Skip to main content
sharethis

ประชุมร่วมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)  รับร่าง พ.ร.บ. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่ได้ 2 มาตรา เสนอตัด ม.43 และ 51ออก หวั่นถูกลิดรอนการทำงานเล็งทำหนังสือแจง ครม. พร้อมแนะรับตัวแทน กก.สรรหาจากภาค ปชช.แทนจากศาลปกครอง-ฎีกา

 
มติชนออนไลน์รายงานว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประชุมร่วมกับ กสม.ชุดเก่า นักกฎหมาย และนักวิชาการ เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 30 พฤศจิกายน ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อหารือกับคณะกรรมการร่างพระราชบัญญัติกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (พ.ร.บ.กสม.) พ.ศ. ... รวมทั้งหารือและหาทางออกกรณีที่คณะกรรมการร่าง พ.ร.บ.กสม.พ.ศ...ส่งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนจะนำเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ปรากฏว่ากฤษฎีกาได้แก้กฎหมายที่ขัดแย้งกับร่างเดิมหลายข้อ ที่ กสม.รับไม่ได้คือ มาตรา 43 ห้ามมิให้กรรมการ อนุกรรมการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ เปิดเผยข้อเท็จจริง ที่รู้ หรือได้มา เนื่องจากการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยผลการตรวจสอบตามมติของกรรมการ หรือเปิดเผยในการดำเนินคดีของศาล และมาตรา 51 ที่ระบุว่า ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 43 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมติที่ประชุมที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานได้เสนอตัดมาตรา 43 และมาตรา 51 ออก
 
หลังประชุม นพ.นิรันดร์ให้สัมภาษณ์ว่า มีนักกฎหมายและอดีต กสม.ที่เป็นผู้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวแสดงความคิดเห็นและให้คำแนะนำที่จะดำเนินการในมาตรา 43 และมาตรา 51 สรุปได้ว่า 1.การที่กฤษฎีกาแก้ไขให้ออกมาอย่างนี้ ถือเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในบทบาทของ กสม.ที่ต้องเปิดเผยข้อมูลเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ไม่สามารถปิดบังได้อยู่แล้ว 2.ภารกิจของ กสม.ไม่ใช่แค่เรื่องการตรวจสอบเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการป้องกันการละเมิดสิทธิอีกด้วย ทั้งนี้ การถูกห้ามไม่ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารจะไม่สามารถทำให้ กสม.ทำงานได้อย่างเต็มที่ และตัวบุคคลหรือองค์กรที่ถูกละเมิดสิทธิจะไม่ได้รับการปกป้อง หาก กสม.ต้องปกปิดข้อมูลข่าวสาร และ 3.หากการเปิดเผยข้อมูลเป็นการละเมิดสิทธิ หรือหมิ่นประมาท เรื่องนี้มีกฎหมายควบคุม สามารถฟ้องร้องกันได้ในขั้นตอนปกติ
 
"ทุกคนจึงเห็นพ้องกันว่าจะต้องตัดมาตรา 43 และมาตรา 51 ทิ้ง ทั้งนี้ จะให้ กสม.จะทำหนังสือถึง ครม.และจะชี้แจงถึงเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว เพราะหากยังมีมาตราดังกล่าวอยู่ กสม.ก็ทำงานไม่ได้เป็นการลิดรอนการทำงานของ กสม.อย่างเห็นได้ชัด" นพ.นิรันดร์กล่าว และว่า อีก 2 เรื่องที่จะเสนอ ครม.ควบคู่ คือ เสนอให้เปลี่ยนที่มาของคณะกรรมการสรรหาทั้ง 7 คน ให้ตัดตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครอง และศาลฎีกา เป็นตัวแทนจากภาคประชาชน เรื่องนี้สามารถดำเนินการได้ทันที อาศัยกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 256 วรรคแรก เรื่องสุดท้ายคือ เรื่องกองทุน กสม.ไม่ต้องตั้งกองทุนตามที่กฤษฎีกาเสนอมาก็ได้ แต่จะต้องไปขยายมาตรา 16 อนุ 12 คือ ให้อำนาจ กสม.กำหนดการออกเบี้ยประชุม ก็ให้เติมไปว่า ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการฟ้องร้อง และค่าดำเนินการ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 257 (2) (3) (4)
 
นพ.นิรันดร์กล่าวว่า เร็วๆ นี้ จะประชุมฟังความคิดเห็นกับทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งหน่วยงานที่จะต้องเอาข้อมูลและข่าวสารจาก กสม.ไปใช้ประโยชน์เพื่อปกป้องสิทธิ เช่น เครือข่ายสุขภาพ องค์กรผู้บริโภค เครือข่ายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสื่อมวลชน และขอให้ประชาชนช่วยกันส่งความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปยังรัฐบาลด้วย เพราะกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่แค่กฎหมายของ กสม.เท่านั้น แต่เป็นกฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่เป็นผลประโยชน์ของทุกคนโดยตรง
 
ที่มาข่าว: มติชนออนไลน์
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1259591809&grpid=01&catid
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net