Skip to main content
sharethis

หลังจากที่เลื่อนวาระการประชุมมาเป็นเวลานาน ล่าสุด หลังเลือกตั้งเสร็จสิ้นสภาฮอนดูรัสก็ลงมติไม่คืนตำแหน่งแก่เซลายา ด้านชาเวซกล่าวว่า การเลือกตั้งล่าสุดในฮอนดูรัสเป็นเพียงการ "ฟอกรัฐประหาร" ด้านโลโบ ผู้ชนะการเลือกตั้ง หวังบราซิลเข้าใจฮอนดูรัส และบอกชาเวซอย่าแทรกแซงกิจการภายใน


ผู้สนับสนุนเซลายาที่ชุมนุมอยู่หน้าอาคารรัฐสภา ขณะมีการลงมติ
โดยมีการชูนิ้วเป็นสัญลักษณ์บอยคอตต์การเลือกตั้ง 29 พ.ย.
(Reuters/Luis Galdamez)


รามอน เรย์นาโด ส.ส. จากพรรคชาตินิยม ยกธงชาติฮอนดูรัส
หลังจากการลงมติที่เซลายาไม่ได้รับอนุญาตให้คืนตำแหน่ง
(AP Photo/Esteban Felix)


ท่าทีของ เรย์นา อิดาเลีย การ์เซีย (คนซ้ายสุด) จากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยพัฒนา
หลังจากการลงมติที่เซลายาไม่ได้รับอนุญาตให้คืนตำแหน่ง
(AP Photo/Esteban Felix)

สภาฮอนดูรัสลงมติไม่คืนตำแหน่งเซลายา
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ไทม์ออนไลน์ รายงานว่า กลุ่ม ส.ส. ในฮอนดูรัสจำนวนมากในฮอนดูรัสโหวตลงมติไม่เห็นชอบให้มานูเอล เซลายา ประธานาธิบดีที่ถูกทำรัฐประหารคืนสู่ตำแหน่ง โดยไม่สนใจการกดดันจากนานาชาติตลอดช่วงหลังรัฐประหารที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลรักษาการของฮอนดูรัสนำโดยโรเบอร์โต มิเชลเลตตี กำหนดให้วันที่ 2 ธ.ค. เป็นวันเปิดประชุมสภาหารือในเรื่องคืนตำแหน่งแก่เซลายาตามข้อตกลง ซาน โฮเซ่

ไทม์ออนไลน์ระบุว่า เสียงโหวตในสภาของฮอนดูรัสมีมติ 2 ใน 3 ที่ไม่เห็นด้วยกับการคืนตำแหน่งแก่เซลายา จนกว่าเขาจะหมดวาระในวันที่ 27 ม.ค. ซึ่งในขณะที่รายงานข่าวนั้น สื่อของฮอนดูรัสนำเสนอว่ามีการโหวตไม่เห็นด้วยถึง 98 ต่อ 12 เสียง จากทั้งหมด 128 เสียงในสภา ซึ่งเพียงพอที่จะตัดสินผล

ทางด้านเซลายา ซึ่งยังคงอาศัยอยู่ที่สถานทูตบราซิลในกรุงเตกูซิกัลปา เมื่อทราบผลการลงมติแล้วก็บอกว่า ต่อให้มีการโหวตคืนตำแหน่งให้เขา เขาก็จะไม่กลับไปเป็นหัวหลักหัวตออยู่แค่สองเดือน โดยก่อนหน้าการลงมติ เซลายาก็เคยกล่าวในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว

นอกจากนี้ เซลายายังได้เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศอื่น อย่าฟื้นคืนความสัมพันธ์กับรัฐบาลของพอฟิริโอ โลโบ ผู้ชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด เมื่อ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา

นักการเมืองในสภาที่โหวตลงมติไม่เห็นด้วยกับการคืนตำแหน่งแก่เซลายาบอกว่า พวกเขาทำสิ่งที่ถูกต้องมาตั้งแต่แรกแล้ว ตั้งแต่การคัดค้านเซลายาไม่ให้ฝ่าฝืนคำสั่งศาลสูงทำประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ พวกเขายังเคยทำการโหวตลงมติถอดถอนเซลายาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยการลงมติในครั้งนั้นกระทำกันหลายชั่วโมง หลังจากที่เซลายาถูกทหารบุกเข้าจับกุมไปแล้ว

