Skip to main content
sharethis

  

จุดสร้างประตูระบายน้ำ

 

“จะคัดค้านและต้องต่อสู้ให้ได้จนถึงที่สุด เพราะนี่ไม่ใช่ว่าแค่หมู่บ้านของเราที่จะเกิดการสูญเสียอย่างเดียว แต่ทั้งบ้านแม่สอย สบสอย วังน้ำหยาด หนองคัน และล่องไปทางตะวันออก ซึ่งคิดว่าจะต้องถูกน้ำท่วมในทุกพื้นที่ทั้งหมด รวมไปถึงในแถบบ้านสารภี ห้วยฝาง โรงวัว ที่อยู่ติดลำน้ำ และอีกฝั่งที่อยู่ติดลำห้วยอีก 2-3 จุด ซึ่งถือว่าอันตรายเหมือนกันหมด”

“โครงการไทยเข้มแข็ง ฟังจากชื่อน่าจะช่วยทำให้ชุมชนชาวบ้านนั้นเข้มแข็ง แต่นี่กลับมาทำให้ชุมชน ชาวบ้านมาแตกแยก ทะเลาะขัดแย้งกัน”

นั่นเป็นเสียงของตัวแทนชาวบ้านแม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ในนาม  “กลุ่มลูกน้ำปิง” ที่พร้อมและยืนยันคัดค้าน
“โครงการประตูระบายน้ำแม่สอย” โดยสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ซึ่งมีการนำเสนอผ่านงบประมาณไทยเข้มแข็ง ของรัฐบาลชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยวงเงินสูงเกือบ 1,000 ล้านบาท

ชาวบ้านกลุ่มนี้ยืนยันว่า โครงการประตูระบายน้ำแม่สอยกั้นแม่น้ำปิงนี้ ก็คือการสร้างเขื่อนกั้นน้ำปิงดีๆ นั่นเอง และแน่นอนว่า ชาวบ้านย่อมแสดงความวิตกกังวลกันว่า โครงการนี้จะส่งผลผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนของชาวบ้านที่อยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อำเภอจอมทอง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามแนวสองฟากฝั่งของแม่น้ำปิง มีวิถีชีวิตผูกพันอยู่ลำน้ำปิงมาเนิ่นนาน ชาวบ้านทุกคนในพื้นที่จึงเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นช่วงฤดูแล้งหรือฤดูน้ำหลาก หากทุกคนสามารถก้าวพ้นอุปสรรคที่เกิดจากธรรมชาตินั้นไปได้ทุกครั้ง

แน่นอน  วิถีชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ใด  ชุมชนใด ย่อมไม่เคยทำร้ายและฝืนวิถีธรรมชาติ

หากชาวบ้านในหลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศ  กลับต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง เมื่อมีกิจกรรมโครงการที่เกิดจากความคิดของมนุษย์กลุ่มหนึ่ง ในนาม ‘รัฐ’ เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต่างบอกย้ำกันว่า นั่นคือกิจกรรม โครงการที่ฝืนวิถีธรรมชาติ ทำลายวิถีของชาวบ้าน และเป็นโครงการที่มีเงื่อนงำและแอบแฝง

“ชาวบ้านเริ่มได้ข่าวโครงการนี้เมื่อประมาณปลายปี 2551 คือมีข่าวลือพูดกันว่าจะมีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำปิงและมีมูลค่าเป็นพันๆ ล้าน แต่ตอนนั้นยังไม่มีความชัดเจน” นางสาวพิมพ์ใจ นามเทพ ตัวแทนชาวบ้านแม่สอย บอกเล่าให้ฟัง  

กระทั่งกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2552 นายสุวิทย์ นามเทพ ได้รับเชิญจากสมาชิก อบต.แม่สอย ไปเป็นคนกลางในการเจรจาตกลงเกี่ยวกับเหตุวิวาทกันระหว่างสมาชิก อบต. ด้วยกัน ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สอย ในวันนั้น ได้มีการหยิบยกเรื่องโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ ขึ้นมาพูดในที่ประชุม  นายสุวิทย์ นามเทพ จึงได้รับทราบถึงโครงการดังกล่าว และได้นำมาบอกเล่าแก่ชาวบ้านคนอื่นๆ       

