Skip to main content
sharethis

"ชาวบ้านคนที่ขายที่ดินก็ได้เงินที่ขายที่ดินไป มีบางส่วนก็ใช้เงินหมด บางส่วนที่ยังทำงานเมื่อใช้เงินที่ได้จากการขายที่ดินหมด ก็เหลือแต่เงินเดือนที่ได้จากบริษัทถามว่าถ้าหากบริษัทจบไปตัวเองจะทำอาชีพอะไร เพราะที่ดินที่เคยทำการเกษตรก็เป็นของเขาหมดแล้ว"


เพราะรั้วบ้านของเธอบริเวณบ้านเขาหม้อ ต
.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตรแทบจะอยู่ติดกับขอบเขตของเหมืองทองอัคราไมนิ่ง ผลร้ายจากการดำเนินงานของเหมือง เธอจึงสัมผัสและรับรู้ได้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเต็มเปี่ยม ใครที่เคยพูดกันว่า เมื่อมีเหมืองทองอยู่ข้างบ้านคนในบ้านก็หน้าใส ลองฟังทรรศนะของเธอ แล้วคำตอบที่ได้อาจจะเปลี่ยนไป


เมื่อซื้อที่ดินไม่หมด ปัญหาจึงเกิด

"ในตอนเริ่มต้นบริษัทเหมืองทองก็เข้ามาซื้อที่ดินเพื่อทำเหมืองทอง แต่ว่าการซื้อของเขานั้นซื้อไม่หมด เมื่อก่อนบ้านเขาหม้อมีบ้านเรือนประมาณ 100 กว่าหลังคาเรือน มีชาวบ้านที่ย้ายออกไป แต่ว่ายังมีชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมที่ยังไม่ได้ย้ายออกไปอีกไม่ถึง 10 หลังคาเรือน แต่ปรากฏว่าบริษัทไม่ซื้อที่ดินของคนที่เหลือ เพราะบริษัทบอกว่า จะซื้อที่ดินเฉพาะในพื้นที่ที่จะทำเหมืองเท่านั้น แล้วทีนี้คนที่มีที่ดินที่อยู่ติดกับขอบประทานบัตรนั้น ก็ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ มีความเจ็บป่วยเกิดขึ้นมากมาย น้ำมีสารปนเปื้อน ผลกระทบทางเสียง ฝุ่นละออง บ้านเขาหม้อที่อยู่ติดกับเขตประทานบัตรนั้นวัดร้าง มีพระเพียงรูปเดียว โรงเรียนร้างมีการปิดถนนสาธารณะเพื่อขุดเอาทองใต้ถนนไป และสร้างถนนใหม่ขึ้นมา"

"มีชาวบ้านรายหนึ่งที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน จริงๆ แล้วเขามีเอกสารเป็นน..3 เดิม แต่ว่าพอมีถนนขอตัดผ่าน ก็เลยแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ทีดิน 1 ฝั่งออกเป็นโฉนด อีก 1 ฝั่งไม่ได้ออกโฉนด ก็เสียภาษีดอกหญ้าเอาไว้ พอทำประโยชน์ในที่ดินผืนนั้นแล้ว เขาไม่ยอมขายที่ดินให้บริษัท ก็มีป่าไม้มาจับ บอกว่าชาวบ้านบุกรุกที่ป่า ตอนนี้กระบวนการอยู่ในขั้นอุทธรณ์"

 

อดีตเคยเป็นพื้นที่สีเขียว

"เมื่อก่อนเขาหม้อนั้นจะเขียวทั้งปี( สภาพภูมิศาสตร์ )เมื่อก่อนลงไปในนามีปลาเยอะมาก เก็บผักทุกอย่างกิน สัตว์ป่าก็มี และเป็นแหล่งต้นน้ำ มีน้ำซับที่ไหลออกมาจากเขาแล้วไหลลงพื้นที่นา พื้นที่ราบข้างล่างแล้วไหลลงคลองร่องหอยทั้งปี คลองร่องหอยจะไปเชื่อมกับอ่างเก็บน้ำเขาหม้อและจ่ายน้ำทำนาให้ชาวบ้านทั้งปี เมื่อเขาหม้อถูกเอาไปทำเป็นเหมืองทอง มีการระเบิดภูเขาทั้งลูก น้ำก็แห้ง ไม่มีน้ำซับ คลองร่องหอยแห้งไม่มีน้ำ อย่างในปีนี้พอเดือนมกราคมน้ำในอ่างเขาหม้อแห้งขอด"


"
สารเคมีที่เกิดขึ้นจากการระเบิดก็จะฟุ้งกระจายออกมา ไปเกาะตามช่อมะม่วง ดอกของมะม่วงไม่ออก คิดว่าต่อไปในอนาคตอากาศคงจะเป็นพิษ เพราะว่ามีการระเบิดทุกวัน"

 

น้ำกินน้ำใช้เป็นพิษ

"โดยปกติบ้านเขาหม้อจะใช้น้ำประปาที่จะดึงจากน้ำบาดาลขึ้นมาแล้วจ่ายไปทั้งหมู่บ้าน พอเหมืองเปิดดำเนินการไปได้ 2 ปี น้ำก็เริ่มเป็นตะกอน มีกลิ่นสนิม และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาชาวบ้านเริ่มคัน เกิดอาการพุพอง ซึ่งผลจากการตรวจคุณภาพน้ำก็ปรากฏว่า ในน้ำมีแมงกานีสสูง และมีสารหนูปนเปื้อน ในเวลานี้น้ำที่เขาหม้อไม่สามารถใช้ได้เลย"

 

"ตอนนี้ถ้าหากว่าใช้น้ำรดพริก หรือว่ากระเพราใบก็จะหงิกงอ น้ำใช้ไม่ได้ แต่ทางราชการก็ยืนยันว่าน้ำได้คุณภาพหรือสามารถใช้ได้อยู่ คือเขายืนยันว่าน้ำใช้ได้ บริษัท(เหมืองทอง)ก็พยายามที่จะเข้ามาทำเครื่องกรองใหม่ มาเจาะ หรือว่ามาเป่าบ่อบาดาลใหม่ แต่ชาวบ้านก็ตั้งข้อสังเกตว่าในเมื่อคุณบอกว่าได้คุณภาพ แล้วจะเข้ามาทำให้ใหม่ทำไม"

 

"ในความเป็นจริง ชาวบ้านรู้แล้วว่าน้ำไม่ได้คุณภาพ แต่ว่าต้องการความชัดเจนที่ว่า ในเมื่อราชการบอกว่าน้ำได้คุณภาพโดยชาวบ้านที่ใช้น้ำแล้วเกิดอาการแย่ๆ ลักษณะนี้ มันก็ไม่ถูกต้อง ชาวบ้านจึงเก็บบ่อเอาไว้ให้เป็นตัวอย่างสำหรับพื้นที่ที่จะเกิดเหมืองแร่อื่นๆ คือว่าน้ำประปาเมื่อผ่านระบบประปาที่กรองออกมาแล้ว เอามาตั้งทิ้งไว้ ประมาณ 1 อาทิตย์ขึ้นไป น้ำก็จะกลายเป็นสีดำ บางวันก็ออกมาเป็นตะกอนสีส้ม ทิ้งเอาไว้มันก็จะตกตะกอนแล้วน้ำข้างบนก็จะกลายเป็นสีขาวขุ่น มันเหมือนไม่ใช่น้ำประปา แล้วใช้อาบน้ำไม่ได้จะคันทันที"

 

"อย่างในพื้นที่เขาหม้อนั้นอยู่ใกล้กับบ่อเหมืองมาก ทำให้เกิดผลกระทบกับน้ำประปาและน้ำบาดาลรุนแรงมาก แต่รัฐบาลหรือว่าหน่วยงานราชการก็ยังพยายามช่วยเขา(บริษัทเหมือง)อยู่ คือตรวจคุณภาพน้ำเมื่อไหร่ผลก็จะออกมาว่าได้คุณภาพ ในพื้นที่มีเสียงดังและฝุ่นเยอะมาก แต่ว่าทุกอย่างก็ยังอยู่ในมาตรฐานทั้งหมด การปล่อยบ่อน้ำที่เป็นพิษทิ้งเอาไว้ พื้นที่ข้างๆ ส่วนใหญ่บริเวณนั้นก็จะเป็นพื้นที่นา นาที่ติดกับขอบประทานบัตรฝั่งเพชรบูรณ์ เวลานี้ก็มีการร้องเรียนว่าทำไมผลผลิตข้าวของชาวบ้านจึงเป็นแบบนี้ ไม่มีผลผลิตเกิดขึ้นเลย แต่ว่าก็ไม่มีใครยอมรับว่ามันเกิดขึ้นมาจากเหมือง จนให้หน่วยงานทางด้านเกษตรมาลองทำการวิจัยในแปลงนาที่ติดกับประทานบัตร เขาก็อธิบายว่า เหตุผลที่ผลผลิตข้าวในนามันเป็นแบบนี้ก็เพราะว่าใส่ปุ๋ยไม่ถูก และดูแลไม่ดี ชาวบ้านจึงให้หน่วยงานเกษตรนั้นมาลองทำแต่เมื่อเขาลงมาทำ ใส่น้ำใส่ปุ๋ยได้มาตรฐาน ปรากฏว่าพอออกรวงมา ข้าวในรวงนั้นมีเม็ดลีบ เม็ดดำ และเกิดขึ้นทั้งแปลง"

 

"ตอนหลังมาชาวบ้านก็ทำเรื่องไปถึงนายกรัฐมนตรี ไปถึงสาทิตย์ วงหนองเตย ก็ได้ทำการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไป คือได้รับน้ำจากทาง อบต. เอาน้ำมาให้ใช้ ส่วนน้ำที่ใช้กินนั้น ราชการก็ไปผลักดันให้กับบริษัทอัคราซื้อน้ำที่เป็นถังมาให้ชาวบ้านกิน แต่มันก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง ทำให้เกิดความยุ่งยากมาก ชาวบ้านต้องมารอเฝ้าว่าวันนี้น้ำมาก็ต้องมารอน้ำ ถ้าหากไม่รอก็ไม่ได้ใช้ โดยแต่ก่อนที่ชาวบ้านจะได้รับการช่วยเหลือจาก อบต.ก็ต้องซื้อน้ำกินมาเป็นระยะเวลา 2-3 ปี"

 

"ที่บ้านเขาหม้อตอนนี้ อบต.ที่วิ่งส่งน้ำให้กับชาวบ้านก็เริ่มมีเสียงบ่น เขาบอกว่าจะให้อบต.จะส่งน้ำให้เป็นปีๆ ก็ไม่ไหวนะ"

  

"แล้วก็มีเด็กในพื้นที่ที่เป็นแผลเป็นผดผื่น หมอถึงกับบอกว่าให้เอาเด็กออกจากพื้นที่ทันที เพราะถ้าหากเด็กยังอยู่ในพื้นที่แล้ว แผลจะกลายเป็นมะเร็งเพราะว่าเขาก็จะได้รับน้ำที่เป็นพิษต่อไป"

… 

ยึดทางหลวง-ทางสาธารณะ

"ตอนที่บริษัทขอประทานบัตรระยะที่ 2 นั้นจะมีทางสาธารณะ 5 เส้นและมีทางหลวงหมายเลข 1344 อีก 1 เส้นที่บริษัทขอเพื่อปิดทาง แต่ว่าชาวบ้านก็ค้านเอาไว้ว่าจะไม่ยอมยกให้ แต่เมื่อพอบริษัทกว้านซื้อที่ดินบริเวณนั้นไปหมดแล้ว เขาก็ถือโอกาสปิดทางพวกนั้นไม่ให้ใช้เส้นทาง ชาวบ้านก็ไปล้อมบริษัทเพื่อขอทางสาธารณะของชาวบ้านคืน แต่ทางบริษัทก็ไม่ยอมเปิด เมื่อเร็วๆ นี้ชาวบ้านก็ไปถามกับจังหวัดพิจิตรกับทางรองผู้ว่าราชการจังหวัด ว่าทำไมในเมื่อชาวบ้านคัดค้านอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ส่วนราชการจึงไม่มีอำนาจที่จะไปสั่งให้เปิดถนนได้ แต่ว่าเขาก็ไม่มีคำตอบ ซึ่งในตรงนี้ชาวบ้านก็สงสัยว่าราชการยังสั่งเปิดให้ไม่ได้ มันน่าคิดมากเลย"

 

"โดยปกติมติในเรื่องการปิด การโยกย้ายถนน จะต้องใช้มติของสภา อบต. คือว่าถ้าหากสมาชิก อบต. ยกมือโหวตเกินกึ่งหนึ่งแล้ว เท่ากับว่าบริษัทก็จะได้ถนนทั้ง 5 เส้นนั้นไป ตอนนี้อาจจะมีความพยายามในการติดต่อกับ อบต.บ้านเขาเจ็ดลูก ซึ่งมีหมู่บ้าน 12 หมู่บ้าน มีสมาชิก 24 คน ซึ่งในจำนวนสมาชิกเหล่านี้มีน้อยมากที่รู้ว่าทาง 5 เส้นที่บริษัทขอนั้นอยู่ตรงไหน และได้ใช้จริงหรือเปล่า ก็มีการพยายามพูดกรอกหูสมาชิกว่า ถนน 5 เส้นนั้นชาวบ้านไม่ได้ใช้ เพียงแต่ชาวบ้านอยากจะขวางเอาไว้เท่านั้น ชาวบ้านก็ร้องเรียนไป ทาง นายก อบต. คนที่ผ่านมา ซึ่งเขาก็ออกมาบอกว่าจะให้สมาชิกสภา อบต.รับผิดชอบโดยการยกถนนให้บริษัทได้อย่างไร สมาชิกไม่กล้ารับผิดชอบ ถ้าหากสมาชิกยกมือเพื่อยกทางสาธารณะและทางหลวงให้ ก็อาจจะถูกชาวบ้านฟ้องได้ จึงผลักไปให้มีการประชาคมที่หมู่บ้านไป แต่ว่าชาวบ้านก็ของบประมาณเอามาทำใหม่เพื่อใช้สัญจรไปมา"

… 

เหมืองทองสร้างงาน?

"ส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีคนคิดว่าพอเหมืองหมด แล้วออกจากพื้นที่ไปแล้วจะทำอะไร ตอนนี้คนเขาหม้อที่ทำงานให้เหมืองส่วนใหญ่แล้วเป็นคนที่ขายที่ดินให้กับเหมือง พอขายที่ดินไปแล้ว ย้ายตัวเองไปก็ทำงานกับเหมือง มีประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เขาไม่คิดว่าถ้าหากเหมืองจบไปแล้วจะทำอะไร"

 

"ชาวบ้านคนที่ขายที่ดินก็ได้เงินที่ขายที่ดินไป มีบางส่วนก็ใช้เงินหมด บางส่วนที่ยังทำงานเมื่อใช้เงินที่ได้จากการขายที่ดินหมดก็เหลือแต่เงินเดือนที่ได้จากบริษัทเท่านั้น ถามว่าถ้าหากบริษัทจบไปแล้ว ตัวเองจะทำอาชีพอะไร เพราะที่ดินที่เคยมีเคยทำการเกษตรก็เป็นของเขาไปหมดแล้ว เมื่อก่อนที่ดินตรงบริเวณพิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก จะมีทั้งที่ไร่และที่นา คนที่ไม่มีที่ดินของตัวเองก็รับจ้างไป หักข้าวโพด เก็บถั่ว ดำนา แต่พอเหมืองซื้อไปหมด อาชีพพวกนี้ก็ไม่มีแล้ว ทีนี้ชาวบ้านจะทำอะไรกิน เพราะอย่าลืมว่าเหมืองไม่ได้อยู่ไปตลอดกาล ทองใต้ดินมันก็มีวันหมด"

...

 

คำถามกับบ่อเก็บกากแร่

"ปีนี้ข้าวตายแล้งไปหมด ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากภัยแล้ง แต่ว่าทุกปีที่เขาหม้อเกิดภัยแล้งจะเกิดไม่ขึ้นมากขนาดนี้ แต่ว่าปีนี้ข้าวเตี้ยและเหลืองตาย เพราะว่าฝนตกลงมาเท่าไหร่ผิวดินก็จะแห้ง สมมติว่าฝนตกลงในคืนนี้ทั้งคืนตอนเช้ามาผืนดินจะเป็นแค่หมาดๆ เพราะไม่รู้ว่ามันซึมลงไปที่ไหน"

  

"อาจจะเป็นไปได้ว่าบ่อที่ทำเหมืองมีขนาดใหญ่และลึกประมาณ 100-200 เมตร เพราะฉะนั้น ชั้นน้ำผิวดินจะต้องไหลไปรวมในบ่อของเขาหมด ทั้งๆที่ตามอีไอเอในประทานบัตรนั้นมีเงื่อนไขอยู่ว่า เมื่อขุดบ่อเอาแร่ไปใช้หมดแล้วจะต้องมากลบบ่อ ให้อยู่ในสภาพเดิม แต่ว่าเขาไม่กลบ เราก็ไม่รู้ว่าทำไม ทั้งๆ ที่มีกฎหมาย แต่ทางหน่วยงานราชการก็ไม่ยอมบังคับใช้ ปล่อยให้เกิดผลกระทบกับชาวบ้านขึ้นมา"

 

"เดิมทีเขตประทานบัตรของเหมืองทองมีเพียงแค่ 5 แปลง พื้นที่ขุดเจาะ 2,000 กว่าไร่ แต่ว่ามีบ่อเก็บกักแร่เอาไว้เพียง 400 ไร่ เมื่อขยายไปอีก 9 แปลง ก็เอาไปทิ้งไว้ที่เดิม ทั้งที่จริงๆ แล้วในรายงานสิ่งแวดล้อมเขาให้ทิ้งไว้สูงไม่เกิน 4 เมตร เพราะว่ามันจะมีสารไซยาไนด์ที่ผสมกับกากแร่หลังจากผ่านกระบวนการ แต่ตอนนี้สูงมาก ราว 20-30 เมตรได้  กลายเป็นภูเขาอีกลูกหนึ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ ชาวบ้านกลัวว่าถ้าหากมันพังทลายลงมาไซยาไนด์ก็จะแพร่กระจายไปทั่ว คือตอนที่ทำ เขาบอกว่าเขาปูผ้าใบเพื่อกันไม่ให้ไซยาไนด์ซึมลงใต้ดิน คิดว่าถ้าหากทำมาเป็นระยะเวลานานขนาดนี้คิดวาผ้าใบอาจจะพังหมด (ซึ่งเท่าที่รู้มาก็คือว่าสารไซยาไนด์สามารถซึมลงไปใต้ดินได้ถึงวันละ 5 กิโลเมตร)"

 

"ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วหนักหนาสาหัสก็คือเหมืองทองที่จังหวัดเลย ซึ่งทราบข่าวมาว่าที่นั่นไม่ได้มีการปูผ้าใบรองพื้นเลย แต่ว่าเขาปล่อยสารลงดิน ซึ่งในส่วนนั้นร้ายแรงมาก สารปนเปื้อนในน้ำ ปลาก็ตาย ถึงกับมีการประกาศติดป้ายเอาไว้ว่าห้ามใช้น้ำ"

ปริศนาประทานบัตรเฟส

"ปี 44 เขาขอประทานบัตร ทำไป 6-7 ปี สินแร่ก็หมด พอแร่หมด บริษัทก็ไปขอประทานบัตรเฟสที่ 2 ขยับข้ามถนนมาอีกฝั่ง ในฝั่งที่ติดกับหมู่บ้าน ตอนนั้นชาวบ้านที่ยังไม่ได้ย้ายออกจากพื้นที่ ก็ทำหนังสือค้านไปในทุกส่วนของหน่วยงานราชการ ไล่ไปตั้งแต่ตำบล จังหวัด ไปถึงกรุงเทพ ที่กระทรวง ไปถึงนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ก็ไปยื่นหนังสือด้วยตัวเอง จากการที่ยื่นไปทางไปรษณีย์แล้วไม่ได้เรื่องเลย ชาวบ้านก็พากันไปยื่นด้วยตนเอง แต่ว่าสุดท้ายแล้ว จดหมายฉบับสุดท้ายชาวบ้านยื่นไปเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2551 แต่ว่าประทานบัตรอนุญาตล่าสุดนั้น สุวิทย์ คุณกิตติซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามในประทานบัตรวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 ห่างกันเพียงแค่ 3 วัน กับวันที่ชาวบ้านไปยื่นหนังสือร้องเรียนความเดือดร้อน"

…....................................................

 

"สุดท้ายเราก็ต้องผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่ เพราะว่าไม่มีใครทนอยู่ได้หรอก ถ้าหากอยู่ต่อไปก็มีแต่รอวันตาย เพราะผลกระทบมันเยอะเหลือเกิน…" เธอกล่าวกับเราในตอนสุดท้ายถึงสิ่งที่จะต้องทำ เพราะแน่นอนว่าไม่มีใครอยากทนอยู่ในสภาวะที่เลวร้าย อย่างเช่นสภาพที่เกิดขึ้นที่บ้านเขาหม้อของเธอเป็นแน่

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net