Skip to main content
sharethis

29 พ.ย.52 เว็บไซต์มติชนรายงานว่า นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เปิดเผย "มติชน" ว่า ในเวลา 13.00 น. วันที่ 30 พ.ย. กสม.ทั้งคณะจะจัดประชุมร่วมกับ กสม.ชุดเก่า และนักกฎหมาย ประกอบด้วย นายวสันต์ พานิช นางสุนี ไชยรส อดีต กสม. และนายบรรเจิด สิงคเนติ นายกิตติศักดิ์ ปกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น เข้าประชุมเร่งด่วน กรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แก้ไขสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. (ร่าง พ.ร.บ.กสม.) ฉบับใหม่ ซึ่งในหลายประเด็นไม่ตรงกับร่างที่ กสม.ชุดเก่าเคยยกร่างไว้และผ่านการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งร่างดังกล่าวมาให้ กสม.และยืนยันว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในเร็วๆ นี้

นพ.นิรันดร์กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่ กสม.ทั้งชุดเก่าและชุดใหม่ต้องเรียกประชุมด่วน เนื่องจากยอมรับไม่ได้กับร่างที่กฤษฎีกา เพิ่มเติมเข้ามา ได้แก่ มาตรา 43 ระบุว่า "ห้ามมิให้กรรมการ อนุกรรมการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ เปิดเผยข้อเท็จจริงที่รู้หรือได้มาเนื่องจากการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบตามมติของคณะกรรมการ หรือเป็นการเปิดเผยในการดำเนินคดีในศาล" และมาตรา 51 ระบุว่า "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" ตรงนี้ถือเป็นการแก้ไขที่ไม่รู้ที่มาที่ไป เรียกว่าแก้แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย และไม่มีใครทราบมาก่อน เพราะร่างฉบับเก่าไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้เลย


นพ.นิรันดร์กล่าวอีกว่า หลังจาก กสม.รับเรื่องนี้มาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กสม.พยายามทำหนังสือคัดค้านความเห็นดังกล่าว ปรากฏว่านอกจากทางกฤษฎีกาไม่ยอมฟังคำชี้แจงและคัดค้านแล้ว กลับส่งเรื่องไปให้ ครม.พิจารณาทันที กสม.จึงต้องหารืออย่างเร่งด่วนกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องอย่างมากที่องค์กรอิสระถูกกีดกันและจำกัดการทำงาน โดยเฉพาะการให้ข้อมูลกับสื่อเช่นนี้ จึงต้องเชิญนักกฎหมายจากหลายภาคส่วนมาหารือเพื่อหาทางแก้ปัญหาเรื่องนี้


นางสุนี ไชยรส อดีต กสม. ในฐานะคณะทำงานยกร่าง พ.ร.บ.กสม.กล่าวว่า การเพิ่มมาตรา 43 เข้ามาทำให้เกิดความวุ่นวายเรื่องการฟ้องร้องและการตีความ ทำให้เรื่องที่พิจารณาเกิดความล่าช้าออกไปอีก จากเดิมที่ล่าช้าอยู่แล้ว และความจริงแล้วคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเนื้อหาและรายละเอียดกับกฏหมายขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะของ กสม. หากเห็นว่าเรื่องไหนข้อใดไม่ถูกต้องก็ให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาแก้ไข อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.กสม.ที่ผ่านการทำประชาพิจารณาหลายรอบมาก คิดว่าน่าจะสมบูรณ์ที่แล้ว แต่ถูกกฤษฎีกาแก้ไขอย่างมาก นอกจาก 2 ข้อที่น่ากังวลดังกล่าวแล้ว ยังตัดกองทุน กสม.ทิ้งอีกด้วย โดยไม่ให้เหตุผลอะไรเลย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจาก กสม.ชุดเก่า และชุดปัจจุบัน ร่วมกับนักกฎหมายจากหลายสถาบันที่จะประชุมหาทางออกเรื่องที่กฤษฎีกาแก้ร่างกฎหมายใน 3 มาตราแล้ว ที่ประชุมจะหารือเรื่องการเสนอให้เปลี่ยนที่มาของคณะกรรมการสรรหาทั้ง 7 คน ให้ตัดตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครอง และศาลฎีกา เป็นตัวแทนจากภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่านอกจากการห้าม กสม.ให้ข้อมูลแล้วแล้ว กฤษฎีกาได้เพิ่มอำนาจให้ กสม.ยื่นเรื่องฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 44) ศาลปกครอง (มาตรา 45) ศาลยุติธรรม (มาตรา 46) สำนักงานจะแต่งตั้งให้พนักงานอัยการหรือทนายความเป็นผู้ดำเนินคดีแทนก็ได้ในการดำเนินคดีแทนผู้เสียหายในศาล ให้สำนักงานมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายได้ เป็นต้น


อนึ่ง หลังจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญ 2550 ทาง กสม.ต้องแก้ไข พ.ร.บ.กสม.พ.ศ.2542 ให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับใหม่ กสม.ชุดเก่าจึงตั้งอนุกรรมการขึ้นมายกร่างแก้ไข เมื่อร่างเสร็จก็ได้ประชุมรับฟังความคิดเห็นและแก้ไขจนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมรับแล้ว จึงส่งให้คณะกรรมการกฤฎีกาตีความตามขั้นตอน ระหว่างนั้น กสม.ชุดเก่าก็หมดวาระลง แต่ล่าสุดเมื่อ 1 เดือน ที่ผ่านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งข้อแก้ไขตัวร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกลับมา และมีการแก้ไขสาระสำคัญหลายประการ

 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net