการศึกษาให้ผู้แทนส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชนในพื้นที่ได้รับทราบ นำเสนอข้อมูลโดยนายสายันต์ อิ่มสมสมบูรณ์ ผู้จัดการโครงการศึกษาและคณะ

ด้านเว็บไซด์มติชนออนไลน์  รายงานการให้สัมภาษณ์ของนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ที่เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สบน.ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry : METI) แห่งประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและเอกชนของญี่ปุ่น

นายจักรกฤศฏิ์ เปิดเผยต่อว่า ขณะนี้ภาคเอกชนและสถาบันการเงินของญี่ปุ่นมีความต้องการร่วมศึกษาและลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของไทย โดยในเบื้องต้นได้ลงนามร่วมกันเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเดินหน้า 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 โครงการปรับปรุงระบบรางรถไฟทั่วประเทศและโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยเป็นการลงทุนในรูปแบบให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการลงทุนของภาครัฐในรูปแบบ Public Private Partnerships (PPPs)

“จากที่คุยกันและร่วมลงนามในเอ็มโอยูเบื้องต้นทาง METI แจ้งว่าภาคเอกชนและสถาบันการเงินของเขาพร้อมที่จะร่วมศึกษารูปแบบและต้องการลงทุนด้านโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคกับรัฐบาลไทยหลายๆ โครงการ ซึ่งแนวทางในการร่วมลงทุนแบบ PPPs นี้ จะช่วยให้รัฐบาลขยายการลงทุนในโครงการพื้นฐานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อความต้องการของประชาชน” นายจักรกฤศฏิ์กล่าว

นายจักรกฤศฏิ์ เปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้  สบน.ได้จัดทำร่างคู่มือแนวทางการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐในรูปแบบ PPPs ขึ้น (PPP Guidelines) เพื่อให้ภาครัฐและภาคเอกชนมีแนวทางที่ชัดเจนที่สามารถนำไปใช้ประกอบการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐในรูปแบบ PPPs ภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535) และระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยร่างคู่มือแนวทางการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐในรูปแบบ PPPs มีเนื้อหาประกอบด้วย 5 ส่วน

สาระสำคัญของร่างคู่มือดังกล่าวจะเอื้อให้การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ  PPPs ให้การดำเนินงานมีความคล่องตัวมากขึ้นและไม่ขัดกับกฎหมายที่หน่วยงานรัฐยกขึ้นมาอ้างทำให้การลงทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐบาลเกิดความล่าช้า อีกทั้งร่างดังกล่าวจะบรรจุเนื้อหาที่ระบุชัดเจนในเรื่องการรับความเสี่ยงและความรับผิดชอบด้านต่างๆ ของรัฐและเอกชนที่ได้มีการลงทุนร่วมกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net