ต่อมา ตัวแทนชาวบ้านได้โทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูลจากสำนักชลประทาน และได้พูดคุยกับ นายวุฒิชัย  รักษาสุข  วิศวกรผู้ประสานงานโครงการ ได้รับการยืนยันข้อมูล โดยบอกว่าเป็นโครงการพระราชดำริ ว่ากันว่า มีชาวบ้านไปถวายฎีกาต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์พระบรมราชินีนาถ รวมทั้งกล่าวอ้างว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากชุมชนแล้ว โดยมีรายงานการประชุมถูกต้อง                               

ซึ่งสร้างความกังขากับชาวบ้านในพื้นที่อย่างมากว่า  แล้วทำไมพวกเขาถึงไม่ทราบโครงการดังกล่าวนี้มาก่อน                                                                                                                                      
“นั่นทำให้ชาวบ้านไม่กล้าพูด เวลาพูดคุยในเวที เพราะเวลาปล่อยข่าวก็จะอ้างว่าเป็นโครงการพระราชดำริ” ชาวบ้านคนหนึ่ง กล่าว                                                                                       

“และวิธีการของเขา ที่เราดูจากรายงาน ก็จะพบว่าพวกเขาใช้วิธีการของการ เชิญผู้นำไปประชุมให้ยกมือ แต่บางหมู่บ้านใกล้เคียงก็ออกมาพูดกันว่า  เขามีหนังสือมาให้เซ็น ซึ่งตอนนั้น ชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าจะต้องเซ็นเพื่ออะไร แต่มารู้ทีหลัง ว่านั่นเป็นการเซ็นชื่อเพื่อจะเอาโครงการนี้” ตัวแทนชาวบ้านบอกที่มาที่ไปของความไม่ชอบมาพากลของโครงการนี้                                                                                         
10  มีนาคม 2552 นายสุวิทย์ นามเทพ ในฐานะตัวแทนชาวบ้านได้ยื่นหนังสือคัดค้านโครงการต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สอย  และนายอำเภอจอมทอง                                                          

หลังจากนั้น สำนักชลประทานที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาพบชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านบอกว่า เจ้าหน้าที่ก็พูดถึงแต่ข้อดีของโครงการ โดยมีคำพูดประโยคหนึ่งที่ตัวแทนของสำนักชลประทาน กล่าวออกมาในวันนั้นว่า “หากน้ำท่วมที่บ้านแม่สอย ก็ถือว่าบ้านแม่สอยเป็นหมู่บ้านที่เสียสละ”                              

ซึ่งเป็นคำพูดที่ชาวบ้านได้ยินได้ฟังแล้วรู้สึกสะดุ้ง ตกใจและครุ่นคิดไปต่างๆ นานา

ในขณะที่มีชาวบ้านหลายคนตื่นตัวกับผลกระทบกับความเปลี่ยนแปลง และรับรู้ได้เลยว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ชุมชนหมู่บ้านของพวกเขาย่อมจะส่งผลกระทบอย่างแน่นอน

ในขณะที่มีชาวบ้านบางคนรู้สึกเฉยๆ

ในขณะที่มีชาวบ้านบางคนรู้สึกตื่นเต้นและมองเห็นความโลภ และเม็ดเงินที่ลอยไปมาในอากาศ

“เพราะเวลาที่เขาโฆษณา ก็จะมีการเอาภาพมาประกอบกับคำพูดที่สวยงามมาก โดยจะให้มีการเลี้ยงปลาในกระชัง จะมีรีสอร์ท และส่วนใหญ่ก็จะพูดถึงเรื่องของความเจริญและอยากได้กัน หลังจากนั้นก็เอาแผ่นพับมาให้ดู ซึ่งก่อนหน้านั้นชาวบ้านไม่เคยเห็นเลย แต่พอเรากระทุ้งไป ถึงเอาเอกสารมาแจก หลังจากนั้น ทางเจ้าหน้าที่ชลประทานก็กลับไป และทุกอย่างก็เงียบไป” นางสาวพิมพ์ใจ นามเทพ บอกเล่าให้ฟัง

 

พิมพ์ใจ นามเทพ ตัวแทนชาวบ้าน ‘กลุ่มลูกน้ำปิง’

