Skip to main content
sharethis

 

ความคืบหน้าคดีสังหารหมู่ประชาชนและผู้สื่อข่าว ซึ่งร่วมเดินทางไปกับขบวนของนายเอสมาเอล มานกันดาดาตู ซึ่งกำลังจะเดินทางไปลงสมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ในมากินดาเนา เกาะทางตอนใต้ของมินดาเนา ฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา ล่าสุด (27 พ.ย.) สื่อต่างประเทศรายงานว่า อัลดาล อัมพาทวน จูเนียร์ ผู้ต้องสงสัยได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่แล้ว และถูกควบคุมตัวอยู่ในกรุงมะนิลา แต่ก็ปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ในครั้งนี้และบอกว่าเป็นฝีมือของกลุ่มกบฏมุสลิม ขณะที่มีพยานผู้พบเห็นเหตุการณ์บอกว่า อัมพาทวน จูเนียร์ เป็นผู้ที่สั่งให้กองกำลังส่วนบุคคลกว่า 100 นาย กระทำการสังหารด้วยอาวุธปืน

แอกเนส เดวานาเดรา รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่าคนส่วนหนึ่งที่ร่วมในการสังหารหมู่ยอมมอบตัวเนื่องจากความรู้สึกผิด และจะเป็นพยานชี้ว่าอัมพาทวน จูเนียร์ มีส่วนร่วมในเหตุสังหารหมู่

ขณะที่นายมานกูดาดาตู ที่ไม่ได้โดยสารไปในวันดังกล่าวด้วยนั้นได้ไปจดทะเบียนลงสมัครเลือกตั้งแล้ว
 

ฟอรั่มเอเชีย เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการอาเซียนคอยตรวจสอบรัฐบาลฟิลิปปินส์
ฟอรั่มเอเชีย (FORUM-ASIA) องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีสมาชิกกว่า 46 ประเทศทั่วเอเชีย ออกแถลงการณ์ประณาม การสังหารหมู่ประชาชนและผู้สื่อข่าวในมากินดาเนา โดยในแถลงการณ์บอกว่า แม้จะยังไม่มีการระบุตัวผู้ต้องหาที่ก่อเหตุในครั้งนี้อย่างเป็นทางการ แต่ก็เชื่อว่าผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์คือตระกูลอัมพาทวน ที่มีสายสัมพันธ์กับประธานาธิบดี กลอเรีย อาโรโย่ โดยเป็นเหตุความขัดแย้งทางการเมือง

ในแถลงการณ์เปิดเผยอีกว่า ทางองค์กรเชื่อว่าการสังหารหมู่ในมากินดาเนาครั้งนี้แสดงให้เห็นชัดเจนถึงวัฒนธรรมการที่ผู้กระทำผิดไม่ถูกลงโทษ โดยการที่ผู้กระทำผิดสามารถหลบอยู่เบื้องหลังตำรวจและศาล โดยไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ฟอรั่มเอเชียบอกผ่านแถลงการณ์อีกว่า พวกเขาเป็นห่วงอย่างลึกซึ้งเรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดมากินดาเนา และเขตจังหวัดใกล้เคียง ว่าไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาเรื่องการสังหารหมู่ในครั้งนี้ เนื่องจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะเป็นการให้อำนาจกับกลุ่มอำนาจเช่นทหาร และอาจยิ่งทำให้มีการตอกย้ำการไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษอีกก็ได้

นอกจากนี้ ฟอรั่มเอเชีย ยังได้เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนของอาเซียน (AICHR) และคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนของฟิลิปปินส์ (CHRP) คอยตรวจสอบมาตรการของรัฐบาล เพื่อชี้ให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเพิกเฉยต่อการกระทำผิดในฟิลิปปินส์อีกด้วย
 

ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเผยชื่อนักข่าวผู้เสียชีวิต
ทางด้านองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนรายงานล่าสุดว่ามีผู้สื่อข่าวเสียชีวิต 26 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานให้กับทั้งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หนังสือพิมพ์ระดับประเทศ สถานีวิทยุ และสถานีโทรทัศน์

โดยมีการเปิดเผยรายชื่อผู้สื่อข่าวที่เสียชีวิต มีทั้งผู้สื่อข่าวจาก UNTV, Manila Bulletin, Dadiangas Times, สถานีวิทยุ DZRH รวมถึงสื่อใหม่อย่าง Mindanao Focus, Sierra News, Mindanews และผู้สื่อข่าวอิสระอีกเกือบสิบราย

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนรายงานอีกว่า พวกเขาสงสัยว่าผู้ต้องหาคือ กลุ่มมือปืนและตำรวจของลูกชายนายกเทศมนตรีในเขตปกครองหนึ่งของจังหวัดมากินดาเนา ซึ่งในตอนนี้เขายังไม่ถูกจับกุมตัวและเชื่อว่าพักอาศัยอยู่ในบ้านญาติที่เมืองชารีฟ อากัค โดยพยานผู้เห้นเหตุการณ์และเจ้าหน้าที่ทหารบอกว่านายกเทศมนตรีเป็นผู้ออกคำสั่งลอบจู่โจมขณะที่เหยื่อกำลังเดินทางโดยยานพาหนะ

นอกจากนี้ยังมีการรายงานว่าผู้กระทำการยังได้ทำการข่มขืน ทรมาน และตัดคอเหยื่อบางราย ร่างเกือบทั้งหมดถูกขุดพบในหลุมฝัง

โดยผู้สื่อข่าวท้องถิ่นระบุว่าในวันเกิดเหตุมีผู้สื่อข่าว 30 รายร่วมขบวนรถ ของนาย เอสมาเอล มานกันดาดาตู เพื่อไปทำข่าวการลงสมัครเลือกตั้งของเขา และเชื่อว่าผู้สื่อข่าวที่ร่วมเดินทางไปด้วยถูกสังหารเนื่องจากต้องการฆ่าปิดปาก

ขณะที่จนถึงตอนนี้มีตำรวจในมากินดาเนาถูกจับกุมตัวและขังไว้ในค่ายทหาร ทางกองทัพก็ออกมาประกาศว่าจะยกเลิกกองกำลังส่วนตัวของตระกูลอัมพาทวน

ข่าวประกอบจาก
AFP : Philippine politician charged with murder
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net