อันโตนิโอ ริเวร่า จากพรรคชาตินิยมซึ่งเป็นพรรคแนวอนุรักษ์นิยมของว่าที่ประธานาธิบดีโลโบ กล่าวว่า การโหวตในครั้งนี้จะเป็นบทเรียนสำหรับใครก็ตามที่พยายามจะรักษาอำนาจของตัวเองไว้

"ผมโหวตลงมติในครั้งนี้เพื่อที่ลูกผมจะได้บอกกับผมว่า 'พ่อ พ่อได้รักษาประชาธิปไตยเอาไว้แล้ว' "

ด้านริคาร์โด อัลวาเรซ ผู้ชนะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีประจำกรุงเตกูซิกัลปา กล่าวถึงกรณีของเซลายาไว้ในบทสัมภาษณ์ของ La Tribuna ว่า ในข้อตกลง ซาน โฮเซ ทั้งสองฝ่าย (เซลายา และ มิเชลเลตตี) ต่างก็ตกลงกันว่าจะยอมรับผลการลงมติจากสภา ดังนั้นแล้วเซลายาถึงต้องเคารพตามมติของสภา

ทางด้านนักการเมืองที่อยู่ข้างเซลายาแสดงความรู้สึกผิดหวัง

"เราจะเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นมติที่ถูกต้องตามหลักรัฐธรรมนูญได้อย่างไร ในเมื่อมีคนบุกเอาปืนเข้าไปจ่อถึงบ้านพักของประธานาธิบดี และเขาก็ถูกนำตัวออกจากบ้านทั้งชุดนอน" ซีซาร์ แฮม กล่าว เขาคือ ส.ส. จากพรรคฝ่ายซ้ายพรรคเล็กๆ ที่สนับสนุนเซลายา "มันน่าอับอาย เขาถูกจู่โจม ลักพาตัว และถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยกำลังทหาร"

ในขณะที่มีการประชุมเพื่อลงมติ ผู้สนับสนุนเซลายา 300 คน มาชุมนุมประท้วงอยู่นอกสภา โดยอยู่หลังแผงกั้นของตำรวจ


ชาเวซบอกเลือกตั้ง 29 พ.ย. เป็นการ "ฟอกรัฐประหาร"

ในประเด็นเรื่องการเลือกตั้งภายใต้รัฐประหารนั้น กลุ่มประเทศละตินอเมริกาบอกว่าการยอมรับการเลือกตั้งจะเป็นการให้ความชอบธรรมกับรัฐประหาร

"การรัฐประหารรูปแบบใหม่ถือกำเนิดขึ้นแล้ว" ฮูโก ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซุเอลลา กล่าวและว่า "การเลือกตั้งในครั้งนี้มันก็เหมือนกับการฟอกเงินที่มาจากการค้ายา พวกเขากำลังฟอกรัฐประหาร เพื่อไม่ให้เป็นที่อับอายแกสายตาชาวโลก"

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. หนังสือพิมพ์ El Universal ของเวเนซุเอลลา ก็รายงานข่าวที่ พอฟิริโอ โลโบ บอกว่า เขาจะไม่ให้ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของฮอนดูรัส "พวกเราก็หวงแหนอธิปไตยของพวกเรา" ว่าที่ประธานาธิบดีจากพรรคชาตินิยมกล่าว

นอกจากนี้โลโบหวังว่าบราซิลจะ "มองเห็นสาเหตุ" และยอมรับการเลือกตั้ง

"เมื่อเวลาผ่านไป บราซิลจะยอมรับความจริงเอง มันก็มีเหตุผลที่พวกเขามีท่าทีแข็งกร้าว เพราะพวกเขาต่อต้านการเลือกตั้ง แต่พวกเขาจะมองเห็นสาเหตุ ถ้าพวกเขาเข้าใจความจริง การเลือกตั้งที่ผ่านมานี้เป็นการเสริมสร้างประชาธิปไตยของพวกเรา" โลโบกล่าวและบอกอีกว่า หน้าที่หลักของเขาคือการสร้างรัฐบาลสมานฉันท์ที่กลุ่มคนรากหญ้ามีส่วนร่วม เพื่อทำให้ผู้คนกลมเกลียว แทนที่จะแบ่งแยกกัน

 

 

.....................................................
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Honduras votes against Manuel Zelaya reinstatement, Times Online, 03-12-2009
Porfirio Lobo: "We will not let Chávez intervene in Honduras", El Universal, 02-12-2009

La Tribuna (Honduras)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net