วันที่ 29 มีนาคม 2552 มีการเชิญนายสุวิทย์ นามเทพ ไปเข้าร่วมประชุมที่ อบต.แม่สอย ซึ่งในที่ประชุมนั้นมีผู้นำท้องถิ่นทั้งหมด รวมไปถึงปลัดอาวุโส และเจ้าหน้าที่ชลประทานรวมอยู่ด้วย ซึ่งมีความพยายามคล้ายอยากไกล่เกลี่ยให้ตัวแทนชาวบ้านยกเลิกความคิดในการคัดค้านโครงการดังกล่าวเสีย

หากตัวแทนชาวบ้าน  ยังคงเดินหน้าคัดค้านต่อไป โดยได้ทำหนังสือคัดค้าน ไปยื่นต่อผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับได้รวมตัวกันเพื่อก่อตั้งคณะทำงานเพื่อการคัดค้านการก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่สอย ในนาม “กลุ่มลูกน้ำปิง”                                                                          

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว นั้นดำเนินการโดยสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ โดยมีแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ การอุปโภคบริโภคในพื้นที่ท้ายน้ำของลำน้ำแม่ปิงตอนบน โดยเอกสารประชาสัมพันธ์โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมประตูระบายน้ำแม่สอยได้ให้ข้อมูลว่า คาดการณ์ว่าจะต้องใช้งบประมาณก่อสร้างและดำเนินการทั้งสิ้น 965.974 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน 48.484 ล้านบาท ค่าก่อสร้างประตูระบายน้ำ แนวคันกั้นน้ำ รวมถึงอาคาร 850.240 ล้านบาท และค่าดำเนินการเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอีก 67.250 ล้านบาท

สำหรับพื้นที่รับประโยชน์ของโครงการเมื่อมีการก่อสร้างแล้วนั้นจะสามารถทดน้ำไปทางเหนือประมาณ 21 กิโลเมตร โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ของโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่อยู่ด้านเหนือจำนวน 31 สถานี รวมพื้นที่ส่งน้ำ 33,496 ไร่ นอกจากนี้ยังสามารถระบายน้ำลงสู่ท้ายน้ำแก่พื้นที่โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจำนวน 44 สถานีรวมพื้นที่ส่งน้ำ 47,359 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ต.แม่สอย ต.บ้านแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และ ต.หนองปลาสะวาย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน 

ในขณะที่ นางสาวพิมพ์ใจ นามเทพ ตัวแทนชาวบ้านแม่สอย บอกว่า โครงการนี้ขาดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างแท้จริง 

“ที่ผ่านมา เขาอ้างว่าได้มีการทำประชาวิจารณ์แล้ว เราก็ไม่เถียง การที่จะเอากฎหมายมาพูดกัน แต่ถ้าถามถึงความถูกต้องแล้ว มันไม่ใช่ เพราะมีการนำเสนอปัญหาไม่ครบรอบด้าน เวลามาให้ข้อมูลก็ให้ข้อมูลด้านเดียว และพูดถึงข้อเสียเพียงข้อเดียวว่า หมู่บ้านของเราจะถูกโดนเวนคืน”

นางสาวพิมพ์ใจ กล่าวอีกว่า โครงการขนาดใหญ่แบบนี้  ควรจะมีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง และชาวบ้านควรจะเข้าไปมีส่วนร่วม

ตัวแทนชาวบ้านยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ที่ผ่านมา  มีการทำรายงานความเหมาะสม รายงานสิ่งแวดล้อม ผลกระทบออกมาจริง แต่รายงานนั้น ถ้าให้ดูแล้ว ก็ไม่เกิดจากความสำรวจที่แท้จริง แต่เชื่อว่าน่าจะเอาข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ มารวมกัน เพื่อไม่อยากให้ชาวบ้านมีการคัดค้าน 

“รัฐจะทำโครงการอะไร ควรจะดูว่าโครงการไหนที่จะเหมาะกับชุมชนของเรา โครงการอะไรที่ทำแล้วดีชาวบ้านอยู่ได้ โครงการอยู่ได้ ไม่ใช่ว่าทำโครงการแล้ว มีการขุดเจาะขึ้นมา จะต้องถูกน้ำท่วม ต้องถูกเวนคืนที่ดิน แล้วชาวบ้านนั้นไม่รู้ว่าจะต้องเร่ร่อนไปอยู่ที่ไหน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net