ซ้ำรอย 6 ตุลา (2) – ว่าด้วยนีโอนาซี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ การลดลงของอัตรากำไรที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เมื่อสองปีก่อน การปรับค่าจ้าง การขูดรีดประสิทธิภาพจากผู้ใช้แรงงาน การเลิกจ้าง การทำลายสหภาพแรงงาน เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในสังคมการผลิตไทยในรอบปีที่ผ่านมา ท่ามกลางวิกฤติการณ์นี้ปัญหาต่างๆยังคงดำเนินต่อไป โดยมิได้รับการแก้ไข ขณะเดียวกันกระแสชาตินิยมได้พุ่งสูงขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ปัญหาการว่างงานได้สร้างมุมมองด้านลบต่อแรงงานข้ามชาติ อันสังเกตได้จากทัศนะของนายกรัฐมนตรี ต่อเหตุการณ์โรฮิงญาเมื่อต้นปีที่ผ่านมาไม่กี่เดือนจากนั้น การจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติเป็นไปอย่างจำกัด มีการพิสูจน์ตนที่เข้มงวดกวดขันมากขึ้น ประจวบเหมาะกับความตึงเครียดของพรมแดนด้านตะวันออกกับกัมพูชา ในกรณีการส่งตัวอดีตผู้นำ กระแสชาตินิยม (อันผูกติดกับกษัตริย์นิยม) พุ่งสูงขึ้นในพื้นที่ประชาสังคมไทย จุดยืนที่แข็งกร้าวของรัฐบาลไทย ได้ก่อให้เกิดความรู้สึก เหนือกว่าเชิงชาติพันธ์ต่อประเทศเพื่อนบ้าน ขึ้นในหมู่ประชาชน ภายใต้เงื่อนไขความคลั่งชาติที่มากขึ้นนี้ “ผลประโยชน์ของชาติ” กลับถูกแสวงประโยชน์โดยชนชั้นปกครองกลุ่มหนึ่งในการควบคุมประชาชน ภายใต้วลีนี้ การควบคุมหาได้เกิดกับแค่กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น หากแต่รวมถึงรวมถึงขบวนการเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่กระทบต่อชนชั้นปกครอง ก็อาจตกเป็นเหยื่อของการใช้เครื่องมือ “ชาตินิยม” ในการควบคุมปราบปรามก็ได้
 
ถึงแม้จะมีการประกาศเลื่อนการชุมนุมโดยแกนนำมวลชนเสื้อแดงออกไปหลังกำหนดการเดิมในวันที่ 28พฤศจิกายนอย่างไม่มีกำหนด แต่ข้อถกเถียงว่าด้วยจุดยืนของรัฐบาลในช่วงหนึ่งอาทิตย์ก่อนหน้านั้นมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ การชุมนุมวันที่ 28 พ.ย.2552 ตามกำหนดการเดิม จะเกิดขึ้นก่อนการฉลองวันชาติ 50 ปี ของฝ่ายทหารและกษัตริย์นิยม (วันชาติเดิมของไทยคือวันที่ 24 มิถุนายน - วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยวันชาติคือวันฉลองรัฐธรรมนูญ โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ เปลี่ยนวันชาติเป็นวันที่ 5ธันวาคม ตั้งแต่ 2503) มีการประเมินสถานการณ์ว่าผู้ชุมนุมอาจจะมาถึง1ล้านคน ด้วยความหวาดกลัว นายกรัฐมนตรีประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขณะเดียวกันผู้ปฏิบัติการของฝ่ายรัฐบาลต่างมีทัศนะที่น่าวิตกไม่น้อย ว่าความคิดแบบ “คลั่งชาติ” มีบทบาทสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในกระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐบาลไทย รวมถึงทัศนะต่อผู้ชุมนุม
 
เริ่มต้นด้วย เทพไท เสนพงศ์ เลขาฯส่วนตัวนายกรัฐมนตรี ได้แสดงทัศนะที่ว่าผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุมโดยมาก “ไม่ใช่คนไทย” เป็นแรงงานต่างด้าว โดยท้าให้ร้องเพลงชาติไทย [1] พร้อมบอกว่าแรงงานต่างด้าวมาจากหลากหลาย เป็นพวกคนงานในโรงงาน สะดวกต่อการจัดการและง่ายต่อการจ้างวาน เช่นเดียวกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ออกมาแสดงจุดยืนว่า หากแรงงานต่างด้าวเข้าร่วมชุมนุม จะไม่ได้รับการต่อใบอนุญาต และนายจ้างก็จะมีความผิดจะถูกลดโควตาแรงงาน [2] ยิ่งไปกว่านั้น ปณิธาน วัฒนายากรยังได้แสดงความเห็นว่า แรงงานต่างด้าวเหล่านี้เป็นนักรบที่ได้รับการฝึกฝนอาวุธอย่างดีจากชายแดน[3] - ภาพแรงงานข้ามชาติในสายตาชนชั้นปกครองนอกจากจะมีอัตลักษณ์ทางสังคมที่แปลกแยก ฐานะทางเศรษฐกิจที่ยากจนเป็นภาระและคอยพึ่งพาประเทศไทย ยังเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคง ป่าเถื่อนและน่าหวาดกลัวยิ่งนัก อธิบดีกรมการจัดหางานยังยืนยันทัศนะคติของชนชั้นปกครองอีกว่า “แรงงานต่างด้าวไม่มีสิทธิชุมนุมทางการเมือง”เพราะเป็นการคุกคามด้านความมั่นคงภายในอย่างรุนแรง
 
คงไม่ต้องย้อนกลับไปนานนัก เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาการชุมนุม ของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ถูกสลายการชุมนุมด้วยคลื่นความถี่ทำลายประสาทหูที่ใช้ในสงครามอิรัก การกระทำเช่นนี้ดูเป็นเรื่องปกติภายใต้ ผลประโยชน์แห่งชาติ และภาพพจน์ของรัฐบาล รวมถึงความขัดแย้งกับสหภาพการรถไฟ ผลประโยชน์แห่งชาติ ถูกนำมาขู่บังคับให้การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานไม่สามารถยกระดับขึ้นสู่เวทีสาธารณะได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ผู้ใดที่มีการกระทำขัดกับ “ผลประโยชน์แห่งชาติ (ตามนิยามของผู้มีอำนาจ) - ย่อมไม่มี ความเป็น “ไทย” ที่เสมอกับคนทั่วไปและพึงถูกปราบปราม ขู่บังคับ ด้วยทุกวิธีการที่มีอยู่เพื่อ ให้ทุกคนยอมสวามิภักดิ์ กับ “ผลประโยชน์แห่งชาติ”ตามนิยามของพวกเขา ในที่นี้คงไม่พูดถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติในระบบการผลิตซึ่งเป็นกำลังหลักสำคัญและเป็นกลุ่มที่ถูกกดขี่เอาเปรียบโดยผู้ประกอบการมากที่สุด ด้วยความอ่อนด้อยของกฎหมายแรงงานและสิทธิการรวมตัว
 
ปรากฏการณ์นี้ลักษณะนี้เคยปรากฏในวงกว้างของสังคมไทยมาอย่างน้อยหนึ่งครั้ง โดยครั้งที่เด่นชัดที่สุดคือ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คำโฆษณาของชนชั้นปกครองเกี่ยวกับเรื่องความเป็นไทยเป็นไปอย่างแพร่หลาย เกี่ยวกับการรวมตัวทางการเมือง ว่าขาดคุณสมบัติของความเป็นไทย หากไม่เป็น “ลาว-อีสาน” [4] ก็เป็นคอมมิวนิสต์ญวน เจ๊กกบฏ[5] สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องทางชาติพันธุ์แน่นอน หากแต่หมายถึงจุดยืนทางการเมือง และความเป็นปฏิปักษ์ต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น อันดูได้จากผลงานโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลช่วงเวลานั้น เช่น เพลงหนักแผ่นดิน [6] โดยชี้ให้เห็นว่าแม้จะเป็นคนไทยทางชาติพันธ์-ถิ่นที่อยู่ หากมีความเห็นต่างต่อความเป็น “ไทย” ที่ชนชั้นปกครองปรารถนา ก็สูญสิ้นค่าความเป็นคน สมควรถูกกำจัดและขับไล่ออกจากแผ่นดิน (ของชนชั้นปกครอง)
 
จะเกิดอะไรขึ้น หากลัทธิคลั่งชาติยังคงถูกขับเคลื่อนต่อไปโดยยังไม่เห็นปลายทาง ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติทำงานในเมืองไทยกว่า 2 ล้านคนมากกว่าครึ่งปราศจากการคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่มีสิทธิตั้งสหภาพของตนเอง ในสถานประกอบการทั่วไปผู้ใช้แรงงานแบ่งแยกแรงงานข้ามชาติออกจากแรงงานไทย เพื่อประโยชน์ในการกดค่าแรง และลดทอนโอกาสการรวมตัว ลัทธิคลั่งชาติเป็นพัฒนาการขั้นตอนที่น่ากลัวของระบบทุนนิยม เพราะลัทธิคลั่งชาติจะทำให้การกระทำใดๆของรัฐบาลที่ “อ้างผลประโยชน์ของชาติ” ได้รับแรงสนับสนุนจากสังคมผ่านกลไกการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับชนชั้นล่างจะสูงขึ้น ชอบธรรมมากขึ้น แม้จะไม่มีการชุมนุมในวันที่28ที่ผ่านมา แต่ภาพสะท้อนความน่ากลัวของลัทธิคลั่งชาติดูจะชัดเจนมากขึ้น และผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงคือชนชั้นแรงงานทุกเชื้อชาติในประเทศนี้ที่ถูกเอาเปรียบและมีความเปราะบางมากขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ
 
กระแสคลั่งชาตินี้หาใช่เรื่องใหม่ หรือมีความเฉพาะเป็นพิเศษสำหรับประเทศไทย ลัทธิคลั่งชาติแพร่ระบาดไปทั่วโลก ที่รุนแรงและเป็นที่รู้จักคือขบวนการนาซี ก่อน-ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แบบฉบับที่เหมือนกันของความคลั่งชาติ คือเริ่มต้นที่ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ เริ่มจากชนชั้นกลางในเขตเมืองที่รับรู่ข่าวสารการโฆษณาดีกว่า โดยสร้างมุมมองว่าความยากจน ปัญหาภายในประเทศ ผู้นำคลั่งชาติจะเบี่ยงเบนความขัดแย้งทางชนชั้นอันคุกรุ่นในประเทศว่าเกิดจากกลุ่มทางชาติพันธ์ กลุ่มอัตลักษณ์ หรือวิถีชีวิตหนึ่ง โดยอาศัยการสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ ดังเช่นการโฆษณาของฮิตเลอร์เกี่ยวกับชาวยิว และประวัติศาสตร์ว่าด้วย “พระยาละแวก” [7] ในความทรงจำระหว่างไทยและกัมพูชา รวมถึง “พม่าเผากรุงศรีฯ” รัฐบาลต้องล้างสมองประชาชนด้วยกลไกทางด้านการศึกษา หรือการให้ข่าวสาร ความสมานฉันท์ในแนวทางเดียวกันมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลในการควบคุมความขัดแย้งทางชนชั้นในวิกฤติเศรษฐกิจ ความเห็นพ้องและคล้อยตามต่อผู้นำที่มีแนวทาง คลั่งชาติสำคัญมาก มันจะช่วยลดการประท้วง การเรียกร้องสิทธิแรงงาน หรือสิทธิทางการเมืองใดๆ ในระบบทุนนิยมปัจจุบัน เพื่อให้สภาพการผลิตสามารถดำเนินไปได้ แม้จะมีการกดขี่ขูดรีดมากขึ้น ในวิกฤติเศรษฐกิจ
 
ดังนั้น “ความคลั่งชาติ” จึงหาใช่ปรากฏการณ์ ปกติของสังคม ไม่ใช่สำนึกที่เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ และความยินยอมพร้อมใจของแต่ละปัจเจกชน หากแต่ถูกหล่อหลอม ด้วยกลไกของชนชั้นปกครอง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกเขาในระบบการผลิต “ความคลั่งชาติ” จึงดำรงอยู่ในฐานะเครื่องมือควบคุมประชาชน ในวิกฤติการสังคมแต่ละยุคสมัย
 
เชิงอรรถ
 
[1]“เทพไท” ท้าจับเสื้อแดงร้องเพลงชาติ ควานหาต่างด้าว วันที่ 2009-11-23 16:58:59 โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
 
[2]“เทือก” ปัดตั้ง รบ.เฉพาะกิจ เตือนต่างด้าวร่วมม็อบแดง ผิดก.ม.วันที่ 2009-11-22 12:01:29 โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
 
[3] ปณิธานแฉแผนแดงป่วนกรุงซ้ำรอยเมษาเลือด http://www.komchadluek.net/detail/20091124/38692 วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2552
 
[4] คนภาคอีสานในช่วง 2500-2520 ดำรงอยู่ในฐานะที่ไม่ต่างจาก อาณานิคมในประเทศในสายตาของคนส่วนกลาง อีสานเป็นแหล่งรวมของความยากจน ด้อยพัฒนา วิถีที่แตกต่าง และขาดด้อยความเป็น “ไทย”
 
[5] เจ๊ก-ถูกใช้ในความหมายที่ต่างไป แต่เดิมคือคำเรียกกรรมกรจีน หรือชาวจีนชั้นล่าง ขณะที่คนจีนชั้นสูงสามารถผสานกลมกลืนกับชนชั้นปกครองไทยกลายเป็นเถ้าแก่หรือเจ้าสัว คำว่า เจ๊ก จึงมิใช่ความหมายเชิงชาติพันธุ์ หากแต่เป็นความหมายเชิงชนชั้น
 
[6] แต่งในปี2518 ใช้โฆษณาชวนเชื่อแพร่หลาย ในช่วงปี2519 และสมัยรัฐบาล ของ ธานินทร์ กรัยวิเชียร อันเป็นยุคสมัยของการปราบคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง ธานินทร์ถึงขนาดเขียนหนังสือว่าด้วยความเป็นไทย ในประวัติศาสตร์ของเด็กนักเรียนเสียใหม่ ให้ตรงกับบริบทการต่อต้านคอมมิวนิสต์
 
[7] เช่นเดียวกับเจ้าอนุวงศ์กษัตริย์มหาราชของลาว ที่ถูกสร้างให้เห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านไทยอ่อนด้อยทางวัฒนธรรมถูกยึดครองโดยสยาม อ่อนด้อยความสามารถ และไว้ใจไม่ได้ ปัจจุบันพระยาละแวกถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง โดยสื่อคลั่งชาติและกลุ่มทางการเมืองกษัตริย์นิยมในปัจจุบัน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท