Skip to main content
sharethis


โรงไฟฟ้าจะนะ2 – สถานที่ที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะโรงที่ 2 ขนาดกำลังการผลิต 800 เมกกะวัตต์ ต่อเนื่องจากที่ตั้งโรงไฟฟ้าจะนะโรงแรกในพื้นที่ตำบลคลองเปียะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝผ.) นำคณะสื่อมวลชนจังหวัดสงขลากว่า 100 คน เยี่ยมชมโรงไฟฟ้าจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 พร้อมกับชี้จุดที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะโรงที่ 2 ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากโรงไฟฟ้าโรงแรก

ก่อนการเยี่ยมชม นายเจริญ ศรีสุรักษ์ หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์โรงไฟฟ้าจะนะ พร้อมด้วยนายอดุลย์ เป็งถา หัวหน้าหน่วยเครื่องกล โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ และนายดำรง ไสยะ หัวหน้ากองเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจะนะ ได้นำเจ้าหน้าที่มาอธิบายถึงความจำเป็นของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะโรงที่ 2

นายประสิทธิ์ เทพสุวรรณ วิศวกรก่อสร้าง ระดับ 9 โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ บรรยายว่า โรงไฟฟ้าจะนะโรงที่ 2 มีกำลังการผลิต 800 เมกกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ปลายปี 2554 และเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในเดือนกรกฎาคม 2557 โดยเหตุที่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าจะนะโรงที่ 2 เนื่องจากตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย PDP2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ระบุว่า ในปี 2554 จะมีการปลดระวางโรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนอม จ.นครศรีธรรมราช เครื่องที่ 1 กำลังการผลิต 69.9 เมกกะวัตต์ ซึ่งเป็นของเอกชน และในปี 2559 จะปลดระวางโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและพลังความร้อนร่วมขนอมทั้งหมด กำลังการผลิต รวม 718.2 เมกกะวัตต์ ทำให้ภาคใต้ขาดไฟฟ้าจากการปลดระวางดังกล่าวรวม 748 เมกกะวัตต์ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าจะนะโรงที่ 2

นายประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในปี 2556 โรงไฟฟ้าจะนะโรงแรก จำเป็นต้องหยุดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเพื่อการบำรุงรักษา เป็นเวลาเกือบ 2 เดือน แต่มีแผนสำรองคือส่งไฟฟ้ามาจากภาคกลาง และต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าโรงไฟฟ้ากระบี่ รวมทั้งการซื้อไฟจากมาเลเซีย เพื่อให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 2,552 เมกกะวัตต์

นายประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันภาคใต้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งทั้งหมด 2,485.58 เมกกะวัตต์ หมายถึงรวมทั้งโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าและไว้เดินเครื่องสำรองยามฉุกเฉิน ไม่ได้เดินเครื่องทุกวัน คือ โรงไฟฟ้ากระบี่ซึ่งใช้นำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า 53.85 % ของเอกชนขนาดใหญ่ 32.91% เอกชนขนาดเล็ก 12.07 % และซื้อจากมาเลเซีย 1.17%

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ ในปี 2552 ที่ช่วงเวลาที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2552 จำนวน 1,989.30 เมกกะวัตต์ โดยในการคำนวณความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ เพิ่มขึ้นปีละ 5% โดยหากกำลังผลิตไฟฟ้ายังอยู่ที่ 2,485.58 เมกกะวัตต์ จะทำให้ไม่พอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 2556 ที่คำนวณไว้ว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้า 2,567 เมกกะวัตต์ จึงจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยในแผน PDP2007 ระบุว่า ต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในภาคใต้ในปี 2559 ขนาด 800 เมกกะวัตต์ และปี 2564 อีกโรงขนาด 800 เมกกะวัตต์ 2 โรง รวมเป็น 1,600 เมกกะวัตต์

นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า โดยโรงไฟฟ้าที่พึ่งพาได้มากที่สุด คือโรงไฟฟ้าจะนะซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ส่วนเขื่อนผลิตไฟฟ้า พึ่งพาได้ไม่มาก เพราะเดินเครื่องได้ไม่เต็มร้อยตามสถานการณ์น้ำ ขณะที่พลังลมและแสงอาทิตย์พึ่งพาได้น้อย เพราะช่วยเวลาต้องการไฟฟ้าสูงไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาที่มีแดดหรือมีลมแรง เช่น มีลมน้อยในช่วงเวลาค่ำที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละวัน

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า หลักการสร้างโรงไฟฟ้าคือไฟฟ้าใช้ที่ไหนก็ให้สร้างที่นั่น เนื่องจากการส่งไฟฟ้าไปตามสายส่งยิ่งไกลก็จะยิ่งสูญเสียไฟฟ้าในระบบมากขึ้น เฉลี่ย 2%

นายเทวรุจน์ อินทสมภักษร หัวหน้าหมวดบริหารสัญญา โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ โรงที่ 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ดำเนินการโดยบริษัท ทีม คอนซัลแตนท์ จำกัด โดยต้องจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ 5 ตำบลรอบโรงไฟฟ้าจะนะด้วย ซึ่งผลการรับฟังความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วย ยกเว้นที่บ้านคลองเปียะ ต.คลองเปียะ อ.จะนะ ที่ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วย

นายเทวรุจน์ กล่าวต่อว่า กรณีที่ชาวบ้านคลองเปียะมีความคิดเห็นเช่นนั้น ตนคิดว่าเนื่องจากบ้านคลองเปียะ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของโรงไฟฟ้า ทำให้มองเห็นไอน้ำที่ออกจากปล่องในช่วงเช้าตัดกับท้องฟ้า จึงทำให้คิดว่าเป็นควันพิษ ทั้งที่ไม่ใช่ ด้วยเหตุนี้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะลงไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเองในพื้นที่ 2 – 3 หมู่บ้านใน ต.คลองเปียะอีกครั้ง

นายเทวรุจน์ กล่าวอีกว่า การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ครอบคลุมถึงเรื่องสุขภาพและชุมชนด้วย โดยจะใช้เวลา 6 เดือน จากนั้นจะส่งให้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อให้พิจารณาอีก 6 เดือน จึงคาดว่าจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะโรงที่ 2 ได้ปลายปี 2553

นายเทวรุจน์ กล่าวด้วยว่า โรงไฟฟ้าจะนะโรงที่ 2 จะก่อสร้างพร้อมกับหอหล่อเย็นหลังใหม่ ขณะที่บ่อพักน้ำที่ผ่านการหล่อเย็นแล้ว จะพักน้ำเร็วขึ้น จาก 4 วันก่อนปล่อยลงคลองนาทับ เหลือ 2 วัน เนื่องจากใช้บ่อพักน้ำบ่อเดียวกันกับโรงไฟฟ้าจะนะโรงแรก แต่การพักน้ำเพียงวันเดียวก็เพียงพอแล้ว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำและสัตว์น้ำในคลองนาทับแต่อย่างใด
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net