Skip to main content
sharethis

(3 ธ.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงผลการคัดเลือกบุคคลและองค์กรที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น ประจำปี 2552 และการจัดมหกรรมงานสิทธิมนุษยชน “รู้สิทธิ รักสิทธิ ไม่ละเมิดสิทธิ” โดยระบุว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อจัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม และพิจารณาคัดเลือกบุคคลและองค์กรที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น ประจำปี 2552 เพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติผู้ที่มีบทบาทและผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตลอดจนกระตุ้นให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ได้รับการยอมรับในสังคมเพิ่มขึ้น โดยได้ประกาศเชิญชวนสาธารณชนให้มีการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับรางวัลดังกล่าว ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ ประเภทบุคคลชาย ประเภทบุคคลหญิง ประเภทองค์กรภาครัฐ และประเภทองค์กรภาคเอกชน นั้น

บัดนี้ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ได้พิจารณาคัดเลือกบุคคลและองค์กรที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่นเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น ประจำปี 2552 มีดังนี้

ประเภทบุคคลชาย ได้แก่ นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ นักต่อสู้เพื่อปกป้องฐานทรัพยากร เป็นผู้นำชาวบ้านต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนในเขตภาคอีสานในการต่อต้านเหมืองแร่โปแตซ

ประเภทบุคคลหญิง ได้แก่ นางหอมหวล บุญเรือง นักต่อสู้เพื่อปกป้องรักษาแหล่งต้นน้ำดอยแม่ออกฮู จังหวัดเชียงราย และคัดค้านการทำโรงโม่หินในเขตภาคเหนือ

ประเภทองค์กรภาคเอกชน ได้แก่ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก องค์กรภาคประชาชนที่รวมตัวกันดูแลปกป้องสิ่งแวดล้อมและชุมชนจากปัญหามลพิษที่เกิดจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ประเภทองค์กรภาครัฐ ไม่มีหน่วยงานใดมีคุณสมบัติเหมาะสม

อนึ่ง ในปีนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้พิจารณาเห็นสมควรมอบรางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน” เป็นกรณีพิเศษเพื่อมอบแก่บุคคลที่อุทิศตนเพื่อส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
1. ศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์ ผู้อุทิศตนเพื่อส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศและผู้ลี้ภัย
2. รองศาสตราจารย์พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ผู้อุทิศตนเพื่อส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์
(อ่านรายละเอียดได้ในล้อมกรอบด้านล่าง)

โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กำหนดจัดพิธีมอบรางวัลดังกล่าวในมหกรรมงานสิทธิมนุษยชน “รู้สิทธิ รักสิทธิ ไม่ละเมิดสิทธิ” ซึ่งจะจัดในวันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม นี้ ณ ลานอเนกประสงค์ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้สังคมเกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

อนึ่ง การจัดมหกรรมงานสิทธิมนุษยชน “รู้สิทธิ รักสิทธิ ไม่ละเมิดสิทธิ” ได้รับความร่วมมือจากองค์กรเครือข่าย 80 องค์กร ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมจัดงานดังกล่าว ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลาย อาทิ การปาฐกถาพิเศษของนายกรัฐมนตรี ในหัวข้อ “รัฐบาลกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” การเสวนา เรื่อง “แบ่งปันประสบการณ์: สิทธิมนุษยชนกับความทุกข์ของสามัญชน” การแสดงดนตรีเพื่อสิทธิมนุษยชน โดย วงโฮป แฟมิลี่ และ เอ้ นิติกุล การแสดงมินิคอนเสิร์ต โดย คณะศิลปิน สังกัด บริษัท อาร์เอส จำกัด มหาชน การแสดงละครเวทีเพื่อสิทธิมนุษยชน เรื่อง “จันทร์เจ้าขา” การแข่งขันตอบปัญหาสิทธิมนุษยชน ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา การแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ ของนักเรียนระดับประถมศึกษา และร่วมสนุกกับเด็กชายหม่อง ทองดี

 

ผลการพิจารณาคัดเลือกได้บุคคลและองค์กรที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น ดังนี้

ประเภท บุคคลชาย: นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์
นักต่อสู้เพื่อปกป้องฐานทรัพยากร เป็นผู้นำชาวบ้านต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและสิทธิในการพัฒนา
เป็นนักพัฒนาที่ทำงานเกาะติดกับชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช ปัญหาแนวสายไฟฟ้าสูงพาดผ่านพื้นที่ทำกินชาวบ้านในจังหวัดอุดรธานี ปัญหาโครงข่ายการพัฒนาแหล่งน้ำภาคอีสาน ได้แก่ ลุ่มน้ำลำพะเนียง เขื่อนปากชม และปัญหาผลกระทบจากนโยบายของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน เน้นการทำงานร่วมกับองค์กรชาวบ้าน และสนับสนุนให้ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกลุ่มเป็นองค์กรชาวบ้านเพื่อปกป้องสิทธิ ชุมชนตามรัฐธรรมนูญ และส่งเสริมให้ชาวบ้านใช้กระบวนการยุติธรรมทางศาลปกครองฟ้องการกระทำของรัฐ ที่ละเมิดสิทธิ พร้อมทั้งได้ขยายแนวคิดการต่อสู้ไปสู่องค์กรเครือข่ายชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งได้ฝึกอบรมให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเขียนรายงานสถานการณ์ ด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เพื่อใช้เป็นการรณรงค์ปัญหาจากพื้นที่สู่ระดับสากล จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายต่อไป

