Skip to main content
sharethis

กรรมการหอการค้าไทยเผย ญี่ปุ่นเล็งลงทุนอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังบริษัทตรวจมาตรฐานสินค้าระดับโลกตั้งศูนย์ตรวจฮาลาลในไทย เหตุวัตถุดิบพร้อม มาตรการลดภาษีของรัฐเพื่อช่วยภาคธุรกิจมีส่วนดึงดูด ชี้ฮาลาลเป็นตลาดใหญ่ในโลกมุสลิมมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านบาท ตราฮาลาลไทยสากลยอมรับเมื่อไหร่ลงทุนทันที

 
นายณรัตน์ไชย หลีระพันธ์ ประธานกลุ่มการค้าและการค้าร่วม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้นักลงทุนในประเทศญี่ปุ่นสนใจที่จะมาลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล(การอนุมัติตามหลักการศาสนาอิสลาม) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเห็นว่าตลาดสินค้าฮาลาลโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศมุสลิมมีมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านบาท ประกอบกับขณะนี้รัฐบาลไทยได้ให้สิทธิพิเศษด้านการยกเว้นภาษีสำหรับนักลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อต้องการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่
 
นายณรัตน์ไชย เปิดเผยต่อว่า ทั้งนี้ความสนใจดังกล่าว ได้แสดงผ่านองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร (JTRO) โดยแจ้งว่า การลงทุนจะเกิดขึ้นทันทีหลังจากที่มาตรฐานการตรวจสอบสินค้าและผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทยได้รับการยอมรับในระดับโลก เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้มีความพร้อมด้านวัตถุดิบและแรงงาน
 
นายณรัตน์ไชย เปิดเผยอีกว่า ความสนใจดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากตัวแทนกลุ่มประเทศมุสลิมหรือ โอไอซี (OIC) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในเรื่องการพัฒนามาตรฐานสินค้าและผลิตภัณฑ์ฮาลาล เมื่อปีที่แล้ว กับการที่ บริษัท อินเตอร์เทค ซึ่งเป็นองค์กรด้านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าระดับโลก ตัดสินใจลงทุนตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาล หรือห้องแล็ป มูลค่า 400 ล้านบาท ที่กรุงเทพมหานคร โดยในอนาคตอาจตั้งศูนย์ปฏิบัติการนี้ในนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่จังหวัดปัตตานีด้วย จึงทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า สินค้าและผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยจะได้รับการยอมรับในระดับโลกได้
 
นายณรัตน์ไชย เปิดเผยด้วยว่า การตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพดังกล่าว ทางอินเตอร์เทคได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมีการทำสัญญาให้ทางอินเตอร์เทคได้บริหารจัดการศูนย์แห่งนี้นานถึง 60 ปี
 
นายณรัตน์ไชย เปิดเผยเสริมว่า สำหรับ บริษัท อินเตอร์เทค เป็นองค์กรเอกชน จดทะเบียนที่ประเทศอังกฤษ ทำหน้าที่ตรวจสอบสินค้ามาตรฐานส่งให้กับห้างดังๆ ทั่วโลก เช่น ห้างวอลมาร์ทของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยอาจถูกส่งขายในห้างวอลมาร์ทด้วย ขณะที่กระแสการตอบรับสินค้าฮาลาลในยุโรปมีสูงมาก เนื่องจากชาวยุโรปเห็นว่าอาหารฮาลาลคืออาหารเพื่อสุขภาพ
 
นายณรัตน์ไชย เปิดเผยอีกว่า ส่วนการลงทุนอุตสาหกรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของนักลงทุนต่างๆ ขณะนี้ส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งทางหอการค้าไทยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน ขณะเดียวนายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) จะผลักดันในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ส่วนการดำเนินการหลังจากนี้ จะมีการประสานทุกภาคส่วนเพื่อมาวางแผนร่วมกันในการทำงาน โดยในเดือนมีนาคม 2553 จะมีการจัดงานใหญ่เกี่ยวกับฮาลาลที่จังหวัดภูเก็ต
 
“ส่วนปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นกังวลอยู่ของนักลงทุน ดังนั้นจึงต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ทางสื่อมวลชนด้วยว่า จุดไหนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปลอดภัย จุดไหนอันตราย นักลงทุนจะได้ตัดสินใจถูก ไม่ใช่เหมารวมว่าเป็นจังหวัดชายแดภาคใต้ ทำให้ถูกมองว่าอันตรายทุกพื้นที่ และเป็นภาระของภาครัฐด้วยที่ต้องสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการลงทุน” นายณรัตน์ไชย กล่าว
 
นายณรัตน์ไชย เปิดเผยด้วยว่า กรณีการป้องกันไม่ให้ปัญหาความไม่สงบส่งผลต่อการลงทุนนั้น คณะทำงานกลุ่มการค้าและการค้าร่วม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เสนอต่อรัฐบาลให้กำหนดเขตพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการลงทุน หรือ เซฟตี้โซน ซึ่งในหลายประเทศที่เกิดเหตุไม่สงบ แต่เมื่อมีเซฟตี้โซน ก็ยังมีการลงทุนอยู่ เช่นในประเทศอิรัก เป็นต้น
 
นายอนิรุธ สมุทรโคจร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คาดว่าต้นปี 2553 ศูนย์พัฒนาศักยภาพและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลจะเริ่มดำเนินงานได้ ซึ่งจะทำให้สินค้าฮาลาลไทยได้รับการยอมรับมากขึ้น ขณะที่โอไอซี มีแผนกหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ฮาลาลได้เข้ามาร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในเรื่องการพัฒนามารฐานฮาลาลไทย เพื่อให้ได้มาตรฐานเทียบเท่ากับประเทศมุสลิมหลายประเทศใช้อยู่ ไม่ว่าในตะวันออกกลาง อินโดนีเซียหรือมาเลเซีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net