Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

  
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณา ปรานีเสมอขอความสันติสุข จงมีแด่ศาสดามุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
 
หลังจากจุฬาราชมนตรี ผู้นำกิจการศาสนาอิสลาม ของประเทศได้ประกาศว่า วันตรุษอีดิ้ลอัฎฮา ปีฮิจเราะฮฺศักราช 1430 (10 เดือนซุลฮิจญะหฺซึ่งเป็นเดือนที่12 ตามปฏิทินอิสลาม) ตรงกับวันศุกร์ที่ 27 เดือนพฤศจิกายน 2552 ทำให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วปรเทศดีใจมากแต่สำหรับมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือใต้ตอนกลางต้องรู้สึกกังวลกับปัญหาน้ำท่วมครั้งที่ 2 (ยังไม่นับรวมเหตุการณ์ความไม่สงบ) เพราะฝนตกตลอดทั้งเดือนซึ่งจะมีผลกระทบในการปฏิบัติศาสนกิจและกิจกรรมเฉลิมฉลอง และเหมือนพระเจ้าทรงโปรดปรานวันตรุษไม่มีฝนตก ยังผลให้พี่น้องประชาชนไทยมุสลิมจากจังหวัดชายแดนใต้แห่เที่ยวตามที่สถานที่สำคัญๆ หลายแห่งโดยเฉพาะหาดปัตตานีและการล่องล่องแก่งที่น้ำตกวังสายทอง ที่ อ.มะนัง จ.สตูล

วันนี้สำหรับ เด็กๆ สนุกสนานเต็มที่ พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ให้เงินซื้อขนม ซื้อของที่อยากได้มานานวัน ส่วนผู้ใหญ่จะ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่สะอาดและใหม่อย่าง เรียบร้อยตามแบบมลายูหรืออาหรับ มีการ จัดเตรียมอาหารทั้งคาวหวานรองรับแขกผู้มาเยือน เช่น ปูโละ ซึ่งเป็นข้าวเหนียวหน้าต่างๆ
, รอเญาะ, กูแวฮางิ คล้ายๆ คัสตาร์ด ส่วนละแซ จะเหมือนขนมจีน, นาซิดาแฆ หรือข้าวแกงท้องถิ่น หรือสะเต๊ะกินกับข้าวปั้นและอาหารอื่นๆ อีกมากมาย

พอถึงตอนเช้าของวันอีดทุกคนไม่ว่าผู้ชาย หญิง เด็ก คนชรา จะไปร่วมละหมาดที่มัสยิดหรือลานสนามกว้างที่ทางหมู่บ้านจัดเตรียมไว้ (จากบางทัศนะของปราชญ์อิสลาม) โดยการละหมาดดังกล่าวจะเริ่มทำในช่วงดวงอาทิตย์ขึ้นประมาณครึ่งชั่วโมง (ประมาณ 7.10 น.) และฟังคุฎบะฮ์ (คำเทศนา) จากผู้นำศาสนา
     
ในขณะที่ผู้ที่เดินทางไปทำพิธีฮัจญ์จากปรเทศไทย ณ ประเทศซาอุดิอาระเบียจำนวนมากประมาณ 12,000 คน ก็ปฏิบัติศาสนกิจที่นั่นซึ่งหลายคนได้ดูการถ่ายทอดสดผ่านทีวีดาวเทียม
     
กล่าวคือการทำฮัจญ์ เป็นการเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่นครมักกะหฺ ประเทศซาอุดิอาระเบียในเดือนซุลฮิจญะหฺ (เดือนที่12 ตามปฏิทินอิสลามซึ่งปีนี้ ตรงกับ 17-30 เดือนพฤศจิกายน 2552) ตามวันเวลา และสถานที่ต่างๆ ที่ทางศาสนาอิสลามกำหนดไว้ ซึ่งศาสนกิจข้อนี้เป็นหน้าที่สำหรับมุสลิมทั้งชายและหญิง ทุกคนที่มีความสามารถในด้านร่างกาย ทรัพย์สิน และการเดินทาง ที่จะต้องปฏิบัติ ในช่วงฮัจญ์ ชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางเข้าสู่อารเบีย โดยก่อนอื่นจะมีการทำ อิฮฺรอม นั่นคือการตั้งใจว่าจะทำพิธีฮัจญ์ ก่อนการเข้าไปในแผ่นดินฮะรอม ในซาอุดิอาระเบีย โดยจะปฏิบัติตามกฏของฮัจญ์ อาทิ การไม่สมสู่ การไม่ล่าสัตว์ในแผ่นดินฮะรอม การไม่ตัดเล็บหรือผม การไม่เสริมสวยหรือใช้น้ำหอม ผู้ชายจะเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย มาสวมผ้าเพียงสองผืน แล้วต่างก็จะมาชุมนุมกันที่ ทุ่งอะร็อฟะหฺ ในตอนเช้าตรู่ของวันที่เก้าของเดือนซุลฮิจญะหฺ
 
แล้วพอตกค่ำ ซึ่งตามปฏิทินจะเป็นคืนที่สิบ บรรดาฮุจญาจ (ผู้ทำฮัจญ์) จะเดินทางผ่าน ทุ่งมุซดะลิฟะหฺ พักชั่วครู่หนึ่งก่อนที่จะมุ่งหน้าสู่ ทุ่งมีนา ก่อนเที่ยงของวันต่อไปฮุจญาจจะพักอยู่ที่ ทุ่งมีนา เป็นเวลาสามวัน เพื่อขอพรและบำเพ็ญตนตามพิธีฮัจญ์ หลังจากนั้นจึงเดินทางเข้ากรุงมักกะหฺ เพื่อฏอวาฟ (เวียนรอบ) กะอฺบะหฺ หรือที่เรียกว่า บัยตุลลอหฺ อันเป็นเสมือนเสาหลักของชุมทิศ ซึ่งตั้งอยู่ใน มัสญิด ฮะรอม (เมืองมักกะฮฺ) หลังจากนั้นฮุจญาจก็จะเดินจากเนินเขาศอฟา สู่เนินเขามัรวะหฺ ซึ่งมีระยะทาง 450 เมตร ไปมาจนครบเจ็ดเที่ยว ระหว่างที่เดินก็จะกล่าวคำขอพรและคำวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้า เมื่อเสร็จพิธีนี้แล้วก็จะขลิบผมหรือโกนหัว และผู้แสวงบุญก็จะหลุดพ้นจากภาวะ อิฮฺรอม
 
การไปประกอบพิธีฮัจญ์ นอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติแล้ว ยังนับได้ว่าเป็นบทพิสูจน์อย่างหนึ่งถึงความตั้งใจจริงในการดำรงตนให้อยู่ในหลักของศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องใช้เวลากว่าค่อนชีวิตเก็บสะสมเงินทองเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ฉะนั้นการไปประกอบพิธีฮัจญ์ จึงเป็นความภาคภูมิใจไม่เฉพาะแต่ "ฮุจญาจ" เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบรรดาญาติพี่น้องอีกด้วย

วกกลับมาสู่มุสลิมภาคใต้หลังจากประกอบศาสนกิจเสร็จในมัสยิดหรือลานสนามกว้างที่ทางหมู่บ้านจัดเตรียมไว้มุสลิมผู้มีความสามารถและมีทรัพย์จะทำการการเชือดสัตว์พลีทานซึ่งมุสลิมจะเรียกว่าการทำกุรบ่าน

การทำกุรบ่านนี้ได้ปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยของท่านศาสดาอิบรอฮีม (หรืออับราฮัมในคัมภีร์ไบเบิ้ล) เพราะศาสดามุฮัมมัดได้กล่าวไว้ความว่า ในวันอีดิ้ลอัฎฮาไม่มีการภักดีใดๆ ของมนุษย์จะเป็นที่โปรดปรานรักใคร่ของอัลลอฮ์ ดียิ่งไปกว่าการทำกุรบ่าน
 
ช่วงเวลาของชาวมุสลิมในการเชือดกุรบ่านได้นั้นตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นของเช้าวันอีดิลอัฎฮา จนถึงเวลาละหมาดอัสรีของวันที่ 4 ของวันอีดรวม 4 วัน (วันอีด 1 วันตัสริก 3 วันซึ่งตรงกับ วันที่ 27-30 พฤศจิกายน ) แต่ระยะเวลาที่ดีเยี่ยมควรเชือดกุรบ่าน คือหลังจากเสร็จการละหมาดอีดิลอัฎฮาแล้ว การเชือดควรให้เจ้าของเป็นผู้เชือดเองหากจะมอบให้ผู้อื่นเชือดก็ควรดูการเชือดด้วย

สำหรับสัตว์ที่ใช้ทำกุรบ่านก็จะเป็น อูฐ กีบัช (ไม่มีในเมืองไทย) วัว ควาย แพะ แกะ


โดยอูฐ ต้องมีอายุ 5 ปีบริบูรณ์ ใช้ทำกุรบ่านได้ 7 ส่วน ดังนั้น จึงรวมกันทำ 7 คน/อูฐตัวเดียวก็ได้ หรือจะทำคนเดียวก็ยิ่งดี วัว ควาย ต้องมีอายุ 2 ปีบริบูรณ์ ทำกุรบ่านได้ 7 ส่วน
แพะ ต้องมีอายุ 2 ปีบริบูรณ์ ทำกุรบ่านได้ 1 ส่วน แกะและกิบัช ต้องมีอายุ 1 ปีบริบูรณ์ หรือเปลี่ยนฟันแล้ว ทำกุรบ่านได้ 1 ส่วน สัตว์จะทำกุรบ่าน ต้องอ้วนสมบูรณ์ปราศจากสิ่งตำหนิหรือโรค ควรมีลักษณะสวยงามสง่า

เนื้อสัตว์ที่ทำกุรบ่านนั้น มุสลิมจะแจกจ่ายแก่คนยากจนและเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ห้ามนำเอาเนื้อและส่วนต่างๆ ของสัตว์กุรบ่าน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหนังหรือกระดูกไปขายหรือเป็นค่าจ้างเป็นอันขาด

วันตรุษอีดิ้ลอัฎฮาปีนี้มุสลิมชาวใต้บางที่อาจจะยังฉลองท่ามทั้งน้ำท่วมและเหตุการณ์ไม่สงบ ดังนั้นน่าจะนำเนื้อกุรบ่านส่วนหนึ่งบริจาค หรือบริจาคเงินทำกุรบ่าน ผ่านคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด หรือจังหวัดที่ประสบภัยให้เป็นสื่อกลางมอบแด่ผู้ประสบภัย น้ำท่วม

 
ขอดุอาอ์ (พร) จากอัลลอฮ ซุบฮานะฮุ วะ ตะอาลาโปรดทรงรวมพลังของพวกเราให้อยู่บนทางนำ และรวมหัวใจของพวกเราอยู่บนความรักฉันท์พี่น้อง และความมุ่งมั่นของพวกเราอยู่บนการงานที่ดีและขอทรงทำให้ วันนี้ของพวกเราดีกว่าเมื่อวาน และให้ พรุ่งนี้ของพวกเราดีกว่าวันนี้ แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงได้ยินและทรงอยู่ใกล้และนำความสงบสุขสู่จังหวัดชายแดนใต้และประเทศชาติทั้งมวลด้วยเทอญ สุขสวัสดีวันตรุษอีดดิ้ลอัฎฮา 1430 อามีน
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net