ประเภทบุคคลหญิง: นางหอมนวล บุญเรือง

สตรีรากหญ้านักต่อสู้เพื่อปกปักรักษาแหล่งต้นน้ำ
ประธานกลุ่มอนุรักษ์ขุนน้ำดอยแม่ออกซู อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย เป็นผู้นำชาวบ้านเรียกร้องและคัดค้านให้ยุติการทำเหมืองหิน โรงโม่หิน และการระเบิดภูเขามานานกว่า ๑๐ ปี เนื่องจากการประทานบัตรระเบิดหินและย่อยหินกระทบต่อแหล่งต้นน้ำสำคัญของ ชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรม และเกิดฝุ่นละอองส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชน แม้ว่าจะถูกข่มขู่จากผู้มีอิทธิพลและผู้สูญเสียผลประโยชน์ และมีการลอบยิงแกนนำที่ทำงานคู่กันมา รวมทั้งขณะนี้รัฐบาลก็ต่ออายุประทานบัตรระเบิดหินและย่อยหินในพื้นที่ขยาย ต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ชาวบ้านท้อแท้ หมดกำลังใจและเริ่มหวั่นเกรงกับอิทธิพลอยู่บ้าง แต่นางหอมนวลก็สามารถยืนหยัดและสร้างกำลังใจให้ชาวบ้านต่อสู้กับปัญหาฟ้อง ร้องต่อศาลปกครองให้คุ้มครองมิให้มีการระเบิดหินในประทานบัตรใหม่

ประเภทหน่วยงานพัฒนาเอกชน: เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เป็นองค์กรภาคประชาชนที่รวมตัวกันเพื่อดูแล ปกป้องสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยเฉพาะในเรื่องของมลพิษที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม ทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานถลุงเหล็ก ร่วมกับนักวิชาการอิสระทำวิจัยเกี่ยวกับมลพิษในมาบตาพูด เพื่อนำผลที่ได้มาแสดงถึงความผิดปกติและอันตรายจากผลกระทบของอุตสาหกรรมที่ มีต่อประชาชนชาวมาบตาพุด จนนำมาซึ่งการเรียกร้องให้มีการประกาศเขตควบคุมมลพิษ นอกจากนี้ยังร่วมกับชาวบ้านฟ้องร้องและในที่สุดศาลปกครองสูงสุดก็ได้ประกาศ ให้มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ รวมทั้งได้รณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับมลพิษถ่านหิน จนนำไปสู่การรวมตัวของประชาชนชาวระยอง ๑๕,๐๐๐ คน เพื่อคัดค้านไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน และรวบรวมรายชื่อเพื่อให้ยกเลิก จนนำไปสู่การที่รัฐบาลยกเลิกการยื่นซองประมูล เพื่อลดความขัดแย้งกับประชาชน

ประเภทหน่วยงานภาครัฐ: ไม่มีหน่วยงานที่มีคุณสมบัติตามกรอบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ กสม. ได้มอบรางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ให้กับบุคคลเกียรติยศ 2 ท่าน ได้แก่
1. ศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์
สถานที่ทำงาน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องปัญหาผู้ลี้ภัย สิทธิเด็ก และในเรื่องปัญหาผู้ลี้ภัย สิทธิเด็ก และการค้าเด็ก มีผลงานวิชาการที่โดดเด่นและเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเรื่องการแสวงหา ประโยชน์จากเด็กอย่างเป็นรูปธรรม แก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ นอกจากเหนือจากภาระงานสอนและด้านวิชาการแล้ว ยังใช้ความรู้ด้านกฎหมายสร้างความเข้าใจที่ดีต่อปัญหาผู้ลี้ภัยให้กับหน่วย ราชการของประเทศไทยและระดับระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันให้บุคคลเหล่านี้ได้รับความคุ้มครองที่ดีขึ้น เป็นผู้ที่มีบทบาทในการทำงานเกี่ยวกับกลไกในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับ ภูมิภาคอาเซียน มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมทำงานในตำแหน่งสำคัญต่างๆ ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศหลายองค์กร เช่น UN UNICEF WHO และ UNHCR นอกจากนี้ยังเป็นผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้ว การค้าเด็ก การเอาเปรียบเด็กทางเพศ และการใช้สื่อลามกเกี่ยวกับเด็ก ระหว่างปี 2533-2537 และเป็นผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนใน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ)

2. รองศาสตราจารย์พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร
สถานที่ทำงาน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการเพื่อสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ให้ สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยการเสนอมาตรการการแก้ไขปัญหาความไร้สัญชาติของบุคคลบนพื้นที่สูง และผลักดันการรับรองการมีสัญชาติไทยของชาวเขาที่มีถิ่นฐานในประเทศไทยอย่าง ต่อเนื่องเป็นเวลานาน และการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายแก่คนไร้รัฐ และเป็นผู้ที่ผลักดันให้เกิดระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลง รายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคล บนพื้นที่สูง พ.ศ. 2543 ให้มียุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิของบุคคล พ.ศ. 2548 และสิทธิในการเดินทางของคนไร้สัญชาติ ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 เพื่อให้บุตรของผู้หญิงไทยสามารถได้รับสัญชาติไทย โดยหลักสืบสายโลหิต มีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่กลุ่มกะเหรี่ยง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก และแก่ชาวบ้านอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,243 คน ที่ถูกเพิกถอนชื่อจากทะเบียนราษฎร์ เป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมาย ส่งผลให้มีการทำงานเป็นเครือข่าย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net