เสวนา “จุดประกาย” เพศวิถีศึกษาในสังคมไทย

 
 
 
พงศ์ธร จันทร์เลื่อน (ซ้าย) และ กฤตยา อาชวนิจกุล (ขวา)
 
การจัดประชุมประจำปี “เพศวิถีศึกษาในสังคมไทย ครั้งที่ 2” ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ เชิงสะพานกรุงธน กทม. ซึ่งมีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 25-27 พ.ย. 52 ที่ผ่านมานั้น
 
เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ซึ่งเป็นการประชุมวันแรก ในเวลา 9.30 น. รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รักษาการรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และคุณพงศ์ธร จันทร์เลื่อน ผู้อำนวยการโครงการเพื่อนชายรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพ (เอ็มพลัส) เป็นวิทยากรเสวนา “จุดประกาย” เสมือนเป็นการกล่าวเปิดงานในหัวข้อ “การขับเคลื่อนเพศวิถีศึกษากับเพศวิถีปฏิบัติในสังคมไทย”
 
000
 
ควรมีการวิจัยเรื่องเพศวิถีที่รอบด้าน
กฤตยา อาชวนิจกุล
 
กฤตยา อาชวนิจกุล กล่าวว่า การประชุมเพศวิถีศึกษาในสังคมไทยครั้งนี้ไม่ใช่การประชุมเชิงวิชาการ หรือเชิงทฤษฎี แต่จะเป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อให้เห็นว่าเพราะเหตุใดเราจึงมีการจัดประชุมเรื่องเพศวิถีศึกษากับเพศวิถีปฏิบัติในสังคมไทย โดยการประชุมครั้งแรกในเดือนมกราคม 2551 ใช้ชื่อว่า “การประชุมประจำปีเพศวิถีศึกษาในสังคมไทย ครั้งที่ 1 วิพากษ์องค์ความรู้และธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องเพศวิถีศึกษาในสังคมไทย” แต่ความแตกต่างระหว่างการประชุมครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 คือ การประชุมในครั้งนี้จะมีผู้ทำงานที่นำเรื่องเพศวิถีไปใช้ในงานตัวเอง โดยมีหัวข้อทางวิชาการในเรื่องนี้ตั้งแต่วันแรกที่จัด และมีเวทีลานกิจกรรมสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านเพศวิถีด้วย
 
การประชุมครั้งนี้ ต้องการสร้างพื้นที่เชิงความรู้เข้ามาใหม่ มาแลกเปลี่ยนระหว่างความรู้เก่า กับความรู้ใหม่ การที่จะเข้าใจความรู้เก่าได้ต้องวิพากษ์ และรื้อสร้าง เราหวังว่ากระบวนการอย่างนี้ และอาจจะมีในปีต่อๆ ไป จะทำให้สังคมไทยมีชุดความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศวิถีมากขึ้น
 
ความรู้ที่พวกเรารื้อสร้างนี้เป็นทั้งความรู้ด้านเพศวิถีศึกษาทั้งเก่าและใหม่ แต่จะไม่ผลิตซ้ำมายาคติเกี่ยวกับเรื่องเพศ เราหวังว่าความรู้ที่ได้นั้น ไม่ได้คิดว่าทุกเรื่องสามารถนำไปผลักดันนโยบายได้ แต่ความรู้บางอย่างก็สามารถนำเอาไปผลักดันเป็นเชิงนโยบาย จะเป็นประโยชน์เชิงสาธารณะ ขยายเพศวิถีวิจัย และเพศวิถีปฏิบัติ สู่คนทำงานทั้งภาครัฐ เอกชน สาธารณะ นำไปสู่สังคมที่มีสุขภาวะทางเพศ แต่ทั้งหลายทั้งปวงสำหรับตนแล้วเป็นการเมือง ไม่ใช่การเมืองสีเขียว สีเหลือง สีแดง แต่เป็นการเมืองที่จะสร้างความรู้ในสังคมไทย ถ้าสนใจจะสร้างความรู้ต้องเข้ามาทำ แต่ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมาร่วมกัน
 
เพศวิถีศึกษาตั้งใจศึกษาเรื่องการเมืองเรื่องความรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจอีกชุด วิธีการสมัยนี้ที่จะดูว่าเรื่องนี้ไปถึงไหนแล้วง่ายที่สุดก็ใช้พื้นที่โลกไซเบอร์ ดูว่าเรื่องเพศวิถีศึกษาอยู่ในโลกไซเบอร์อย่างไร ใช้ Google ค้นหาคำว่า “เพศ” มี 11 ล้านกว่าคำแล้ว ขณะที่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว มี 8 ล้านกว่า นี่คือผลการค้นเฉพาะภาษาไทย ส่วนหน้าแรกของการค้นหาที่พบ 3 อันดับแรก เป็นรูปที่พบเกี่ยวกับเรื่องเพศทั้งหมด และมีวิดีโอด้วย สอง เรื่องจุดสุดยอดทางเพศ อยู่ในวิกิพีเดีย ในเว็บจะระบุว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก สาม คนที่ทำงาน Teenpath ต้องภูมิใจ เพราะอันดับ 3 คือคือ www.teenpath.net
 
ส่วนคำว่า “เพศวิถีศึกษา” หน้าแรกก็เจองานจากบล็อก Bloggang.com ของคุณ “เช้านี้ยังมีเธอ” เป็นบทความเรื่อง “เพศวิถีของผู้หญิงในวรรณกรรมไทยยุคฟองสบู่” ลำดับที่ 4-6 เป็นข่าวเกี่ยวกับการจัดประชุมเพศวิถีศึกษา ถือว่าอย่างน้อยผลการค้นหาหน้าแรกก็เจอเพศวิถี พูดถึงบทความในศิลปวัฒนธรรม สอง และสามเป็นเรื่องของเจ้าแม่เพศวิถีในไทยคือ อ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อันดับ
 
เพราะฉะนั้นแล้วถ้าใช้กระบวนการที่ง่ายที่สุดทำการสืบค้นก็จะเห็นได้ว่า เราได้ทำให้เรื่องเพศวิถีศึกษาอยู่ในไซเบอร์สเปซ ถ้าจะศึกษาเรื่องอะไรก็ตาม Google.com จะก็นำคุณไปสู่สิ่งที่คุณอยากรู้
 
เพศวิถีศึกษาบอกอะไรเราบ้าง สำหรับเรื่องเพศในสังคมไทยดูเหมือนความรู้เรื่องเพศจะมีชุดเดียว ใช้ฐานตัดสินเชิงสรีระว่าเป็นชายจริงหญิงแท้ ในห้องนี้จะมีใครพูดว่าเป็นชายจริงหญิงแท้ หรือหลายคนจะรู้สึกปวดใจว่าไม่ใช่ชายจริงหญิงแท้ ความรู้เรื่องเพศในสังคมไทยมีความเชื่อที่ให้คุณค่ากับความเป็นชาย สังคมไทยยึดกามารมณ์ของผู้ชายเป็นศูนย์กลาง หนังสือโป๊เขาไม่ได้เขียนให้ผู้หญิงอ่าน กามารมณ์แบบชายไทย คือต้องใหญ่ ยาว บ่อย นาน ทั้งหมดตัวผู้ชายเป็นผู้กระทำ
 
เพราะฉะนั้นความเชื่อแวดล้อม จารีตที่เกี่ยวกับเรื่องเพศในสังคมไทยจะมีเรื่องนี้เป็นใจกลาง แล้วความรู้เรื่องเพศชุดเดียวนี้จะให้ความหมายว่าสิ่งนี้ปกติหรือไม่ปกติ เพราะมีความเชื่อว่าธรรมชาติคือชายจริงหญิงแท้ ชายไม่จริงหญิงไม่แท้ถือว่าไม่ธรรมชาติ ผิดปกติ หรือเบี่ยงเบน นี่เป็นชุดความรู้ที่เอามาตัดสินคนจำนวนหนึ่ง
 
ความรู้เรื่องเพศชุดเดียวนี้ ทำให้เห็นว่าเรื่องเพศ คือเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ การมีลูก ความหฤหรรษ์ เป็นกามารมณ์ของเพศชาย เชื่อมโยงกับเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ท่านยังสามารถคิดไปได้อีก 20 ประโยค ความรู้เรื่องเพศชุดเดียวนี้ ตามมาด้วยแนวคิดเพศวิถีแบบกระแสหลักติดตามมาอีกเยอะ
 
แต่เมื่อเราศึกษาเชิงเพศวิถีศึกษาต่อไป เราจะพบว่าจริงๆ แล้วความรู้เรื่องเพศมีหลากหลายชุด การที่จะเข้าใจความรู้เรื่องเพศ ต้องเข้าใจการขัดเกลาทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ ฯลฯ ที่อัตลักษ์ทางเพศไม่ได้มีอัตลักษณ์เดียว แต่มีหลายอัตลักษณ์ แล้วอัตลักษณ์พวกนี้ลื่นไถลไปมาได้ หรือ Sexual prudity ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับเพศพิศวาส ที่เราคิดว่าคือเรื่องเพศสัมพันธ์นั่นแหละ เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เชิง Acting แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในหัวเรา รวมทั้งเรื่องต้องห้ามในสังคมไทย อย่าง Sexual Fantasy ที่เรายอมให้เด็กแต่งเป็นแบทแมน หรือแต่งสไตล์เกาหลีได้ แต่ไม่ยอมให้มีแฟนตาซีทางเพศ
 
Sexual Fantasy เป็นเพศวิถีนอกกรอบที่เราไม่เคยคิดกัน เช่น อารมณ์ปรารถนาทางเพศผู้หญิง ในวรรณกรรมไทยพูดเรื่องนี้ เพศวิถีทางเลือก เพศวิถีชายขอบของคนรักเพศเดียวกัน เพศวิถีที่มองไม่เห็น หรือไม่รู้ว่ามี ไม่น่าเชื่อว่ามันมี อย่างน้อยในตัวดิฉันเองพบว่าสังคมไทยไม่มีความรู้เรื่อง Intersex หรือคนสองเพศเลย ไม่มีการศึกษา ไม่มีการวิจัย มีแต่อยู่ในชุดความคิดเก่า
 
เพศวิถีศึกษา เป็นเรื่องที่บอกเราว่าเพศศึกษามีอยู่รอบตัวในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่แรกแย้ม จนกระทั่งฝาโลง เกิดมาก็อมหัวนมแม่แล้ว นี่เป็นเรื่องเพศ ผู้หญิงมีนมเพื่อผลิตอาหารให้กับลูก เพราะฉะนั้นแล้วการที่เราจะเรียนรู้เรื่องเพศ ที่กระทรวงศึกษาธิการยังละลาล้าละลัง ไม่ได้มีที่โรงเรียนเท่านั้น ยิ่งท่านช้าเท่าไหร่ ยิ่งไม่ทันเรื่องเพศที่เปลี่ยนแปลงไป เราเรียนรู้เรื่องเพศตลอดชีวิต เพราะคนเราฉลาดรู้เรื่องเพศหรือมี Sexuality Literacy ไม่เท่ากัน และฉลาดรู้เรื่องเพศไม่เหมือนกัน เพราะคนส่วนใหญ่ยังติดกับกับเพศวิถีชุดเดียว
 
เรื่องคนมีอวัยวะเพศสองแบบในร่างกาย เดิมมักเข้าใจว่าเกิดมาแล้วมีสองเพศ แต่การศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่าบางคน ข้างบนเป็นผู้ชายอายุ 36 แต่นมเท่าคนอายุ 16 ต่อมามีหนวดน้อยลง พาอายุ 38 เขาถึงมีนม เป็นคน Intersex คำนี้ประดิษฐ์ขึ้นมาแทนคำว่า Hermaphrodite ซึ่งเป็นคำที่ตีตราเขา ก็มีการเปลี่ยนศัพท์ใหม่
 
ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 1960 สังคมไทยยังเชื่อว่ามีแค่ 3 เพศ ชาย หญิง กระเทย ไม่ต้องเชื่อปีเตอร์ แจคสัน ที่ศึกษาเอกสารตั้งแต่ 1980 จนถึงปัจจุบัน แล้วพบว่าในสังคมไทยมีเพศแยกอีกเยอะแยะ ทั้งชาย เสือใบ เกย์คิง เกย์ควีน แล้วมีเกย์ควิง กระเทยหรือชายแต่งเป็นหญิง ทอม ดี้ ผู้หญิง อาจมีมากกว่านี้หรือน้อยกว่านี้ก็ได้ แต่ที่เราเชื่อว่ามีแต่ชายจริงหญิงแท้นั้นสังคมไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น และโลกก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
 
เพศวิถีปฏิบัติ คือความเชื่อเรื่องเพศวิถีที่ปฏิบัติกับเรา เรานำเรื่องนี้ไปใช้อย่างไร คือ มีคำชุดอยู่ชุดหนึ่ง เหมือน Do and Don’t เช่น เรื่องรักนวลสงวนตัว การควบคุมเรื่องเพศ ถ้าเราเป็นนักเพศวิถีศึกษา ต้องศึกษาว่าใครเป็นคนควบคุม ควบคุมอย่างไร ใครถูกควบคุม ถามง่ายๆ ผู้หญิงกับผู้ชายใครถูกควบคุมมากกว่ากัน คำตอบคือ ผู้หญิง ผู้หญิงถูกตั้งคำถามเกือบทุกอิริยาบถเรื่องเพศ ผู้หญิงใส่เสื้อสายเดียวแล้วมีปัญหา ผู้ชายถอดเสื้อไม่เป็นไร ท่อนบนของผู้หญิงกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ แต่ทำไมการเปลือยท่อนบนของผู้ชายไม่เป็น
 
เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ ถ้าท่านมีเจ้านาย อาจารย์ นั่งมองด้วยสายตาโลมเลียท่าน ถือว่าท่านถูกล่วงละเมิดทางเพศแล้ว เฉพาะข่าวการข่มขืนที่เรารวบรวมในรอบ 5 ปี มากกว่า 95% ผู้กระทำเป็นชาย จากข่าว 17,000 ข่าว มีผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอายุต่ำสุด 8 เดือน อายุสูงสุด 105 ปี ข้อเท็จจริงคือคนทุกวัยเป็นผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ และเป็นผู้กระทำการล่วงละเมิดทางเพศได้ การล่วงละเมิดส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากคนที่คุ้นเคย หญิงกับหญิง ร้อยละ 0.2 ชายกับชาย ร้อยละ 1.5 ชายหญิง ร้อยละ 98.3% และที่น่าตกใจคือเด็กถูกกระทำความรุนแรงมากขึ้นในสังคมไทย
 
ถ้าเราถามว่า มายาคติเรื่องความรุนแรงทางเพศในสังคมไทยว่าอะไร แล้วผู้หญิงทำร้ายตัวเอง ถูกละเมิดทางเพศ ข่มขืน ถูกฉุก ถูกจี้ ผู้หญิงเป็นดีเจ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ช่อง 5 เขาพูดเรื่องความรุนแรง ดีเจหญิงจัดรายการดึก แล้วมีผู้ชายมาฉุดเขา ทำให้เขาจอดรถ ข่มขืน ชิงศัพท์ ทิ้งไว้กลางทุ่ง ไม่ได้บอกว่าเธอกลับมาที่คอนโดได้อย่างไร ผู้หญิงคนนี้ตั้งท้องและตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง
 
สังคมไทยมีกลไกช่วยผู้ถูกกระทำก้าวข้ามบาดแผลในใจนี้หรือไม่ เราสนใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำหรือไม่อย่างไร เพศวิถีศึกษาเรื่องนี้ แต่ในกฎหมายไทยไม่มีเรื่องนี้ อย่างผู้ต้องขังหญิง ในต่างประเทศ เขาไม่ได้ดูแค่วันที่ผู้หญิงลงมือฆ่า แต่ดูความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่สะสมมาตลอด แต่ข่าวในไทย ลูกเห็นแม่ถูกพ่อกระทำจนลูกโต แล้วพ่อก็กระทำรุนแรงกับแม่ตลอดมา แล้ววันหนึ่งลูกก็ลากปืนมายิงพ่อ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจนี้ต้องมองทะลุแล้วทำความเข้าใจให้ได้
 
เราจึงควรมีการวิจัยเรื่องเพศวิถีที่รอบด้าน ให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เปิดกว้างและให้ความสำคัญต่อความหลากหลายทางเพศ
 
000
 
ของศักดิ์สิทธิ์และอวัยวะเพศอันโต
พงศ์ธร จันทร์เลื่อน
 
พงศ์ธร จันทร์เลื่อน ผู้อำนวยการโครงการเพื่อนชายรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพ (เอ็มพลัส) กล่าวว่าสังคมไทยมักให้คุณค่าต่อผู้หญิงแบบมองเชิงลบ ถูกมองในลักษณะที่ไม่ดีเท่าไหร่ คำที่ใช้เกี่ยวกับผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เราจะได้ยินคำว่า “สำส่อน” ใช้กับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย คำว่า “ร่าน” ก็ใช้กับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพศในพื้นที่นี้จึงอนุญาตให้ผู้หญิงไม่รู้สึกว่าร่าน และไม่รู้สึกว่าสำส่อน แต่เพศวิถีที่สถาปนาความเป็นเพศของเรา ที่ทำให้เรามีความสำคัญต่อเพศอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ชายที่ไม่อยู่ในห้องประชุมนี้เท่าไหร่ เพศวิถีทำให้เราฉลาดขึ้น เป็นเครื่องมือในการต่อรองอะไรบางอย่างได้
 
พงศ์ธรกล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะเป็นปากเป็นเสียงเรื่องเพศในสังคมไทย ขอให้มองว่ากรอบเรื่องเพศแบบเก่าของสังคมไทยเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหา แต่ขอให้มองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องท้าทาย เพราะถ้าไม่มีกรอบมารัดรึง ก็ไม่มีอะไรมาท้าทายให้สนุก วิถีปฏิบัติที่เป็นเพศวิถีในสังคมไทยเป็นสิ่งที่สะสมมานาน หวังว่าสิ่งนี้จะทำให้เราได้ตระหนักและเท่าทันกับมัน
 
ผอ.เอ็มพลัส กล่าวว่า เดิมเคยใช้ชีวิตอย่างที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่าถูกเพศวิถีในสังคมไทยกดดันอย่างไร ต่อเมื่อได้ศึกษาวิชาเพศวิถีศึกษาจึงพบว่าถูกกดดันอย่างไร และพยายามจะคลี่คลายความกดดันนั้นอย่างไร
 
เขากล่าวด้วยว่า การมีงานศึกษาด้านเพศวิถีในเชิงปฏิบัติ เป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีอาจารย์หลายๆ ท่าน สร้างเวที สร้างพื้นที่เหล่านี้แล้วพยายามเชื่อมโยงเพศวิถีเชิงวิชาการกับการเพศวิถีเชิงปฏิบัติเข้าด้วยกัน เราทำงานกับหลายๆ กลุ่มไม่พ้นที่จะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ แต่เรื่องเพศก็ทำให้เราไปไม่พ้นจากเรื่องอื่น ทุกวันนี้ตัวเขาเรียนเพศวิถีของผู้หญิงและผู้ชายมากขึ้น สิ่งนี้เองทำให้เราเข้าใจเพศของเรามากขึ้น ถ้าเราสนใจเพศตัวเองโดยไม่เปิดการศึกษาในเพศอื่น ก็จะทำให้เราไม่รู้จักตัวเอง เหมือนไส้เดือนไม่เห็นดิน ปลาไม่เห็นน้ำ แล้วเรื่องที่ศึกษาล้วนเป็นเพศวิถีที่ไปจากกรอบเดิมๆ ทั้งนั้น คนที่ทำงานเรื่องเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ จะยิ่งเข้าใจพวกเราเองมากยิ่งขึ้น
 
พงศ์ธรกล่าวว่า เวทีการประชุมประจำปีเพศวิถีศึกษาในสังคมไทยครั้งนี้ ทำอย่างไรให้พวกเราสามารถสังเคราะห์ สร้างผลสะเทือนต่อภายนอก ไม่เป็นเวทีสำเร็จความใครทางปัญญาซึ่งกันและกัน และในส่วนที่เป็นตัวบุคคลเราจะเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลนั้นอย่างไร ตัวเขาเคยทำงานเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ติดกรอบว่าการขับเคลื่อนต้องไปโดยขบวน โดยกลุ่มคน หรือพลังเยอะๆ ต่อมาผมมาคิดว่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ในระดับบุคคลได้หรือเปล่า โดยทดลองทำตัวให้เหมือนคนกบฏคนหนึ่งที่ท้าทายเพศวิถีที่อยู่รอบข้าง ตั้งแต่ครอบครัวของผม ดูว่าเพศวิถีของผมกับพ่อต่างกันอย่างไร กับคนอื่นๆ ในครอบครัวต่างกันอย่างไร และยอมรับกันอย่างไร
 
เขากล่าวว่า สังคมยังไม่อนุญาตให้เรายืนนอกพื้นที่ชายเป็นใหญ่ และรักต่างเพศ กรณีสิทธิของผู้หญิงใช้เวลาเป็นร้อยปี ส่วนพวกเราชายรักชายจะใช้เวลาต่อสู้เท่าไหร่ แต่หวังว่าคงใช้เวลาไม่นานนัก เราอยู่ในช่วงที่เป็นยุคสมัยเบลอๆ ยุคที่การแบ่งเพศแบบผู้หญิง-ผู้ชายกำลังจะหมดยุคไป เป็นยุคที่พื้นที่ไม่ได้บอกว่าเป็นหญิงอย่างไร เป็นชายเป็นอย่างไร แต่กระนั้นก็ยังมีพื้นที่ ๆ หลงเหลือ ปรากฏการกีดกันทางเพศอยู่ เช่น มีพื้นที่บอกว่ากะเทยห้ามเข้า หรือผู้หญิงห้ามเข้าในพื้นที่ศาสนาบางแห่ง เหล่านี้บอกถึงอำนาจอะไร เอาเข้าจริงๆ สิ่งนั้นมีอำนาจหรือเปล่า
 
เขากล่าวด้วยว่า เพศวิถีที่เบลอๆ ไม่เป็นไปตามกระแสหลักปัจจุบันก็เกิดขึ้นเยอะ สำคัญที่ว่าถ้าเราไม่รู้เท่าทันเพศวิถีที่หลากหลายนั้น อาจเป็นปัญหาก็ได้ เช่น เรื่องเยาวชนก็เป็นปัญหาใหญ่ หญิงนักเรียนติดกามโรคและท้องก่อนวัยอันควรมากขึ้น ขณะที่สังคมกำลังใช้คำว่า “ห้าม” เยอะมาก เวทีเพศวิถีที่จะเกิดขึ้นใน 2-3 วันนี้ หวังว่าจะเป็นเวทีช่วยขัดเกลาความคิดความรู้สึกของผู้ร่วมประชุม
 
เขากล่าวว่าการศึกษาเพศวิถีศึกษาที่หลากหลาย จะช่วยให้เข้าใจเพศวิถีศึกษากระแสหลักอย่างไร สิ่งที่ท้าทายคือ ทำอย่างไรให้นักเพศวิถีปฏิบัติการจะขับเคลื่อนไปด้วยฐานความรู้ ไม่ใช่ทัศนคติ หรือความนึกคิก ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นผลิตซ้ำความรุนแรง ความรู้กับการนำไปปฏิบัติจึงเป็นเรื่องท้าทาย นักวิชาการที่สร้างพื้นที่นี้ก็ไม่ใช้หอคอยงาช้าง แต่มาติดดิน เป็นการเรียนรู้เพศวิถีที่กว้างขวางใจต้องเปิดกว้าง เขายกตัวอย่างว่า ได้ไปกินเหล้ากับเพื่อนหลายเพศ มีทั้งหญิงชายรักเพศเดียวกัน หญิงชายรักตางเพศ ผมถามเพื่อนชายรักหญิงคนหนึ่งว่า ทำไมผมเห็นจิ๋มแล้วไม่รู้สึก ทำไมเห็นบอดี้ผู้ชายแล้วรู้สึก สุดท้ายจากการพูดคุยทำให้พบว่า เรื่องนี้มันมีวิถีของมัน เราต่างคนต่างเป็นวิถีปฏิบัติซึ่งกันและกัน เราสามารถเรียนรู้กันได้ เขาได้เรียนรู้เรื่องเพศวิถีของพระ ถามว่าเป็นพระช่วยตัวเองมันผิดไหม ผิดอย่างไร ไม่ผิดอย่างไร คำตอบทำให้ผมรู้สึกว่า เพศของพระไม่สามารถสกัดกั้นความรู้สึกทางเพศของผมได้ แต่จะอยู่กับมันอย่างไร เราสามารถ Orgasm เพศและศาสนาร่วมกันได้ ผมพูดที่เชียงใหม่ มีคนที่เป็นคริสต์เตียนลุกขึ้นด่าผม แต่ผมก็รู้สึกดีใจ
 
“ขอให้พวกเรามั่นใจในการพูดเรื่องเพศของพวกเรา ผมไม่เครียดกับมัน ยอมรับกับมันได้ ยอมรับกับมิติเรื่องเพศอื่นๆ” พงศ์ธรกล่าวและว่า “มีเพื่อนชวนไปดูหมอ หมอดูทั้งสองเจ้าบอกว่าจะผมอายุไม่ถึง 60 ผมบอกว่าขอบคุณมาก ผมอายุไม่ถึง 60 นี้ดีมาก เพราะผมไม่อยากตายตอนแก่ และผมยังมีเวลาอีกมากในการจัดการเรื่องเพศ จะใช้ตัวเองเป็นกระบอกเสียงเรื่องเพศ เพราะผมเข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้วความสุขทางเพศไม่ได้เกิดแค่จู๋ หรือจิ๋มเท่านั้น แต่เนื้อ
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท